คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน หลายท่านคงได้ข่าวหนุ่มญี่ปุ่นถือมีดไล่แทงผู้โดยสารบนรถไฟเมื่อวันฮาโลวีนที่ผ่านา อาชญากรรมแบบทำร้ายคนแบบไม่เลือกหน้าในที่สาธารณะเช่นนี้เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้วในญี่ปุ่น ทั้งที่ญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่แสนจะปลอดภัย
เมื่อวันฮาโลวีนที่ผ่านมา (31 ต.ค.) เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญภายในรถไฟสายเคโอที่กรุงโตเกียว เมื่อหนุ่มญี่ปุ่นคนหนึ่งถือมีดแทงผู้คนภายในขบวนรถ ก่อนจุดไฟเผาตู้รถไฟ บรรดาผู้โดยสารต่างหนีเอาชีวิตรอด ปีนออกทางหน้าต่างกันจ้าละหวั่น เหตุการณ์นี้มีผู้บาดเจ็บกว่า 10 ราย และมีคุณปู่วัย 70 ปีคนหนึ่งถูกคนร้ายแทงอาการสาหัส
คนร้ายแต่งชุดคอสเพลย์เลียนแบบ "โจ๊กเกอร์" ตัวละครในภาพยนตร์เรื่อง "แบทแมน" หลังก่อเหตุเขานั่งสูบบุหรี่ภายในตู้โดยสาร รอให้ตำรวจจับกุมอย่างไม่ประหวั่นพรั่นพรึง และยังบอกกับตำรวจว่าต้องการโดนประหารชีวิต พลางโอดครวญว่าตนเองมีปัญหาเรื่องงาน อีกทั้งความสัมพันธ์กับเพื่อนก็ไม่ดี
ก่อนหน้านั้นไม่ถึง 3 เดือนก็มีคดีคล้ายกันเกิดขึ้นบนรถไฟสายโอดะคิว ซึ่งในคดีนั้นคนร้ายก็พยายามจะจุดไฟเผาขบวนรถไฟแต่ทำไม่สำเร็จ และในคดีโจ๊กเกอร์นี้คนร้ายก็บอกว่า คดีรถไฟสายโอดะคิวที่ผ่านมาก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงมือของเขาในครั้งนี้ด้วย
ลักษณะเด่นของ “โทริหมะ” ผู้ก่ออาชญากรรมแบบไม่เลือกหน้า
ญี่ปุ่นเรียกอาชญากรประเภทนี้ว่า “โท-ริ-หมะ” (通り魔) หมายถึงคนร้ายที่จู่โจมทำร้ายคนที่ผ่านไปมาทั้งที่ไม่มีความสัมพันธ์ใด ๆ ต่อกัน แบ่งออกได้ 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ก่อเหตุในจุดเดียว ก่อเหตุในหลายจุดภายในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน และก่อเหตุแบบต่อเนื่อง
เหตุจูงใจสำหรับคนร้ายสองประเภทแรก คาดว่ามาจากปัญหาบุคลิกภาพ อาการป่วยทางจิต ความไม่พอใจที่เกิดขึ้นยาวนานต่อครอบครัวหรือสังคม ภาพหลอนหรือความรุนแรงที่มีสาเหตุมาจากการใช้ยาเสพติด ในขณะที่การก่อเหตุแบบต่อเนื่องมีสาเหตุหลากหลาย ตั้งแต่แกล้งคนอื่นเอาสนุก ไปจนถึงมีพฤติกรรมซาดิสม์ (ชื่นชอบความรุนแรง)
เรื่องพฤติกรรมซาดิสม์ ตอนแรกฉันหลงคิดไปว่าเป็นเรื่องรสนิยมทางเพศที่นิยมความรุนแรงเท่านั้น แต่จริง ๆ รวมไปถึงลักษณะนิสัยและพฤติกรรมในชีวิตประจำวันด้วย เช่น ใช้วาจารุนแรง ทำร้ายร่างกาย ชอบทำให้คนอื่นเป็นทุกข์ หรือชอบเห็นคนอื่นเป็นทุกข์ คนแบบไหนบ้างที่เข้าข่ายเป็นซาดิสม์ หากตนเองเป็น หรือต้องอยู่ร่วมกับคนดังกล่าวจะทำอย่างไร ลองคลิกอ่านจากบทความเรื่อง Sadist ซาดิสม์ พฤติกรรมเสพสุขจากความทุกข์ น่าสนใจทีเดียว
คนที่เป็นโทริหมะส่วนใหญ่จะมีบุคลิกจริงกับบุคลิกในอุดมคติที่แตกต่างกันมาก คือไม่สามารถเป็นคนอย่างที่ตัวเองวาดภาพเอาไว้ได้ และเชื่อว่าสาเหตุที่ตนเป็นอย่างนี้ก็เพราะคนอื่น จึงสั่งสมความแค้นและความไม่พอใจต่อผู้อื่นและสังคมไว้ มองว่าคนทุกคนที่ประกอบขึ้นเป็นสังคมคือศัตรู สำหรับพวกเขาแล้วเหยื่อจะเป็นใครก็ได้ ขอให้มีจำนวนเยอะ ๆ ไว้เป็นพอ
วิธีรับมือหากเจอโทริหมะ 1) ให้หนีไปจากที่นั้น 2) อย่าหันหลังให้คนร้ายเห็น 3) ร้องขอความช่วยเหลือด้วยคำพูดที่เข้าใจง่าย เช่น “ช่วยด้วย!!” 4) หนีไปอยู่ในอาคาร 5) ถ้าฉุกเฉินให้เหวี่ยงเสื้อผ้าหรือกระเป๋าใส่ 6) ไม่ต้องห่วงข้าวของใหญ่ ๆ หนัก ๆ ให้ทิ้งไปเลย
นอกจากนี้โทริหมะยังอาจมีความคลั่งไคล้บูชาในตัวอาชญากรที่ฆาตกรรมคนหมู่มาก จึงเป็นชนวนให้เกิดคดีอื่น ๆ ตามมาได้ด้วย อีกทั้งเมื่อเกิดข่าวก็มีคนพากันประกาศว่าจะทำตามบ้างที่นั่นที่นี่ จนตำรวจต้องปราบปรามอย่างหนัก บางคนก็ถูกส่งไปบำบัดทางจิต
แม้โทริหมะจะมีความไม่พอใจต่อสภาพแวดล้อมของตัวเองและเคียดแค้นผู้อื่น แต่ในขณะเดียวกันก็มีความสิ้นหวังอย่างรุนแรงด้วยเช่นกัน แม้จะอยากปลิดชีวิตตัวเอง แต่ก็มีความกลัวหรือมีแรงต้านในใจ จึงเลือกที่จะทำร้ายผู้คนไม่เลือกหน้าและเอาชีวิตคนจำนวนมากเพื่อให้ตัวเองได้รับโทษประหารแทน หรืออย่างน้อยก็จำคุกชั่วชีวิต (แต่ก็มีบางคนที่คิดว่าโทษที่ตัวเองได้รับไม่ยุติธรรม และบางคนก็ปลิดชีวิตตัวเองทันทีหลังก่อเหตุสำเร็จ)
แม้ว่าตามสถิติทางการจะถือว่าโทริหมะเป็นอาชญากรรมที่เกิดน้อยในญี่ปุ่น คือเฉลี่ยไม่เกิน 10 คดีต่อปี แต่ในเมื่อเป็นอาชญากรรมที่คนร้ายไม่เลือกเหยื่อ ไม่รู้ว่าวันดีคืนดีจะเกิดที่ไหนเมื่อไหร่ จึงออกจะสร้างความประหวั่นพรั่นพรึงได้มากทีเดียว
บางบทความกล่าวไว้ว่าโทริหมะต่างจากการก่อการร้าย ตรงที่การก่อการร้ายมีเป้าหมายจะสร้างสังคมใหม่ แต่โทริหมะจะเป็นไปเพื่อระบายความเก็บกดส่วนตัว ซึ่งว่ากันว่าเกิดขึ้นได้ง่ายในสังคมญี่ปุ่นที่ต่างคนต่างอยู่ นอกจากนี้นักจิตวิทยายังชี้ว่าโทริหมะยังต่างจากอาชญากรทั่วไป ตรงที่ทำไปเพื่อให้สังคมที่ไม่ยอมรับและไม่เห็นคุณค่าของพวกเขาได้เห็นว่าพวกเขาทำอะไรได้มากขนาดไหน จึงเล็งเป้าหมายไปที่ฝูงชน
ตัวอย่างคดีโทริหมะชื่อดังในย่านอากิฮาบาระ
เมื่อพูดถึงคดีโทริหมะแล้ว หนึ่งในคดีที่ใครต่อใครรู้จักก็คือคดีสังหารหมู่ที่ย่านอากิฮาบาระ ใจกลางกรุงโตเกียว เมื่อ พ.ศ. 2551 หนุ่มคนหนึ่งขับรถบรรทุกพุ่งเข้าใส่ฝูงชน จากนั้นลงจากรถมาไล่แทงคน มีผู้เสียชีวิต 7 คน บาดเจ็บอีก 10 คน
เขาคนนี้เคยเป็นเด็กเรียนเก่งเล่นกีฬาเก่งมาก่อน แต่หลังเข้าโรงเรียนมัธยมปลายมีชื่อเสียงได้อย่างที่แม่หวังแล้ว การเรียนของเขาก็ตกลง และเขาก็ไม่ได้พยายามอีกต่อไป หลังจบมหาวิทยาลัยระยะสั้นออกมาก็เข้าทำงาน แต่ย้ายงานไปเรื่อย ๆ เพราะมีปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานบ้าง ไม่พอใจที่ทำงานบ้าง
ตลอดเวลาที่ผ่านมาตัวเขาคิดว่าตัวเองไม่เป็นที่ต้องการของครอบครัว รู้สึกสิ้นหวัง ไร้เพื่อน ไร้อนาคต คิดว่าตัวเองไม่เป็นที่ต้องการเพราะหน้าตาน่าเกลียด และไร้คุณค่า
แต่ในความเป็นจริงแล้วเขาเป็นคนที่มีเพื่อนเยอะมาก ทั้งเพื่อนสมัยเรียน เพื่อนที่ทำงาน และเพื่อนที่รู้จักในโอกาสอื่น ๆ แม้กระทั่งตอนที่เขาคิดฆ่าตัวตาย เพื่อนก็ยังกล่อมเขาให้คิดใหม่ อาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่งบอกว่าถ้าเป็นคนที่ขาดทักษะในการเข้าสังคมเลยมีเพื่อนน้อยยังว่าไปอย่าง แต่เขาคนนี้รู้จักคบหาสมาคมกับคนอื่น มีเพื่อนเยอะ แต่กลับรู้สึกโดดเดี่ยว
เรื่องน่าเศร้าก็คือ เบื้องหลังความเป็นเด็กเรียนดีของเขามาจากการถูกแม่เคี่ยวเข็ญให้เรียนเก่ง และต้องทำทำให้ครูประทับใจ เช่น หากทำการบ้านแล้วมีตรงไหนผิดหรือเขียนไม่สวยก็จะโดนแม่บังคับให้แก้ใหม่ ไม่เพียงเท่านั้นแม่ของเขายังลงโทษเขารุนแรงเกินเหตุ ด้วยการไล่ให้ออกไปยืนอยู่นอกบ้านท่ามกลางหิมะเป็นเวลาหลายชั่วโมง หรือเทอาหารส่วนของเขาลงบนหนังสือพิมพ์ แล้วบังคับให้เขากินจากพื้น
หลังเกิดเหตุอาชญากรรม ครอบครัวของเขาก็อยู่ไม่เป็นสุขอีก น้องชายเขาฆ่าตัวตายในหกปีให้หลัง เพราะทนไม่ได้ที่ถูกสังคมประณามในฐานะที่เป็นน้องชายของฆาตกร อีกทั้งสื่อก็ไล่ประกบ้ขาอยู่เรื่อย ไม่ว่าจะย้ายบ้านกี่หนก็ยังตามเจอ เขาต้องออกจากงาน หันมาทำงานชั่วคราวแทน ต่อมาก็ถูกพ่อแม่ของคนรักกีดกัน จนในที่สุดผู้หญิงก็ขอเลิกพร้อมกับพูดจาแทงใจดำว่า บ้านเขาไม่ปกติกันทั้งบ้านและเขาก็เป็นน้องชายฆาตกร ว่ากันว่านี่เป็นจุดตัดที่ทำให้เขาคิดจบชีวิตตัวเองลง ทั้งที่เขาไม่ได้มีความผิดอะไรเลย
โทริหมะคือ “คนชั่ว” หรือ “เหยื่อของสังคม”?
ผู้ก่อเหตุโทริหมะจำนวนมากมีสภาพจิตใจที่สิ้นหวังต่อชีวิตตัวเอง รู้สึกไร้ค่า และโทษสังคมว่าทำให้พวกเขาไร้ที่ไป สังคมส่วนหนึ่งจึงมองว่าคนที่เข้าข่ายจะเป็นโทริหมะได้น่าจะเป็นคนบางกลุ่มโดยเฉพาะ เช่น ฮิคิโคโมริ , คนที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้วแต่ยังพึ่งพาพ่อแม่ในการใช้ชีวิต และคนที่ไม่มีงานประจำทำเป็นหลักแหล่ง แต่ที่จริงแล้วสภาพจิตใจอย่างผู้ที่ก่อเหตุโทริหมะน่าจะสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้
อีกอย่างคือสังคมที่มุ่งความเป็นเลิศ สมบูรณ์แบบไม่มีที่ติ และแสวงหาข้อผิดพลาดอย่างญี่ปุ่น ก็อาจจะมีส่วนบางประการที่ทำให้ผู้คนเกิดสภาพจิตใจเช่นนี้ได้ง่าย เพราะคนจะรู้สึกว่าต้องทำตามค่านิยมสังคม ไม่อย่างนั้นก็จะไม่ได้รับการยอมรับ หรือไม่ก็เป็นเจ้าตัวเองที่เอามาตรฐานสังคมมาตัดสินว่าตนไร้คุณค่า
คดีโทริหมะแบบที่ไม่ใช่การทำไปเพื่อความสนุกจึงไม่อาจเรียกได้เต็มปากว่าเป็นคดีที่ “จู่ ๆ ก็มีคนเสียสติเที่ยวไล่แทงคน” แต่อาจสะท้อนให้เห็นถึงคนที่มีความกดดันทางจิตใจรุนแรง เต็มไปด้วยความรู้สึกไร้ค่า เหงา และไม่รู้จะทำอย่างไรดีกับชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในยุคนี้เป็นกันไม่น้อย แต่ผู้คนบางส่วนกลับมองว่าเป็นปัญหาส่วนตัวและเป็นหน้าที่ของครอบครัวนั้นเองที่ต้องดูแล ความจริงเรื่องนี้เป็นปัญหาสังคม ทั้งสังคมจึงน่าจะช่วยกันหาทางออกต่อสภาพจิตใจเช่นนี้ของผู้คนควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังภัยด้วย”
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Onlineทุกวันอาทิตย์.