xs
xsm
sm
md
lg

MUSASHI-มิยาโมโตะ มุซาชิ ภาค 2 น้ำ ตอน กลยุทธ์ดอกโบตั๋น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นวนิยายอิงประวัติศาสตร์
ตำนานนักดาบผู้ก่อกำเนิดสำนักนิเท็นอิจิริว และ คัมภีร์ห้าห่วง
บทประพันธ์ของ โยชิกาวะ เออิจิ (1892-1962)
-แปลและเรียบเรียงโดย ฉวีวงศ์ อัศวเสนา

1
เซกิชูไซอยู่ในวัยแปดสิบปี รูปทรงงามสง่าเปรียบได้กับนกกระเรียน สุขภาพแข็งแรงเป็นเลิศ ตาดีฟันดีเป็นที่ภาคภูมิใจ และที่พูดอยู่เสมอว่า “ข้าจะอยู่ถึงร้อยปี” ก็เพราะมีความเชื่อมั่นว่าคนในตระกูลยากิวไม่รู้ว่ากี่รุ่นที่ผ่านมาในอดีตจนถึงรุ่นตนล้วนอายุยืน อยู่เกินวัยห้าสิบหกสิบและนอนตายบนผืนเสื่อทั้งนั้น มีบ้างที่ชะตาถึงฆาตต้องพลาดท่าเสียทีศัตรูในสนามรบ ตายไปในวัยไม่ถึงสามสิบ

แม้ไม่ต้องมองย้อนไปถึงบรรพบุรุษ ใครก็ตามที่ได้เห็นการดำรงชีวิตของนักรบผู้ดำรงความองอาจเหนือกาลเวลาเช่นนี้แล้วคงต้องพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเซกิชูไซจะอายุยืนถึงร้อยปีแน่

เซกิชูไซแห่งยากิวมีชีวิตอยู่มาหลายแผ่นดินตั้งแต่รัชสมัยเคียวโรกุ เท็มบุน โคจิ เออิโรกุ เก็งกิ เท็นโช บุนรากุ และเคอิโจ อันเป็นยุคที่บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะสับสนวุ่นวายจากการแย่งชิงอำนาจกันทั่วทุกหัวระแหง และได้ผ่านการสู้รบมาแล้วอย่างโชกโชนตั้งแต่วัยรุ่นถึงวัยหนุ่มใหญ่อายุสี่สิบเจ็ดโดยแทบไม่มีเวลาเว้นว่างที่จะได้วางดาบและคันธนู ไม่ว่าจะเป็นการสู้รบกับตระกูลมิโยชิที่ก่อการจลาจลในนครหลวง ได้เห็นการล่มสลายของขุนศึกอาชิคางะ เห็นมาแล้วทั้งชัยชนะทั้งการพ่ายแพ้ของขุนพลมัตสึนางะและขุนพลโอดะ เซกิชูไซใช้ชีวิตอยู่ในสนามรบจนตนเองยังอดแปลกใจไม่ได้ว่ามีชีวิตรอดมาได้อย่างไร

ตั้งแต่ปีที่อายุครบสี่สิบเจ็ดเป็นต้นมา เซกิชูไซก็ไม่จับอาวุธอีกเลย ไม่ยอมรับข้อเสนอของอาชิคางะ โยชิอากิ ปฏิเสธคำชวนของโนบูนางะ และข้อเสนอของฮิเดโยชิ แม้จะอยู่ใกล้ร่มเงาของโอซากาและเกียวโตแต่เซกิชูไซก็ทำตนเฉกเช่นคนหูหนวกและเป็นใบ้ ไม่ฟังและไม่ตอบผู้ใดทั้งสิ้น ปลีกวิเวกไปอยู่ที่เรือนเล็กหลังปราสาทยากิวเหมือนหมีจำศีล
ต่อมาภายหลัง เซกิชูไซเอ่ยกับใคร ๆ เสมอว่า

“ไม่นึกเหมือนกันว่าจะมีชีวิตอยู่มาได้ถึงป่านนี้ การที่สามารถรักษาปราสาทเล็ก ๆ แห่งนี้ให้รอดอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ ในโลกแห่งสงครามที่ไร้ความแน่นอน เช้าอาจชนะแต่บ่ายอาจแพ้ยับเยินนั้น คือปาฏิหาริย์”

แน่นอนว่าผู้ใดได้ยินจะต้องเห็นด้วยกับผู้ครองปราสาทแห่งนี้ คือถ้าเซกิชูไซยกทัพไปเข้ากับอาชิคางะก็จะต้องพลอยพ่ายแพ้โนบูนางะและถูกโจมตีแตกทัพไปด้วย จะให้ตกลงใจเข้าร่วมกับฝ่ายโนบูนางะก็ไม่รู้ความความสัมพันธ์ระหว่างตนกับ ฮิเดโยชิจะเป็นอย่างไรต่อไป ดีที่ไม่ไปเข้ากับฝ่ายฮิเดโยชิเพราะไม่เช่นนั้นก็จะต้องพ่ายแพ้ต่อกองทัพของโทกูงาวะ อิเอยาซุในสงครามที่เซกิงาฮาระ

สังคมร่วมสมัยมองกันว่านักรบคนหนึ่งจะไม่มีทางนำวงศ์ตระกูลฟันฝ่าคลื่นความแพ้ชนะไปถึงฝั่งอย่างปลอดภัยและยืนยงคงอยู่ได้เลย ถ้าไม่ใจแข็งพอที่ทิ้งวิถีแห่งนักรบไปเป็นมนุษย์ที่จิตใจมืดบอดไร้ยางอาย ด้วยการเป็นมิตรกับคนนั้นในวันนี้แต่อีกวันทรยศมิตรไปเข้ากับฝ่ายศัตรู หรือแม้แต่หยิบดาบหยิบธนูเข่นฆ่าคนในตระกูลสืบสายเลือดเดียวกันที่เข้ามาขัดขวาง

“ข้าทำเช่นนั้นไม่ได้”

และใจจริงของเซกิชูไซก็เป็นเช่นนั้น

ดังปรากฏในบทกวีที่เขียนด้วยลายมือตนเอง ประดับอยู่ผนังห้องชงชาในเรือนเล็กหลังปราสาท

ข้าไม่มีกลยุทธ์อันใด
ที่พักพิงใจ
คือนิวาสถานแห่งเดียวนี้

ทว่า เมื่อครั้งที่โทกูงาวะ อิเอยาซุมาเยือนเกียวโต เซกิชูไซไม่อาจปฏิเสธเมื่อถูกเรียกให้ไปพบ ณ ฐานทัพที่ทากางามิเนะในหมู่บ้านชิจิกุของเกียวโต โดยได้พามูเนโนริบุตรชายคนที่ห้าซึ่งตอนนั้นอายุยี่สิบสี่ กับชินจิโร โทชิโทชิ หลานปู่อายุเพิ่งสิบหกปีไปด้วย
อิเอยาซุรับรองฐานะของเซกิชูไซในการความเจ้าของปราสาทและที่ดินในหุบเขายากิวที่ครอบครองอยู่ ทั้งยังเชิญให้ไปเป็นครูผู้ฝึกสอนวิทยายุทธ์ของตระกูลโทกูงาวะด้วย

เซกิชูไซเสนอให้มูเนโนริไปแทน ส่วนตนเองกลับไปปลีกวิเวกอยู่ที่เรือนเล็กในหุบเขายากิวตามเดิม

ตั้งแต่นั้นมา มูเนโนริก็ได้ไปประจำอยู่ที่เอโดะในฐานะครูผู้ประสิทธิประสาทวิทยายุทธที่สืบทอดกันมาแต่โบราณกาลของสำนักดาบยากิว ซึ่งนอกจากวิชาดาบแล้วยังรวมถึงวิชาการปกครองบ้านเมืองด้วย


2
วิชาการปกครองของเซกิชูไซแห่งสำนักดาบยากิวนั้นคือวิชาว่าด้วยการควบคุมตนเองด้วย

เซกิชูไซไม่เคยลืมจรรยาบรรณของนักดาบที่ปรมาจารย์คามิอิซูมิแห่งอิเซะได้พร่ำสอนมาและระลึกถึงบุญคุณอยู่เสมอ ทั้งยังบอกใคร ๆ ทุกครั้งที่มีโอกาสว่า ปรมาจารย์แห่งอิซะท่านนี้เปรียบเสมือนเทพเจ้าประจำตระกูลยากิว

เซกิชูไซเก็บหนังสือรับรองความเป็นนักดาบสำนักชินกาเงะและตำราวิทยายุทธ์เก่าแก่ที่ได้รับจากบรมครูคามิอิซูมิแห่งอิเซะเอาไว้บนแท่นบูชาและไม่เคยลืมจัดเครื่องเซ่นสักการะเมื่อครบวาระวันสิ้นบุญ

หนึ่งในตำราทั้งสี่ เป็นตำราที่คามิอิซูมิแห่งอิเซะจารึกเคล็ดลับของวิชาดาบสำนักชินกาเงะไว้ด้วย พร้อมภาพประกอบด้วยตนเอง ซึ่งเซกิชูไซจะนำมาเปิดดูด้วยความชื่นชมอยู่เสมอแม้ในช่วงวัยชรา และทุกครั้งก็จะกล่าวชมความงามของภาพจากปลายพู่กันที่ดูแล้วพบสิ่งแปลกใหม่ทุกครั้งที่เปิดชม

ภาพวาดของปรมาจารย์แสดงกลยุทธ์การฟันดาบท่าต่าง ๆ ทั้งหมดของสำนักชินกาเงะ รวมทั้งภาพวาดที่สะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสมัยเท็นบุน ดูแล้วประเทืองอารมณ์ราวสวรรค์ส่งความบันเทิงมากับเมฆหมอกสู่เรือนเล็กในหุบเขาแห่งนี้

คามิอิซูมิแห่งอิเซะมาเยือนปราสาทยากิวครั้งหนึ่ง เมื่อเซกิชูไซยังเป็นที่รู้จักกันในชื่อยากิว มูเนโยชิอายุราวสามสิบเจ็ดหรือสามสิบแปด เป็นนักรบหนุ่มใหญ่ที่กำลังมีความทะเยอทะยานแรงกล้า ครั้งนั้นคามิอิซูมิมากับหลานชื่ออิกิดะ บุนโกโร กับลูกศิษย์ชื่อซูซูกิ อิฮากุออกเดินทางเยือนสำนักดาบทั่วแว่นแคว้น และได้เดินทางมาเยือนสำนักทวนโฮโซอินตามคำแนะนำของคิตาบาตาเกะ โทโมโนริผู้ครองแคว้นอิเซะ ซึ่งพอดีกับที่อินเออิพระวัดโฮโซอินเป็นคนคุ้นเคยเข้าออกปราสาทยากิวเป็นประจำ จึงเป็นโอกาสให้คามิอิซูมิได้มาเยือนปราสาทแห่งนี้

คามิอิซูมิกับมูเนโยชิประลองฝีมือติดต่อกันสามวัน

วันแรก พอตั้งท่าประดาบกันคามิอิซูมิประกาศก่อนว่าจะรุกเข้ามาตรงไหนแล้วก็ฟันลงมาที่จุดนั้น
วันที่สองก็ทำเช่นกัน เซกิชูไซแพ้อีกและเสียความมั่นใจ วันที่สามจึงเปลี่ยนท่าทีตั้งรับใหม่

พอคามิอิซูมิเห็นเข้าก็บอกว่า

“ไม่ดี ข้าจะรับด้วยไม้นี้”

ว่าแล้วก็ฟันลงมาที่จุดเดิมทำให้เซกิชูไซแพ้อีก

เซกิชูไซได้คิดและบอกตัวเองว่านี่เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นวิชาดาบที่แท้จริง

จากนั้นคามิอิซูมิได้รับเชิญให้อยู่ที่ปราสาทยากิวเป็นเวลาหกเดือน และระหว่างนั้นเซกิชูไซก็ได้อุทิศเวลาทั้งหมดให้แก่การเรียนวิชาดาบจากคามิอิซูมิ

เมื่อถึงคราวที่คามิอิซูมิจะต้องลาจากปราสาทยากิว ครูบอกกับลูกศิษย์ว่า

“วิชาดาบของข้ายังไม่สมบูรณ์แบบ เจ้ายังหนุ่ม จึงขอจงเติมเต็มวิชาให้สมบูรณ์ด้วยเถิด”

ว่าแล้วก็ฝากคำถามที่แฝงหลักธรรมของพุทธศาสนานิกายเซ็นไว้ข้อหนึ่งว่า

จะสู้โดยไร้ดาบได้อย่างไร

เซกิชูไซหรือมูเนโยชิในขณะนั้นใช้เวลาครุ่นคิดหมกมุ่นอยู่กับหลักธรรมไร้ดาบจนแทบลืมกินลืมนอนอยู่หลายปี จนกระทั่งคามิอิซูมิแห่งอิเซะมาเยือนอีกครั้ง ก็ได้พบว่าดวงตาของศิษย์สว่างแล้ว

และเมื่อมูเนโยชิขอประลองฝีมือดาบ คามิอิซูมิก็ตอบคำเดียวว่า “ไม่”

มองศิษย์เพียงแวบเดียวก่อนบอกว่า

“ประดาบกันก็ไม่มีประโยชน์ เพราะเจ้าบรรลุในหลักธรรมแล้ว”

และมอบหนังสือรับรองความเป็นนักดาบสำนักชินกาเงะพร้อมตำราวิทยายุทธ์เก่าแก่ แล้วกลับไป

สำนักดาบยากิวก็ได้ถือกำเนิดขึ้นจากหลักธรรมในพุทธศาสนานิกายเซ็น ซึ่งเป็นหลักในการดำรงชีวิตอย่างสันติสุขในช่วงบั้นปลายของเซกิชูไซ มูเนโยชิ ในเวลาต่อมา

3
เรือนเล็กที่อาศัยของเซกิชูไซอยู่ในบริเวณปราสาทยากิวก็จริง แต่กำแพงหินที่ล้อมรอบอยู่อย่างมั่นคงแข็งแรงนั้นไม่เข้ากับการดำรงชีวิตอย่างสงบเงียบเรียบง่ายของผู้สูงวัย จึงได้ขอให้สร้างบ้านเล็ก ๆ คล้ายกระท่อมในป่าขึ้นอีกหลังหนึ่งติด ๆ กันมีทางเข้าออกต่างหากจากตัวปราสาท

“โอซือ คิดว่าดอกไม้ในแจกันเป็นยังไง ดูมีชีวิตจิตใจไหม”

เซกิชูไซพิศดูดอกโบตั๋นดอกเดียวที่ตนปักลงในแจกันจากเตาเผาที่อิงะด้วยความพอใจ

“มีเจ้าค่ะ”

โอซือนั่งมองอยู่ข้างหลัง

“ท่านคงเรียนชงชาและจัดดอกไม้มานานใช่ไหมเจ้าคะ”

“ไม่หรอก ข้า ไม่เคยมีครูสอนจัดดอกไม้ ชงชา หรือว่ารมเครื่องหอม เหมือนพวกขุนนางนครหลวง”

“แต่ดูมีฝีมือเหมือนได้ร่ำเรียนมานะเจ้าคะ”

“ไม่ได้เรียนหรอก ข้าจัดดอกไม้ด้วยวิชาดาบต่างหาก”

“ตายจริง”

โอซือทำตาโตด้วยความประหลาดใจ

“ใช้วิชาดาบจัดดอกไม้ก็ได้หรือเจ้าคะ”

“ได้ซี จัดดอกไม้ด้วยจิต ไม่ใช้ปลายนิ้วงอหรือบีบเค้นคอดอกไม้ให้บิดเบี้ยวไป เก็บดอกไม้ที่บานอยู่ในท้องทุ่งมาปักลงไปในน้ำด้วยจิต--- ดอกไม้จึงไม่ตาย เห็นไหม”

โอซือซึ้งอยู่ในใจ ตั้งแต่มาอยู่กับท่านผู้เฒ่าที่นี่ หญิงสาวได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างที่มีคุณค่าต่อชีวิต

---การได้รู้จักกับโชดะ คิซาเอมอน บริวารของตระกูลยากิวโดยบังเอิญบนทางหลวง และเพลงขลุ่ยเพลงเดียวได้ชักนำให้ได้มาอยู่ที่นี่ เซกิชูไซโปรดปรานเสียงขลุ่ยของโอซือมาก อีกทั้งการมีหญิงสาวสดสวยอย่างโอซือมาอยู่ด้วยทำให้บรรยากาศในเรือนเล็กแห่งนี้สดชื่นแจ่มใสขึ้นมาก แม้บางครั้งโอซือขอลาเพื่อออกเดินทางตามหาชายอันเป็นที่รักต่อไป ท่านผู้เฒ่าก็จะยับยั้งเอาไว้ และขอร้องให้อยู่ต่ออีกสักนิด

“อยู่ก่อนเถอะแล้วข้าจะสอนให้ชงชา”

หรือไม่ก็

“เรามาแต่งกลอนกันไหม ถ้าเจ้าเก่งโคลงกลอนก็ช่วยสอนข้าด้วย พวกบทกวีของคนชั้นสูงหรือบทกวีโบราณในราชสำนักก็ดีอยู่หรอก แต่สำหรับขุนนางบ้านนอกอย่างข้า น่าจะเป็นบทกวีที่เรียบง่ายเป็นธรรมชาติดีกว่า เจ้าว่าไหม”

และมีข้อเสนออีกหลายอย่างเพื่อจูงใจไม่ให้โอซือจากไป

เซกิชูไซจะไม่เอ็นดูได้อย่างไร เพราะตลอดเวลาที่อยู่ด้วย โอซือเอาใจใส่ในสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ในกายตัวท่านอย่างที่พวกบริวารผู้ชายคิดไม่ถึง

“ท่านเจ้าคะ ดิฉันเย็บหมวกอย่างที่พวกครูชงชาเขาใส่กัน ลองสวมดูดีไหม”

“ดี ๆ ไหนขอลองหน่อยสิ เออ เข้าท่าดีนี่เจ้า”

เซกิชูไซชอบอกชอบใจและใส่ติดศีรษะอยู่เสมอ

คืนใดที่พระจันทร์ส่องสว่าง เสียงขลุ่ยของโอซือก็จะเจือยแจ้วไปถึงหน้าปราสาทยากิว กล่อมบรรดานักรบให้เคลิบเคลิ้ม
ส่วนโชดะ คิซาเอมอนผู้ชักนำเธอมาก็ปลาบปลื้มใจไม่เว้นวันที่เจ้านายของตนโปรดปรานโอซือ

ขณะที่ท่านผู้เฒ่ากับโอซือกำลังคุยกันเรื่องการจัดดอกไม้

โชดะ คิซาเอมอนที่เพิ่งกลับปราสาท เดินบุกหมู่ไม้เข้ามาจนถึงกระท่อมท้ายปราสาทและเยี่ยมหน้าเข้ามาเงียบ ๆ

“โอซือ”

“ท่านโชดะนั่นเอง”

“ช่วยเรียนท่านหน่อยนะโอซือว่า ข้าไปทำธุระให้ท่านกลับมาแล้ว”


กำลังโหลดความคิดเห็น