สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว มีสำนวนสุภาษิตที่พูดว่า 「ペンは剣より強し Pen wa Ken yori tsuyoshi 」→ The pen is mightier than the sword. ปากกามีอำนาจ(ทรงพลัง)มากกว่าดาบ เป็นเรื่องจริงหรือไม่?
สืบเนื่องจากเหตุการณ์ลอบสังหารอดีตนายกรัฐมนตรีอาเบะนั้น สื่อสังคมโซเชียลมีเดียก็มีประเด็นสนทนากันหลากหลายมุมมองแม้ว่าจะยังไม่สรุปสาเหตุที่จริงและหลายคนยังอยู่ในโหมดเศร้าโศกเสียใจเพราะคนรุ่นใหม่ค่อนข้างชอบอดีตนายกรัฐมนตรีอาเบะมาก ผมเคยเขียนไว้ในตอนที่ชื่อว่า “คนญี่ปุ่นรู้หน้าไม่รู้ใจ อาเบะซังผู้เป็นที่รักของหนุ่มสาว” (คลิกเพื่ออ่าน)
แต่สังคมญี่ปุ่นมีคนอีกรุ่นหนึ่งที่เรียกได้ว่าถูกทิ้งจากการช่วยเหลือของรัฐบาลก็ว่าได้ เราเรียกกันว่าคนรุ่น 氷河期世代 Hyōgaki sedai ต่อไปขอเรียกว่า “Hyōgaki” นะครับ เป็นประชากรญี่ปุ่นที่มีอายุระหว่าง 40-49 ปี ซึ่งนายยามากามิก็เป็นคนในกลุ่มวัยนี้ด้วย ที่ญี่ปุ่นมีพูดคุยกันมาก ผมคิดว่ามี 3 ประเด็นที่คนไทยอาจจะเข้าใจยากเกี่ยวกับคดีนี้ คือ
1. ประเด็น 桜タブー Sakura Taboo ซากุระตาบู ซึ่งซากุระในที่นี้เป็นคำแสลงแทน “ตำรวจ” ตาบูคือเรื่องต้องห้าม พูดง่ายๆ คือ ตำรวจเป็นองค์กรที่สื่อญี่ปุ่นไม่แตะต้อง ไม่พาดพิง ไม่ค่อยพูดถึง ตอนนี้สื่อมักจะเล่นข่าวว่านาย เท็ตสึยะ ยามากามิ (อายุ 41 ปี) ผู้ว่างงาน เคยเป็นเจ้าหน้าที่กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเล และเคยฝึกอบรมจากทักษะการเป็นทหาร โยงไปที่กลุ่มทหารเรือ มีนัยยะที่ทำให้คนเข้าใจเนื้อหาบิดเบือนไปได้ สื่อญี่ปุ่นเล่นข่าวทุกอาชีพ ทั้งทหาร ข้าราชการ พนักงานดับเพลิง จะวิพากษ์วิจารณ์หมด แต่ยกเว้นตำรวจเท่านั้นที่ไม่สามารถเข้าไปแตะต้องได้เลย ซึ่งถ้าให้มองจริงๆ มันไม่ยุติธรรมเท่าไหร่นัก
ประเด็นที่สื่อรายงานว่าผู้ร้ายเคยเป็นเจ้าหน้าที่กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเล แต่จริงๆ แล้วแค่ 3 ปีตามหลักสูตร ซึ่งจริงๆ อาจจะมีหน้าที่เหมือนพนักงานพาร์ทไทม์ในแผนกใดแผนกหนึ่งในองค์กรนั้นก็ได้ และเป็นเรื่องที่ผ่านมากว่า 20 ปีแล้ว หลายคนบอกเพราะสื่อไม่สามารถเขียนเรื่องแย่ๆ เกี่ยวกับตำรวจหรือกองกำลังรักษาความปลอดภัยในวันที่อาเบะซังไปปราศรัยได้หรือเปล่า
2. มารดาของนายยามากามิเป็นผู้ศรัทธาในลัทธิศาสนาแห่งหนึ่งและได้บริจาคเงินจำนวนมากจนครอบครัวล้มละลาย มีผลกระทบต่อครอบครัวและต่อเขามาก กรณีนี้องค์กรพวกนี้มีอิทธิพลต่อสังคมญี่ปุ่นมากจริงๆ ไม่ใช่แค่ลัทธิเดียว มีหลายลัทธิมากและมีคนทุกวงการ ทั้งคนที่มีอำนาจ ผู้มีอิทธิพลในสังคมก็เยอะ แล้วใครจะกล้าเล่น ในตอนแรกจะเห็นว่าไม่มีสื่อพูดถึงชื่อประธานลัทธิองค์กรศาสนานี้เลย แต่มีสื่อประเทศฝรั่งเศสนำเสนอชื่อออกมา จากนั้นฝั่งญี่ปุ่นจึงเอาชื่อออกสื่อบ้าง องค์กรลัทธิศาสนาแบบนี้ฝังรากลึกในสังคม ค่อนข้างจะเป็นเรื่องที่ทุกคนหวาดกลัวและไม่กล้าพูดถึง
3. * เรื่องความยากลำบากของคนรุ่น Hyōgaki คนญี่ปุ่นทุกคนรู้ว่าคนในเจเนอเรชั่นนี้ไม่มีงาน ว่างงานไร้อนาคต คนรุ่นนี้ทุกคนเข้าใจดี รวมทั้งผมด้วย แม้เราจะจบมหาวิทยาลัยดีๆ คณะดีๆ ก็มีงานให้ทำแค่พาร์ทไทม์ ขับรถตามโกดัง หรือดูแลคนป่วยผู้สูงอายุ หรือมีน้อยมากโชคดี หางานและผ่านเข้าไปทำงานในบริษัทดีๆ ได้ (ต้องขออธิบายสักนิดเรื่องการเข้าทำงานของคนญี่ปุ่นในรุ่นนั้น คือตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยปีสามปีสี่จะวิ่งหางาน สมัครงานกันจริงจัง ถ้าได้คือได้ทำไปตลอดจนเกษียณ ถ้าไม่ได้คือหมดช่วงหางาน แล้ว ตอนนั้นเป็นจังหวะที่บริษัทญี่ปุ่นไม่มีตำแหน่งงานว่าง ไม่เปิดรับคนใหม่ แล้วถ้าจบจากมหาวิทยาลัยหลายปีแล้วจะไปสมัครงานอีก ก็ไม่ได้มีเด็กรุ่นใหม่จบตามมาเรื่อยๆ คนรุ่นนี้จะว่าโชคร้ายก็โชคร้าย จะว่ารัฐบาลไม่สนับสนุนก็ส่วนหนึ่ง และลักษณะทางสังคมวัฒนธรรมองค์กรก็มีส่วน ) เมื่อไม่มีงานก็ถูกคนต่างรุ่นดูถูก เหมือนเป็นกรรมที่ต้องจำทนเลย
วันนี้มีเรื่องของคุณ nyaat หนึ่งในคนรุ่นนี้ที่จบมหาวิทยาลัยดังมาก แต่ต้องทำงานพาร์ทไทม์เช็ดปัสสาวะอุจจาระคนแก่ เธอเขียนในบล็อกส่วนตัว ผมขอนำมาเล่าย่อๆ ตัดบางตอนครับ
…
“ เสียงของคนรุ่นน้ำแข็ง Hyōgaki ที่ไม่สามารถพูดออกมาได้
จากเหตุการณ์อดีตนายกฯ อาเบะ ถูงยิงเสียชีวิตโดยนายยามากามิ อายุ 41 ปี มันคือเรื่องสะท้อนการจ้างงานของคนยุคน้ำแข็ง
ฉันคิดว่าประเด็นอดีตแรงงานว่างงานเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ที่จะพูดถึงนายยามากามิ หลังจากที่เขาทำงานเป็นพนักงานขับรถขนส่งสินค้าในโกดัง เขาก็ขอลาออกในเดือนเมษายนเนื่องจากสภาพร่างกายไม่ดีและอาจจะไม่สามารถขอเงินช่วยเหลือการบาดเจ็บเพราะไม่มีประกัน เขาได้ลาออกจากงานกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ช่วงมัธยมปลายออกจากโรงเรียนมัธยม เพราะแม่ของเขาล้มละลาย (นอกจากนี้เขาลาออกจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่ Doshisha University เนื่องจากผลกระทบทางการเงินดังกล่าว) หลังจากใช้เวลาสามปีในกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเล ที่มีระบบระยะเวลาคงที่เขาได้คุณสมบัติเป็นผู้ช่วยสำรวจขณะทำงานพาร์ทไทม์ที่บริษัทสำรวจแห่งหนึ่ง แต่ชีวิตของเขายังไม่ดีขึ้น จึงได้เปลี่ยนสถานที่ทำงานอีกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ต้องจ่ายค่าเช่าห้องเดือนละ 38,000 เยน และอยู่คนเดียว
เหตุจูงใจของคดีนี้คือความแค้นเคืองกลุ่มลัทธิศาสนา อย่างไรก็ตามความแค้นเคืองไม่ได้ขับเคลื่อนผู้คนให้ปฏิบัติเหมือนกันเสมอไป หากคุณสามารถดำเนินชีวิตอย่างมั่นคงด้วยการมีงานประจำ ความแค้นในอดีตก็จะค่อยๆ หายไป มีช่วงหนึ่งที่เขาพยายามสร้างชีวิตใหม่ แต่ความยากลำบากทางการเงินในชีวิตของเขา เป็นสิ่งกระตุ้นจุดชนวนความแค้นที่แผดเผาจากความมืดมิดในหัวใจของเขา
คนรุ่น Hyōgaki โชคไม่ดีที่การจ้างงานถูกละเลยโดยการเมืองและถูกแยกออกจากคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ และยังถูกมองว่าไม่มีตัวตนในสังคม รวมถึงนักการเมือง และคนรุ่นใหม่ก็เกลียดชังว่าเป็นคนไร้สมรรถนะ
แม้แต่ในหมู่คนรุ่น Hyōgaki เหมือนกัน ผู้ที่สามารถรักษาสถานะการจ้างงานได้ปกติก็ไม่สามารถเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้ เขายังเยาะเย้ยผู้ที่ทำไม่ได้เหมือนเขา เช่นการถากถางกันว่า "ขาดความพยายามและรับผิดชอบต่อตนเอง"
ฉันเองก็เหมือนกัน ฉันเข้ามหาวิทยาลัยฮิโตสึบาชิ ที่ต้องมีการแข่งขันเพื่อสอบเข้าอย่างดุเดือด แต่ตอนนี้ในวัย 40 ปี ฉันเป็นพนักงานชั่วคราวดูแลคนสูงอายุ และกำลังจะลาออกเนื่องจากความเจ็บป่วยทางร่างกาย สถานการณ์ของฉันมีบางส่วนที่ต้องรับผิดชอบต่อตนเองและบางส่วนที่ได้รับอิทธิพลจากสังคมและการเมืองหลังจากเรียนจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ฉันทำงานดึกทุกคืน ทำงานที่บ้าน และทำงานในวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดปีใหม่
เป็นผลให้ร่างกายเจ็บป่วยจากการทำงานหนักเกินไปและโรคทางจิตที่เรียกว่าซึมเศร้าและตื่นตะหนก แต่ก็ยังคงพยายามสร้างชีวิตใหม่ต่อไป แต่เมื่อมองย้อนกลับไปในอาชีพการงาน ทิศทางความพยายามของฉันไม่สอดคล้องกัน และมีโอกาสมากมายที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเรื่องความพยายามส่วนตัวและต้องรับผิดชอบตนเอง ฉันไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทำงานที่ฉันได้รับต่อไป..
ฉันไม่รู้ว่าจะสร้างชีวิตขึ้นมาใหม่ได้อย่างไร
ฉันคิดว่ายามากามิยังมีจุดหักเหอยู่บ้างก่อนที่เขาจะทำปืนของตัวเองและยิง VIP คือ การจ้างงานที่ไม่ปกติไม่เพียงแต่ได้รับค่าตอบแทนต่ำและมีความผันผวนเท่านั้น แต่ยังแยกตัวจากโอกาสและสังคมในการฝึกอบรมสายอาชีพอีกด้วย หากเขามีที่พักอาศัยหมายถึงมีงานมีสวัสดิการดีๆ ในบริษัทแห่งใดแห่งหนึ่ง และมีเพื่อนมีคนรู้จักที่ห่วงใยเขา จุดจบก็คงจะแตกต่างออกไป!
คนรุ่นน้ำแข็ง Hyōgaki อย่างฉันมีเยอะ ส่วนใหญ่เรียนจบดีๆ แต่ทำงานระดับล่าง งานแปลกๆ อีกมากมาย (เพื่อดิ้นรนอยู่ในสังคมแบบไร้ตัวตน) ..”
ผมเองก็เป็นอีกคนในรุ่นนี้ ตอนที่ผมเรียนจบญี่ปุ่นไม่มีงานให้คนรุ่นผมทำจริงๆ รัฐบาลก็ไม่ช่วยเหลือ ผมเห็นด้วยกับคุณ nyaat เสียงของคนรุ่นน้ำแข็งนั้นเข้าไม่ถึง ดังไม่พอ และถูกเพิกเฉย ครั้งนี้ไม่รู้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใดเกิดขึ้นเพื่อให้สังคมมองเห็นคนรุ่นนี้ที่ไร้ตัวตนบ้างไหม อย่างไรก็ตามผมและผู้เขียนไม่ได้สนับสนุนให้ใครกระทำการรุนแรงใดๆ ความรุนแรงไม่ควรคร่าชีวิตใครและอนาคตในวันพรุ่งนี้ และมันเป็นเรื่องที่น่าเสียใจ วันนี้เล่าสู่กันฟังครับ สวัสดีครับ