xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมคนญี่ปุ่นถึงเป็นชนชาติเดียวที่สนใจการทายนิสัยจากกรุ๊ปเลือด?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คนญี่ปุ่นมักจะตัดสินบุคลิกภาพของคนตาม “กรุ๊ปเลือด” เช่น “กรุ๊ป A มักจะเป็นคนหน้าตาดี” หรือ “คนกรุ๊ป O มักจะทำอะไรไม่เรียบร้อย” จริงๆ การทายบุคลิกจากกรุ๊ปเลือดถือเป็นความสนุกอย่างหนึ่งที่เหมือนว่ากำลังดูดวงของคนคนหนึ่งอยู่ อย่างไรก็ตาม ในปี 2014 นักจิตวิทยาสังคมได้ปฏิเสธความเชื่อมโยงระหว่างกรุ๊ปเลือดและบุคลิกภาพ โดยอ้างอิงข้อมูลจากผู้คนกว่า 10,000 คนในญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ถ้าอย่างนั้นแล้วเพราะอะไรคนญี่ปุ่นถึงยังสนใจการทายนิสัยจากกรุ๊ปเลือดอยู่จนถึงทุกวันนี้? เราจะไปหาคำตอบกันค่ะ

ในวันที่ 3 ธันวาคมปี 2019 รายการโทรทัศน์ Shinsetsu! Tokoro Japan จากช่องฟูจิทีวี ได้นำเสนอการวิเคราะห์อย่างละเอียดว่า ทำไมคนญี่ปุ่นถึงให้สนใจการเดานิสัยจากกรุ๊ปเลือดมากมายขนาดนี้ หรือจริงๆ แล้วคนญี่ปุ่นมีความลับบางอย่างที่ซ่อนเอาไว้กันแน่ ในขณะที่ชาวต่างชาติส่วนใหญ่แทบจะไม่ได้ให้ความสำคัญกรุ๊ปเลือดเหมือนกับคนญี่ปุ่นเลย หลายคนไม่รู้หรือลืมว่าตัวเองมีกรุ๊ปเลือดอะไรด้วยซ้ำไป

ในรายการเมื่อชาวต่างชาติรู้ว่าคนญี่ปุ่นใช้ทฤษฎีทายนิสัยจากกรุ๊ปเลือดก็มีการแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ดังนี้ค่ะ

“การแยกบุคลิกภาพของคนออกเป็นเพียง 4 ประเภทเท่านั้นดูจะเป็นทฤษฎีที่ง่ายเกินไป” และ
“งั้นถ้าเราเปลี่ยนถ่ายเลือด บุคลิกภาพของเราก็จะเปลี่ยนไปงั้นเหรอ?” ซึ่งเป็นความคิดเห็นที่น่าสนใจมากทีเดียว

การทายนิสัยจากกรุ๊ปเลือดเริ่มมาจากไหน?


ต้องบอกว่าการทายนิสัยจากกรุ๊ปเลือดมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ศาสตราจารย์ ชิเกะยูกิ ยามาโอกะ จากภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเซโตคุ ได้ค้นพบกรุ๊ปเลือด “ABO” ในปีค.ศ. 1900 เป็นผลให้นักวิชาการชาวเยอรมัน ดร.ดันเกิร์น เริ่มทำการวิจัยตรวจสอบกลุ่มเลือดของคนและสัตว์ทั่วโลกในปีค.ศ. 1910 ซึ่งทำให้ทราบว่า คนส่วนใหญ่ในยุโรปมีกรุ๊ปเลือด A และ O ในขณะที่คนในเอเชียส่วนใหญ่มีกรุ๊ปเลือด B นอกจากนี้ ยังพบว่าสัตว์ส่วนใหญ่มีกรุ๊ปเลือด B ยกเว้นลิงชิมแปนซี จากผลการศึกษาครั้งนี้ ทำให้เกิดความเชื่อที่ว่า “ชาวเอเชียด้อยกว่าชาวยุโรป” แพร่กระจายออกไป กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ งานวิจัยนี้มีแนวโน้มที่จะเชื่อมโยงกรุ๊ปเลือดเข้ากับนิสัยของกลุ่มคน เหมือนเป็นการแบ่งแยกประเภทคนตามพื้นที่ก็ว่าได้ค่ะ

ซึ่งจริงๆ แล้วในหลายประเทศ ได้ใช้ทฤษฎีต่างๆ ในการจำแนกคนออกเป็นหลายกลุ่ม โดยอาจใช้ความแตกต่างในเชื้อชาติหรือศาสนา แต่ในประเทศญี่ปุ่นไม่ได้มีการแบ่งแยกชาติพันธุ์และศาสนาที่ชัดเจนแบบนั้น ศาสตราจารย์ยามาโอกะจึงวิเคราะห์ว่า ทฤษฎีการแบ่งประเภทบุคลิกภาพตามกรุ๊ปเลือดนี้มีขึ้นมาเพื่อที่จะทำความเข้าใจคนอื่นในสังคมตามความปรารถนาของคนญี่ปุ่นเอง

หลังจากเทปรายการนี้ออกอากาศ ก็มีความคิดเห็นของคนญี่ปุ่นมากมาย เช่น

“คงมีแต่คนญี่ปุ่นที่จำแนกนิสัยและบุคลิกภาพตามกรุ๊ปเลือด”
“ฉันรู้สึกประหลาดใจที่ชาวต่างชาติไม่รู้กรุ๊ปเลือดของพวกเขาเอง” และ
“นี่อาจจะถึงเวลาที่เราจะต้องหยุดเชื่อมโยงกรุ๊ปเลือดเข้ากับบุคลิกภาพของคนเสียที”

ทฤษฎีการทายนิสัยคนตามกรุ๊ปเลือดนั้น ประเทศไทยเราก็ได้รับอิทธิพลมาจากญี่ปุ่นไม่น้อยเลยนะคะ ถึงขั้นพิมพ์เป็นหนังสือออกมาเลยทีเดียว เรื่องของบุคลิกหรือนิสัยผู้เขียนมองว่าเป็นเรื่องปัจเจก ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างในหนึ่งครอบครัวอาจมีคนเลือดกรุ๊ปเดียวกันทั้งบ้าน แต่ก็ใช่ว่าจะมีนิสัยที่เหมือนกันหรือความชอบที่ใกล้เคียงกันทั้งหมด ทั้งนี้ บุคลิกภาพของคนอาจจะเปลี่ยนได้ตามสภาพแวดล้อมและประสบการณ์ด้วย การทำความเข้าใจว่าความคิดเห็นที่แตกต่างไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรอาจจะเป็นวิธีที่อยู่ร่วมกันในสังคมที่ดีมากกว่า

ที่มา: news.livedoor
ผู้เขียน: Nyanmaru
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ anngle.org


กำลังโหลดความคิดเห็น