xs
xsm
sm
md
lg

MUSASHI-มิยาโมโตะ มุซาชิภาค 4 ลม ตอนส้มของโจทาโร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นวนิยายอิงประวัติศาสตร์
ตำนานนักดาบผู้ก่อกำเนิดสำนักนิเท็นอิจิริว และ คัมภีร์ห้าห่วง
บทประพันธ์ของ โยชิกาวะ เออิจิ (1892-1962)
-แปลและเรียบเรียงโดย ฉวีวงศ์ อัศวเสนา



1
มูซาชิแทบลืมหายใจขณะตะลึงมองคมมีดดื่มลึกลงไปในตัวพิณบิวะตรงมุม ตรงลำตัว ลงไปจนสุด รู้สึกเจ็บปวดราวกับตนเองถูกคุณพี่โยชิโนะฟันด้วยมีดเล่มนั้นลึกเข้าไปถึงกระดูก
พิณบิวะถูกผ่าออกเป็นสองซีกไปต่อหน้าต่อตา คุณพี่โยชิโนะทำหน้าเฉยไม่แสดงว่าเสียดายแม้แต่น้อย
“เห็นหรือไม่เจ้าคะ”
คุณพี่ยิ้มเยียบเย็น
พิณบิวะถูกผ่าออกเห็นภายในเป็นโพรงกลวงเห็นชัดอยู่ในแสงเปลวไฟในเตาผิง
มูซาชิยังไม่หายตะลึง มองพิณบิวะสลับกับใบหน้าของโฉมงามโยชิโนะด้วยความสงสัยไม่เชื่อตาตนเองว่า หญิงงามผู้อ่อนโยนนุ่มนวลจะใจเด็ดได้ถึงเพียงนี้
เสียงกังวานจากพิณบิวะยังไม่ทันจางหาย แต่ตัวพิณกลับถูกผ่าเป็นสองซีกสิ้นสาพความเป็นพิณอย่างน่าเวทนา ใจของมูซาชิเจ้าหนุ่มนักดาบแปลบวูบคล้ายเจ็บไปกับพิณ แต่ใบหน้าของโฉมงามโยชิโนะสงบนิ่งไม่มีแม้แต่จะแดงเรื่อ
“เห็นไหมว่าข้างในกายตัวของพิณบิวะนั้นเป็นโพรงกลวง ทีนี้มาดูกันว่าเสียงต่าง ๆ เกิดขึ้นตรงไหนและเปลี่ยนเป็นเสียงหลากหลายได้ยังไง ในนี้มีไม้ขวางอยู่อันหนึ่งที่มีความสำคัญเสมือนกระดูก หัวใจ และชีวิตของพิณ หากไม้ท่อนนี้ทำหน้าที่แค่ขวางยันผนังพิณเป็นแนวตรงเอาไว้ เสียงหลากหลายก็ไม่เกิดขึ้นเป็นท่วงทำนองเพลง ช่างพิณจึงสลักไม้ขวางนี้ไว้เป็นจังหวะคลื่นตลอดแนว เท่านั้นยังไม่พอ ช่างพิณทำปลายไม้ขวางนี้ทั้งสองด้านให้ยืดหยุ่นด้วยความประณีตเพื่อให้ดีดสายพิณได้เสียงเพลงเสนาะโสตรดังใจ
พิณบิวะของฉันไม่เลิศเลอล้ำค่าแต่ก็ได้ดีดเสียงดังใจ ฉันเสียดายแต่ก็ตัดใจผ่าให้ท่านดูก็เพราะอยากให้ท่านเข้าใจความคิดของฉันว่า ชีวิตของคนเรานั้นเปรียบได้กับพิณบิวะ”
“... ... ...”
ดวงตาคมวาวของมูซาชิจับจ้องแทบไม่กระพริบอยู่ที่พิณบิวะ
“ฉันคิดว่าอย่างน้อยคนทั่วไปต่างก็รู้กันว่าความยืดหยุ่นและใจเราควรมีอิสระ การทำตัวแข็งเครียดไม่โอนอ่อนผ่อนตามสถานการณ์นั้นย่อมเสี่ยงต่อความพลั้งพลาด แต่น้อยคนนักที่จะปรับตัวให้ให้ยืดหยุ่นได้เหมือนไม้ขวางลำตัวพิณบิวะดังที่ฉันว่าไว้
เสียงที่เกิดเมื่อฉันดีดเส้นพิณพร้อมกันสี่สายคือเสียงทรงพลังของหอกที่ถูกพุ่งฝ่าหิมะ เสียงนั้นเกิดขึ้นความ เกร่งและความยืดหยุ่นที่สมดุลกันดีของไม้พาดในลำตัวพิณ เมื่อฉันพบท่านเป็นครั้งแรกในคืนนี้ ฉันนึกอยู่ในใจว่านักดาบผู้นี้น่าเกรงอันตรายนัก เพราะสังเกตเห็นความตึงเครียดไปทั่วทั้งตัว ไม่มีส่วนไหนมีทีท่าว่าจะสามารถดัดให้โค้งงอหรือยืดหยุ่นผ่อนคลายได้เลยสักนิด ถ้าเป็นพิณบิวะและกรีดเล็บดีดลงไป อย่าว่าแต่จะได้เสียงไพเราะดังใจเลย หากเผลอไผลใส่อารมณ์สายพิณจะต้องขาด หรือตัวพิณอาจถึงกับแตกหักเสียหายได้
ที่ฉันพูดเช่นนี้ใช่ว่าจะเยาะเย้ย ตำหนิติเตียน ล้อเล่นเป็นเรื่องสนุก หรือด้วยความประสงค์ร้ายใด ๆ หากคำพูดของฉันไม่ถูกหูเพราะคิดว่าเป็นเพียงคำพร่ำบ่นไร้สาระของผู้หญิงชาวบ้านคนหนึ่ง ก็ขออย่าได้ใส่ใจปล่อยให้มันผ่านหูท่านไปเถิด
แว่วเสียงไก่ขันดังมาแต่ไกล
แสงอาทิตย์ยามรุ่งอรุณสะท้อนหิมะสาดส่องผ่านรอยแยกที่บานประตูเข้ามาเป็นลำแสงจัดจ้า
มูซาชินั่งเพ่งมองไปที่ซากพิณบิวะ สายขาด ตัวแตกเห็นเสี้ยนไม้ขาว มาได้ยินทั้งเสียงไก่ขัน และไม่รู้สึกใด ๆ กับลำแสงจัดจ้าที่สาดส่องผ่านรอยแยกที่บานประตูเข้ามาในห้อง
“ตายจริง เช้าแล้วหรือนี่”
โยชิโนะโฉมงามอุทานคล้ายเสียดายต่ำคืนที่เคลื่อนคล้อยไป เอื้อมมือไปที่กระบุงหมายหยิบกิ่งโบตันมาเติมกองไฟ แต่ก็เก้อพราะกิ่งไม้หมดไปนานแล้ว
แว่วเสียงประตูเปิดและเสียงนกเพรียกเรียกหาคู่ยามเช้า ราวกับดังมาจากแดนอันแสนไกล
นางไม่ขยับตัวไปเลื่อนประตูทึบกันฝนรับแสงแดดยามเช้าหลังตื่นนอนเช่นเคย
แม้กิ่งโบตันจะหมด แต่เลือดในกายนางอุ่นผ่าวไปทั่วกาย
สาวน้อยต้นห้องกับเด็ก ๆ จะไม่มีวันเปิดประตูห้องนี้เข้ามาเด็ดขาด ถ้านางไม่เรียก

2
หิมะฤดูใบไม้ผลิละลายเร็ว ไม่เหลือร่องรอยให้รู้เลยว่าเคยตกลงมาทับถมพื้นดินเมื่อวานซืน ฟ้าโปร่งและแสงแดดจัดจนอยากถอดเสื้อคลุมทิ้งไปตาม ๆ กัน สายลมอุ่นอ่อนโยนเร่งต้นไม้ใหญ่น้อยให้เริ่มแตกตาต้อนรับฤดูใบไม้ผลิของปีใหม่
“วู้...มีใครอยู่บ้างไหม”
พระธุดงค์นิกายเซ็นในชุดเดินทางมอมแมมราวกับเพิ่งไปคลุกโคลนมา ยืนร้องเรียกจนเสียงแห้งอยู่หน้าประตูทางเข้าเรือนของตระกูลคาราซูมารุ และเมื่อเห็นว่าไม่มีใครออกมาไถ่ถามแน่แล้ว พระหนุ่มจึงเดินอ้อมไปเรือนบริวารด้านหลังเรือนใหญ่ ส่งเสียงเรียกอีกพร้อมกับเขย่งขึ้นมองมองลอดหน้าต่างเข้าไปปภสยในเรือน
“ใครน่ะ มาทำอะไรที่นี่”
พระหนุ่มหันขวับไปทางเสียงเรียกก็พบหนุ่มน้อยยืนเท้าสะเอวขมวดคิ้วมองมา
คราวนี้หลวงพี่เองกลับเป็นฝ่ายแปลกใจและจ้องกลับไปด้วยสายตาเป็นคำถามว่า
แล้วเจ้าล่ะเป็นใคร
เพราะท่าทางเจ้าหนุ่มน้อยคนนี้ดูผิดที่ผิดทางไม่น่าจะมาอยู่ในบริเวณคฤหาสน์ของท่านมิตซูฮิโระ คาราซูมารุ พระหนุ่มเม้มปากและทำหน้าแปลก ๆ ขณะสำรวจเจ้าหนุ่มน้อยตรงหน้าตั้งแต่หัวจรดเท้า โดยไม่พูดไม่จา
โจทาโรเหน็บดาบไม้เล่มยาวเกินตัวไว้ที่เอวตามเคย มือข้างหนึ่งกดอยู่ที่อกเสื้อโป่งพองอยู่ราวกับใส่อะไรเอาไว้
“ถ้าจะมาบิณฑบาตละก็ต้องไปที่ครัวโน่น อ้อมไปเข้าทางประตูรั้วด้านหลัง”
“อาตมาไม่ได้มาบิณฑบาต”
หลวงพี่ชี้แจงพร้อมกับชี้ให้ดูกล่องใส่ม้วนจดหมายที่สะพายมา
“อาตมามาจากวัดนันโซจิที่แคว้นอิซูมิ นำจดหมายด่วนมาส่งให้ท่านชูโฮ ทากูอันผู้มาพักอยู่ที่คฤหาสน์แห่งนี้ เจ้าเป็นเด็กส่งของรึ”
“ข้าอาศัยอยู่ที่บ้านนี้ เป็นแขกของที่นี่เหมือนกับหลวงพี่ทากูอัน”
“ดีจริง งั้นเจ้าช่วยไปบอกท่านทากูอันทีเถิดว่า มีคนจากวัดนันโชจิเอาจดหมายด่วนที่ส่งถึงท่านจากทาจิมะ มาส่งให้”
“ได้สิ ข้าจะไปเรียกหลวงพี่ทากูอันมาให้เดี๋ยวนี้เลย”
ว่าแล้วโจทาโรก็กระโจนขึ้นไปบนเรือนทั้งที่เท้าเปื้อนดิน อารามผลีผลามจึงชนเข้ากับฉากกั้น เซหลุน ๆ ไปข้างหน้ามือที่กดหน้าอกไว้จึงเลื่อนหลุดปล่อยส้มลูกเล็กที่ใส่ไว้ในอกเสื้อร่วงกราวลงไปกลิ้งอยู่กับพื้น ร้องไม่เป็นภาษา หนุ่มน้อยหายข้างในครู่หนึ่งก่อนกลับมาบอกกับหลวงพี่ผู้นำจดหมายมาจากวัดนันโชจิว่า
“ขอโทษนะหลวงพี่ ข้านึกว่าอยู่ แต่คนที่นี่เค้าบอกว่าหลวงพี่ทากูอันไปวัดไดโทกูจิตั้งแต่เช้า”
“แล้วเจ้ารู้ไหมล่ะว่าท่านจะกลับมาเมื่อไร”
“เดี๋ยวคงกลับ”
“งั้นอาตมาขอคอยอยู่ที่นี่แหละ ว่าแต่มีห้องที่จะเข้าไปนั่งคอยไหม จะได้ไม่เกะกะใครเขา”
“มีสิ”
โจทาโรโดดลงมาจากเรือนบริวารทำหน้ามั่นใจเต็มใจเต็มทีเพราะในคฤหาสน์แห่งนี้ไม่มีที่ไหนที่เจ้าหนุ่มน้อยจะไม่รู้จัก เดินนำหน้าหลวงพี่คอกวัว
“หลวงพี่นั่งรอตรงนี้ได้เลย ไม่เกะกะใครแน่นอน”
โจทาโรกระโจนหายไปทางหนึ่ง ขณะที่พระหนุ่มผู้นำจดหมายด่วนมาจากวัดนันโชจิ ยังไม่ทันหายตื่นตะลึงจากการที่ถูกทิ้งอยู่ในคอกวัวที่มีล้อเกวียนวางทับซ้อน ฟางกองเป็นภูเขา และอบอวลไปด้วยกลิ่นขี้วัว
หนุ่มน้อยวิ่งเลียบสวนเข้าไปในห้องกว้างด้านตะวันตกที่แดดส่องสว่าง แล้วเย่ยมหน้าเข้าไปร้องบอกเสียง ดังลั่น
“โอซือ ข้าได้ส้มมาแล้ว”

3
หมอมาดูอาการให้ก็แล้ว กินยาทึ่หมอให้ไว้ก็แล้วแต่ไข้ก็ยังไม่ลดทำให้ไม่อยากอาหาร
โอซือยกมือขึ้นลูบหน้าตัวเองแล้วใจหายแล้วรำพึงอยู่คนเดียวว่า
เราซูบผอมขนาดนี้เลยรึ
โอซือมั่นใจยู่เสมอมาว่าตนเป็นหญิงร่างกายแข็งแรงไม่มีโรคไม่มีภัย หมอที่มาตรวจอาการนางที่คฤหาสน์ คาราซูมารุก็ให้กำลังใจว่าไม่ต้องห่วงกังวลแต่ทำไมถึงได้ผ่ายผอมอย่างนี้ ความกังวลผสมกับไข้ทำให้นางคอแห้งผากอยากได้อะไรที่ชุ่มคอ และหลุดปากออกมาว่า
อยากกินส้มจังเลย
โจทาโรเฝ้าดูอาการอยู่และกำลังวิตกกังวลว่านางไม่ได้กินอะไรเป็นชื้นเป็นอันมาหลายวันแล้ว จึงย้อนถามว่า
ส้มเหรอ
แล้วรีบไปถามคนในครัวว่ามีบ้างไหม ได้ความว่าไม่มีจึงออกไปเที่ยวหาซื้อตามร้านผลไม้ในเมือง แต่ก็หาส้มไม่พบเลยสักลูก วิ่งออกไปจนถึงผ่านกลางใจเมือง ก็มีแต่ร้านขายเส้นไหม ร้านขายเส้นด้าย ร้านน้ำมัน ร้านขนสัตว์ แต่หาส้มไม่ได้สักลูก
แต่โจทาโรก็ตั้งใจแรงกล้าที่จะหาส้มไปให้โอซือให้ได้ และระหว่างที่กำลังหาอย่างเอาเป็นเอาตายนั้นเองก็ไปพบบ้านหลังหนึ่งปลูกต้นผลไม้ไว้ริมรั้ว จึงรี่เข้าไปหมายว่าถ้าจะต้องขโมยก็ยอม แต่พอเข้าไปใกล้ก็ต้องผิดหวังเมื่อพบว่าเป็นผลไม้อื่นที่ไม่ใช่พวกส้ม และเป็นลูกไม้พวกที่กินไม่ได้
โจทาโรวิ่งหาต้นส้มไปเกือบครึ่งนครหลวง สุดท้ายก็พบต้นส้มต้นหนึ่งอยู่ในหมู่ไม้บริเวณศาลเจ้าแห่งหนึ่ง จึงลอบเข้าไปเก็บแล้วซุกเอาไว้ในอกเสื้อวิ่งหนีกลับมา ไม่กลัวและสนใจกับคนในศาลเจ้าที่กู่ตะโกนและวิ่งไล่หลังมา
“ขโมย ขโมย”
ข้าไม่บาปสักหน่อย ก็ไม่ได้ขโมยไปกินเองนั่นนา
โจทาโรปอกส้มส่งให้โอซือ นางไม่รับส้มที่หนุ่มน้อยส่งให้มากิน แต่เบือนหน้าที่เปี่ยมไปด้วยความซาบซึ้งในน้ำใจเจ้าหนุ่มน้อย ไปทางหนึ่ง
“ทำไม โอซือ เป็นไรไปรึ”
หนุ่มน้อยยื่นหน้าเข้าไปใกล้ โอซือยิ่งหลบหน้ากับกับหมอนเบือนไปทางหนึ่ง บอกด้วยเสียงพึมพำ
“ไม่มีอะไร ไม่มีอะไร”
โจทะโรทำเสียงจึ๊กจั๊ก
“อะไร ขี้แยอกแล้ว ข้าอุตส่าห์วิ่งหาส้มไปรอบเกียวโตกว่าจะได้มา คิดว่าโอซือจะดีใจ แต่กลับร้องไห้อย่างนี้ ข้าเสียใจนะ ไม่สนุกแล้วละ”
“โจทาโร ข้าขอโทษ”
“ตกลง ไม่กินใช่ไหม”
“กินสิ แต่รอเดี๋ยว”
“กินที่ข้าปอกให้นี่ก่อนนะ อร่อยชื่นใจมากเลยละ”
“น่าอร่อย แต่ข้าขอบใจเจ้ามากนะโจทาโร แต่ทำใจให้กินไม่ได้ เพราะรู้สึกไม่คู่ควรกับความมีน้ำใจดีของเจ้า รู้สึกเสียดายถ้าจะกินให้หมดไป”
“แล้วร้องไห้ทำไม มีอะไรที่ทำให้สะเทือนใจรึ”
“ก็โจทาโรดีกับข้าเหลือเกิน ข้าซาบซึ้งใจมาก”
“แล้วจะร้องไห้ไปทำไม เดี๋ยวข้าก็พลอยร้องไปด้วยหรอก”
“ไม่ร้องแล้ว ขอโทษนะโจทาโร”
“งั้นก็กินสีย โอซือไม่กินอะไรเลย เดี๋ยวตายไม่รู้นะ”
“ข้าจะกินทีหลัง โจทาโรกินก่อนเถอะ”
“ไม่เอา ข้าไม่กิน”
โจทาโรน้ำลายสอ แต่ไม่กล้ากินเพราะแก้ตัวเอาไว้ตอนขโมยส้มว่า ไม่ได้ขโมยมากินเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น