xs
xsm
sm
md
lg

สาวญี่ปุ่นยุคใหม่ยังมี “เสน่ห์ปลายเข็ม” กันอยู่ไหม ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การเย็บปักถักร้อยเคยเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่จำเป็นสำหรับกุลสตรีญี่ปุ่น แต่ทุกวันนี้ เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่หาซื้อได้ง่ายทำให้ผู้คนห่างหายจากการเย็บและปักผ้า แต่สังคมญี่ปุ่นก็ยังคาดหวังให้คุณแม่ทั้งหลายจับเข็มเย็บผ้า เพื่อแสดงถึงความรักและเอาใจใส่ต่อครอบครัว

สวัสดีค่ะ คุณผู้อ่านจำได้ไหมคะว่าครั้งสุดท้ายที่จับเข็มเย็บผ้าคือเมื่อไหร่ ? ที่ญี่ปุ่น การเย็บผ้า หรือที่เรียกว่า "โอะไซโฮ" お裁縫 เป็นทักษะอย่างหนึ่งที่สอนกันในวิชา “คหกรรม” ซึ่งต้องเรียนกันทั้งผู้ชายและผู้หญิงในสมัยมัธยม ในอดีตการเย็บปักถักร้อยเป็นทักษะที่ขาดไม่ได้สำหรับแม่บ้านแม่เรือน จักรเย็บผ้าเคยเป็นของใช้สำคัญที่เมื่อผู้หญิงแต่งงานออกเรือนก็จะซื้อไว้ประจำบ้าน แต่ทุกวันนี้ การเย็บผ้ากลายเป็นเพียงงานฝีมือที่เป็นงานอดิเรก หลายบ้านไม่มีแม้กระทั่งเข็มและด้ายติดบ้าน

ชุดอุปกรณ์เย็บผ้าที่วางขายในญี่ปุ่น นิยมให้เป็นของขวัญแต่งงาน
เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่มีราคาถูกกว่าและสวยกว่าเป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้ผู้คนในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องตัดเย็บเสื้อผ้าเองแล้ว แต่ที่น่าตกใจคือคนหนุ่มสาวหลายคนไม่สามารถแม้กระทั่งซ่อมกระดุมหรือปะผ้าที่ฉีกขาด

สมัยที่คนญี่ปุ่นใส่กิโมโนในชีวิตประจำวัน เมื่อจะซักกิโมโนแต่ละครั้งต้องรื้อด้ายเพื่อแยกผ้าออกเป็นส่วน ๆ เอาไปซัก จากนั้นพอแห้งแล้ว ค่อยนำกลับมาเย็บรวมกันด้วยมืออีกที นอกจากนี้ กิโมโนชุดหนึ่งใช้งานกันนานมาก ปรับขนาดไปเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา ถ้าใส่จนเก่ามากแล้วก็ยังนำผ้าของกิโมโนไปดัดแปลงเป็นของใช้อย่างอื่นได้อีกด้วย การเย็บปักถักร้อยจึงเป็นทักษะที่ “ต้องมี” สำหรับแม่บ้านทุกคน เพราะไม่เพียงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน แต่ยังเป็นที่เชิดหน้าชูตาอีกด้วย


สำหรับคุณแม่ชาวญี่ปุ่น เมื่อลูกเข้าเรียนในโรงเรียนอนุบาลและประถม ทางโรงเรียนจะให้คุณแม่ทำถุงผ้าด้วยมือตามขนาดที่กำหนดเพื่อให้ลูกใช้ถุงผ้านี้ใส่ผ้าเช็ดหน้า ชุดพละ อุปกรณ์เครื่องเขียน และของใช้ส่วนตัว โดยบอกว่า “สิ่งของที่แม่ทำด้วยมือแสดงออกถึงความรักที่แม่มีต่อลูก”

การเย็บถุงผ้าให้ลูกสร้างความกดดันให้กับคุณแม่หลายคนที่แทบไม่เคยจับเข็มเย็บผ้าเลย จึงมีร้านบริการเย็บถุงผ้าให้แทนคุณแม่ ๆ แต่ในอดีตไม่มีแทบใครกล้าบอกว่าถุงผ้าที่ลูกใช้จ้างร้านเย็บให้ ไม่ได้เป็นฝีมือของคุณแม่เอง และทางร้านก็ต้องเก็บเป็นความลับว่าถุงผ้าที่เย็บนั้นเป็นของใคร

ในปัจจุบัน คุณแม่หลายคนต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ไม่มีเวลา หลายคนเย็บผ้าไม่เป็น ไม่อุปกรณ์เย็บปักถักร้อย และยังมีคุณแม่ที่ยืนยันว่าพ่อแม่ควรใช้เวลาเล่นกับลูก อ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง ไม่ใช่ยึดติดกับแนวคิดที่ว่าการเย็บผ้าเป็นการแสดงออกความรัก

ค่านิยมเรื่องผู้หญิงต้องมี “เสน่ห์ปลายเข็ม” คู่กับ “เสน่ห์ปลายจวัก” เกิดจากจากภาพพจน์ของครอบครัวว่าผู้ชายออกไปทำงานนอกบ้าน ส่วนผู้หญิงอยู่บ้านเป็นแม่บ้าน ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่คนมองกันว่าเป็นมาตรฐานทั่วไปในอดีต สังคมญี่ปุ่นมีความคาดหวังว่าผู้หญิงมีหน้าที่คลอดลูกและเลี้ยงลูกด้วยความรัก การทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยมือเป็นการแสดงออกถึงความรัก

แต่ทุกวันนี้ วิถีชีวิตและค่านิยมของคนเราแตกต่างกันไป คุณแม่ชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยไม่ได้เย็บถุงผ้าให้ลูกด้วยมือของตัวเองอีก แต่ความรักของแม่ที่อยู่ในถุงผ้านั้นก็ไม่ได้เลือนหายไป เพราะคุณแม่ได้เลือกวัสดุและแบบของถุงผ้าสำหรับลูก และยังทำขึ้นโดย “มืออาชีพ” ที่มีทักษะทำได้สวยงามและใช้ได้นาน ส่งมอบความรู้สึกของแม่ถึงลูกไม่แตกต่างจากสมัยก่อน

ชุดเครื่องมือเย็บบ้านประจำบ้านของญี่ปุ่น
ถึงแม้คนทุกวันนี้แทบจะไม่เย็บปักถักร้อยกันแล้ว แต่ในชั้นเรียนวิชาคหกรรมในโรงเรียนของญี่ปุ่นก็ยังมีการสอนเย็บผ้าและทำเครื่องประดับอยู่ เพราะชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยมือตัวเองเป็นกระบวนการใช้ความคิดสร้างสรรค์และเรียนรู้ในหลากแง่มุม

โรงเรียนของญี่ปุ่นจะสอนให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ทักษะพื้นฐานและมีประสบการณ์ทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันเพื่อให้ “พึ่งพาตัวเองได้” ไม่ว่าจะเป็นการเย็บปักถักร้อย ทำอาหาร ประกอบเครื่องใช้ง่ายๆ งานช่างขั้นพื้นฐาน จนถึงการปลูกพืชผักและเรียนรู้ธรรมชาติ เมื่อเด็ก ๆ เติบโตขึ้นก็สามารถตัดสินใจเองว่าจะทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ด้วยฝีมือตัวเอง หรือว่าจะซื้อ หรือจ้างคนอื่นทำ

การศึกษาของญี่ปุ่นสอนให้เด็กพึ่งพาตัวเอง หรือ “จิริตสึ” 自立เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่ว่า “ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด” ถึงแม้เย็บผ้าไม่สวยแต่ถ้ากระดุมหลุดก็ต้องซ่อมได้ ซักผ้ารีดผ้าได้ แม้ทำอาหารไม่อร่อยแต่ก็ต้องไม่ทนหิว ต้องใช้ไขควง,คีมเพื่อซ่อมของเล็กๆ น้อย ๆ ได้ รักษาสุขอนามัยส่วนตัวและบ้านเรือนให้สะอาดได้ ถ้าเราทำเองเป็น เราก็จะมีทางเลือกมากขึ้นและต้องคิดเองได้ว่าเราจะใช้ชีวิตอย่างไร


ทุกวันนี้ ผู้คนแทบไม่ได้ตัดเย็บเสื้อผ้าเองแล้ว แต่สาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยก็ยังคงมี “เสน่ห์ปลายเข็ม” ในช่วงแรกๆ ที่โรคโควิดระบาด หน้ากากอนามัยขาดแคลน บรรดาแม่บ้านต่างตัดเย็บหน้ากากผ้าด้วยมือใช้เอง แจกจ่ายให้คนใกล้ชิด และยังนำออกขายอย่างคึกคัก นอกจากนี้ ที่ญี่ปุ่นยังมีร้านขายอุปกรณ์เย็บปักถักร้อย หนังสือเกี่ยวกับการเย็บผ้า และชุดอุปกรณ์เย็บปักทั้งชุดใหญ่ชุดเล็กมากมาย ของเหล่านี้ฉันไม่ค่อยได้เห็นในประเทศไทยและที่อื่น ๆ เลย แสดงให้เห็นว่าคนญี่ปุ่นชอบงานฝีมือ ให้คุณค่ากับการทำสิ่งของต่าง ๆ ด้วยตัวเอง

หากคุณผู้อ่านชอบศิลปะการเย็บปักถักร้อย และมีโอกาสมาเที่ยวญี่ปุ่น อย่าลืมแวะซื้อหนังสือและอุปกรณ์ตัดเย็บน่ารักๆ นะคะ งานอดิเรกนี้สร้างความสุขให้กับทั้งคนที่ถือเข็มและคนที่ได้รับงานฝีมือที่ตัดเย็บด้วยหัวใจอย่างแน่นอนค่ะ วันนี้ขอบคุณที่ติดตาม สวัสดีค่ะ.

หนังสืองานฝีมือเย็บปักถักร้อย


กำลังโหลดความคิดเห็น