xs
xsm
sm
md
lg

"กลัวความเสี่ยง" นิสัยที่ทำให้ญี่ปุ่นพัฒนาช้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก AFP
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน คนต่างชาติมักกล่าวว่าคนญี่ปุ่นกลัวความเสี่ยงเอามาก ๆ จะทำอะไรทีก็ต้องวางแผนเตรียมพร้อมไม่ให้พลาดเสียก่อน ในทางตรงกันข้ามหากเกิดอะไรนอกแผนก็จะไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร และยังว่ากันว่าการกลัวความเสี่ยงมีส่วนทำให้ญี่ปุ่นพัฒนาจากจุดที่เป็นอยู่ได้ยากด้วย

ชีวิตแบบ “ฮาวทู” (how to) ที่สร้างความกลมกลืนในสังคมญี่ปุ่น

คนญี่ปุ่นมีความเป็น “มนุษย์คู่มือ” มาก แทบทุกสิ่งทุกอย่างจะระบุ “วิธี” ไว้ครบครันเสมอ เช่น คู่มือที่มาพร้อมอุปกรณ์เครื่องใช้ของญี่ปุ่นมักอธิบายละเอียดยิบ ในขณะที่คู่มือของฝรั่งมักใช้ถ้อยคำน้อยหรืออธิบายด้วยรูปเท่านั้น ส่วนหนังสือญี่ปุ่นสไตล์ฮาวทูก็มีหลากประเภทและมักขายดี

ตอนฉันทำงานที่ร้านอาหาร ก่อนเริ่มงานจริงต้องไปดูวีดีโอ “คู่มือ” การเป็นพนักงานเสิร์ฟของบริษัทว่าต้องทำอะไรและอย่างไร ตั้งแต่วิธีพูดกับลูกค้าในแต่ละสถานการณ์ ไปจนกระทั่งวิธีวางแก้วน้ำไม่ให้เกิดเสียงดัง การทำตามคู่มือมีข้อดีที่คนในร้านไม่ต้องเสียเวลามาเป็นพี่เลี้ยงให้ และทุกคนก็เข้าใจงานตรงกันหมด

ธุรกิจญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะมี คู่มือ สำหรับการทำงาน
คนญี่ปุ่นมักรู้กันเรื่องแบบแผนเหล่านี้ เช่น ขึ้นรถโดยสารสาธารณะต้องไม่คุยโทรศัพท์ ย้ายบ้านแล้วควรทักทายเพื่อนบ้านใหม่อย่างไร ไปงานแต่งห้ามแต่งตัวแบบไหน ต้องใส่ซองเท่าใด เขียนหน้าซองอย่างไร ซึ่งหากมีเรื่องไหนไม่แน่ใจ ลองค้นจากอินเทอร์เน็ต ก็จะเจอข้อมูลกฎเกณฑ์และระเบียบแบบแผนของสังคมญี่ปุ่นได้แทบทุกเรื่องทีเดียว

ที่จริงชีวิตอันเป็นไปตามระเบียบแบบแผนของญี่ปุ่นก็มีข้อดี เพราะช่วยให้ทุกคนมองเห็นสิ่งเดียวกัน ทำตามที่บอกได้เหมือนกัน ไม่ค่อยมีเรื่องผิดพลาดจากแบบแผนที่วางไว้ ทั้งยังสร้างความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกันด้วย ในทางตรงกันข้ามคนญี่ปุ่นก็มักเลี่ยงสิ่งที่ไม่มีใครเคยบอก สิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ทำกัน หรือสิ่งที่ไม่มีปัจจัยหนุนหลังให้เชื่อว่าจะดี

วัฒนธรรมองค์กรที่เน้นเลี่ยงความเสี่ยง

ผู้จัดการชาวอเมริกันคนหนึ่งได้รับมอบหมายให้นำเสนอแผนงานต่อสำนักงานใหญ่ในญี่ปุ่นเพื่อขยายตลาดในอเมริกา เขารายงานสถานการณ์ปัจจุบันและคาดการณ์ว่าความต้องการของตลาดน่าจะสูงขึ้นในอนาคต แต่ก็โดนปฏิเสธมาสองหน จึงไปขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาด้านการบริหารซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม และรู้จักญี่ปุ่นดี

ที่ปรึกษาชี้ว่าจุดเด่นหนึ่งในวัฒนธรรมญี่ปุ่นก็คือการพยายามเลี่ยงความเสี่ยง โดยคนญี่ปุ่นจะมองว่าการพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจช่วยสร้างผลงานคุณภาพ อีกทั้งคนญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับบทเรียนในอดีตมากกว่าเรื่องในอนาคต ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ผู้จัดการชาวอเมริกันผู้นี้ขาดไปในการนำเสนอก็คือ แนวโน้มตลาดในอดีตจนถึงปัจจุบันที่สนับสนุนความเป็นไปได้ของแผนงานนี้ในทางบวก หลังจากเขากลับไปทำการบ้านและนำเสนอใหม่ คราวนี้จึงผ่านฉลุย


ความไม่อยากเสี่ยงยังทำให้บริษัทญี่ปุ่นมีแนวโน้มคล้ายกันคือ ไม่ค่อยชอบตามกระแสเป็นช่วง ๆ แต่จะสนใจสิ่งที่ยั่งยืนในระยะยาว อีกทั้งยังอยากรู้ว่าบริษัทอื่นทำอะไรกันอยู่บ้าง เหตุผลก็คือเพื่อจะได้ปล่อยให้บริษัทอื่นรับความเสี่ยงในการลองสิ่งใหม่ ส่วนตนก็เรียนรู้จากความผิดพลาดของพวกเขา เพื่อเอามาสร้างสิ่งที่สมบูรณ์แบบกว่า สำหรับคนญี่ปุ่นแล้วมองว่าการเดินตามหลังคนอื่นมาอย่างนี้ฉลาดกว่า ในขณะที่คนอเมริกันมองว่าการเป็นผู้คิดค้นสิ่งใหม่ได้เป็นเรื่องน่าภูมิใจ ส่วนการพลิกเป็นผู้นำหลังจากตามคนอื่นมาก่อนเป็นเรื่องน่าอาย

เน้นวางแผนอย่างรอบคอบไม่ให้พลาด

คนญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับการมีแผนรองรับหากแผนแรกใช้ไม่ได้ผล และแผนรองรับที่่่ว่านี้คือต้องคิดไว้ล่วงหน้าแต่แรกด้วย ไม่ใช่รอให้แผนแรกไม่ได้ผลก่อน แล้วค่อยมองหาแผนใหม่กันตอนนั้น

นักธุรกิจชาวไทยผู้คุ้นเคยกับญี่ปุ่นเป็นอย่างดีท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า คนญี่ปุ่นจะเน้นวางแผน 70-80% ที่เหลือคือลงมือทำ จะไม่ค่อยอยากเสี่ยงหรือยอมลองผิดลองถูกหลายครั้งเพื่อให้ประสบความสำเร็จ แต่อยากจะทำให้สมบูรณ์แบบไปเลยในครั้งเดียว แต่คนไทยหรือคนจีนจะตรงกันข้าม คือวางแผนแค่ 20-30% ที่เหลือส่วนใหญ่คือการลงมือทำและปรับให้เข้ากับสถานการณ์

สมัยที่ฉันทำงานในญี่ปุ่น เวลาคนไทยจัดกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นงานเล็กหรืองานใหญ่ มักจะไม่วางแผนอะไรนัก แค่บอกว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง นายฉันมักพูดติดปากว่าที่เหลือให้ไป “play by ear” คือ "แล้วแต่สถานการณ์" มองในแง่ดีก็คือให้อิสระและความไว้ใจลูกน้องว่าจะจัดการปัญหาเฉพาะหน้ากันเองได้ พอเสร็จกิจกรรมลง รุ่นพี่ชาวญี่ปุ่นรำพึงว่า “คนไทยแปลกนะ แทบไม่วางแผนเลย เราก็กลัวว่ามันจะล่มรึเปล่า แต่ถึงเวลามันก็ไปได้ทุกที”


โอกาสทางธุรกิจใหม่เกิดน้อย

คาดกันว่าวัฒนธรรมที่เน้นความมั่นคงและเลี่ยงความเสี่ยงเช่นนี้ มีส่วนถ่วงให้ธุรกิจญี่ปุ่นไม่เติบโตแบบก้าวกระโดด และก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ยากไปด้วย ดังจะเห็นได้จากความพยายามของญี่ปุ่นในการประคองธุรกิจที่อยู่มานานไม่ให้ล้มด้วยการอัดฉีดทั้งเงินและมาตรการอุดหนุนต่าง ๆ แทนที่จะเอาทรัพยากรไปลงทุนในส่วนที่น่าจะให้ผลลัพธ์ดีกว่า

อันที่จริงธุรกิจใหม่ ๆ มีความสำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจเพราะสร้างงานและรายได้มากกว่าธุรกิจที่มีอยู่แต่เดิม อีกทั้งยังสร้างมูลค่าเพิ่มต่อสังคมด้วย เพราะมาพร้อมแนวคิด เทคโนโลยี และสินค้าใหม่ ๆ แต่สภาพแวดล้อมของญี่ปุ่นกลับไม่เอื้อการก่อตั้งธุรกิจใหม่นัก ซึ่งจากรายงานความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก ณ พ.ศ. 2563 พบว่าญี่ปุ่นอยู่ที่อันดับ 106 จากทั้งหมด 190 ประเทศ

ไม่เพียงเท่านั้นยังมีคนญี่ปุ่นน้อยคนที่จะมองว่าการก่อตั้งธุรกิจเป็นทางเลือกอาชีพที่ชาญฉลาด โดยจากการจัดอันดับของรายงานการศึกษาผู้ประกอบการทั่วโลก (Global Entrepreneurship Monitor) พ.ศ.​ 2564 พบว่าญี่ปุ่นมีมุมมองในการก่อตั้งธุรกิจอยู่ในอันดับรั้งท้าย เช่น ไม่ค่อยรู้จักคนที่ก่อตั้งธุรกิจในช่วงสองปีนี้ ไม่เห็นโอกาสในการตั้งธุรกิจใหม่ ไม่มั่นใจว่าตนเองมีทักษะและความรู้เพียงพอ ไม่มีความคิดจะตั้งบริษัท รวมทั้งไม่คิดจะมองหาโอกาสใหม่ ๆ ช่วงโควิดด้วย

เกือบครึ่งของคนญี่ปุ่นยังกลัวว่าจะล้มเหลวในการก่อตั้งธุรกิจด้วย แต่ในรายงานฉบับเดียวกันกลับมองความล้มเหลวในแง่ดี โดยเห็นว่าเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาธุรกิจ เพราะกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเกิดการเรียนรู้และเติบโตจากเดิม อย่างไรก็ตาม
สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คนกลัวความล้มเหลวในการก่อตั้งธุรกิจ น่าจะเป็นเพราะสภาพแวดล้อมในการตั้งธุรกิจไม่เอื้ออำนวยดังที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งผู้วางนโยบายมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาพจาก AFP
แต่กระนั้นก็ใช่ว่าแวดวงธุรกิจของญี่ปุ่นจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงเลยเสียทีเดียว อย่างที่ผ่านมาการแพร่ระบาดของโควิดก็ทำให้ความต้องการของตลาดบางอย่างลดลง กระตุ้นให้ธุรกิจบางแห่งที่อยู่มานานหดตัวลงหรือปิดตัวไป เปิดโอกาสให้ธุรกิจใหม่ ๆ เข้ามามีบทบาทแทนที่ นอกจากนี้ยังมีการขึ้นราคาสินค้ากันอย่างหนาตาขึ้นจากพิษโควิดและสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเป็นสิ่งใหม่สำหรับญี่ปุ่นที่พยายามตรึงราคาสินค้ามาตลอด 3 ทศวรรษท่ามกลางเศรษฐกิจอันซบเซา

เป็นที่สังเกตว่าความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะปัจจัยบีบคั้นจากภายนอกทั้งสิ้น มิใช่ว่าเป็นเพราะญี่ปุ่นเต็มใจหมุนกงล้อแห่งความเปลี่ยนแปลงด้วยตนเองจากภายใน ก็น่าคิดเหมือนกันว่าหากไม่มีแรงกระตุ้นจากภายนอกเลย แล้วเมื่อไหร่ญี่ปุ่นถึงจะกล้าเสี่ยงทำในสิ่งที่ต่างจากเดิมเพื่อเดินหน้าต่อไปเสียที

สัปดาห์หน้าเรามาคุยกันต่อค่ะว่าอะไรทำให้คนญี่ปุ่นไม่กล้าเสี่ยง และชีวิตในกรอบแบบแผนของญี่ปุ่นคือความมั่นคงไร้ความเสี่ยงแน่หรือไม่ อย่าลืมติดตามอ่านกันนะคะ ขอบคุณและสวัสดีค่ะ.
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์. 


กำลังโหลดความคิดเห็น