คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ถึงญี่ปุ่นจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ประชากรอายุยืน แต่ก็ใช่ว่าแต่ละจังหวัดจะมีอายุขัยเฉลี่ยใกล้เคียงกัน แม้การแพทย์จะเจริญไปทั่วประเทศแค่ไหน แต่หากพฤติกรรมการใช้ชีวิตไม่ดี คนก็อายุสั้นกว่าค่าเฉลี่ยได้ ดังเช่นคนในจังหวัดอาโอโมริ
จังหวัดอาโอโมริอยู่ทางตอนเหนือของญี่ปุ่น ถัดลงมาจากฮอกไกโด มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลายแห่ง มีปราสาทฮิโรซากิขึ้นชื่อและสวยเป็นพิเศษยามซากุระบาน เนื่องจากอยู่ติดทะเลและมีแหล่งเพาะปลูกจึงเด่นด้านประมงและเกษตรกรรม ของขึ้นชื่อได้แก่ แอปเปิล หอยเชลล์ ปลาหมึกยัดไส้ข้าว และกระเทียม
ปัญหาของชาวอาโอโมริอยู่ที่อาหารการกินและพฤติกรรมการกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ "ติดเค็ม" ชาวอาโอโมริชอบกินราเม็ง ปกติราเม็งมักเด่นเค็มอยู่แล้ว แต่ราเม็งของอาโอโมริอาจจะเค็มยิ่งกว่าที่อื่น กระนั้นชาวอาโอโมริก็ยังมีนิสัยชอบซดน้ำแกงจนหมดชาม กระทั่งเจ้าของร้านราเม็งบางคนเองบอกว่าตัวเองเวลากินราเม็งต้องใส่โชยุเพิ่มลงไปจนน้ำแกงกลายเป็นสีดำเลยทีเดียว ส่วนบางร้านก็หวังดีเตือนลูกค้าว่าให้เหลือน้ำแกงไว้ครึ่งชามจะได้ไม่กินเค็มเกินไป เขาว่าถึงลูกค้าจะเสียดายน้ำแกงอย่างไร แต่ถ้าถึงขนาดทำให้อายุสั้นที่สุดในญี่ปุ่นก็ไม่คุ้มกัน
นอกจากราเม็งแล้ว อาโอโมริยังได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่คนบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกันมากที่สุดในญี่ปุ่นด้วย ซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปวางจำหน่ายมากถึงกว่าร้อยชนิด และจะขายดิบขายดีในวันลดราคา เพราะคนมาซื้อไปตุนกันเยอะหรือซื้อทั้งแพ็ค จนพนักงานเอาสินค้ามาเติมไม่ทันก็มี
ที่แย่ไปกว่านั้นอีกคือ คนอาโอโมริบางคนกินข้าวสวยกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เรียกได้ว่าต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากินแทนซุปเต้าเจี้ยวก็ว่าได้ ซึ่งที่จริงซุปเต้าเจี้ยวแบบกึ่งสำเร็จที่ใช้ชงน้ำร้อนเอาก็มี น่าจะดีกว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งมีแต่สิ่งที่เป็นโทษต่อร่างกาย
ศูนย์วิจัยด้านสุขภาพและโภชนาการของญี่ปุ่นศึกษาพบว่า สินค้าอาหารที่มีเกลือมากที่สุดก็คือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ถ้าดื่มน้ำแกงในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจนหมด ก็จะได้รับเกลือไปประมาณ 5.5 กรัม ซึ่งถ้าตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำไว้ว่าควรบริโภคต่ำกว่า 5 กรัมหรือน้อยกว่า 1 ช้อนชาต่อวันแล้วล่ะก็ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหนึ่งห่อหรือหนึ่งถ้วยก็มีเกลือเกินกำหนดแล้ว ไหนจะยังมีเกลือในอาหารมื้ออื่น ๆ อีกตั้งเท่าไหร่
แต่ญี่ปุ่นกำหนดว่าให้กินเกลือได้วันละต่ำกว่า 8 กรัมสำหรับผู้ชาย และต่ำกว่า 7 กรัมสำหรับผู้หญิง นับว่าสูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำไว้ ไม่ทราบเป็นเพราะว่าอาหารญี่ปุ่นทำให้เค็มน้อยลงได้ยากหรือเปล่าก็ไม่ทราบนะคะ โดยเฉพาะอาหารที่ขาดไม่ได้อย่างซุปเต้าเจี้ยวซึ่งมีเกลือมาก และหลายคนติดว่าต้องรับประทานทั้งมื้อเช้ามื้อเย็น
คนอาโอโมริกินเค็มเสียจนชิน บางคนพอไปกินอาหารจังหวัดอื่นรู้สึกว่าทำไมรสอ่อนจัง บางคนต้องเอาซอสราดหมูทอดไปราดบนสลัดหรือบนกับข้าวอย่างอื่นด้วย บางคนอยู่บ้านมักรับประทานข้าวสวยกับไข่ปลาดองและผักดอง บางคนกินไข่ปลาดองหรือปลาเค็มก็ยังจะใส่โชยุ (ซีอิ๊วญี่ปุ่น) เพิ่มลงไปอีก เรียกว่ากินเค็มมากเสียจนอยากร้องไห้ให้ไตที่ต้องทำงานหนักตลอดเวลา
ทำไมคนอาโอโมริถึงติดกินเค็มนัก? อาจารย์ด้านโภชนาการคนหนึ่งของอาโอโมริกล่าวว่า น่าจะเป็นเพราะสมัยก่อนพอถึงฤดูหนาวก็ปลูกพืชผักไม่ได้ เลยต้องดองผักเก็บไว้กินกับข้าวสวยในฤดูหนาว กลายมาเป็นความเคยชินว่าต้องกินข้าวสวยคู่กับของเค็ม ๆ หรืออาหารรสจัดมาจนบัดนี้
อาชีพส่วนหนึ่งที่คนมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตแย่เด่นชัด ได้แก่ ชาวประมงและเกษตรกร ผู้ที่ทำให้จังหวัดอาโอโมริมีอาหารทะเลและผลิตผลขึ้นชื่อนี้เอง แม้ชาวประมงจะจับได้ปลามาก แต่คงเบื่อปลาเต็มทีจึงไม่ค่อยจะกินปลากัน อาหารหลักของพวกเขากลับเป็นบะหมี่ถ้วย ขนมปังรสหวาน แถมยังดื่มเหล้าและสูบบุหรี่จัดด้วย โรงพยาบาลก็อยู่ไกลจึงไม่ค่อยจะไปหาหมอ จึงเป็นอาชีพที่รวมเอาพฤติกรรมทำลายสุขภาพเอาไว้ในที่เดียว
ชาวประมงเล่าว่าบางทีทำงานหนักไม่มีเวลาพัก ต้องรีบกินให้เสร็จ ๆ แล้วมาทำงานต่อ จึงได้แต่กินของที่ง่ายและรวดเร็วอย่างบะหมี่ถ้วย ขนมปัง ข้าวปั้น แล้วพอดื่มเหล้าก็อยากจะกินของเค็มต่อ ก็กินบะหมี่ถ้วยอีก หาได้ยากที่จะมีวันไหนที่ไม่กินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเลย
ในขณะเดียวกันเกษตรกรจะมีพักช่วงเช้าและบ่าย เพื่อให้ได้พักเหนื่อย กินของว่างเติมกำลัง และได้สนทนาปราศรัยกัน ในย่านเกษตรกรรมแห่งหนึ่งของอาโอโมริจะนิยมพักกันตอน 10 โมงเช้าและบ่าย 3 โมง แม้อาหารว่างจะมีผักผลไม้ด้วย แต่นอกนั้นก็เป็นขนมนานาชนิด ทั้งขนมหวาน ขนมปัง ขนมขบเคี้ยว กาแฟกระป๋องรสหวาน รวมไปถึงผักดอง คาดว่านี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรจำนวนไม่น้อยเป็นโรคเบาหวาน แม้ทางการจะขอร้องให้ลดการบริโภคหวานลง ก็ดูเหมือนจะไม่เป็นผลเท่าใดนัก
นอกจากติดอาหารรสจัดแล้ว ชาวอาโอโมริยังไม่ค่อยจะกินผักกันมากนัก อีกทั้งยังดื่มเหล้า กาแฟ และน้ำอัดลมกันมากที่สุดในญี่ปุ่น สูบบุหรี่สูงเป็นอันดับสองของญี่ปุ่น ไม่ค่อยได้ออกกำลังกายเพราะใช้แต่รถยนต์ จำนวนก้าวที่เดินในหนึ่งวันของผู้ชายชาวอาโอโมริอยู่ที่อันดับ 41 จาก 46 อันดับทั่วประเทศ
เพราะเหตุนี้อาโอโมริจึงขึ้นแท่นครองตำแหน่งยอดแย่แห่งญี่ปุ่นในเรื่องสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นแชมป์เบาหวานอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น มะเร็งเป็นอันดับสอง ไตวายเป็นอันดับสาม โรคตับเป็นอันดับสี่ โรคปอดอักเสบอันดับห้า โรคหลอดเลือดสมองติดอันดับเก้า อายุขัยโดยเฉลี่ยของคนอาโอโมริจึงต่ำที่สุดในญี่ปุ่นไปโดยปริยาย เพราะพฤติกรรมการกินเป็นเหตุหลักแท้ ๆ
กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นได้จัด 100 อันดับอายุขัยยอดแย่ในบรรดาหมู่บ้าน ตำบล อำเภอทั้ง 1898 แห่งทั่วประเทศญี่ปุ่น พบว่าใน 100 อันดับนั้น อาโอโมริครองอันดับไปถึง 38 อย่างแล้ว ทั้งที่มีหมู่บ้านตำบลอำเภอแค่ 40 แห่งเท่านั้น นอกจากนี้อัตราการตายของคนในทุกรุ่นก็สูง โดยสาเหตุการตายสามอันดับแรกคือ มะเร็ง หลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจ
แพทย์บางคนคาดว่าสาเหตุสำคัญน่าจะเป็นเพราะขาดความรู้ความตระหนักเรื่องสุขภาพ และต่อให้อัตราการมาตรวจหามะเร็งของชาวอาโอโมริถือว่าอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยของทั่วประเทศ แต่คนก็มักมาตรวจช้า พอเจอมะเร็งก็คือลุกลามไปมากแล้ว ถึงเวลาให้มาตรวจซ้ำก็ไม่ค่อยจะยอมมา แถมบางคนยังบอกเสียอีกว่าอย่างไรก็ไม่ยอมเลิกเหล้า บุหรี่ และของเค็ม ถึงขนาดว่าทำให้ตายเร็วก็ยอม เป็นอย่างนั้นไปเสียอีก
แต่ด้วยความที่ชาวอาโอโมริเองก็คงไม่ได้ภูมิใจที่จังหวัดตนมีชื่อเสียงเรื่องอายุสั้นที่สุดในญี่ปุ่น ทำให้มีการรณรงค์หลายอย่างเพื่อเสริมสร้างความตระหนักเรื่องสุขภาพ ซึ่งแน่นอนว่าเน้นไปที่การลดการบริโภคอาหารรสเค็มด้วย
ความพยายามปรับเปลี่ยนความเคยชินแบบนี้คงต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผลชัดเจน อย่างเมื่อก่อนจังหวัดนางาโนะก็มีปัญหาคนเป็นโรคหลอดเลือดสมองอุดตันสูงสุดในญี่ปุ่นเหมือนกัน ถึงได้หันมาช่วยกันปรับพฤติกรรมประชาชนอย่างเอาจริงเอาจังมาเป็นเวลาราว 30 ปี ปัจจุบันชาวนางาโนะจึงครองแชมป์อายุขัยเฉลี่ยสูงสุดในญี่ปุ่นมาตลอดสิบปีอย่างน่าภาคภูมิ (อ่านเพิ่มเติมได้จาก “ไขความลับความอายุยืนของคนญี่ปุ่น ”)
จะว่าไปก็ตลกดีที่สองจังหวัดยอดเยี่ยมกับยอดแย่เด่นดังเรื่องแอปเปิลเหมือนกันเลย
อาหาร พฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต มีผลโดยตรงต่อสุขภาพและอายุขัยเฉลี่ยเช่นนี้เอง เพื่อนผู้อ่านก็อย่าปล่อยให้ความเคยชินทำให้สุขภาพย่ำแย่กันนะคะ เพราะจะพลอยทำให้ชีวิตด้านอื่นรวน และคนที่รักเราก็จะพากันเป็นห่วงไปด้วย
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น”ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.