xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมญี่ปุ่นจึงสนใจ "เตรียมพร้อมก่อนตาย"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน สภาพสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต ทำให้กระแสการ “เตรียมพร้อมก่อนตาย” เป็นที่สนใจอย่างกว้างขวางในญี่ปุ่นตลอดช่วงสิบปีมานี้ ทั้งในกลุ่มคนหนุ่มสาวไปจนกระทั่งถึงผู้สูงอายุ ทั้งยังได้รับการส่งเสริมทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนด้วย

คำว่า “เตรียมพร้อมก่อนตาย” นี้ ภาษาญี่ปุ่นเรียก “ชู-คัต-สึ” (終活) หมายถึงการเตรียมความพร้อมรับชีวิตบั้นปลาย ด้วยการจัดการทรัพย์สมบัติและข้าวของที่มี เขียนบันทึกสั่งเสียหรือพินัยกรรม และจองสุสานกับสถานที่จัดงานศพของตัวเองไว้ เพื่อไม่ให้ลูกหลานหรือครอบครัวต้องลำบากในการดำเนินการทุกอย่างหลังผู้ตายจากไป และเพื่อให้ผู้ตายได้มีโอกาสฝากฝังความประสงค์หรือบอกกล่าวความในใจแก่คนในครอบครัวไว้ล่วงหน้า

สาเหตุที่คนญี่ปุ่นสนใจเรื่องนี้น่าจะเป็นเพราะสังคมญี่ปุ่นเปลี่ยนไปมาก จากเดิมที่เป็นครอบครัวใหญ่ก็แตกออกเป็นครอบครัวย่อย คนแต่งงานช้าลงและน้อยลง มีลูกน้อยลงหรือไม่มีเลย อีกทั้งคนก็อายุยืนยาวขึ้น ประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สวนทางกับประชากรเด็กเกิดใหม่ที่ลดลงเรื่อย ๆ นอกจากนี้เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2554 และการแพร่ระบาดของโควิดไปทั่วโลก ก็ยิ่งทำให้คนญี่ปุ่นรู้สึกถึงความเอาแน่เอานอนไม่ได้ในชีวิตมากขึ้น

ภาพจาก en-studio.jp
สมัยก่อนนั้นหากคนในครอบครัวเสียชีวิต อย่างน้อยก็ยังมีพี่น้องและลูกหลานเยอะแยะที่จะช่วยกันจัดการข้าวของของผู้ตายได้โดยไม่ลำบากมาก แต่ในยุคนี้ครอบครัวขนาดเล็กลง แถมยังค่อนข้างต่างคนต่างอยู่ และต่างคนต่างก็ยุ่งกับภาระของตนเอง การดำเนินการอะไรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ตายจึงอาจเป็นงานหนัก โดยเฉพาะหากตกเป็นภาระของใครคนใดคนหนึ่งหรือไม่กี่คน

จากการสำรวจแห่งหนึ่งพบว่าสาเหตุที่คนส่วนใหญ่เริ่ม “เตรียมพร้อมก่อนตาย” ก็เพราะไม่อยากให้เป็นภาระแก่ครอบครัวนี้เอง

จัดข้าวของก่อนตาย

ฉันจำได้ว่าหลังคุณลุงที่ญี่ปุ่นเสียชีวิตไป คุณป้าที่แก่ชรา ป่วย และเดินเหินลำบากต้องมาปวดหัวกับข้าวของมหาศาลของคุณลุง คุณป้าบ่นว่าคุณลุงชอบซื้อโน่นซื้อนี่มาเก็บไว้เต็มไปหมด ท่านต้องมาคัดเลือกของว่าอันไหนจะให้ใคร อันไหนจะทิ้ง อันไหนจะเก็บ และดูเหมือนคุณป้าจะไปเจออะไรเข้าที่ทำให้ท่านโกรธคุณลุงเป็นฟืนเป็นไฟอีกต่างหาก

ยุคนี้ญี่ปุ่นยังมักมีข่าวผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวและตายไปท่ามกลางข้าวของรกเต็มบ้าน ลูกหลานต้องจ้างบริษัทกำจัดข้าวของของผู้ตายโดยเฉพาะมาช่วย เพราะเกินกำลังที่จะจัดการด้วยตัวเอง

ภาพจาก m-ihinseiri.jp
ใครที่เคยจัดบ้านให้หายรกคงทราบดีว่าการจัดการกับข้าวของเป็นงานช้างแค่ไหน คนญี่ปุ่นจึงมักแนะนำให้จัดการข้าวของก่อนตายตั้งแต่เนิ่น ๆ ตอนที่ยังมีกำลังวังชา เพราะหากแก่แล้วจะไม่ค่อยมีแรง ทั้งยังเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย หรือไม่ก็ตัดสินใจได้ไม่ดีเท่าตอนอายุน้อยกว่า เพราะฉะนั้นหากทำได้ก็ควรทำเสียแต่ตอนนี้เลย อย่างที่ญี่ปุ่นก็มีคนวัย 20-30 ปีมากขึ้นที่เริ่มจัดข้าวของก่อนตายกันแล้ว

เขียนบันทึกสั่งเสีย/พินัยกรรม

ขั้นตอนถัดมาในการเตรียมพร้อมก่อนตาย คือการจดข้อมูลที่ต้องการฝากฝังครอบครัวหลังตัวเองตาย (หรือหลังป่วย ความจำเสื่อม หรือชรามาก) ไว้ใน “บันทึกสั่งเสีย” ซึ่งคนญี่ปุ่นเรียกกันว่า “เอ็นดิ้งโน้ต” (เป็นคำที่คนญี่ปุ่นบัญญัติขึ้นมาเอง ไม่มีคำนี้จริงในภาษาอังกฤษ)

ในบันทึกจะมีรายละเอียดสำคัญ เช่น หากป่วยอยากให้รักษาอย่างไร อยากรักษาตัวที่โรงพยาบาลหรือที่บ้าน อยากให้ใครเป็นคนดูแล หากตายไปอยากจะให้จัดงานศพอย่างไร ตั้งสุสานไว้ที่ไหน จะแบ่งสมบัติอย่างไร ซึ่งก็มีผู้แนะนำว่าเรื่องพวกนี้ควรปรึกษาคนในครอบครัวก่อนหากทำได้ เพราะพวกเขาต้องเป็นคนจัดการให้เราในภายหลัง เผื่อเห็นไม่ตรงกันแล้วเขาไม่ทำให้ ก็จะไม่ได้อย่างที่ต้องการ

นอกจากนี้ยังควรบันทึกข้อมูลจำเป็นอื่น ๆ ด้วย เช่น เบอร์ติดต่อคนใกล้ชิด ข้อมูลประกันชีวิต ประกันภัย ประกันอุบัติเหตุ ข้อมูลบัญชีเงินฝาก หลักทรัพย์ ทรัพย์สิน และหนี้ ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินการต่าง ๆ เป็นไปได้อย่างราบรื่นในภายหลัง

ภาพจาก so-zo-ku.com
บันทึกสั่งเสียนี้จึงมีประโยชน์มากในยามที่เจ้าของยังมีชีวิตอยู่ เช่น หากป่วยหรือความจำเสื่อม ลูกหลานก็จะได้รู้ล่วงหน้าว่าเจ้าตัวต้องการให้ดูแลรักษาอย่างไร และยังมีประโยชน์ในยามจากไปแล้ว เพราะจะช่วยลดภาระทางใจและทางการเงินของลูกหลานได้มาก ทั้งยังอาจทำให้พวกเขาไม่ต้องทะเลาะกันด้วย

มีข้อสังเกตว่าบันทึกสั่งเสียนี้ต่างจากพินัยกรรม ตรงที่บันทึกสั่งเสียไม่มีผลทางกฎหมาย ส่วนพินัยกรรมมี แต่ต้องเขียนให้ถูกหลักพินัยกรรมจึงจะนับว่ามีผลทางกฎหมาย

ข้อดีของการเตรียมพร้อมก่อนตาย

การจัดข้าวของก่อนตายช่วยให้เราได้ทิ้งสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปจากชีวิต ไม่ให้เป็นภาระทั้งของตัวเองและของคนที่เหลืออยู่ ระหว่างมีชีวิตอยู่ก็จะได้โล่งใจที่ไม่ต้องอยู่ท่ามกลางข้าวของเกลื่อนบ้าน หรือถ้าหากมีข้าวของที่ไม่อยากให้ใครมาเห็นเข้าก็จะได้กำจัดให้เรียบร้อย ไม่ให้เป็นที่แสลงใจคนอื่นทีหลัง

ส่วนการทำบันทึกสั่งเสียก็ช่วยให้เจ้าตัวได้ทบทวนชีวิตที่ผ่านมา และชัดเจนว่าต้องการใช้ชีวิตอย่างไรต่อไป อีกทั้งยังช่วยลดความกังวลหากตัวเองป่วยหรือตาย เพราะได้เขียนรายละเอียดฝากฝังให้ลูกหลานทราบเรียบร้อยแล้วว่าต้องการให้ทำเช่นไรต่อไป

ภาพจาก manetatsu.com
สถาบันวิจัยแห่งหนึ่งได้สำรวจความเห็นเรื่องชีวิตและความตายของคนรุ่นปัจจุบัน พบว่าคนที่ตระหนักถึงความตายของตัวเองจะมีความสุขมากกว่าคนที่ไม่ได้ตระหนักถึงความตาย 2 เท่าเลยทีเดียว คาดว่าเป็นเพราะการเตรียมพร้อมก่อนตายทำให้นึกถึงความตายของตนในแง่บวก นำไปสู่ความปรารถนาที่จะใช้ชีวิตให้เหลืออยู่ให้คุ้มค่า

คาดกันว่าการเตรียมพร้อมก่อนตายจะทวีความสำคัญและความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะนอกจากจะมีประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ยังมีส่วนเพิ่มความสุขในชีวิตด้วย

หน่วยงานส่งเสริมการเตรียมพร้อมก่อนตาย

การเตรียมพร้อมก่อนตายไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัวหรือภายในครอบครัวเท่านั้นนะคะ แต่ภาครัฐและภาคเอกชนญี่ปุ่นยังมีส่วนสนับสนุนช่วยเหลือด้วย อย่างบางท้องถิ่นก็ให้คนที่ไม่มีญาติหรือมีญาติน้อยมาแจ้งความประสงค์กับทางอำเภอไว้ล่วงหน้า ว่าเก็บพินัยกรรมไว้ที่ไหน หรือจองสุสานไว้ที่ใด แล้วทางเขตจะดูแลให้เมื่อเจ้าตัวจากไป มีกระทั่งธุรกิจที่เป็นตัวแทนส่งอีเมล/จดหมายขอบคุณและกล่าวลาแก่ผู้ที่เคยมีอุปการะคุณหลังตัวเองจากโลกนี้ไปด้วย

ภาพจาก manetatsu.com
ในท้องถิ่นและบริษัทหลายแห่งก็จัดงานหรือสัมมนาเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมก่อนตาย และยังอาจให้ข้อมูลอื่นที่เป็นประโยชน์เพิ่มเติม เช่น ประกันการพยาบาลผู้สูงอายุ วิธีออกกำลังกาย และป้องกันความจำเสื่อมสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการใช้ชีวิตด้วยตนเองจนถึงที่สุด เป็นต้น

ส่วนใหญ่ผู้เข้าร่วมคือคนที่ต้องการเตรียมพร้อมสำหรับความตายของตัวเอง แต่บางครั้งก็มีลูกหลานที่มาเข้าร่วมด้วยเหมือนกัน เพราะอยากทราบว่าตนสามารถทำอะไรได้บ้างก่อนพ่อแม่จากไป

ข้อแนะนำในการเตรียมพร้อมก่อนตาย

การเตรียมพร้อมก่อนตายเป็นงานที่ต้องใช้เวลา จึงมีผู้แนะนำว่าอย่าพยายามจัดการทุกอย่างรวดเดียวจบ แต่ค่อย ๆ ใช้เวลาทำไปทีละอย่าง โดยเฉพาะการจัดการข้าวของหรือทรัพย์สินที่ตัวเองมี อีกทั้งการให้เวลากับตัวเองยังช่วยให้ตัดสินใจได้ดีกว่าด้วย

บางคนก็แนะว่าให้เริ่มจากงานที่อยากให้เสร็จเป็นอันดับแรกก่อน แล้วลงมือทำไปทีละน้อย เอาเท่าที่ไม่รู้สึกว่าเป็นภาระต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ส่วนเวลาจะซื้ออะไรเพิ่มก็ให้คิดให้ดีก่อนว่าจำเป็นแค่ไหน จะได้ไม่มีข้าวของมากมายมาเป็นภาระเพิ่มอีก

ภาพจาก amazon.com
หนังสือเรื่อง “The Gentle Art of Swedish Death Cleaning” (ชื่อภาษาไทยว่า “DEATH CLEANING สุดท้ายก็ต้องทิ้ง”)  เขียนโดย Margareta Magnusson (มาร์การีตา แมกนัสสัน) ได้พูดถึงการจัดการข้าวของก่อนตาย และมีเนื้อหาบางส่วนที่คล้ายกับการเตรียมพร้อมก่อนตายของญี่ปุ่นอยู่บ้าง หากสนใจลองหาอ่านดูนะคะ (อ่านสรุปย่อได้จากบทความของกรุงเทพธุรกิจ“จัดบ้าน” ก่อนตาย )

แม้การเตรียมพร้อมก่อนตายอาจมีวัตถุประสงค์หลักคือเพื่อให้ครอบครัวที่เหลืออยู่ไม่ต้องลำบาก แต่ที่จริงก็มีประโยชน์กับเจ้าตัวมากด้วยเช่นกัน เพราะนอกจากจะได้เก็บกวาดข้าวของและจัดการทรัพย์สินให้เรียบร้อยแล้ว ยังช่วยให้สบายใจที่ได้เตรียมพร้อมทุกอย่างล่วงหน้าแบบไม่ต้องมีอะไรคาใจ อีกทั้งยังมีโอกาสได้ทบทวนชีวิตของตัวเองและวางแผนการใช้ชีวิตที่เหลือต่อจากนี้ รวมไปถึงมีความสุขเพิ่มขึ้นด้วย

ฉันคิดว่าการเตรียมพร้อมก่อนตายไม่มีคำว่าเร็วเกินไป เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ตายตอนแก่ แต่เราอาจตายหรือป่วยหนักลงเมื่อไหร่ก็ได้ และหลายครั้งสิ่งเหล่านี้ก็มักมาเยือนในเวลาที่เราคาดคิดถึงมันน้อยที่สุด หากสามารถเตรียมพร้อมอะไรได้ในตอนนี้ ก็คงเป็นประโยชน์มากทีเดียว

อย่าประมาทในชีวิตกันนะคะ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น