xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมคนญี่ปุ่นถึงไม่กล้าเสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก kazutoyoblog.com
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน สัปดาห์ก่อนเราคุยกันไว้ว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่นิยมทำอะไรตามแบบแผนในกรอบ ให้ค่าความสมบูรณ์แบบ และชอบสิ่งที่คาดเดาได้มากกว่าเสี่ยงโดยที่ยังไม่มั่นใจเต็มร้อย สิ่งเหล่านี้มีข้อดีหลายอย่างก็จริง แต่ก็มีส่วนทำให้ญี่ปุ่นพัฒนาช้าได้ด้วย

ย้อนอ่าน : "กลัวความเสี่ยง" นิสัยที่ทำให้ญี่ปุ่นพัฒนาช้า

วันนี้เรามาคุยกันต่อว่าอะไรน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้คนญี่ปุ่นไม่กล้าเสี่ยง และชีวิตที่มีแบบแผนของญี่ปุ่นคือความมั่นคงไร้ความเสี่ยงแน่หรือ

สาเหตุที่คนญี่ปุ่นกลัวความเสี่ยงอาจเป็นไปได้ว่ามาจากปัจจัยเหล่านี้

ค่านิยมความสมบูรณ์แบบ และตำหนิความผิดพลาดแม้เล็กน้อย

คนญี่ปุ่นยึดในความคิดที่ว่าต้องทำสิ่งต่าง ๆ ให้สมบูรณ์แบบไร้ที่ติ จึงพลอยรู้สึกแย่ได้ง่ายกับความไม่สมบูรณ์แบบเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คนชาติอื่นอาจไม่คิดมาก เช่น ถ้าหีบห่อสินค้ามีตำหนิสักนิดก็อาจโดนลูกค้าเคลม รถเมล์และรถไฟมาตรงเวลาที่กำหนดเป๊ะ และถ้ามาพลาดเวลาไปก็ต้องขอโทษขอโพยเสียใหญ่โตราวกับเป็นความผิดฉกรรจ์

ภาพจาก next.rikunabi.com
เมื่อเป็นเช่นนี้คนญี่ปุ่นจึงไม่อยากลงมือทำอะไรจนกว่าจะแน่ใจว่าทุกสิ่งพร้อมแล้ว ตรงกันข้ามกับคนชาติอื่นที่อาจมั่นใจและกล้าพูดกล้าทำมากกว่าแม้จะไม่ได้พร้อมเต็มที่ ตัวอย่างเช่นการพูดภาษาอังกฤษ คนญี่ปุ่นเล่าว่าคนชาติอื่นอาจไม่ได้ใส่ใจเรื่องไวยากรณ์หรือการออกเสียงมากเท่ากับการสื่อความหมายให้อีกฝ่ายเข้าใจ แต่คนญี่ปุ่นต่อให้เรียนมาเยอะ แต่พอถึงเวลากลับอ้ำ ๆ อึ้ง ๆ ไม่กล้าพูดเพราะกลัวผิดไวยากรณ์และการออกเสียง

มีรายการโทรทัศน์หนึ่งของญี่ปุ่นให้ดาราตลกที่พูดอังกฤษไม่เป็นไปอเมริกา และให้ไปถามคนฝรั่งเพื่อหาทางไปยังจุดหมายปลายทางที่ถูกกำหนดไว้ เขาพยายามสื่อสารทุกทาง พูดภาษาอังกฤษผิด ๆ ถูก ๆ แถมยังฟังผิดฟังถูกอีก แต่ก็โชคดีว่าส่วนใหญ่เขาเจอคนฝรั่งที่ใจเย็นรับฟังและพยายามเดาเต็มที่ว่าเขาต้องการสื่ออะไร สุดท้ายเขาจึงไปยังจุดหมายที่ต้องการได้สำเร็จ แม้จะขำตลอดรายการ แต่ฉันก็ทึ่งและชื่นชมเขามาก และคิดในทางกลับกันว่าหากมัวแต่กลัวว่าจะพูดภาษาอังกฤษได้ไม่สมบูรณ์แบบ ก็อาจจะเอาตัวรอดไม่ได้อย่างนี้

ว่ากันว่าคนที่นิยมความสมบูรณ์แบบยังมีแนวโน้มจะมีผลิตภาพต่ำ เพราะเอาเวลาส่วนใหญ่ที่มีไปพยายามแก้ไขข้อบกพร่องเล็ก ๆ น้อย ๆ จนไร้ที่ติ ส่วนคนที่ไม่แสวงหาความสมบูรณ์แบบจะให้ความสำคัญกับภาพรวม และไม่สนใจรายละเอียดปลีกย่อย จึงมีผลิตภาพสูงกว่า การที่ญี่ปุ่นมีผลิตภาพต่ำสุดในกลุ่มประเทศ G7 มาตลอด 50 ปี ในขณะที่อเมริกามักครองอันดับผลิตภาพสูงสุด ก็คงเป็นหลักฐานบ่งชี้ข้อหนึ่ง

ให้ความสำคัญกับกลุ่มมากกว่าปัจเจก

สังคมญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับกลุ่มมาก่อนปัจเจก เน้นการประพฤติตัวที่สร้างความกลมกลืนและความร่วมมือกัน หากมีใครที่ทำตัวแตกต่างออกไปก็จะโดนเพ่งเล็ง ดังเช่นสำนวนญี่ปุ่นที่ว่า "出る杭は打たれる" (เด-หรุ-คุย-วะ-อุ-ตา-เร-หรุ) แปลว่า ‘ตะปูที่ยื่นออกมาจะถูกตอกลงไป’ ซึ่งหมายถึง คนที่ทำตัวเด่นจะเป็นที่รังเกียจของผู้อื่นนั่นเอง

ภาพจาก humblebunny.com
ดังนั้นคนญี่ปุ่นจึงรู้สึกสบายใจเมื่อตนเองกลมกลืนไปกับคนอื่น ๆ เพราะจะได้ไม่เป็นแกะดำหลงฝูง การใช้ชีวิตแบบทำตาม ๆ กันไปจึง “ง่ายกว่า” และ “ปลอดภัยกว่า” แทนที่จะไปเสี่ยงทำสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนหรือทำสิ่งที่ไม่เหมือนชาวบ้าน ซึ่งอาจทำให้ตนกลายเป็นจุดเด่นและถูกกีดกันออกจากกลุ่มได้

นอกจากนี้สมาชิกกลุ่มแต่ละคนยังเป็นหน้าตาของกลุ่มด้วย หากทำอะไรลงไปแล้วเกิดความผิดพลาดเสียหาย คนอื่นในกลุ่มก็จะพลอยเดือดร้อนไปด้วย และยังอาจโยงมาถึงการที่ตนเองถูกลงโทษหรือถูกโดดเดี่ยวจากกลุ่ม เลยทำให้ไม่อยากเสี่ยง

ขาดประสบการณ์ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง

คุณโมงิ เคนอิจิโร่ นักวิชาการด้านสมอง กล่าวว่าคนญี่ปุ่นขาดทักษะและประสบการณ์ในการรับมือกับความเสี่ยงด้วยตัวเองตั้งแต่เด็ก เช่น ต้องทำตามที่ครูบอก ต้องทำตามแนวทางสังคม จะได้ทำถูกเสมอไม่พลาด ทำให้ไม่ได้ฝึกรับมือกับความเสี่ยงเลย

อาจารย์อีกท่านชี้ว่า เมื่อผู้ใหญ่เองมองว่าความไม่สมบูรณ์แบบหรือความผิดพลาดเป็นเรื่องน่าอาย เด็กก็เลยมองแบบเดียวกันไปด้วย ปัญหาอีกอย่างก็คือระบบการศึกษาญี่ปุ่นเน้น “การตอบถูกตามที่กำหนดไว้” ในขณะที่ยุโรปหรืออเมริกาจะเน้นให้เด็กหัดแก้ปัญหาเองโดยไม่มีคำตอบถูกผิดให้ เขาเชื่อว่าญี่ปุ่นควรให้การศึกษาเด็กแบบที่จะเอาไปใช้ชีวิตในสังคมนานาชาติยุคนี้ได้ มากกว่าจะเพื่อให้สอบเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดังผ่าน แล้วจะได้เป็นชนชั้นแนวหน้าของญี่ปุ่น แต่ปรับตัวเข้ากับสังคมโลกไม่เป็น

สภาพเศรษฐกิจคงที่ตลอดสามทศวรรษ

คุณโมงิยังกล่าวว่าคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่เกิดมาในยุคที่เศรษฐกิจซบเซาต่อเนื่องถึงสามทศวรรษ จึงรู้จักแต่สภาพการณ์เดิม ๆ ที่ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่รู้จักความสุขของยุคสมัยที่ดีกว่าเก่า ไม่เคยเห็นพรุ่งนี้ที่ดีกว่าวันนี้ เลยไม่รู้สึกว่าอนาคตจะดีกว่าเดิม แต่จะคิดว่ามันจะคงที่ไปเรื่อย ๆ จึงไม่มีความฝันหรือความหวังต่ออนาคต และมีแนวโน้มจะปกป้องตัวเองให้อยู่รอดมากกว่าจะเสี่ยงทำอะไรใหม่ ๆ

ภาพจาก prtimes.jp
ไม่เพียงเท่านั้นทิศทางอนาคตที่ดูแย่ลงอย่างการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและประชากรเกิดใหม่น้อย ก็ทำให้คนวัยทำงานต้องแบกภาระสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้พวกเขาพยายามเก็บออมเพื่อให้พอใช้จ่ายในอนาคตหากพึ่งสวัสดิการสังคมไม่ได้ มากกว่าจะเสี่ยงเอาเงินไปลงทุน

อาจารย์แนะแนวท่านหนึ่งกล่าวว่าเด็กยุคนี้จะไม่ชอบความเปลี่ยนแปลง อยากหางานที่อยู่ใกล้บ้านเกิด หรืออยู่กับพ่อแม่เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ต้องการความมั่นคงมากกว่าความก้าวหน้าในชีวิตหรือความร่ำรวย ต่างจากคนรุ่นก่อนที่คิดว่าอยากไปจากบ้านเกิด เพราะเชื่อว่าข้างหน้ามีสิ่งที่ดีกว่ารออยู่

ความไม่เต็มใจจะเปลี่ยนแปลง

ญี่ปุ่นไม่ใช่แค่ไม่กล้าเสี่ยงเท่านั้น แต่ยังมีความไม่เต็มใจจะเปลี่ยนแปลงรวมอยู่ด้วย ซึ่งน่าจะเป็นเพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศหมู่เกาะอันมีลักษณะของ “島国根性” (ชิ-มะ-กุ-หนิ-คน-โจ) คือมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศอื่นน้อย และมีลักษณะนิสัยหรือวิธีคิดแบบปิดแคบ เลยสร้างระบบของตัวเองที่เหมาะสำหรับใช้ภายในหมู่เกาะของตน คนนอกที่เข้ามาต้องเป็นฝ่ายปรับตัวเข้าหาญี่ปุ่นเอง

แต่ในโลกปัจจุบันอันไร้พรมแดนก็ทำให้ญี่ปุ่นไม่อาจทำอย่างที่เคยทำได้อีก จำต้องเปิดประเทศและหันมาเดินตามแบบแผนของนานาชาติ แต่เวลารับสิ่งใหม่เข้ามาจากต่างประเทศก็มักปรับให้เป็นของตนไปอยู่ดี นอกจากนี้นิสัยช่างคิดละเอียดรอบคอบก็ทำให้ญี่ปุ่นทำอะไรเชื่องช้า ไม่ทันประเทศอื่นเขา และในยุคดิจิทัลที่ต้องอาศัยความฉับไว ญี่ปุ่นก็ยังอยากอนุรักษ์วิธีเดิม ๆ อย่างเช่น ใช้เอกสารกระดาษแทนไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ นิยมส่งแฟกซ์ทั้งที่มีอีเมล หรือมีอัตราการทำงานจากบ้านต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ เป็นต้น

ภาพจาก president.jp
ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน

ที่ผ่านมา “อนาคตที่สวยหรู” ของคนญี่ปุ่นจะมีรูปแบบคล้ายกัน เช่น ต้องจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง จะได้เข้าทำงานในบริษัทใหญ่ที่มั่นคงหรือประกอบอาชีพที่มีเกียรติ และได้อยู่ในระบบการจ้างงานตลอดชีพ คือทำงานอยู่ที่เดิมไปเรื่อยจนเกษียณ มีระบบสวัสดิการที่ดีรองรับ ตราบใดที่ไม่ได้ทำอะไรผิดก็ไม่โดนไล่ออกกันง่าย ๆ

แต่ชีวิตที่เดินตามแผนที่วางไว้ก็ไม่ได้มั่นคงเสมอไป เพราะสิ่งที่อยู่เหนือความคาดหมายสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ อย่างในยุคหลังฟองสบู่แตก พนักงานที่เคยนึกว่าจะทำงานไปจนเกษียณกลับถูกให้ออกจำนวนมาก หรือในยุคโควิด อาชีพที่เคยมั่นคงและญี่ปุ่นทำได้ดีอย่างธุรกิจการบิน การโรงแรม การท่องเที่ยว และการบริการ ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีภาพของความมั่นคงอย่างสายการบิน บริษัทรถไฟ และห้างสรรพสินค้ายังต้องขาดทุนย่อยยับ เพราะต้านทานปัจจัยภายนอกไม่ไหว แม้จะพยายามทำดีที่สุดแล้วก็ตาม

ส่วนธุรกิจโดดเด่นของญี่ปุ่นอย่างการผลิตรถยนต์ แม้ยังทำกำไรอยู่ได้ แต่ก็กำลังเผชิญความท้าทาย เพราะรถยนต์ทั่วโลกกำลังจะเปลี่ยนไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเต็มตัว แต่ญี่ปุ่นซึ่งครองตลาดรถยนต์ไฮบริดแบบใช้น้ำมัน-ไฟฟ้ายังคงอยากจะใช้เทคโนโลยีนี้ต่อ เพราะเชื่อว่าตลาดนี้สำคัญและยังเติบโตได้อยู่ และที่ไม่อยากเปลี่ยนเป็นระบบไฟฟ้าทั้งหมดก็เพราะไม่พร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ไม่แน่ใจว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะดีต่อสิ่งแวดล้อมจริง อีกทั้งกลัวว่าจะการเปลี่ยนเป็นระบบไฟฟ้าทั้งหมดจะสร้างความเสียหายให้ธุรกิจซัพพลายเออร์ยานยนต์ และทำลายงานหลายล้านตำแหน่งที่มีอยู่

ภาพจาก autoguide.com
ถ้าดูจากแนวโน้มพฤติกรรมของธุรกิจญี่ปุ่นอย่างที่เล่าไปในสัปดาห์ก่อน ก็อาจเป็นไปได้อีกอย่างว่าญี่ปุ่นกะจะรอดูว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ประเทศอื่นทำจะออกหัวหรือก้อย มีข้อดีข้อเสียอะไรอย่างไร ตัวเองไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูกเอง แต่ปรับปรุงพัฒนาต่อยอดสิ่งที่ประเทศอื่นทำไว้เพื่อสร้างรถยนต์ไฟฟ้าที่ “สมบูรณ์แบบ” แล้วหัวเราะทีหลังดังกว่า

เคยได้ยินว่าในขณะที่คนฝรั่งมองว่าความเสี่ยงนำมาซึ่งโอกาสที่ดีกว่า คนญี่ปุ่นจะมองว่าความเสี่ยงนำมาซึ่งหายนะ ครั้งนี้ญี่ปุ่นก็คงคิดว่าอย่าเพิ่งออกตัวเร็วจะปลอดภัยกว่า แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกธุรกิจยานยนต์เวลานี้ การออกตัวช้าเพื่อเลี่ยงความเสี่ยงอาจนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่ญี่ปุ่นไม่ต้องการก็เป็นได้

โดยภาพรวมแล้ว หากญี่ปุ่นอยากเติบโตและทันโลกให้มากกว่านี้ บางทีอาจต้องกระตือรือร้นที่จะเดินออกจากคอมฟอร์ตโซน และกล้าได้กล้าเสียมากขึ้น มิฉะนั้นญี่ปุ่นก็จะอยู่ในสภาพแช่อิ่มไปเรื่อย ๆ ท่ามกลางห้วงเวลาที่ไม่เปลี่ยนแปลงจากวันวานทั้งที่โลกหมุนกันไปไกลแล้ว และวันหนึ่งโลกก็อาจลืมไปว่าครั้งหนึ่งญี่ปุ่นเคยรุ่งโรจน์มากเพียงใด.
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์. 


กำลังโหลดความคิดเห็น