บริษัทคมนาคมของญี่ปุ่นทั้งรถไฟ สายการบิน รวมถึงรถแท็กซี่ผันตัวมาขนส่งสินค้า เพื่อชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากผู้โดยสารที่ลดจำนวนลง เพราะการระบาดของไวรัสโควิด
รถไฟความเร็วสูง “ชิงกันเซ็ง” และรถไฟด่วนสายต่างๆ ถูกนำมาใช้เพื่อขนส่งอาหาร ผัก ผลไม้และผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา
การขนส่งเที่ยวแรกในวันที่ 10 ก.ย. ได้นำองุ่น 10 กล่องจากเมืองซูซากะ จังหวัดนางาโนะ มายังกรุงโตเกียว การขนส่งสินค้าผ่านรถไฟความเร็วสูงรวดเร็วกว่ารถบรรทุก และยังมีเที่ยวรถไฟจำนวนมาก ช่วยให้ขนส่งได้รวดเร็วและสะดวกในการบริหารจัดการเวลา
ยูจิ ฟูกาซาวะ ประธานบริษัทเจอาร์ อีสต์ ระบุว่า ปริมาณผู้โดยสารจะไม่กลับคืนสู่ระดับปกติจนกว่าการระบาดของโรคโควิดจะจบสิ้นลง ทางบริษัทจึงต้องหารายได้ด้วยการรับขนส่งสินค้าต่าง ๆ และจะเร่งทำสัญญาเพื่อขนส่งชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ด้วย
กระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่นระบุว่า จำนวนผู้โดยสารรถไฟด่วนชิงกันเซ็งในเส้นทางโทโฮกุ, โจเอ็ตสึ และโฮกุริกุ ลดลงมากถึงร้อยละ 74 ในช่วงวันหยุดยาวเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
สายการบิน 17 สายที่มีเส้นทางบินภายในประเทศญี่ปุ่นก็พบความยากลำบากเช่นกัน ผู้โดยสารลดลงมากถึงร้อยละ 70 ขณะที่เส้นทางต่างประเทศ ผู้โดยสารแทบจะไม่มี ลดลงถึงร้อยละ 97 ในเดือนสิงหาคม
ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ZIPAIR สายการบินต้นทุนต่ำของญี่ปุ่นในเครือเจแปนแอร์ไลน์ ที่เคยตั้งเป้าจะเปิดเที่ยวบินราคาประหยัดระหว่างสนามบินนาริตะ-กรุงเทพฯ ก็ต้องเปลี่ยนมารับขนส่งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แทน
เส้นทางบินนี้เดิมมีกำหนดให้บริการในเดือนพฤษภาคม แต่ต้องเลื่อนออกไปเพราะการระบาดของไวรัสโควิด โดยตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2561 ยังไม่เคยรับผู้โดยสารเลยแม้แต่คนเดียว
บริษัทรถแท็กซี่ก็หันมาให้บริการเดลิเวอรี่นำอาหารจากร้านไปส่งตามบ้านเรือนเช่นกัน หลังจากกระทรวงคมนาคมญี่ปุ่นออกมาตรการพิเศษยกเว้นข้อจำกัดให้บริษัทรถสำหรับผู้โดยสารทำธุรกิจขนส่งสินค้าได้ด้วยตั้งแต่เดือนเมษายน โดยมีบริษัทรถแท็กซี่กว่า 1,700 แห่งหันมาขนสินค้า ทางกระทรวงคมนาคมจะยกเลิกข้อจำกัดอย่างถาวรในเดือนตุลาคม ทำให้รถแท็กซี่สามารถรับผู้โดยสารและขนส่งสินค้าได้ด้วย
ประธานบริษัทแท็กซี่ในจังหวัดชิซูโอกะกล่าวว่า จำนวนผู้โดยสารขณะนี้มีเพียงร้อยละ 60 ของช่วงปกติ จึงจำเป็นต้องหาแหล่งรายได้ใหม่ ๆ
ด้านบริษัทขนส่งสินค้าต่าง ๆ ก็ให้ความสำคัญกับการขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้าไปพร้อม ๆ กัน เพราะช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคขนส่ง นอกจากนี้ ยังลดเวลาในการจัดส่งสินค้า การขนส่งทั้งคนและของยังช่วยเพิ่มรายได้ ทำให้บริษัทรถบัสในเส้นทางที่ประชากรน้อยสามารถให้บริการต่อไปได้.