xs
xsm
sm
md
lg

ทุกข์ของการมีมากไป VS สุขของการมีน้อยลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก otosection.com
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ฉันเพิ่งย้ายบ้านเมื่อเร็ว ๆ นี้ เลยได้ค้นพบว่าตัวเองมีข้าวของมากกว่าที่คิดและทิ้งไปเยอะ ทำให้ฉันได้ตระหนักถึงความทุกข์ของการมีและความสุขของการไร้ของไม่จำเป็น จนนึกอยากฝากตัวเป็นศิษย์ของนักจัดบ้านชาวญี่ปุ่นชื่อดังอย่างคุณ คนโด มาริเอะ กับมินิมอลลิสต์อย่างคุณ ซาซากิ ฟุมิโอะ เหลือเกิน

กำจัดข้าวของเมื่อย้ายบ้าน

ฉันรู้สึกสนใจการทิ้งข้าวของขึ้นมาจริงจัง ตอนรวบรวมข้อมูลมาเขียนบทความเรื่อง ทำไมญี่ปุ่นจึงสนใจเตรียมพร้อมก่อนตาย" แม้ว่าฉันจะไม่ได้ชอบสะสม แต่ก็มีของบางอย่างที่ไม่ค่อยได้ใช้ จะทิ้งก็เสียดายเพราะยังดีอยู่เลย แต่ในที่สุดเมื่อบ้านใหม่ไม่มีที่ให้เก็บอะไรมากนัก ฉันก็เลยทิ้งตู้เสื้อผ้าและตู้หนังสือไปอย่างละใบเขื่อง

ฉันกับสามีประมาทมากที่คิดว่าข้าวเราไม่ได้เยอะเท่าไหร่ จึงให้เวลาตัวเองกัน 4 วันในการเตรียมแพ็กของย้ายบ้าน แต่เมื่อเราเอาข้าวของออกมาจากที่เก็บแล้ว ทุกอย่างดูเยอะแยะไปหมด จึงเข้าใจชัดเจนแล้วว่าทำไมคุณคนโด มาริเอะ ผู้โด่งดังจากหนังสือ “ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้านด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว” จึงบอกให้เอาของประเภทเดียวกันออกมากองรวมกัน ไม่อย่างนั้นจะไม่รู้สึกว่าเรามีของมหาศาลแค่ไหน

ภาพจาก insider.com
จากแต่เดิมที่คิดว่าคงใช้ลังใส่ของแค่ไม่กี่สิบใบ กลับเพิ่มเป็นเท่าตัว ตอนที่ฉันเห็นพนักงานบริษัทขนย้ายพากันแบกของหนักขึ้นบันไดท่ามกลางอากาศร้อนระอุอย่างเหนื่อยล้า ก็รู้สึกผิดและเสียใจเต็มประดา จึงตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะทิ้งของให้มากที่สุดเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ตัวเองหรือใครอีก เลยเลิกเสียดายที่จะทิ้งเสื้อผ้าและรองเท้าที่แทบไม่ได้ใส่ ของใช้ที่เคยชอบแต่ตอนนี้ไม่ได้รู้สึกอะไรนัก กล้องถ่ายรูปและเลนส์ แก้วน้ำ หนังสือหลายสิบเล่ม ขวดโหลบรรจุอาหาร อาหารแห้งที่ไม่มีกำหนดจะบริโภคอีก เป็นต้น

คำแนะนำของคุณคนโด มาริเอะมีประโยชน์มากทีเดียว คือเธอให้เก็บเฉพาะของที่สร้างความสุขไว้และทิ้งอย่างอื่นไป ก่อนทิ้งก็ให้แสดงความขอบคุณกับข้าวของก่อน ฉันลองทำดูกับของบางอย่างที่รู้สึกผิดถ้าจะทิ้ง และรู้สึกว่าตัดใจได้ง่ายขึ้นมาก คงเพราะไม่ได้ปฏิบัติกับมันอย่างทิ้งขว้าง

ระหว่างการคัดของทิ้งนั้น ฉันพบว่าตัวเองได้ทิ้งภาระจากใจไปหลายอย่างพร้อมกัน เพราะไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบผูกพันกับของนั้นอีก เช่น ฉันเคยชอบการวาดรูประบายสี และคิดว่าว่างเมื่อไหร่ก็อยากหัดระบายสีน้ำให้เก่ง แต่พอโตขึ้นวิถีชีวิตเปลี่ยน ความรู้สึกเปลี่ยน ผ่านไปหลายปีฉันก็ไม่ได้แตะหนังสือและอุปกรณ์วาดรูปสักที น่าแปลกที่พอทิ้งแล้วกลับโล่งอก เหมือนได้วางภาระลงจากบ่าในที่สุด

เสื้อผ้าบริจาคที่กลายเป็นภูเขาขยะเสื้อผ้าในแอฟริกา

เสื้อผ้าแฟชั่นที่เคยใส่ตอนอยู่ญี่ปุ่น แต่ไม่มีใครเขาใส่กันในอเมริกา ฉันก็ต้องทิ้งไป ตอนแรกมีเอาบางส่วนไปบริจาคให้ร้านขายเสื้อผ้ามือสองซึ่งเอารายได้ไปบริจาคอีกที แต่สามีฉันเล่าให้ฟังว่าเสื้อผ้าบริจาคที่ทั่วโลกส่งไปแอฟริกานั้นมีจำนวนมหาศาลจนกลายเป็นภูเขาขยะเสื้อผ้า ผู้คนและสัตว์เลี้ยงก็ต้องอาศัยอยู่บนกองขยะเหล่านั้น เขาสรุปว่าแทนที่จะบริจาค ทิ้งไปอาจจะยังดีกว่า แต่ทางที่ดีที่สุดคืออย่าซื้อเพิ่มเลย เพราะมันส่งเสริมการผลิตเสื้อผ้าจนล้นโลก และกระทบคุณภาพชีวิตคนอื่นแบบนี้แหละ

ภาพจาก abc.net.au
จากข้อมูลของ ABC News ระบุว่าโลกเราผลิตเสื้อผ้าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวตั้งแต่ ค.ศ. 2000 และเราก็ซื้อเสื้อผ้ากันมากขึ้น 60% เมื่อเทียบกับ 15 ปีที่แล้ว สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) พบว่าทุกปีมีเสื้อผ้าราว 85% ที่กลายเป็นขยะ ซึ่งเท่ากับว่ามีรถบรรทุก 1 คันเอาขยะเสื้อผ้ามาเผา หรือถมดินทุก ๆ 1 วินาทีเลยทีเดียว

ใครเลยจะคิดว่าเสื้อผ้าที่ไม่ใส่แล้วเอาไปทิ้งหรือบริจาคนั้น จะกลายเป็นการสร้างขยะถึงเพียงนี้ ฉันนึกขึ้นมาได้ว่าเคยไปบริจาคเสื้อผ้าที่มูลนิธิในไทยแห่งหนึ่ง กองเสื้อผ้าบริจาคของเขาสูงราวตึกสองชั้น จนดูเหมือนกองขยะมากกว่าของใช้ ฉันเลยฉุกคิดว่าบางทีถ้าหากเราเปลี่ยนมาบริโภคเท่าที่จำเป็น ก็คงไม่ต้องสร้างปัญหาแบบเป็นลูกโซ่ นับตั้งแต่ภาระของเราเองจากการมีโดยไม่จำเป็น รวมถึงการส่งต่อของนั้นให้เป็นภาระคนอื่น และสร้างขยะมหาศาลต่อไป

พอมองข้าวของตัวเองก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึงคุณซาซากิ ฟุมิโอะ ขึ้นมา มินิมอลลิสต์และผู้เขียนหนังสือ “อะไรไม่จำเป็นก็ทิ้งไป” ผู้นี้เคยมีข้าวของเต็มบ้าน แต่เดี๋ยวนี้มีเพียงเท่าที่จำเป็น จนเรียกได้ว่าหากเกิดเหตุฉุกเฉิน เขาก็สามารถแพ็คของจำเป็นในชีวิตออกจากบ้านได้ในเวลาแค่ไม่กี่นาที ฉันเดาว่าชีวิตเขาคงปลอดโปร่งโล่งสบายมากทีเดียว

ภาพจาก ecoosfera.com
พี่ฉันเองก็มีข้าวของน้อย เสื้อผ้ามีเพียงเสื้อยืดสีพื้น แจ็คเก็ต และกางเกงยีนส์ รวมกันอาจจะไม่ถึงสิบตัวด้วยซ้ำไป พอมองห้องเขาที่ดูโปร่งสบายและเรียบง่ายเก๋ไก๋ราวกับออกมาจากหนังสือออกแบบบ้านแล้ว ก็นึกชื่นชมปนอิจฉาอยู่ครามครัน เลยว่าจะกลับไปอ่านหนังสือสองเล่มที่พูดถึงดูอีกครา เผื่อจะทิ้งของไม่จำเป็นได้เยอะกว่านี้และเหลือห้องโล่ง ๆ กับเขาบ้าง

ข้าวของที่สะสมไว้ส่วนใหญ่ไม่มีประโยชน์

บทความหลายชิ้นของญี่ปุ่นที่เกี่ยวกับการบริหารข้าวของในบ้านกล่าวคล้ายกันว่า คนที่ชอบสะสมของไว้เต็มบ้านและทิ้งไม่ลง มักจะมีสาเหตุมาจากการคิดว่า “จะทิ้งก็เสียดาย” หรือไม่ก็ “เก็บไว้เผื่อได้ใช้” ความคิดเช่นนี้ทำให้ข้าวของเริ่มกองโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่ร้อยละ 70 ของข้าวของพวกนั้นแทบไม่ได้ใช้เลย

เจ้าของบริษัทจัดการข้าวของแห่งหนึ่งบอกว่า หากของนั้นใช้ได้จริง เราก็คงได้ใช้มันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่หากเราต้องมาคิดว่าของนี้จะได้ใช้หรือไม่ได้ใช้ ก็แสดงว่ามันไม่ใช่ของจำเป็นอยู่แต่แรกแล้วต่างหาก ถ้าเราตระหนักถึงความจริงข้อนี้ เราก็ไม่ต้องลังเลเลยว่าจะทิ้งหรือไม่ทิ้งดี

การพับผ้าแบบคอนมาริ ที่ช่วยให้จัดเก็บและหาเจอง่าย ภาพจาก capeandapron.com
หากเป็นของที่คนอื่นให้มาและทิ้งไม่ลง ก็ขอให้คิดเสียใหม่ว่าสิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ “ของ” ที่เขาให้ แต่เป็น “น้ำใจ” ของคนให้ต่างหากที่เป็นของขวัญที่แท้จริง เขาชี้ว่าถ้าเราให้ความสำคัญกับข้าวของจริง ๆ เราจะแยกแยะได้ว่าอะไรสำคัญ อะไรไม่สำคัญ ทว่าเราแยกแยะไม่ออกต่างหากถึงได้ทิ้งไม่ลง ซึ่งหากเราอยู่ในยุคแร้นแค้นก็ว่าไปอย่าง แต่นี่เราอยู่ในยุคที่มีข้าวของมากไป จึงควรรู้จักเลือกสิ่งที่สำคัญไว้และทิ้งสิ่งไม่จำเป็นไป

การเก็บสะสมข้าวของที่เป็นโรคทางจิตเวช

หากคนไหนมีพฤติกรรมกักตุนข้าวของที่คนอื่นมองว่าไม่มีค่าไว้มากเกินไป ในทางการแพทย์จะจัดว่าเป็นโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ (Hoarding Disorder) ซึ่งเป็นความผิดปกติทางจิตที่ควรได้รับการรักษา นอกจากการกักตุนของไม่มีค่าแล้ว คนที่เป็นโรคนี้ยังมีพฤติกรรมอื่นประกอบด้วย เช่น แยกประเภทสิ่งของไม่เป็น ตัดสินใจไม่ค่อยได้ บริหารจัดการงานประจำวันไม่ได้ เช่น ทำกับข้าว ทำความสะอาด ชำระบิล เป็นต้น ทั้งยังมีความยึดติดข้าวของรุนแรง ไม่ยอมให้ใครแตะหรือยืม และความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวหรือเพื่อนฝูงก็ไม่ดีนัก

สาเหตุของการเป็นโรคนี้อาจเนื่องมาจากหลายปัจจัย เช่น ความผิดปกติทางสมอง กรรมพันธุ์ ความเครียด โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคซึมเศร้า เจอเหตุการณ์กระทบกระเทือนใจรุนแรง เป็นต้น หนทางในการเยียวยาคือต้องปรึกษาจิตแพทย์ โดยมักใช้ยาปรับความผิดปกติของสารเคมีในสมอง และทำพฤติกรรมบำบัด

ภาพจาก president.jp
ที่ญี่ปุ่นจะมีเรื่องคนวัยกลางคนและผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ท่ามกองขยะในบ้านให้ได้ยินอยู่เรื่อย ๆ นอกจากปัญหาทางจิตเวชแล้ว บางทีโรคชราและการอาศัยอยู่คนเดียวก็อาจมีส่วน และแม้ว่าโรคนี้ดูเหมือนจะพบมากในหมู่ผู้สูงอายุ แต่วัยรุ่นหรือคนหนุ่มสาวก็เป็นโรคนี้ได้เช่นกัน หากสังเกตพบว่าคนใกล้ตัวหรือตัวเองเข้าข่ายจะเป็นโรคนี้ก็ต้องปรึกษาจิตแพทย์ จะได้บำบัดความทุกข์ให้ลดลง

ส่วนคนที่มีข้าวของเยอะโดยไม่ได้ถึงกับเป็นโรคทางจิตเวช ก็มีผู้แนะนำว่าอย่าหาข้าวของมาเพิ่มจะเป็นการดีที่สุด และการรู้ชัดว่าตัวเองมีอะไรที่จำเป็นเพียงพอแล้ว ก็อาจช่วยลดการซื้อหรือเก็บสะสมของโดยไม่จำเป็นได้

มีของน้อยชิ้นลงแล้วจะรู้สึกดีขึ้นจริงไหม หากยังไม่เคยเก็บกวาดข้าวของออกจากบ้านจริงจัง ก็น่าลองดูนะคะ แล้วจะได้เรียนรู้อะไรเยอะเลย

แล้วพบกันสัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น