xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นรับผู้ลี้ภัยยูเครนกว่า 400 คน ส่วนใหญ่อยากไป “ยุโรป” มากกว่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้อพยพชาวยูเครนโดยสารเครื่องบินรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อลี้ภัยสงครามในบ้านเกิด พลิกนโยบายปิดกั้นชาวต่างชาติของแดนอาทิตย์อุทัย แต่ทว่าผู้อพยพชาวยูเครนส่วนมากเลือกที่จะไปลี้ภัยในประเทศยุโรปมากกว่า

เครื่องบินของรัฐบาลญี่ปุ่นรับผู้อพยพชาวยูเครน 20 คนเดินทางถึงกรุงโตเกียวในวันอังคารที่ 5 เมษายน ผู้อพยพชาวยูเครนเหล่านี้เดินทางมาพร้อมกับนายฮายาชิ โยชิมาซะ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น ที่เดินทางไปเยือนโปแลนด์เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เกิดจากสงครามในยูเครน และถือเป็นครั้งแรกที่กลุ่มชาวต่างชาติได้เดินทางโดยเครื่องบินของทางการญี่ปุ่น ซึ่งปกติใช้เฉพาะสมเด็จพระจักรพรรดิ สมาชิกราชวงศ์ นายกรัฐมนตรี และผู้แทนรัฐบาลเท่านั้น

รัฐบาลญี่ปุ่นได้อนุญาตให้ผู้อพยพชาวยูเครนมาพำนักในญี่ปุ่นแล้วมากกว่า 400 คน ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีญาติในครอบครัวพำนักในญี่ปุ่นอยู่แล้ว มีเพียง 5 คนที่ไม่มีคนรู้จักในญี่ปุ่นเลย

รัฐบาลญี่ปุ่นจะสนับสนุนให้ผู้อพยพปรับตัวเข้ากับชีวิตใหม่ในญี่ปุ่นให้ได้ โดยจะให้ที่พัก ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์ ซึ่งจะมอบผ่านมูลนิธิแห่งหนึ่ง


จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ญี่ปุ่นค่อนข้างปิดกั้นชาวต่างชาติที่จะมาพำนักหรือทำงานในญี่ปุ่น แม้ว่าจะเผชิญการขาดแคลนแรงงานจากสังคมผู้สูงอายุ ยิ่งในกลุ่มผู้ลี้ภัยด้วยแล้ว ญี่ปุ่นแทบจะไม่เปิดรับเลย ไม่ว่าจะเป็นผู้ลี้ภัยจากอัฟกานิสถานหรือพม่า ที่เผชิญกับสงครามเช่นเดียวกัน

นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกฯ ญี่ปุ่น ซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศมาก่อน ได้ใช้นโยบายที่แข็งกร้าวมากขึ้นต่อรัสเซียที่รุกรานยูเครน ทั้งมาตรการคว่ำบาตรในระดับเดียวกับชาติ G-7 มอบสิ่งของที่อาจเข้าข่าย “ยุทธภัณฑ์” ให้ยูเครน รวมทั้งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมด้วย

ล่าสุด รัฐบาลญี่ปุ่นยังเสนอช่วยยูเครนเคลื่อนย้ายซากปรักหักพัง กู้กับระเบิด และระเบิดที่ยังไม่ระเบิดด้วย


พิสูจน์ชีวิต “พลัดที่นา คาที่อยู่”

ผู้อพยพชาวยูเครนที่มาอยู่ญี่ปุ่นแล้วกว่า 400 คนถือว่าน้อยมาก ส่วนใหญ่มีญาติมิตรอยู่ในญี่ปุ่นอยู่แล้ว สื่อมวลชนญี่ปุ่นรายงานว่า ชาวยูเครนส่วนมากต้องการลี้ภัยในประเทศยุโรป เพราะมีอุปสรรคด้านภาษาน้อยกว่า และมีวิถีชีวิตที่ใกล้เคียงกัน หลายคนปรารถนาที่จะลงหลักปักฐานระยะยาวในยุโรป

เบื้องต้น ผู้อพยพในญี่ปุ่นจะได้รับสิทธิพำนัก 90 วัน จากนั้นจะสามารถเปลี่ยนเป็นวีซ่าแบบพิเศษที่อยู่ในญี่ปุ่นได้ 1 ปี และสามารถทำงานได้ แต่ว่าการทำงานแม้จะเป็นงานชั่วคราวก็ต้องมีทักษะภาษาญี่ปุ่นพอสมควร

สหประชาชาติเปิดเผยว่า ข้อมูลเดือนมีนาคม มีผู้ลี้ภัยจากยูเครนมากกว่า 3.5 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านคนในไม่ช้า ประเทศที่รับผู้อพยพมากที่สุดคือ โปแลนด์ กว่า 2 ล้านคน ส่วนสหรัฐฯ รับผู้อพยพชาวยูเครนไม่ถึง 700 คน


กำลังโหลดความคิดเห็น