คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ฉันเคยเล่าเอาไว้ในบทความ “อย่างไหนของผู้ชาย อย่างไหนของผู้หญิงในสังคมญี่ปุ่น” ว่าญี่ปุ่นเป็นสังคมที่แบ่งบทบาทของชายหญิงออกจากกันชัดเจน ผู้ชายมีหน้าที่หาเลี้ยงครอบครัว ผู้หญิงมีหน้าที่ทำงานบ้านและเลี้ยงลูก แต่ปัจจุบันกลับมีมากขึ้นที่ผู้ชายเป็นฝ่ายลาออกจากงานมาเป็นพ่อบ้านเต็มตัวหลังมีลูก และภรรยาเป็นฝ่ายกลับไปทำงานเต็มเวลา และเป็นเสาหลักของบ้านในการหาเลี้ยงครอบครัวแทน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
แม้ญี่ปุ่นจะยังเป็นสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ แต่ผู้หญิงก็มีบทบาทในหน้าที่การงานสูงขึ้นกว่าแต่ก่อน ทว่าสภาพการทำงานกลับไม่เอื้อต่อคนมีลูก เช่น ที่ทำงานอาจไม่ให้พนักงานเลิกเร็วกว่าปกติเพื่อไปรับลูกที่เนอสเซอรี่ เพราะมองว่าเอาเปรียบคนอื่นที่ยังทำงานอยู่ หรือไม่ก็มีบทลงโทษหากพนักงานใช้สิทธิ์วันลาเลี้ยงลูกตามกฎหมาย และยิ่งถ้าผู้หญิงทำงานตำแหน่งใหญ่ จะกลับบ้านเร็วเพื่อไปรับลูก หรือจะลาหยุดเวลาลูกไม่สบาย ก็เป็นเรื่องยากเย็นขึ้นไปอีก
ว่ากันว่าแม้สามีและภรรยาต่างก็ทำงานเต็มเวลาเหมือนกัน แต่ร้อยละ 80 ของผู้ชายญี่ปุ่นก็ไม่ยอมทำงานบ้าน ผู้หญิงจึงรับภาระหนักกว่าเพราะต้องทำงานบ้านและเลี้ยงลูกเพิ่มด้วย ผู้หญิงทำงานแล้วคนหนึ่งถึงกับเอ่ยปากว่า “ต้องคิดว่าสามีตายไปแล้ว” ไม่อย่างนั้นก็จะเสียใจเองที่หวังว่าเขาจะช่วยแต่ไม่ช่วย"
สาเหตุที่ผู้ชายหันมาเป็นพ่อบ้านเต็มตัว
ดูเหมือนจะมีน้อยเต็มทีที่ผู้ชายเป็นฝ่ายเต็มใจอยากมาเป็นพ่อบ้านด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่จะเป็นเพราะสถานการณ์บีบคั้นมากกว่าอย่างอื่น เช่น ทั้งสามีภรรยาไม่อาจทำงานเต็มเวลาทั้งคู่และเลี้ยงลูกไปพร้อม ๆ กันได้ เพราะสภาพการทำงานไม่ยืดหยุ่นบ้าง เพราะภรรยาถูกสั่งย้ายไปทำงานต่างประเทศบ้าง เพราะภรรยามีความสุขกับการทำงานนอกบ้านแต่อยู่บ้านแล้วเครียดบ้าง ซึ่งเมื่อทั้งคู่พิจารณาแล้วพบว่าภรรยาเหมาะทำงานนอกบ้านมากกว่า หรือมีรายได้ดีกว่า โอกาสด้านการงานดีกว่า งานมั่นคงกว่า มีเวลาทำงานแน่นอนกว่า ก็จะสลับบทบาทหน้าที่กัน
ปัจจัยอื่นที่ทำให้สามีกลายมาเป็นพ่อบ้าน ได้แก่ เจ็บป่วย ซึมเศร้า ถูกปลดออกจากงาน โดนสั่งย้าย หรือสามีบางคนก็รู้สึกว่าตัวเองเหมาะกับงานบ้านมากกว่า หรืออยากอยู่บ้านเพียงเพราะขี้เกียจทำงานก็มีอีกเช่นกัน
มีครอบครัวหนึ่งที่มีลูกเล็ก ๆ สองคน เมื่อก่อนภรรยาก็ทำงาน แต่ยอมลาออกมาเลี้ยงลูก ต่อมาเครียดจนเป็นโรคซึมเศร้า สามีเป็นห่วงก็เลยคะยั้นคะยอให้เธอกลับไปทำงาน แรก ๆ เธอทำงานพาร์ทไทม์จึงมีเวลาไปรับลูกที่เนอสเซอรีตอนบ่าย ต่อมาภรรยาได้บรรจุเป็นพนักงานประจำ ทำให้ต้องฝากลูกไว้ที่เนอสเซอรี่จนมืดค่ำ แม้บางวันเขาจะขอออกจากที่ทำงานเร็วเพื่อไปรับลูกแทนภรรยา ก็โดนบริษัทตำหนิและบีบบังคับให้เขาเลือกระหว่างลดสถานภาพมาเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ หรือให้ภรรยาเขาลาออกมาเลี้ยงลูก
ตั้งแต่ฝากลูกไว้กับเนอสเซอรี่จนมืดค่ำ ลูกคนโตก็ชักดื้อไม่ยอมไปท่าเดียว พ่อแม่ถามเหตุผลก็ไม่ยอมบอก แถมลูกยังอาเจียนทุกเช้าที่จะไปเนอสเซอรี่ด้วย กระทั่งวันหนึ่งลูกยอมบอกเหตุผลด้วยน้ำตาว่า “คนอื่นเขามีพ่อแม่มารับ เหลือแต่พวกหนู ข้างนอกก็มืดลงทุกที ๆ หนูกลัวว่าพ่อแม่จะไม่มารับ กลัวพ่อแม่ไม่ต้องการพวกหนูแล้ว รู้สึกเหงาทุกวันเลย”
พ่อแม่ฟังแล้วสะเทือนใจมาก จึงได้คิดว่าที่ผ่านมาเคยนึกถึงความรู้สึกลูกบ้างไหม อุตส่าห์ทำงานหาเงินไปเพื่ออะไร ในที่สุดฝ่ายสามีก็เป็นฝ่ายยอมเสียสละ แม้จะรู้ว่าตัวเองไม่ได้เหมาะกับการเป็นพ่อบ้าน แต่การเห็นลูกเป็นทุกข์ เห็นภรรยาไม่มีความสุขกับการเป็นแม่บ้าน ก็ทำให้เขาไม่มีความสุขเหมือนกัน
ความยากลำบากของการเป็นพ่อบ้าน
หลายคนนึกว่าแม่บ้านเป็นงานสบาย คนที่เลือกมาเป็นพ่อบ้านหลายคนก็สารภาพว่าตอนแรกคิดแบบนี้ แต่ไม่นานก็ได้รู้ซึ้งถึงความจริง นอกจากจะเข้าใจหัวอกผู้หญิงมากขึ้นแล้ว ยังรู้สึกอายที่เคยหลงภูมิใจว่าตัวเองเป็นสามีที่ดีเพราะช่วยทำงานบ้านนิด ๆ หน่อย ๆ แต่เวลาว่างส่วนใหญ่เอาไปทำสิ่งตัวเองอยากทำ บางคนคิดว่างานบ้านกับการเลี้ยงลูกไม่ใช่หน้าที่ตัวเอง ฉะนั้นไม่ต้องทำก็ได้ ช่วยทำนิดหน่อยก็บุญแล้ว แถมพอเห็นภรรยาทำงานบ้านแล้ว ก็ไม่เห็นจะรู้สึกว่ามันหนักหนาสาหัสอย่างไรด้วย
ครั้นสถานการณ์กลับข้างกัน ผู้ชายหันมาเป็นพ่อบ้านบ้าง บางคนบอกว่ารู้สึกชีวิตมืดมน บางคนก็ว่าแค่ห้าวันแรกก็ทรมานแทบแย่ นอกจากจะไม่ได้คุยกับใครแล้ว ยังโดนลูกตามต้อย ๆ ไม่เว้น ทั้งยังไม่กล้าปล่อยลูกให้คลาดสายตา ไม่เหลือเวลาเป็นส่วนตัวเลย
พ่อบ้านทั้งหลายจึงได้รู้ว่าความสาหัสของงานบ้านไม่ได้อยู่ที่เรื่องแรงงานมากเท่ากับความเครียด เพราะงานบ้านเป็นงานที่ไม่จบไม่สิ้น ไม่ได้ดั่งใจ เช่น บางทีซักผ้าและตากเสร็จแล้ว แต่ลูกปัสสาวะราด เลยต้องซักใหม่อีกครั้ง ทำให้โมโห หงุดหงิด หรือตอนลูกไปเนอสเซอรีก็คิดว่าจะทำงานบ้านให้เสร็จ ก็ยังไม่เสร็จ พอลูกกลับมาก็ป่วน จะให้เล่นด้วย ทำให้ตัวเองไม่ได้ทำอย่างที่ตั้งใจไว้ นึกว่าเป็นพ่อบ้านเพื่อลูก แต่ก็โมโหลูกด้วย พอดุลูก ลูกก็ร้องไห้ ตัวเองก็รู้สึกผิดว่าเป็นพ่อที่ไม่เอาไหน แถมการต้องอยู่บ้านคนเดียวก็ทำให้เหงาและว่างเปล่าอีกต่างหาก
เพื่อนชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งเคยพูดไว้เหมือนกันว่า งานบ้านเป็นงานที่ทำไปก็ไม่มีใครชม สู้ไปทำงานนอกบ้านไม่ได้ รู้สึกดีกับตัวเองมากกว่ากันเยอะ นึกดูแล้วผู้หญิงสมัยก่อนอดทนมากเลยนะคะ เพราะส่วนใหญ่คงอาศัยอยู่กับครอบครัวสามี ก็ต้องเจอแรงกดดันมากมาย ทั้งยังต้องดูแลทุกคน ทำงานหนักไม่ได้หยุด แต่คงน้อยนักที่จะมีใครในบ้านชม มีแต่จะโดนว่าถ้าไม่ถูกใจ
(แนะนำบทความ “เมียผมไม่ได้ทำงาน เป็นแม่บ้าน” สามีใครชอบพูดแบบนี้ บอกให้อ่านเรื่องนี้ด่วน)
อุปสรรคที่พ่อบ้านต้องเจอ
สังคมมักมองว่าเป็นเรื่องประหลาดที่ผู้ชายจะทำงานบ้าน และให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายหาเลี้ยง ผู้ชายจึงถูกมองในแง่ลบว่าเกาะผู้หญิงกิน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำร้ายจิตใจของพ่อบ้านเป็นอย่างยิ่ง บางทีก็เป็นพ่อแม่ของฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงเองที่ตำหนิติเตียนและรู้สึกอับอายขายหน้า ทั้งที่พ่อบ้านหลายคนทำหน้าที่ด้วยความเสียสละ และเพื่อประคับประคองให้ครอบครัวอยู่รอด บางคนนอกจากจะทำหน้าที่พ่อและสามีได้ดีแล้ว ยังสร้างรายได้จากงานที่สามารถทำจากบ้านหรือจากงานพาร์ทไทม์ อีกทั้งยังเป็นผู้นำชุมชนอีกด้วย กระนั้นก็ไม่ค่อยมีคนยกย่อง “สุดยอดคุณพ่อ” แบบเดียวกับที่ยกย่อง “สุดยอดคุณแม่” เอาเสียเลย
ซ้ำร้ายบางทีภรรยาทำงานกลับมาเหนื่อย ๆ พอกลับมาถึงบ้านก็หัวเสียกับสามี หาว่าสามีเล่าเรื่องไร้สาระแบบแม่บ้านบ้าง หรือพอทะเลาะกันก็หลุดปากออกมาบ้างว่า “รู้มั้ยว่าใครเป็นคนหาเลี้ยง !?” ทำเอาสามีน้ำตาคลอ ไม่ก็น้ำตาตกใน ซึ่งฉันคิดว่าไม่ว่าใครจะอยู่ในสถานะหาเลี้ยงก็ไม่น่าพูดทำร้ายน้ำใจกันแบบนี้ เพราะในขณะที่คนหนึ่งหาเงินอยู่นอกบ้าน อีกคนก็ทำงานในส่วนที่อีกฝ่ายควรต้องทำเช่นกัน ต่างคนต่างก็ทำเพื่อกันและกัน เพื่อครอบครัวเหมือนกัน น่าจะให้เกียรติและขอบคุณกันทั้งสองฝ่าย หากผลัดกันชม ผลัดกันให้กำลังใจ ผลัดกันมองเห็นความดีกันและกัน จะทำให้ครอบครัวอบอุ่นและมีความสุขขึ้นนะคะ
ความกังวลต่ออนาคตของพ่อบ้าน
เมื่อไม่ได้ทำงานประจำไปช่วงหนึ่ง คนจะกังวลว่าประวัติการทำงานจะเสียแล้วหางานลำบาก เรื่องนี้มีพ่อบ้านญี่ปุ่นคนหนึ่งให้ความเห็นว่า ที่กลัวอย่างนั้นอาจเพราะคิดว่าจะกลับไปทำงานสายเดิม แต่ถ้าหันมาคิดว่ามีงานอะไรใหม่ ๆ บ้าง จะมองเห็นความเป็นไปได้เยอะขึ้น นอกจากนี้ยุคอินเทอร์เน็ตก็ยังเอื้อให้สามารถก่อตั้งธุรกิจใหม่ ๆ หรือมีทางเลือกด้านอาชีพมากกว่าเดิมด้วย
ที่สำคัญคือยุคนี้สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงเร็ว การงานก็ไม่ได้มั่นคงอย่างยุคก่อน ทำให้คาดเดายากว่าอีกหน่อยจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ดังนั้นการให้ความสำคัญกับปัจจุบัน บวกกับรู้จักยืดหยุ่น ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ ๆ จะทำให้ได้เปรียบกว่าเมื่อเจอความเปลี่ยนแปลง และในนัยหนึ่งก็น่าจะ “มั่นคง” กว่าด้วย
มองในแง่นี้ก็จะเห็นว่าจริง ๆ โอกาสด้านการงานมีมากมาย แต่ก็ขึ้นอยู่กับเจ้าตัวว่าจะขวนขวายด้วยตัวเองมากแค่ไหน อย่างพ่อบ้านคนนี้ก็เป็นพ่อบ้านด้วย เป็นนักวาดการ์ตูนและนักการตลาดสายคริปโตด้วย ซึ่งแต่เดิมเขาไม่เคยวาดรูป และคริปโตก็เพิ่งมีเมื่อไม่นานมานี้เอง การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์จึงทำให้เขาได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และได้ทำงานที่เขาชอบอย่างอิสระ
การที่ญี่ปุ่นมีพ่อบ้านเพิ่มขึ้นอาจชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงมีโอกาสในหน้าที่การงานมากกว่าแต่ก่อน ในขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสังคมทำงานที่ไม่เอื้อให้ทำงานไปเลี้ยงลูกไปพร้อมกันได้ อีกทั้งคนญี่ปุ่นก็ไม่นิยมให้คนอื่นมาเลี้ยงลูกให้ ทำให้สามีภรรยาส่วนหนึ่งจำต้องเลือกหนทางเช่นนี้เพื่อประคับประคองครอบครัว
ในต่างประเทศเองก็มีพ่อบ้านเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่บริบทอาจแตกต่างกันไป เช่น อาจเพราะปัญหาเรื่องรายได้ ทำให้ไม่มีเงินจ้างพี่เลี้ยงดูแลเด็ก ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจึงต้องดูแลลูกเต็มเวลา และฝ่ายที่หาเงินได้มากกว่าเป็นคนหาเลี้ยง
แม้ในสังคมที่เปิดกว้างอย่างประเทศตะวันตก พ่อบ้านก็ยังต้องเผชิญกับการไม่ยอมรับของสังคมเช่นเดียวกับพ่อบ้านญี่ปุ่นนั่นเอง แต่กระนั้นฉันก็เชื่อว่าคนในรู้ดีที่สุดว่าทางเลือกใดเหมาะสำหรับครอบครัวตนเอง คนนอกจะมองอย่างไรก็ไม่อาจลดคุณค่าความเป็นครอบครัวนั้นได้
พ่อบ้านญี่ปุ่นคนหนึ่งให้กำลังใจว่า การที่ผู้ชายผันตัวมาเป็นพ่อบ้านเป็นความตกลงใจร่วมกันของสามีภรรยาเพื่อประคับประคองครอบครัว ดังนั้นจึงไม่ต้องสนใจสายตาคนรอบข้าง สิ่งสำคัญคือไม่ลืมว่าความสุขของครอบครัวอยู่ตรงไหน แล้วจะได้คำตอบเองว่าควรทำอย่างไร
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.