xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมญี่ปุ่นจึงเต็มไปด้วยตุ๊กตามาสคอต

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก https://tochispo.com/vsarashi
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน ปัจจุบันประชากรในญี่ปุ่นลดลงก็จริง แต่ประชากรตุ๊กตามาสคอตตัวเท่าคนกลับเพิ่มจำนวนสูงขึ้นทั่วประเทศ และพบเห็นได้ในหลายโอกาสมากขึ้น มาดูกันดีกว่าค่ะว่าตุ๊กตามาสคอตเหล่านี้มีดีอย่างไรถึงได้รับความนิยมแพร่หลายในญี่ปุ่นถึงเพียงนั้น


ตุ๊กตามาสคอต Mascot เรียกกันในภาษาญี่ปุ่นว่า “ยู-หรุ-เคีย-หระ” ゆるキャラ “ยุ-หรุ” หมายถึง ‘หลวม, คลาย’ และ “เคีย-หระ” หมายถึง ‘คาแร็คเตอร์’ นิยมใช้เพื่อการโฆษณาท้องถิ่น การท่องเที่ยว ธุรกิจ และอีเวนต์ ตุ๊กตามาสคอตเหล่านี้มักออกแบบโดยสะท้อนถึงจุดเด่นของสิ่งที่ต้องการโฆษณา ถ้าจะโฆษณาท้องถิ่นก็จะออกแบบโดยเน้นสิ่งดีเด่นประจำท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม อาหารการกิน และประวัติศาสตร์ เป็นต้น แต่ละตัวจึงมีเบื้องหลังความเป็นมาและบุคลิกลักษณะจำเพาะของตัวเอง

หากตุ๊กตามาสคอตตัวใดได้รับความนิยมก็จะกลายเป็น “ดาราโฆษณา” ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วเป็นพลุแตก ไม่ว่าจะนำไปใช้พรีเซนต์กิจกรรม สถานที่ หรือนำไปผลิตสินค้า ต่างก็เรียกความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายได้ไม่ยาก ดังเช่น “คุมะมง” จ้าวแห่งซูเปอร์สตาร์มาสคอตญี่ปุ่นตัวนี้

ภาพจาก https://twitter.com/55_kumamon
“คุมะมง” เป็นตุ๊กตามาสคอตสัญลักษณ์ของจังหวัดคุมาโมโตะ (“คุมะ” แปลว่า ‘หมี’) เดิมทีทำขึ้นใน พ.ศ. 2553 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดคุมาโมโตะหลังจากรถไฟชินคันเซ็นสายคิวชูเปิดให้บริการ และเป็นตุ๊กตามาสคอตที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งจากการโหวตในปีถัดมา

คุมะมงถูกนำมาใช้พรีเซนต์หรือส่งเสริมจังหวัดคุมาโมโตะในหลากหลายโอกาสผ่านอีเวนต์และสื่อต่าง ๆ รวมทั้งใช้เป็นธีมโรงแรม รถไฟ และเที่ยวบิน อีกทั้งเป็นลวดลายบนสินค้าต่าง ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ธนาคารแห่งญี่ปุ่นประเมินว่าภายในเวลาสองปี (พฤศจิกายน 2554 - ตุลาคม 2556) คุมะมงได้ส่งเสริมเศรษฐกิจของจังหวัดคุมาโมโตะเป็นมูลค่าสูงถึง 1.24 แสนล้านเยน อีกทั้งมูลค่าที่สร้างจากการประชาสัมพันธ์ผ่านโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ก็สูงถึง 9 พันล้านเยนเลยทีเดียว

“Air Kumamon” ความร่วมมือระหว่างเจแปนแอร์ไลน์กับจังหวัดคุมาโมโตะ หลังเกิดแผ่นดินไหวในคุมาโมโตะ ภาพจาก https://press.jal.co.jp/
ได้ข่าวว่าตอนที่จังหวัดคุมาโมโตะได้รับผลกระทบโดยตรงจากแผ่นดินไหวเมื่อ พ.ศ. 2559 มีผู้สอบถามผ่านสื่อโซเชียลมีเดียของจังหวัดกันอย่างล้นหลามว่าคุมะมงปลอดภัยดีไหม?  สะท้อนให้เห็นว่าตุ๊กตามาสคอตที่ได้รับความนิยมนั้นเป็นที่รักของผู้คนมากเพียงใด ว่ากันว่าห่วงคุมะมงกันยิ่งกว่าปราสาทคุมาโมโตะที่ได้รับความเสียหายอีก ทั้งที่ปราสาทคุมาโมโตะเป็นสมบัติเก่าแก่ของชาติอายุกว่า 500 ปี และเป็นหนึ่งในสามปราสาทที่มีชื่อเสียงที่สุดของญี่ปุ่นด้วย

โดยทั่วไปแล้วนิยมออกแบบตุ๊กตามาสคอตโดยเน้นความน่ารักบวกกับความเป็นเอกลักษณ์ แต่ในช่วงที่ท้องถิ่นหลายแห่งทั่วประเทศพากันผลิตตุ๊กตามาสคอตเพื่อประชาสัมพันธ์ท้องถิ่นของตนกันอย่างคึกคักนั้น ก็มีตุ๊กตามาสคอตตัวหนึ่งที่ออกแบบมาแล้วกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ไปในทางลบ นั่นก็คือตุ๊กตาของจังหวัดนาระ

ใครเคยไปเยือนจังหวัดนาระคงพอนึกออกว่าท้องถิ่นนี้เด่นอะไร.....ใช่แล้ว จังหวัดนี้เต็มไปด้วยวัดเก่าและกวาง คนออกแบบซึ่งเป็นทั้งปฏิมากรและศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยก็เลยออกแบบตุ๊กตามาสคอตของจังหวัดนาระ โดยเอาไอเดียพระพุทธรูปกับกวางมารวมกัน ได้รับการขนานนามว่า “เซ็นโตะคุง” น่ารักไหมคะ ?

ภาพจาก https://www.reddit.com/r/newsokur/
ได้ข่าวว่าเด็ก ๆ เห็นเซ็นโตะคุงแล้วกลัวถึงกับร้องไห้จ้าเลยทีเดียว...ช่วงแรก ๆ นั้นตุ๊กตามาสคอตตัวนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบ เพราะออกแบบผ่าเหล่าผ่ากอจากเหล่าตุ๊กตามาสคอตผู้น่ารักทั้งหลาย ทำเอาเซ็นโตะคุงแทบไม่มีที่ไป

แต่ต่อมาเมื่อความนิยม “ความน่ารักแบบอุบาทว์” แพร่หลายขึ้นในญี่ปุ่น เซ็นโตะคุงก็เลยเริ่มเป็นที่อ้าแขนยอมรับมากขึ้น เคียงข้างตุ๊กตามาสคอตตัวอื่น ๆ ที่น่ารักแบบอุบาทว์ อย่างเช่น “เมล่อนคุมะ” (หมีเมล่อน) ตัวนี้ ซึ่งเป็นตัวแทนของเมืองยูบาริ จังหวัดฮอกไกโด

ภาพจาก https://matome.naver.jp/odai/
น่ากลัวกว่าแฟชั่นผีฮาโลวีนอีก...ว่าไหมคะ

ตอนที่เซ็นโตะคุงได้รับความนิยมพุ่งสูงสุดนั้น สามารถทำรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ให้แก่จังหวัดนาระถึง 49 ล้านเยนเลยทีเดียว ต่อมาเมื่อความนิยมลดลงและรายได้จากค่าลิขสิทธิ์น้อยลง ทางจังหวัดก็หันมาใช้นโยบายไม่เก็บค่าลิขสิทธิ์ในการใช้เซ็นโตะคุง เพียงแต่ต้องมีการขออนุญาตใช้ ซึ่งเป็นนโยบายแบบเดียวกับคุมะมง และทำให้คุมะมงได้รับความนิยมอย่างล้นหลามไปพร้อมกับการประชาสัมพันธ์จังหวัดคุมาโมโตะไปทั่วประเทศมาแล้ว

หลังเลิกเก็บค่าลิขสิทธิ์ เซ็นโตะคุงก็ถูกนำมาใช้มากขึ้น ปีที่แล้วมีการสำรวจเกี่ยวกับมาสคอตท้องถิ่นทั้ง 18 ตัวทั่วประเทศ พบว่าคนรู้จักเซ็นโตะคุงมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้เซ็นโตะคุงเป็นที่รู้จักในอันดับสาม รองจากคุมะมง และ ฟุนัชชี่

ฟุนัชชี่เป็นตุ๊กตามาสคอตที่มือสมัครเล่นทำขึ้นส่วนตัวแล้วได้รับความนิยมอย่างสูง ถือกำเนิดจากการวาดขึ้นโดยชาวเมืองฟุนาบาฉิ จังหวัดชิบะ ซึ่งได้ไอเดียมาจากลูกสาลี่ (นาฉิ) ซึ่งจังหวัดชิบะปลูกได้มากที่สุดในญี่ปุ่น ชื่อ “ฟุนัชชี่” จึงมาจาก “ฟุนา” (ฟุนาบาฉิ) รวมกับ “นาฉิ” (สาลี่)

ภาพจาก https://dtimes.jp/kiddyland-funassyi-returns-festival-2017-summer-report/
ฟุนัชชี่ต่างจากตุ๊กตามาสคอตตัวอื่น ๆ ตรงที่ส่งเสียงร้อง “ฟุนัชชี-นัชชี้” เสียงแหลม แถมยังเต้นระบำได้ด้วย ได้รับเชิญไปออกรายการโทรทัศน์หรือร่วมอีเวนต์ต่าง ๆ มากมาย ปัจจุบันกลายมาเป็นคาแรคเตอร์หนึ่งที่ได้รับความนิยม นำมาทำเป็นลวดลายสินค้าและสติกเกอร์ไลน์มากมาย

แม้จะได้รับความนิยมเพียงนั้น แต่น่าเสียดายที่เมืองฟุนาบาฉิ จังหวัดชิบะ ไม่ยอมจดทะเบียนฟุนัชชี่ให้เป็นตุ๊กตามาสคอตของท้องถิ่นอย่างเป็นทางการ เพราะนอกจากฟุนัชชี่จะออกแบบและนำมาใช้ส่วนตัวก่อนที่จะผ่านการรับรองทางราชการแล้ว ชาวเมืองจำนวนหนึ่งก็ไม่ชอบฟุนัชชี่ด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา เช่น ดูไม่มีเกรดบ้าง ไม่ได้พรีเซนต์เมืองฟุนาบาฉิอย่างแท้จริงบ้าง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ความที่ตุ๊กตามาสคอตเข้าถึงใจประชาชนและทำการตลาดอย่างได้ผล ปัจจุบันจึงมีตุ๊กตามาสคอตล้นเมืองไปทั่วทุกหนทุกแห่ง กระทั่งกองกำลังป้องกันตนเอง เรือนจำ สถานีโทรทัศน์ รายการโทรทัศน์ กิจการห้างร้านต่าง ๆ กระทั่งร้านทำเล็บ ต่างก็มีตุ๊กตามาสคอตของตัวเอง จนคนชักจะงงว่าตุ๊กตามาสคอตตัวนั้นตัวนี้เป็นตัวแทนของอะไร หรือแต่เดิมผลิตขึ้นเพื่อใช้ทำอะไร



รวมพลตุ๊กตามาสคอตของกองกำลังป้องกันตนเองทั่วญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ยังมีการงานประกวดตุ๊กตามาสคอตทุกปีด้วย ซึ่งมีประชาชนไม่ต่ำกว่าสิบล้านคนโหวตคะแนนให้แก่เหล่ามาสคอตตัวเก่าตัวใหม่กันอย่างครึกครื้น โดยปัจจุบันมีตุ๊กตามาสคอตที่เข้าร่วมการประกวดอยู่ในหลักพัน

แม้ตุ๊กตามาสคอตญี่ปุ่นจะดูเป็นอะไรที่น่ารักดี แต่ก็เป็นมาตรการทางการตลาดที่เอาจริงของญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน อีกทั้งความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างความนิยมและต่อยอดนำตุ๊กตามาสคอตเหล่านี้ไปใช้ในหลายโอกาส ก็มีส่วนส่งเสริมให้กิจการหลายแขนงก้าวหน้าโดยลำดับไปด้วย ดูไปแล้วก็เป็นความเข้าใจคิดสมกับเป็นญี่ปุ่นดีนะคะ

ขอบคุณที่ติดตามอ่านกันนะคะ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น”ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.



กำลังโหลดความคิดเห็น