รัฐบาลญี่ปุ่นจะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศได้ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปีหลังการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ว่ายังมีเงื่อนไขหลายอย่างที่ทำให้ขณะนี้ยังไม่ใช่การ “เปิดประเทศ” อย่างเต็มที่
ข่าวญี่ปุ่นเตรียม “เปิดประเทศ” สร้างความตื่นเต้นให้กับบรรดานักท่องเที่ยวไทย เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ยังควบคุมการเข้าประเทศอย่างเข้มงวด แต่สื่อมวลชนและนักท่องเที่ยวกลับละเลยคำกล่าวของนายกฯ คิชิดะ ฟูมิโอะ ที่ระบุว่า การเปิดประเทศจะทำอย่าง “เป็นขั้นเป็นตอน”
สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่นได้จัดโครงการนำร่องให้คณะนักท่องเที่ยว 50 คนจากสหรัฐ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และประเทศไทย เดินทางมาเยือนญี่ปุ่นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อรวบรวมข้อมูลไปจัดทำแนวทางปฏิบัติเรื่องการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และมาตรการป้องกันโรคโควิด-19
นักท่องเที่ยวคณะพิเศษนี้เป็นผู้แทนบริษัทท่องเที่ยวและอินฟลูเอนเซอร์ ที่ได้มีการหารือกันไว้ตั้งแต่เดือนธันวาคม ปีที่แล้ว ให้เดินทางมาญี่ปุ่นหลังจากการระบาดของโรคโควิดเริ่มคลี่คลาย เพื่อแสดงความพร้อมว่าญี่ปุ่นกำลังจะเปิดประเทศอีกครั้ง
แต่แค่เพียงเริ่มต้นก็ “งานเข้า” เมื่อนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางมาเยือนญี่ปุ่นตามโครงการนำร่องถูกพบว่าติดเชื้อโควิด-19 แต่รัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า แผนการเปิดประเทศรับการท่องเที่ยวจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
ย้อนอ่าน: นักท่องเที่ยวไทยนำร่องทัวร์ญี่ปุ่น "เปิดประเทศ" ติดโควิด
รัฐบาลญี่ปุ่นจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างแน่นอน เพียงแต่ว่า “เมื่อไหร่” และมีเงื่อนไข “อย่างไร” เท่านั้น
หากถอดรหัสคำพูดของนายกฯ ญี่ปุ่นจะพบว่า การเปิดประเทศของญี่ปุ่นก็เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ G-7 ที่ขณะนี้นักท่องเที่ยวเดินทางได้อย่างเสรีแล้ว และเพื่อลดแรงกดดันจากกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม สายการบิน รถไฟ ที่ยื่นหนังสือต่อรัฐบาลเรียกร้องให้ฟื้นฟูการท่องเที่ยวโดยเร็ว ก่อนที่ธุรกิจต่าง ๆ จะแบกรับผลกระทบต่อไปไม่ไหว
นโยบายของญี่ปุ่นขณะนี้อาจเรียกว่าเป็นการ “แง้มประตู” มากกว่า “เปิดประตู” เพราะมีเงื่อนไขหลายอย่างที่ทำให้นักท่องเที่ยวอิสระยังเข้าประเทศญี่ปุ่นไม่ได้ในขณะนี้ ได้แก่
ต้องเดินทางแบบคณะทัวร์เท่านั้น ซึ่งไม่ใช่รูปแบบการท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน บริษัททัวร์ต้องขึ้นทะเบียนกับกรมการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น บริษัททัวร์ท้องถิ่นในไทยไม่สามารถจัดทัวร์ไปญี่ปุ่นเองได้
ต้องเที่ยวตามโปรแกรมอย่างเคร่งครัด ห้ามออกนอกเส้นทาง และต้องมีไกด์ชาวญี่ปุ่นติดตามตลอดเวลา
จำกัดจำนวนคนเข้าเมือง 20,000 คนต่อวัน ถึงแม้เป็นโควตาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติที่มีจำนวนผู้ที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นมากกว่าวันละราว 90,000 คน จำนวนคนเข้าเมือง 20,000 คนต่อวัน เพียงแค่กลุ่มชาวญี่ปุ่นที่กลับประเทศ คนทำงาน ผู้ฝึกงานทางเทคนิค นักธุรกิจ นักศึกษา และครอบครัวของผู้ที่พำนักในญี่ปุ่น ก็แทบจะเต็มโควตาแล้ว
ยังไม่ให้ “ฟรีวีซ่า” การมาเที่ยวญี่ปุ่นแบบคณะทัวร์และการจำกัดจำนวนคนเข้าประเทศ เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังไม่สะดวก และคาดว่ารัฐบาลญี่ปุ่นอาจต้องให้นักท่องเที่ยวยื่นขอวีซ่าไปอีกสักพัก จนกว่าจะมั่นใจว่าสามารถเปิดประเทศได้อย่างเต็มที่
ต้องมีประกันสุขภาพ ระบบการรักษาพยาบาลในญี่ปุ่นมีค่าใช้จ่ายแพงมาก ไม่เปิดบริการตลอดเวลา และไม่เอื้อต่อชาวต่างชาติที่ไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่น จึงต้องให้นักท่องเที่ยวซื้อประกันสุขภาพก่อนเดินทางมาญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดให้ผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศต้องแสดงผลตรวจ PCR 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง แต่ไม่มีตรวจซ้ำที่สนามบิน ไม่ต้องกักตัว และไม่ต้องแสดงผลฉีดวัคซีนโควิด หากนักท่องเที่ยวยินดีที่จะมาแบบคณะทัวร์ และซื้อทัวร์จากบริษัทญี่ปุ่นก็สามารก็สามารถมาเที่ยวญี่ปุ่นได้ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน
เป็นขั้นเป็นตอน ตามลำดับความสำคัญ
จุดมุ่งหมายหลักในการเปิดประเทศของญี่ปุ่นในขณะนี้ คือ การรักษาสถานะของประเทศญี่ปุ่นเมื่อเทียบกับกลุ่ม G7 ที่เปิดประเทศอย่างเต็มที่แล้ว รวมทั้งบรรเทาการขาดแคลนแรงงาน โดยให้กลุ่มคนที่มีความจำเป็นทยอยเข้าประเทศญี่ปุ่นได้ก่อน
ข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่นระบุว่า ตั้งแต่เดือนเมษายน-พฤษภาคม มีชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่น 172,757 คน โดยเกือบ 62,000 คนเป็นนักศึกษา และที่เหลือเกือบทั้งหมดเป็นกลุ่มคนทำงาน
นายกฯ คิชิดะ ระบุว่า ต่อจากนี้จะเริ่มให้กลุ่มญาติของชาวญี่ปุ่นและญาติของผู้ที่มีสิทธิ์พำนักในญี่ปุ่นเข้าประเทศได้ โดยขณะนี้ยังอนุญาตเฉพาะสมาชิกครอบครัวลำดับที่ 1 และ 2 (สามี ภรรยา บุตร พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย พี่น้อง) เข้ามายังญี่ปุ่นได้เท่านั้น
ส่วนการ “เปิดประเทศ” ที่แท้จริง รับนักท่องเที่ยวอิสระ และให้ฟรีวีซ่าจะมีขึ้นได้เมื่อไร รัฐบาลญี่ปุ่นยังกำลังหารือกับกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงยุติธรรมอยู่.