นายกฯ ญี่ปุ่นประกาศภาวะฉุกเฉินสกัดโควิดครั้งที่ 2 ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วญี่ปุ่นพุ่งทะลุเกิน 7,000 คนต่อวัน แต่มาตรการครั้งนี้ถูกวิจารณ์ว่าไร้ประสิทธิภาพในการควบคุมการระบาด
นายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการในพื้นที่กรุงโตเกียวและพื้นที่โดยรอบ คือ จังหวัดคานางาวะ จังหวัดไซตามะ และจังหวัดชิบะ โดยจะมีผลตั้งแต่วันศุกร์ที่ 8 มกราคมจนถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์
ผู้นำญี่ปุ่นขอความร่วมมือให้ร้านกินดื่มยามกลางคืน บาร์ สถานบันเทิง จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ถึงแค่ 19.00 น. และปิดร้านไม่เกิน 20.00 น. รวมทั้งเรียกร้องให้ประชาชนละเว้นจากการออกไปนอกบ้านหลัง 20.00 น. หากไม่มีธุระจำเป็นเร่งด่วน
การประกาศภาวะฉุกเฉินนี้มีขึ้นในขณะที่จำนวนของผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม ทั่วญี่ปุ่นมีมากเกิน 7,000 คนเป็นครั้งแรก เฉพาะกรุงโตเกียวมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 2,400 คนในวันเดียว เป็นจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ห่วงเศรษฐกิจ ไม่ยอมเจ็บแต่อยากจบ
มาตรการภาวะฉุกเฉินครั้งนี้จะมุ่งเน้นเฉพาะส่วนมากกว่าครั้งแรกเมื่อต้นปีที่แล้ว ในครั้งนี้ไม่เข้มงวดกับการปิดธุรกิจทุกประเภท แต่เน้นไปที่ร้านอาหาร ร้านกินดื่ม และธุรกิจกลางคืน ซึ่งรัฐบาลอ้างผู้เชี่ยวชาญว่ามีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ
ในครั้งนี้ไม่มีการปิดโรงเรียนแต่ให้เรียนผ่านระบบออนไลน์ ส่วนคอนเสิร์ตและงานอีเวนท์ต่าง ๆ ก็ยังคงจัดได้ แต่ห้ามมีผู้ร่วมงานเกิน 5,000 คน
นอกจากนี้ ธุรกิจหลายอย่างก็ไม่ได้รับเงินชดเชยหากลดเวลาทำการ เช่น ร้านไพ่นกกระจอก ร้านปาจิงโกะ เกมเซนเตอร์ พิพิธภัณฑ์ โรงหนัง โรงละคร ธุรกิจเหล่านี้บอกว่าเมื่อไม่ได้รับเงินชดเชยก็จำเป็นต้องเปิดบริการตามปกติต่อไป
มาตรการภาวะฉุกเฉินรอบ 2 ของญี่ปุ่นถูกวิจารณ์ว่ายากที่จะมีประสิทธิภาพ เนื่องจากสถานการณ์ในครั้งนี้แตกต่างจากเมื่อเดือนเมษายนอย่างมาก เมื่อครั้งนั้นญี่ปุ่นมีผู้ติดเชื้อทั่วประเทศ 368 คน และเมื่อยกเลิกภาวะฉุกเฉินในวันที่ 25 พฤษภาคม ผู้ติดเชื้อลดลงเหลือ 25 คน แต่ครั้งนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อแต่ละวันละมากกว่าหลายสิบเท่าตัว เมื่อวานนี้ (7 ม.ค.) ทั่วญี่ปุ่นมีมากเกิน 7,000 แต่มาตรการที่ออกมากลับ "ย้อนแย้ง" เข้มงวดน้อยกว่ามาก
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ปัจจัยสำคัญในการลดการแพร่ระบาดคือ ลดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลจาก 1 ต่อ10 เหลือ 1 ต่อ 2 และต้องใช้เวลา 1 เดือนจึงจะเห็นผล แนวทางนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลจริงในการลดการแพร่ระบาดที่ฮอกไกโด และในช่วงการระบาดระลอกแรก
มาตรการฉุกเฉินของนายกฯ ซูงะ ถูกวิจารณ์ไม่ได้สะท้อนถึงความ “ฉุกเฉิน” เลย เป็นมาตรการ “ต้มกบในน้ำเดือด” ค่อยๆ ประคับประคองสถานการณ์ไม่ให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบมาก หากแต่สถานการณ์ขณะนี้วิกฤตยิ่งกว่าอย่างชัดเจน ไม่เฉพาะกรุงโตเกียวและพื้นที่ใกล้เคียง แต่จังหวัดอื่น ๆ เช่น โอซากา เกียวโต เฮียวโกะ ไอจิ ที่เดิมคิดว่าจะ “เอาอยู่” ก็เริ่มเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินเช่นกัน หลังจากผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นไม่หยุด
นายกฯ ซูงะ เคยบอกว่ารัฐบาลจะพยายาม “อยู่กับโควิด With Corona” แต่สถานการณ์ขณะนี้ไม่สามารถบอกได้ว่า ประชาชนจะต้องอยู่กับเชื้อไวรัสไปอีกนานแค่ไหน ? และจะผ่านพ้นเข้าสู่และเข้าสู่ภาวะ “หลังโควิด After Corona” ได้เมื่อไหร่ ?