xs
xsm
sm
md
lg

สื่อต่างชาติประท้วงมาตรการควบคุมโรค “โตเกียวโอลิมปิก” ละเมิดเสรีภาพสื่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บรรณาธิการข่าวกีฬาของสื่อรายใหญ่กว่า 10 แห่งส่งหนังสือประท้วงถึงคณะกรรมการงานโตเกียวโอลิมปิก คัดค้านมาตรการป้องการโรคโควิด-19 ของญี่ปุ่น ที่ละเมิดเสรีภาพสื่อมวลชนและเลือกปฏิบัติ

หนังสือดังกล่าวลงนามโดยสื่อรายใหญ่อย่างเดอะ นิวยอร์ก ไทมส์, เดอะ วอชิงตัน โพสต์, สำนักข่าวเอพี, ยูเอสเอ ทูเดย์ และสื่ออื่นๆ อีก 8 สำนัก ระบุว่า การห้ามผู้สื่อข่าวต่างชาติสัมภาษณ์ผู้ชมหรือบุคคลทั่วไปเป็นมาตรการที่ “เกินสมควรอย่างชัดเจน” ขณะที่สื่อในญี่ปุ่นไม่ได้ถูกบังคับใช้มาตรการเดียวกันนี้ ไม่ว่าพวกเขาจะฉีดวัคซีนแล้วหรือไม่ก็ตาม

คู่มือป้องการโรคโควิด-19 ที่คณะผู้จัดงานโตเกียวโอลิมปิกเผยแพร่ระบุว่า ห้ามผู้สื่อข่าวต่างชาติสัมภาษณ์ผู้ชมการแข่งขันและบุคคลอื่น ๆ ในกรุงโตเกียวในช่วง 14 วันหลังเดินทางเข้าญี่ปุ่น และยังบังคับว่าต้องเปิดระบบติดตามพิกัดสถานที่ในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งข้อมูลจะถูกส่งไปให้คณะกรรมการจัดการแข่งขัน

คณะบรรณาธิการระบุว่า ผู้สื่อข่าวควรได้รับอนุญาตให้ทำงานได้ตามปกติ โดยสวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่าง พร้อมเรียกร้องให้ทบทวนมาตรการที่เข้มงวดเหล่านี้โดยเคารพต่อเสรีภาพสื่อมวลชน


คณะบรรณาธิการยังระบุว่า แอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือที่ฝ่ายญี่ปุ่นบังคับให้ติดตั้งเพื่อรวบรวมข้อมูลสุขภาพของผู้สื่อข่าวสร้างความกังวลด้านความปลอดภัยและสิทธิความเป็นส่วนตัว เพราะได้รวบรวมข้อมูลส่วนตัวโดยไม่ได้ระบุรายละเอียดว่าข้อมูลจะถูกใช้อย่างไร

บรรณาธิการข่าวกีฬาของเดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ กล่าวว่า “การติดตามตัวและสอดส่องความเคลื่อนไหวของผู้สื่อข่าวเกินเลยไปกว่ามาตรการเพื่อความปลอดภัยอย่างชัดเจน พวกเราถูกตั้งข้อสงสัยล่วงหน้าว่าเป็นตัวอันตราย ซึ่งขัดแย้งกับแนวคิดเรื่องเสรีภาพสื่อ”

หนังสือของคณะบรรณาธิการถูกส่งไปให้นายโทมัส บาร์ค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล และนางเซโก ฮาชิโมโตะ ประธานคณะกรรมการโตเกียวโอลิมปิก ก่อนที่กรุงโตเกียวจะจัดงานโอลิมปิกขึ้นท่ามกลางการระบาดของโควิดในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า


โตเกียวโอลิมปิกจะมีพิธีเปิดในวันที่ 23 กรกฎาคม คาดว่าจะมีสื่อมวลชนราว 4,600 คนจากต่างประเทศเดินทางมาญี่ปุ่น ซึ่งเป็นจำนวนที่ลดลงราวครึ่งหนึ่งจากแผนเดิม เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด

คณะกรรมการโตเกียวโอลิมปิก ได้ส่งแถลงการณ์ถึงคณะบรรณาธิการ ระบุว่า “ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบัน เราจำเป็นต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดอย่างยิ่ง เมื่อคำนึงถึงความสำคัญของผู้เข้าร่วมงานทุกคนและประชาชนชาวญี่ปุ่น”.


กำลังโหลดความคิดเห็น