xs
xsm
sm
md
lg

MUSASHI-มิยาโมโตะ มุซาชิ ภาค 3 ไฟ ตอน วิชาเคียวโซ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นวนิยายอิงประวัติศาสตร์
ตำนานนักดาบผู้ก่อกำเนิดสำนักนิเท็นอิจิริว และ คัมภีร์ห้าห่วง
บทประพันธ์ของ โยชิกาวะ เออิจิ (1892-1962)
-แปลและเรียบเรียงโดย ฉวีวงศ์ อัศวเสนา


1
ซาซากิ โคจิโรเงยหน้าจากคมดาบยาวราวสองศอกขึ้นมาประสานสายตากับเซจูโรและเข้าใจกันโดยไม่ต้องอาศัยคำพูดใด ๆ นักดาบทั้งสองเดินเคียงกันไปบนคันทำนบของท่าเทียบเรือเคมะด้วยทีท่าคล้ายกับคนรู้จักที่สนิทสนมกันมานาน อูเอดะ เรียวเฮกับศิษย์สำนักทั้งสามเดินตามมาติด ๆ มุ่งหน้าไปทางเกียวโตนครหลวง ท่ามกลางความหนาวเย็นของค่ำคืนกลางฤดูหนาว
“บอกตรง ๆ ว่าข้าไม่รู้มาตั้งแต่ต้นว่าพวกนั้นมีปัญหาอะไรถึงได้มาหาเรื่องวิวาท ข้าไม่ได้อยากชักดาบแต่ก็จำเป็นต้องสู้ไปตามเพลง”
โคจิโรแก้เกม ส่วนเซจูโรน้อมรับไมตรีด้วยการยกประเด็นความประพฤติที่ไม่บังควรของกิองโทจิบนเรือข้ามฟากจากแคว้นอาวะขึ้นมาแก้เกียว
“ศิษย์สำนักเราคนนี้ใช้ไม่ได้ กลับไปจะต้องกำหนาบเสียให้เข็ด สำนักดาบของเราไม่ได้ประสงค์ร้ายอะไรต่อท่าน อย่าให้ศิษย์มารยาททรามคนเดียวทำให้ท่านรู้สึกไม่ดีต่อเราเลย”
เมื่ออีกฝ่ายมาดี โคจิโรก็ต้องถ่อมตัวตามมารยาท
“อย่าไปว่าศิษย์สำนักท่านเช่นนั้นเลย ข้าเองก็เป็นคนอย่างที่ท่านเห็น ร่างกายสูงใหญ่พูดจามุทะลุดุดันและพร้อมที่จะวิวาทกับใคร ๆ อยู่ตลอด และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคืนนี้ ข้าคิดว่าศิษย์ของท่านน่าจะได้รับคำชมเชยที่พยายามรักษาหน้าของสำนักดาบโยชิโอกะเอาไว้ ถึงฝีมือจะยังไม่ถึงแต่ก็น่าเห็นใจ เพราะทุกคนพยายามสุดความสามารถกันแล้ว”
“ข้าไม่ดีเอง”
เซจูโรก้มหน้าลงอย่างสำนึกผิดและเดินงุด ๆ ไปข้างหน้า
“ข้าไม่ได้อยากให้เรื่องมันเป็นเช่นนั้น อยากให้ท่านลืมมันเสียโดยเร็ว แล้วมาคุยกันถึงอนาคตดีกว่า”
ศิษย์สำนักที่เดินตามหลังมาโล่งใจไปตาม ๆ กันเมื่อได้ยินนักดาบทั้งสองตกลงกันได้อย่างมีไมตรีจิตต่อกัน ทุกคนตกตะลึงเพริดไปตาม ๆ กันเพราะนึกไม่ถึงว่าหนุ่มรูปงามไว้ผมปรกหน้าผากเหมือนเด็กโข่งคนนี้คือ นักดาบที่ปรมาจารย์อิตโตไซขนานนามว่า มังกรแห่งอิวากูนิ
เห็นใจกิองโทจิอยู่เหมือนที่พลาดท่าไปหยามน้ำหน้าเข้าด้วยความคิดไม่ถึง จึงต้องตกอยู่ในสภาพที่น่าเวทนาเช่นนั้น
เมื่อรู้ว่าใครเป็นใครเช่นนี้แล้ว อูเอดะ เรียวเฮกับศิษย์ทั้งสามก็ถึงกับเสียวสันหลับจนเย็นวาบไปทั้งตัว เมื่อนึกถึงคมดาบยาวราวสองศอกที่เฉียดฉิวแทบจะเอาชีวิตตนไปสังเวย
หนุ่มรูปงามคนนี้น่ะหรือคือกันริว
เมื่อรู้ความจริงแล้วเขม้นมองนักดาบร่างสูงใหญ่ไหล่กว้างและผึ่งผายที่ก้าวเดินด้วยฝีเท่าที่มั่นคงอยู่ข้างหน้า แต่ละคนก็ยิ่งตระหนักถึงความโฉดเขลาก็ของตนเองที่มีแต่ตาหามีแววไม่
ไม่นานคนทั้งกลุ่มก็เดินมาถึงท่าเทียบเรือเคมะ อูเอดะ เรียวเฮสั่งให้ศิษย์ทั้งสามจัดการกับศพเพื่อนที่สังเวยชีวิตให้กับคมดาบยาวราวสองศอกซึ่งตอนนี้แข็งเกือบจะเป็นน้ำแข็งไปแล้ว ส่วนตนเองออกตามหาม้าที่หนีไป
เจ้าลิงน้อยเผ่นแผล็วจากที่ไหนไม่รู้ออกมาเกาะบนบ่าเจ้านายของมันตามเดิมเมื่อได้ยินเสียงซาซากิ โคจิโรผิวปากดังหวีดหวิว
เซจูโรคะยั้นคะยอให้โคจิโรมาเยือนสำนักดาบโยชิโอกะที่ชิโจ และถึงกับเสนอให้ขี่ม้าของตนไปด้วย แต่โคจิโรส่ายศีรษะบอกว่า
“จะให้ข้าทำเช่นนั้นได้ยังไง ข้าเป็นแค่นักดาบเพนจรอายุยังน้อยและอ่อนหัด ส่วนท่านเป็นเจ้าสำนัก บุตรชายของ โยชิโอกะ เค็มโป ปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ในยุทธจักร มีลูกศิษย์หลายร้อยคน”
นักดาบรูปงามว่าพลางหยิบบังเหียนขึ้นมาถือไว้แล้วบอกว่า
“ท่านขึ้นนั่งบนหลังม้าเถิด ข้าจะเป็นคนจูงเอง รู้สึกว่าเดินจูงม้าน่าจะสบายกว่าเดินธรรมดา และถ้าท่านไม่รังเกียจก็ขอเดินคุยกันไปจนถึงเกียวโต และคิดว่าจะพักอยู่กับท่านสักพักตามคำเชิญ”
ถึงจะพูดอย่างถือวิสาสะเป็นกันเองแต่เจ้าหนุ่มรูปงามก็ยังวางทรงอย่างคนมีมารยาท
อีกไม่นานก็จะสิ้นปี และพอขึ้นปีใหม่ได้ไม่กี่วันโยชิโอกะ เซจูโรก็จะต้องเผชิญหน้ากับมิยาโมโตะ มูซาชิตามนัด
การที่นักดาบฝีมือดีอย่างซาซากิ โคจิโรจะมาพำนักด้วยในช่วงเวลาเช่นนี้ ทำให้รู้สึกอุ่นใจไม่น้อย
“ถ้าอย่างนั้นก็ขอโทษนะ ข้าจะขี่ไปก่อนถ้าท่านเดินเมื่อยเมื่อไรก็ค่อยผลัดกัน”
เซจูโรคำนับให้ก่อนเหยียบโกลนโยนตัวขึ้นนั่งบนอานม้า

2
ยุทธจักรนักดาบในยุคเอโรกุ (ค.ศ.1558-1570) มีสึกาฮาระ โบกูเด็นกับคามิอิซูมิแห่งอิเซะเป็นผู้ยิ่งใหญ่อยู่ทางด้านภาคตะวันออก และนักดาบตระกูลโยชิโอกะแห่งเกียวโตกับตระกูลยากิวแห่งยามาโตะอยู่ทางฟากตะวันตกเป็นคู่แข่งกัน นอกจากนั้นยังมีอยู่อีกคนหนึ่งคือ คิตาบาตาเกะ โทโมโนริ แห่งอิเซะคาวานะ ซึ่งเป็นทั้งนักดาบระดับปรมาจารย์และนักปกครองผู้มีความสามารถ เป็นที่ยกย่องสรรเสริญของผู้คนในท้องถิ่นจากการที่ได้ทำนุบำรุงและสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่แว่นแคว้น
คิตาบาตาเกะ โทโมโนริ แห่งอิเซะคาวานะผู้นี้ศึกษาวิชาดาบจากโบกูเด็น โดยโบกูเด็นผู้เป็นอาจารย์ได้ถ่ายทอดกลยุทธ์อันเป็นเคล็ดลับสูงสุดให้แก่ศิษย์เอกผู้นี้ซึ่งต่อมาได้เผยแพร่ออกไปบนคาบสมุทรอิเซะ
ส่วนสึกาฮาระ ฮิโกะชิโร ลูกชายของโบกูเด็นเองนั้น แม้จะสืบทอดตระกูลและสำนักดาบของบิดาแต่ก็ไม่ได้เรียนรู้กลยุทธ์อันเป็นเคล็ดลับสูงสุดนั้น และนั่นคือเหตุผลที่ว่าวิถีดาบของโบกูเด็นไม่เป็นที่แพร่หลายทางฟากตะวันออกซึ่งเป็นถิ่นของ ฮิโกะชิโร แต่กลับไปรุ่งเรืองอยู่ที่คาวะนะซึ่งเป็นถิ่นของคิตาบาตาเกะ
มีเรื่องเล่าว่าหลังจากที่โบกูเด็นถึงแก่กรรม สึกาฮาระ ฮิโกะชิโรเดินทางจากบ้านเกิดไปพบกับคิตาบาตาเกะที่อิเซะและบอกว่า
“ข้าเรียนวิชาดาบจากพ่อ และพ่อบอกว่าได้สอนท่านด้วย แต่ต่อมาข้าเริ่มสงสัยว่าวิชาดาบที่พ่อสอนเราสองคนนั้น ความจริงแล้วจะเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร ข้าคิดว่าได้เรียนรู้กลยุทธ์อันเป็นเคล็ดลับสูงสุดของพ่อและท่านก็คงคิดเช่นกัน ข้าจึงคิดว่าเราน่าจะมาเปรียบเทียบวิชาดาบกันดูว่าเราได้เรียนอะไรมาจากพ่อ ท่านว่าดีไหม”
คิตาบาตาเกะฟังแล้วตระหนักได้ทันทีว่าฮิโกะชิโรทายาทของอาจารย์ไม่ได้มาดีอย่างที่พูด แต่ตั้งใจจะมาเอากลยุทธ์ลับจากตน
“ได้ซี ข้าจะแสดงให้ดู”
นักดาบแห่งคูวานะยอมเผยกลยุทธ์ที่ร่ำเรียนมาอย่างว่าง่าย
ส่วนฮิโกะชิโรนั้นถึงจะลอกเลียนเชิงดาบเอาไปได้ก็จริงแต่ก็ได้ไปแต่เพียงรูปแบบ เข้าไม่ถึงจิตวิญญาณแห่งวิถีดาบของ โบกูเด็น
วิชาดาบของโบกูเด็นฝังรากลึกอยู่บนคาบสมุทรอิเซะ แม้จนทุกวันนี้ก็ยังมีนักดาบหลายคนที่เป็นผู้สืบทอดวิทยายุทธ์
เรื่องนี้เป็นตำนานที่คนในท้องถิ่นภูมิใจกันมากใครก็ตามที่เดินทางมาถึงแถวนี้จะต้องมีคนเล่าให้ฟัง เนื้อเรื่องฟังแล้วดูมีสาระกว่าตำนานทั่ว ๆ ไปที่เล่ากันเป็นเชิงโอ้อวดคุณงามความดีของท้องถิ่น
วันนี้ก็เช่นกัน นักเดินทางคนหนึ่งนั่งอยู่บนหลังม้าระหว่างทางจากเมืองท้ายปราสาทคูวานะไปยังภูเขาทารูซากะ ฟังเรื่องที่คนจูงม้าเล่าให้ฟังพลางพยักหน้ารับรู้
อากาศบนคาบสมุทรอิเซะในช่วงกลางเดือนสุดท้ายของปีค่อนข้างอบอุ่น แต่ลมจากอ่าวนาโกะที่พัดผ่านสันเขาก็ทำให้หนาวเยือกได้เหมือนกัน นักเดินทางบนหลังม้าเช่าสวมเสื้อผ้าขะมุกขะมอมและน้อยชิ้นมาก มีเพียงกิโมโนบาง ๆ ทับชั้นในกับเสื้อคลุมไม่มีแขน
สวมหมวกฟางเก่าขาดเหมือนกับเก็บมาจากที่ใครเขาทิ้งไว้ข้างทาง ทั้งที่ไม่ต้องสวมก็ได้เพราะใบหน้าดำคล้ำแดดออกอย่างนั้นแล้ว เมื่อถอดหมวกออกก็เห็นผมเผ้ายุ่งกระเซิงราวรังนกดูสกปรกเพราะคงไม่ได้สะมาหลายวันเต็มทีได้แต่มัดเป็นฟ่อนเอาไว้
คนจูงม้ามองสภาพแล้วชักกังวลว่าจะได้ค่าเช่าม้าหรือไม่ อีกทั้งที่หมายยังอยู่ลึกเข้าไปในภูเขา ไม่รู้ว่าขากลับจะหาคนเช่าม้าได้หรือไม่ด้วย
“ท่านขอรับ”
“หือ”
“เราจะถึงยคคาอิจิก่อนเที่ยงนิดหนึ่ง ถึงคาเมยามะตอนเย็น และจากตรงนั้นกว่าจะถึงหมู่บ้านอุจิอิก็คงจะดึก”
“อืม”
“ไม่เป็นไรหรือขอรับ”
“ฮื่อ”
ผู้โดยสารไม่ตอบได้แต่พยักหน้าและทำเสียงในลำคอ ดูเหมือนจะสนใจกับทิวทัศน์ของอ่าวเบื้องล่างมากกว่าจะฟังคนจูงม้า
มูซาชินั่นเอง
เจ้าหนุ่มนักดาบเดินทางรอนแรมมาในป่าเขาตั้งแต่ปลายฤดูใบไม้ผลิมาจนถึงฤดูหนาวจวบจนจะสิ้นปี
ผิวหนังหยาบกร้านราวเปลือกไม้ที่ปะทะกับแรงลมและฝน ดวงตาทั้งสองเท่านั้นที่ยังเปล่งประกายเจิดจ้าและเฉียบคมอยู่เช่นเดิม

3
คนจูงม้าถามขึ้นอีก
“ท่านขอรับ หมู่บ้านอุจิอิที่อาโนโค อยู่ลึกเข้าไปในภูเขาซูซูกะมากเลย ท่านจะไปทำอะไรในที่กันดารอย่างนั้น”
“ไปพบคน”
“ที่หมู่บ้านนั้นมีแต่คนตัดไม้และก็ชาวไร่ชาวนา”
“ได้ยินเขาพูดกันที่คูวานะว่า ที่นั่นมีคนเก่งวิชาเคียวโซ่”
“อ๋อ ชิชิโดะ หรือขอรับ”
“ใช่ รู้สึกว่าจะชื่อชิชิโดะอะไรสักอย่าง”
“ชิชิโดะ ไบเค็น”
“ใช่ ใช่”
“ไบเค็นเป็นช่างตีเหล็ก และเก่งวิชาเคียวโซ่ ท่านเป็นนักดาบหรือขอรับ”
“อืม”
“ถ้ายังนั้น แทนที่จะไปหาไบเค็นช่างตีเหล็ก ข้าว่าท่านไปมัตสึซากะดีกว่า ที่นั่นมีคนเก่ง ๆ ของอิเซะอยู่หลายคน”
“ใครรึ”
“มิโกงามิ เท็นเซ็น”
“อ๋อ มิโกงามิ”
มูซาชิพยักหน้าทำราวกับว่าตนคุ้นเคยกับชื่อนี้ดี แล้วนั่งโยนตัวเงียบ ๆ ตามจังหวะก้าวเดินของม้าไปจนถึงเมืองยคคาอิจิ จึงลงจากหลังม้าขโยกเขยกไปนั่งกินข้าวกลางวันที่แผงลอย
ทำไมถึงต้องเดินเขยก...เจ้าหนุ่มมองลงไปที่เท้าของหนึ่งของตนที่พันผ้าเอาไว้ แล้วนึกย้อนไปถึงเหตุที่ทำให้เดินไม่ถนัดจึงต้องเช่าม้าให้คนจูง
ระยะนี้ มูซาชิเอาใจใส่ร่างกายของตนเองอย่างละเอียดถี่ถ้วนทุกวัน แต่ทั้งที่ระวังตัวทุกฝีก้าวก็พลาดจนได้
เมื่อสองวันก่อน ระหว่างที่เดินอยู่ในฝูงคนที่ท่าเรือนารูมิ ไม่รู้ว่าทำอีท่าไหนจึงเหยียบลงไปบนตะปูที่โผล่ออกมาจากกล่องไม้ใส่สินค้า แผลถูกตะปูตำเริ่มอักเสบเป็นหนองเท้าบวมเป่งและไข้ขึ้นมาตั้งแต่เมื่อวาน
ตะปูดอกนี้คือศัตรูที่ต้องเผชิญหน้าอย่างสุดวิสัยที่จะหลีกเลี่ยง
มูซาชิตั้งแนวคิดสำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า ตะปูคือศัตรูและการต่อสู้ครั้งนี้ตะปูเป็นฝ่ายชนะเพราะความเลินเล่อของตน ซึ่งเป็นเรื่องน่าอายมากสำหรับนักดาบ
ตะปูโผล่ขึ้นมาจากไม้ที่หงายอยู่ให้เห็นชัด ๆ แต่ที่เหยียบลงไปนั้นเป็นเพราะเหม่อลอย แสดงให้เห็นว่าใจเราไม่ได้อยู่กับเนื้อกับตัวเสมอ และการที่เหยียบลงไปจนมิดเกือบถึงหลังเท้า เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าประสาทสัมผัสเชื่องช้า ถ้าประสาทสัมผัสทุกส่วนไหวตัวอยู่ตลอดเวลา เราจะรู้สึกได้ตั้งแต่ตะปูแทงรองเท้าฟาง และชักเท้าออกทัน
มูซาชิถามเองตอบเองและสำนึกตนได้ว่าที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะจิตใจตนยังเติบโตไม่เต็มที่ ดาบและร่างกายยังไม่เป็นหนึ่งเดียว ฝีมือเท่านั้นที่แกร่งขึ้นทุกทีแต่น่าเสียดายที่ฝีมือนั้นไม่สัมพันธ์กันกับส่วนอื่น ๆ ของร่างกายและจิตใจ เรียกได้ว่าเป็นความพิการชนิดหนึ่ง
อย่างไรก็ดี ชีวิตในช่วงครึ่งปีตั้งแต่เตลิดออกมาจากอาณาจักรของยากิวที่ยามาโตะเมื่อปลายฤดูใบไม้ผลิจนถึงวันนี้ ไม่ได้เปล่าประโยชน์เสียเลยทีเดียว
เมื่อออกจากยากิว มูซาชิเดินทางมุ่งหน้าไปยังอิงะ เดินตามทางโอมิลงมาที่มิโนะ และโอวาริ แสวงหาหนทางที่จะบรรลุถึงวิถีที่แท้จริงแห่งดาบในทุกแห่งที่เดินทางผ่านไป ไม่ว่าจะเป็นเมืองท้ายปราสาท ภูเขา แม่น้ำ หรือที่ใด ๆ
อะไรคือความหมายที่แท้จริงของวิถีแห่งดาบ
บางครั้งก็รู้สึกว่าเฉียดเข้าไปใกล้แล้ว แต่พอตั้งคำถามก็ไม่ได้คำตอบ
ไม่ว่าจะในเมือง บนภูเขา แม่น้ำ หรือหนองน้ำ
ครึ่งปีที่ผ่านมานี้ มูซาชิได้พบกับนักดาบไม่รู้ว่ากี่สิบคนและในจำนวนนั้นหลายคนมีชื่อเสียง ทุกคนล้วนมีวิทยายุทธ์ล้ำเลิศกันทั้งนั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น