xs
xsm
sm
md
lg

พ่อแม่ญี่ปุ่นกับการ “ทารุณกรรม” ลูกให้เรียนหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก kodomo-manabi-labo.net
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน คนเป็นพ่อแม่โดยปกติก็คงอยากให้ลูกเรียนดี โตมามีชีวิตการงานที่ดีด้วยการเรียนหนังสือ แต่พ่อแม่บางคนอาจคาดหวังและเคี่ยวเข็ญกับลูกมากเกินไป จนมองข้ามความรักความเข้าใจในครอบครัวซึ่งสำคัญต่อเด็กยิ่งกว่าการศึกษาเสียอีก ในญี่ปุ่นนั้นมีหลายกรณีที่พ่อแม่เข้มงวดกับลูกเรื่องการเรียนเกินไปจนกลายเป็นปัญหา “การทารุณกรรม” รูปแบบหนึ่ง นอกจากเด็กจะโตมาพร้อมกับความป่วยทางกายและใจแล้ว หลายคนยังกลายเป็นอาชญากรในสังคมด้วย

บังคับลูกให้เรียนหนักไป คือการ “ทารุณกรรมด้านการศึกษา”

ในช่วงสิบปีเศษที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเริ่มขนานนามการบังคับเด็กให้เรียนเกินขอบเขตที่เด็กจะรับได้ และสร้างความเจ็บปวดอย่างถาวรทางกายและใจของเด็ก ว่าเป็น “การทารุณกรรมด้านการศึกษา” (教育虐待 เคียว-อิ-ขุ-เกียะ-ขุ-ไต) เพราะเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก และส่งผลร้ายต่อพัฒนาการของเด็กด้วย

ยุคนี้ที่แต่ละบ้านมีลูกน้อยลง ทำให้พ่อแม่มีแนวโน้มจะคาดหวังกับลูกคนเดียวมากขึ้น การบังคับเด็กให้เรียนหนักจึงเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว แถมเด็กยังถูกคาดหวังให้เก่งเรื่องอื่นเพิ่มอีก ทั้งกีฬา ดนตรี  การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ภาษาต่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นการที่สังคมมองว่าเด็กจะสอบเข้าโรงเรียนที่ดีได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับพ่อแม่ ก็ยิ่งทำให้พ่อแม่รู้สึกว่าต้องเคี่ยวเข็ญลูกให้เรียนหนักแบบไม่ลืมหูลืมตา

นอกจากนี้ ถ้าพ่อแม่เคยผ่านการเรียนหนักและได้ดีมาก่อน และเป็นคนกวดขันลูกให้เรียนเองแล้วละก็ ยิ่งมีสิทธิ์ทำให้ลูกบอบช้ำได้ง่ายกว่าด้วย เพราะจะคิดว่าถ้าลูกพยายามก็จะทำได้แบบตน แต่ลืมไปว่าลูกเป็นคนละคนกับตัวเอง อาจจะทำได้หรือไม่ได้ก็ได้ และก็มีพ่อแม่บางคนที่คาดหวังสูงไปทั้งที่ลูกไม่ได้ถนัดด้านการเรียน หรือบางคนเห็นลูกเรียนดีหน่อยก็หลงคิดว่าลูกเป็นอัจฉริยะ จึงมุ่งจะให้เข้าแต่โรงเรียนอันดับหนึ่งเท่านั้น

ภาพจาก kodomo-manabi-labo.net
เวลาเรียนดีพ่อแม่ไม่ค่อยจะชม แต่มองว่าเป็นเรื่องปกติที่จะต้องเรียนให้ดี แต่เมื่อไหร่ที่ไม่ได้อย่างที่พ่อแม่คาดหวังก็จะถูกตำหนิรุนแรง เช่น หาว่าหน้าไม่อายที่เรียนไม่เก่งบ้าง เปรียบเทียบกับพี่น้องว่าทำไมไม่เอาอย่างเขา หาว่าไม่ขยันมากพอบ้าง พ่อแม้บางคนลงโทษไม่ให้ลูกออกจากบ้านถ้าผลการเรียนไม่ดีขึ้น

ผู้ใหญ่คงจะลืมไปว่าเด็กที่กำลังสอบเข้ามัธยมต้นอายุแค่ราว 12 ปี ยังเล็กและบอบบางทางความรู้สึกอยู่เลย เป็นแผลใจได้ง่าย แต่ด้วยความที่เขาฟังผู้ใหญ่พูดรู้เรื่อง ผู้ใหญ่ก็เลยยัดเยียดเหตุผลหรือใช้คำพูดแรง ๆ กับเขาแบบเดียวกับที่ใช้กับผู้ใหญ่ ซึ่งจริง ๆ แล้วเด็กยังรับไม่ได้ขนาดนั้น

ทำร้ายจิตใจเด็ก = ทำลายพัฒนาการเด็ก

คุณหมอท่านหนึ่งที่ดูแลเคสทารุณกรรมชี้ว่า การพูดรุนแรงกับเด็กเพื่อกวดขันให้เรียนหนัก ส่งผลเสียแบบเดียวกับการทารุณทางจิตใจ คำนี้ภาษาอังกฤษเรียก “psychological abuse” หรือ “emotional abuse” หมายถึง การทำลายความนับถือตนเองของอีกฝ่าย ด้วยการเปรียบเทียบกับคนอื่น แสดงท่าทีเมินเฉยหรือปฏิเสธ ข่มขู่หรือตะคอกให้หวาดกลัว เป็นต้น

ว่ากันว่า บางคราวการทารุณทางจิตใจยังทำลายสมองได้ยิ่งกว่าการทารุณทางร่างกายเสียอีก โดยเฉพาะสมองส่วนที่เกี่ยวกับการได้ยิน ความจำ การเรียนรู้ การสื่อสาร ดังนั้นการทารุณทางจิตใจจึงส่งผลร้ายอย่างยิ่งต่อพัฒนาการของเด็ก

หากบังคับเด็กให้เรียนหนักรุนแรงขึ้น เด็กจะอยู่ในสภาพที่ถูกต้อนให้จนมุม เครียด ร่างกายอ่อนแอ นอนไม่พอ เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ ตามมา เช่น ปวดท้อง เหนื่อยง่าย ปัสสาวะรดที่นอน กล้ามเนื้อกระตุก (Motor Tics) เป็นต้น อาการกล้ามเนื้อกระตุกนี้จะควบคุมไม่ได้ และตำแหน่งที่กระตุกจะเปลี่ยนไปเรื่อย เช่น กระพริบตาถี่ ยักคิ้ว ย่นจมูก ทำปากขมุบขมิบ สะบัดคอ เอียงศีรษะ แกว่งแขนขา กระดิกเท้า เด็กที่มีอาการแบบนี้อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น สมาธิสั้น ย้ำคิดย้ำทำ วิตกกังวล และซึมเศร้า

ภาพจาก chanto.jp.net
แผลใจของเด็กที่ถูกบังคับให้เรียนหนัก

นอกจากการทารุณกรรมจะทำลายพัฒนาการทางสมองและการรับรู้แล้ว ยังก่อให้เกิดความผิดปกติทางอารมณ์ บุคลิกภาพ และโรคจิตเวชอื่น ๆ ซึ่งเป็นสาเหตุให้พวกเขาใช้ชีวิตลำบากด้วย เมื่อโตมาก็อาจมีปัญหาพฤติกรรม เช่น ชอบทำร้ายตัวเองหรือคนอื่น มีพฤติกรรมการกินอาหารผิดปกติ ลักเล็กขโมยน้อย ไปจนถึงขายบริการทางเพศ โดยพฤติกรรมเหล่านี้จะเห็นชัดในช่วงวัยรุ่น

แม้พวกเขาจะโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่ความเจ็บปวดในวัยเด็กจากการถูกพ่อแม่บังคับให้เรียนหนัก ก็ยังคงบาดลึกในใจ บางคนเล่าว่าผ่านมา 10-20 ปีแล้วความทรงจำอันขมขื่นก็ไม่เลือนหายไป ที่ผ่านมาไม่เคยได้ไปเที่ยวกับเพื่อน ไม่ได้ดูโทรทัศน์ แต่ต้องอ่านหนังสือเรียนตลอด บางคนถูกแม่คาดหวังว่าต้องได้คะแนนเต็มร้อยทุกวิชา และยังมีเด็กอนุบาลอีกหลายคนที่ถูกบังคับให้เรียนจนถึงหลังเที่ยงคืน

เรื่องน่าเศร้าและน่าเสียดายอย่างยิ่งก็คือ เด็กที่ถูกบังคับให้เรียนหนักนั้น แต่เดิมเคยร่าเริง เฉลียวฉลาด และสติปัญญาดี แต่ค่อย ๆ กลายเป็นคนอมทุกข์ อารมณ์ฉุนเฉียว จากที่เคยเรียนดีก็เรียนแย่ลงเรื่อย ๆ จนสุดท้ายพวกเขาก็เหมือนแก้วที่แตกสลายเป็นเสี่ยง ๆ เมื่อไม่อาจทนได้อีก

บางทีเด็กเหล่านี้อาจโตมามีชีวิตที่ดีกว่ากันมาก หากพ่อแม่เลี้ยงพวกเขาด้วยความรักความเข้าใจ ไม่ใช่ด้วยความคาดหวังว่าเขาจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ตามที่พ่อแม่ต้องการฝ่ายเดียว

ภาพจาก kodomo-manabi-labo.net
เมื่อลูกที่คาดหวังไว้ไปไม่ถึงฝั่งฝัน และกลายเป็น…ฆาตกร

เด็กสาวคนหนึ่งเคยถูกพ่อแม่บังคับให้เรียนหนังสือจนถึงตี 2 ตั้งแต่เธอยังอยู่อนุบาล ถ้าจะลุกไปห้องน้ำก็ต้องขออนุญาต แม้ต่อมาเธอจะสอบเข้าโรงเรียนมัธยมต้นได้ ก็ต้องออกจากโรงเรียนกลางคันเพราะ burnout (ภาวะอ่อนล้าทางอารมณ์เพราะเครียดสะสมจากการทำงานหนักต่อเนื่อง) พ่อแม่ดุด่าเธอทุกวัน บ่นว่าเสียดายเงินค่าสอบ และบอกให้เธอจ่ายค่าเล่าเรียนเอาเอง

เธอกลายเป็นฮิคิโคโมริ เริ่มกรีดข้อมือตัวเอง พอพ่อแม่ห้ามปราม เธอก็หนีออกจากบ้านไปขายบริการทางเพศ พยายามฆ่าตัวตายหลายหน ในที่สุดเธอก็ผูกคอตายในวัยเพียง 17 ปี ภายหลังพบบันทึกที่เธอเขียนแสดงความเคียดแค้นพ่อแม่รุนแรง หาว่าพวกเขาทำลายชีวิตเธอยับเยิน นอกจากเธอแล้วยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน

ที่สำคัญอีกอย่างคือเบื้องหลังคดีอาชญากรรมในเด็กและเยาวชนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อย มีรากมาจากการที่เด็กถูกบังคับให้เรียนหนักนี้เอง อย่างคนร้ายในคดีสังหารหมู่ที่อากิฮาบาระก็เป็นหนึ่งในเหยื่อของการถูกบังคับให้เรียนหนักและลงโทษเกินควร และยังมีคดีอื่นอีกมากมายเป็นข่าวให้ได้ยินอยู่เรื่อยในญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นลูกฆ่าพ่อแม่ หรือฆ่าคนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง (อ่านย้อนหลังได้ที่ :  "โทริหมะ" อาชญากรรมไม่เลือกหน้าในญี่ปุ่น )

ที่แคนาดาก็มีข่าวลูกฆ่าพ่อแม่ที่เป็นข่าวดัง บ้านนี้เป็นครอบครัวเอเชีย พ่อแม่ควบคุมลูกสาวทุกอย่าง บังคับให้เรียนหนัก เรียนเปียโน สเก็ตน้ำแข็ง และศิลปะการป้องกันตัว สุดท้ายลูกทนไม่ไหว เรียนไม่จบมัธยมปลาย แต่หลอกพ่อแม่ไปเรื่อยว่าเรียนจบมหาวิทยาลัย ได้งานที่ดีทำ จนวันหนึ่งความแตก เลยโดนพ่อแม่สั่งให้กลับไปเรียนให้จบ แต่เธอทนไม่ไหวแล้ว เลยจ้างคนมาฆ่าพ่อแม่ แต่พ่อรอดมาได้ ส่วนเธอก็เข้าคุกไป คนอาจจะโทษว่าเธอคือ "ลูกชั่ว" แต่หากเธอไม่ได้เป็นเหยื่อความใจร้ายของพ่อแม่ เรื่องก็คงไม่เกิดขึ้น

ภาพจาก chubukyoiku-labo.jp
เวลามีคดีอาชญากรรมแบบนี้ แทนที่จะพุ่งเป้าไปที่การลงโทษอาชญากรเป็นหลัก น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าถ้าหันมามองดูว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคม เราเองมีส่วนสร้างสังคมป่วยแบบนี้ด้วยหรือไม่ และเราจะช่วยป้องกันสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง

คุณเป็นพ่อแม่ที่ “ทารุณกรรมลูกด้านการศึกษา” หรือไม่?

คุณโอตะ โทชิมาสะ นักข่าวด้านการเลี้ยงดูและให้การศึกษาเด็ก กล่าวไว้ว่าเด็กจะเสี่ยงถูกทารุณกรรมด้านการศึกษามากขึ้น หากพ่อแม่มีองค์ประกอบสามอย่างนี้รวมกัน คือ 1) พ่อแม่สนใจผลลัพธ์หรือเป้าหมายมากกว่าการเติบโตของเด็ก 2) เชื่อมั่นว่าตัวเองถูก และ 3) คิดว่าลูกจะได้ดีหรือไม่อยู่ที่พ่อแม่

ทนายความคนหนึ่งที่ทำงานกับศูนย์พิทักษ์เด็กในญี่ปุ่น แนะนำให้พ่อแม่ตั้งคำถามกับตัวเอง 4 ข้อดังต่อไปนี้ว่า
1)คุณคิดว่าลูกเป็นคนละบุคคลกับคุณหรือไม่?
2)คุณยอมรับว่าลูกมีสิทธิ์เลือกทางเดินชีวิตของตัวเองหรือไม่?
3)คุณไม่ได้เอาชีวิตลูกมาเทียบกับชีวิตคุณใช่ไหม?
4)คุณมีชีวิตของตัวเองในด้านอื่นที่ไม่เกี่ยวกับลูกไหม?

หากพ่อแม่คนใดไม่อาจตอบว่า “ใช่” ได้เต็มปากเต็มคำ ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะอยู่ในวังวนของการ “ทารุณ”ลูกให้เรียนหนัก

ภาพจาก gentosha-go.com
ทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นพ่อแม่ที่บังคับลูกให้เรียนหนัก

อาจารย์ทาเคดะ โนบุโกะ ผู้เผยแพร่คำว่า “การทารุณกรรมด้านการศึกษา” ชี้ว่า พ่อแม่ที่ใส่ใจเรื่องการศึกษาของลูกจะมอง “ความสุขของลูก” เป็นหลัก แต่พ่อแม่ที่บังคับเด็กให้เรียนหนักจะหวัง “ความสำเร็จในฐานะพ่อแม่” เป็นหลัก

เปรียบเทียบเหมือนเวลาพ่อแม่อยากให้ลูกกินของอร่อย ก็หาของอร่อยมาให้เยอะแยะ แต่พอลูกอิ่มจนกินไม่ไหวแล้ว พ่อแม่ก็ยังบังคับให้กินต่อ เพราะตัวเองอุตส่าห์สรรหาทำให้ ลูกก็ต้องกินให้หมด

บางทีลูกทุกข์มากแล้ว แต่พ่อแม่ก็ยังคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำนี้จำเป็น หากสงสัยว่าตัวเองทำเกินไปไหม ก็ให้ลองเอาใจลูกมาใส่ใจเราด้วยการถามตัวเองว่า “ถ้าเราถูกคู่ครองหรือเจ้านายกระทำแบบเดียวกันล่ะ?” หรือ “ตอนเป็นเด็ก เราก็เคยไม่ชอบเวลาถูกพ่อแม่ดุว่าไม่ใช่หรือ?”

แทนที่พ่อแม่จะบังคับลูกให้เรียนหนัก ควรจะหันมาสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าการเรียนเป็นเรื่องสนุก แล้วเด็กเขาจะสนใจเอง อีกอย่างพ่อแม่ต้องไม่ลืมว่า เด็กจะมีพัฒนาการที่ดีได้ขึ้นอยู่กับความรักความอบอุ่นในครอบครัวเป็นสำคัญ

ภาพ chubukyoiku-labo.jp
คุณโอตะ นักข่าวด้านการเลี้ยงดูและให้การศึกษาเด็ก แนะนำให้รักทุกสิ่งเกี่ยวกับลูก รวมทั้งข้อบกพร่องของเขาด้วย เพราะเด็กจะดีที่สุดได้ก็เมื่อมั่นใจว่าพ่อแม่ยอมรับเขาอย่างที่เขาเป็น อีกอย่างคือความสามารถด้านการเรียนของเด็กไม่ได้พัฒนาขึ้นได้เพราะพ่อแม่ แต่ด้วยตัวของเขาเอง เพียงแต่เด็กแต่ละคนจะพัฒนาในช่วงเวลาที่ต่างกัน พ่อแม่จึงควรให้เวลาเด็ก และไม่แทรกแซง เพราะจะเป็นการทำลายเขาแทน

อยากฝากเรื่องนี้ไว้เป็นข้อคิดสำหรับพ่อแม่ที่พยายามยัดเยียดสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดให้ลูก โดยที่ลืมมองว่าลูกต้องการหรือเปล่า ควรปล่อยให้เขาลองผิดลองถูกเองบ้าง เพื่อให้เขาได้เรียนรู้ด้วยตัวเองและพึ่งตัวเองเป็น

ในบ้านเราก็คล้ายกัน เราเน้นเรื่องการแข่งขันทางสังคมมากเกินไป จนลืมบทบาทของพ่อแม่ และกลายเป็น "ผู้บัญชาการสูงสุด " เราให้ความสำคัญกับอนาคตมากไป จนลืมไปว่าปัจจุบันสำคัญยิ่งกว่า เวลานี้ลูกยังเล็ก ต้องการความรักความเข้าใจของพ่อแม่ยิ่งกว่าสิ่งอื่นในโลก อย่าปล่อยให้ถึงวันที่เราสูญเสียลูกและความเป็นครอบครัวไป เพราะถึงวันนั้นทุกอย่างก็สายเกินไปเสียแล้ว.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น