สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว อาทิตย์ที่แล้วผมพูดถึงบ่อน้ำพุร้อนออนเซ็นลึกลับที่อยู่ในโรงแรมเล็กๆ บนชายฝั่งของทะเลสาบโคมากิ ที่หลายคนบอกว่าดูลึกลับเพราะถูกล้อมรอบไปด้วยทะเลสาบและภูเขาสูง สามารถเดินทางเข้าออกได้แค่ทางเรือเท่านั้น นอกจากนี้ที่นี่มักถูกใช้เป็นฉากสำหรับการถ่ายละครแนวระทึกขวัญ หรือแนวลึกลับสืบสวนสอบสวนแบบโคนัน ซึ่งเป็นเรื่องแปลกที่คนญี่ปุ่นชอบเรื่องราวที่ดูลึกลับแนวสอบสวนสืบสวนมาก
ในชีวิตจริงของคนเรามีเรื่องมากมายให้ต้องคิดและหาคำตอบ บางเรื่องต้องสืบสวนหาความจริงก็ไม่ต่างจากที่ละครดราม่านำมาสร้างนัก และละครบางเรื่องยังมีอิทธิพลต่อความคิดความเชื่อของคนเราอีกด้วยแม้ว่าในละครทีวีหรือภาพยนตร์บางเรื่องจะเป็นเรื่องเป็นราวที่แต่งขึ้นมาอย่างลึกลับซับซ้อนและอาจจะดูเกินจริงก็ตาม แต่ก็ทำให้คนเชื่อเรื่องแต่งและสร้างขึ้นมาจริงๆ ในสังคมญี่ปุ่นเองก็มีตัวอย่างเช่นกันครับ
ก่อนหน้านี้ผมเคยอ่านเรื่องที่แชร์กันทางอินเตอร์เน็ตว่า มีภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด สร้างหนังมีซีนที่ตำรวจกำลังสอบปากคำผู้ต้องสงสัย ซึ่งเป็นคนในประเทศที่ไม่มีสิทธิที่จะแสดงออกอะไรมากนัก แต่เจ้าหน้าที่สอบสวนพูดแนวที่ว่าคุณมีสิทธิ์ที่จะไม่พูดตามสิทธิพื้นฐานก็ได้ (หรือที่เรียกกันว่ามี*สิทธิที่จะเงียบ Right to silence (黙秘権) นั่นเอง)
*Right to silence (黙秘権) สิทธิที่จะเงียบหรือสิทธิในการปิดปาก เป็นสิทธิทางกฎหมายที่ได้รับการยอมรับโดยอนุสัญญาในระบบกฎหมายหลายระบบของโลก เป็นหลักการทางกฎหมายที่รับประกันว่าบุคคลใดมีสิทธิ์ปฏิเสธที่จะตอบคำถามจากเจ้าหน้าที่สอบสวนหรือพนักงานอัยการ เน้นสิทธิ์ของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่สามารถปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นหรือให้คำตอบเมื่อถูกสอบสวน แต่ความเป็นจริงในทางปฏิบัติอาจใช้ไม่ได้สำหรับผู้ต้องหาทุกคน อาจจะขึ้นอยู่กับสถานะของผู้ต้องหา เช่น ถ้าผู้ต้องหาในคดีอาญานิ่งเฉยก็มักถูกเชื่อว่ามีความผิดจริงก็เป็นไปได้ เป็นต้น
ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดฉากสอบปากคำดังกล่าว ทำให้คนดูหนังที่อยู่ในประเทศนั้นงงกันไปเลย ต่างก็สับสนว่าจริงๆ แล้วตัวเองมีสิทธิ์ปฏิเสธที่จะตอบคำถามจากเจ้าหน้าที่สอบสวนได้จริงหรือไม่ จะเชื่อภาพยนตร์ดีไหม ทำไมชีวิตจริงไม่เหมือนในภาพยนตร์
ที่ญี่ปุ่นเองก็มีกรณีความเชื่อที่เกิดจากอิทธิพลของละครดราม่าเช่นกันครับ เคยมีละครที่มีฉากผู้ต้องสงสัยถูกจับกุมแล้วตำรวจบอกว่าผู้ต้องสงสัยมีสิทธิ์ที่จะเงียบได้ แต่ในความเป็นจริงอาจจะไม่ใช่แบบละครก็ได้ และคนญี่ปุ่นหลายคนยังเชื่อว่าการสอบปากคำ = คัตสึด้ง!!
●ทำไมภาพของ "สอบปากคำ = คัตสึด้ง" จึงหยั่งรากในความเชื่อของคนญี่ปุ่น? เหตุผลหลักที่สุดคือได้รับอิทธิพลมาจากฉากสอบปากคำในละครอาชญากรรมนั่นเอง
คัตสึดง (カツ丼) รูปแบบทั่วไปของเมนูคัตสึด้งในญี่ปุ่นคือ เป็นอาหารจานหมูทอดเกล็ดขนมปัง และหัวหอม ตุ๋นให้รสชาติกลมกล่อม ปรุงรสให้อร่อยสมดุลด้วยโชยุ มิริน และสาเก จากนั้นตีไข่ใส่ลงไปพอสุก และนำมาราดหน้าบนข้าวสวยร้อนๆ ยกเว้นบางพื้นที่ที่อาจมีลักษณะเฉพาะท้องถิ่น ถือว่าเป็นหนึ่งในอาหารยอดนิยมของทุกคนก็ว่าได้
ในละครอาชญากรรมแนวตำรวจสืบสวนสอบสวนเรื่อง "Keisatsu Nikki" ที่ออกฉายในปี 1955 ซึ่งในเวลานั้น คัตสึด้งถือเป็นอาหารที่หรูหราอยู่มาก คัตสึด้งแสดงถึงความอบอุ่นของตำรวจที่มอบให้ผู้ต้องสงสัยที่ถูกตำรวจจับตัวมาสอบปากคำ ก่อนจะนำคัตสึด้งมาให้ผู้ต้องสงสัยนั้น ทำยังไงผู้ต้องสงสัยก็ไม่ยอมเปิดปากบอกความจริง ตำรวจจึงสั่งข้าวหมูคัตสึดงมาให้กิน ซึ่งเมื่อผู้ต้องสงสัยได้เห็นก็รู้สึกถึงความเป็นมิตรของตำรวจ เขาร้องไห้ดีใจและเกิดความอบอุ่นใจจนอยากสำนึกผิดแล้วเขาก็สารภาพว่าผมเป็นคนทำเอง! และอีกเคสซึ่งเป็นคดีลักพาตัวคิจิโนบุจังที่เป็นข่าวโด่งดัง เกิดขึ้นในกรุงโตเกียวเมื่อปี 2506 ก็มีการกล่าวกันอย่างแพร่หลายว่านักสืบฮิรัตสึกะนำคัตสึด้งมาให้ผู้ต้องสงสัยในห้องสอบปากคำเพื่อดึงคำสารภาพจากผู้ต้องสงสัย
ทำให้ภาพของ "สอบปากคำ = คัตสึด้ง" หยั่งรากในความเชื่อของคนญี่ปุ่นแพร่ขยายมาจนถึงปัจจุบัน และก็ยังมีคนญี่ปุ่นหลายคนที่ปักใจเชื่อไปแล้วว่าเวลาผู้ต้องสงสัยถูกจับจะมีตำรวจนำคัตสึดงมาให้กิน เพราะต้องการให้ยอมเปิดเผยและรับสารภาพ ทำให้คัตสึด้งกลายเป็นประเด็นในการสอบสวนไปโดยปริยาย
● ทำไมปัจจุบันถ้าตำรวจนำคัตสึด้งมาให้ผู้ต้องสงสัยในห้องสอบปากคำ จึงเป็นการกระทำทุจริต?
ปัจจุบันนี้การเลี้ยงอาหารบางอย่างไม่เพียงแต่คัตสึด้งในห้องสอบสวน ห้องสอบปากคำ จะถือเป็นการกระทำทุจริตในฐานะ "การให้สิ่งชวนใจแก่อีกฝ่ายหนึ่งเพื่อจุดประสงค์ในการสารภาพความผิด" ปัจจุบันสำหรับการสอบปากคำมีให้เฉพาะน้ำเปล่าหรือน้ำร้อนธรรมดาเท่านั้น แม้แต่บุหรี่ กาแฟ ชา ฯลฯ ก็ไม่ได้เช่นกันครับ!
ส่วนที่มีคนบอกว่า "สามารถซื้อคัตสึด้งกินเองได้ในห้องสอบปากคำ" น่าจะมาจากละครตอนที่มีการสั่งคัตสึด้งมารับประทานในช่วงที่ถูกสอบปากคำและถูกตั้งข้อหา จนกลายเป็นความเชื่อที่สืบทอดมาเป็นตำนานของยุคโชวะเช่นกัน
● จากความเชื่อ ความชอบ สู่ไอเดียเปิดร้านคัตสึด้งเลียนแบบห้องสอบปากคำ
จากความเชื่อ และความชอบเหล่านี้จนทำให้มีร้านอาหารที่สนองความต้องการของลูกค้าที่ "อยากกินคัตสึด้งในห้องสอบปากคำ!" ร้านอยู่ที่ย่านกินซ่า สามารถอิ่มอร่อยเพลิดเพลินกับคัตสึด้งแสนอร่อยบนโต๊ะที่ออกแบบเหมือนห้องสอบปากคำ ได้ที่ร้านอาหารแห่งนี้ นอกจากนี้ยังมีชุดคอสเพลย์ตำรวจและอุปกรณ์ประกอบฉากอีกด้วย ดังนั้นบรรยากาศจึงเหมือนห้องสอบปากคำอย่างสมบูรณ์แบบ! ถ้าใครชอบละครตำรวจ ต้องอยากไปแน่นอนครับ
เคยอ่านเจอว่าเมื่อประมาณ 50 กว่าปีก่อน มีคนเล่าว่าถ้าตำรวจต้องการให้ผู้ต้องสงสัยสารภาพ ทีมสอบสวนมักจะซ้อมผู้ต้องสงสัยเพื่อให้ยอมเปิดปากรับสารภาพ แม้จะมีสิทธิที่จะเงียบตามที่กฏหมายบอกก็ตาม ส่วนละครล้อเลียนการสอบสวนที่ตำรวจสั่งข้าวหมูคัตสึดงเดลิเวอรี่มาให้ผู้ต้องสงสัยกินนั้นก็มาจากละครทั้งสิ้น ไม่มีในชีวิตจริง และตำรวจญี่ปุ่นไม่สามารถซื้ออาหารเลี้ยงผู้ต้องสงสัยได้เพราะจะกลายเป็นการทุจริตไป แต่อย่างไรก็ตามเมนูข้าวหมูคัตสึดงยังคงให้ความรู้สึกเป็นมิตร อบอุ่นแบบครอบครัวอยู่เสมอ แม้ว่าข้าวหมูคัตสึดงจะกลายเป็นสัญลักษณ์สำหรับการสารภาพในห้องสอบปากคำไปแล้ว วันนี้เล่าสู่กันฟัง สวัสดีครับ