xs
xsm
sm
md
lg

พลิกกฎหมายญี่ปุ่น สถานเริงรมย์ยามราตรีทำอะไรกันถึงเสี่ยงติดโควิด?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ช่วงที่โควิดระบาดหนักที่ญี่ปุ่น ผู้ว่าการกรุงโตเกียว นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ต่างเรียกร้องให้ประชาชนงดไปสถานบันเทิงกลางคืนที่มีบริการ “ต้อนรับลูกค้า” ซึ่งในกฎหมายของญี่ปุ่นเรียกว่า “เซ็ตไต” 接待 ซึ่งมีความหมายลึกซึ้งยิ่งกว่าการต้อนรับธรรมดาทั่วไป

ธุรกิจที่มีบริการ “ต้อนรับลูกค้า” ที่ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “เซ็ตไต” ตามกฎหมายธุรกิจเริงรมย์ของญี่ปุ่น 風俗営業法 มีนิยามค่อนข้างกว้างว่าเป็น “การต้อนรับลูกค้าด้วยการสร้างบรรยากาศความสำราญ ที่มากไปกว่าบริการอาหารและเครื่องดื่มทั่วไป”

ตามนิยามนี้ สถานที่หลายแห่งจึงอาจเข้าข่ายบริการ “เซ็ตไต” ตั้งแต่ร้านอาหารชั้นสูงที่บริการโดยเกอิชา ไปจนถึง บาร์ โรงคาร์บาเรต์ ไนท์คลับ และเมดคาเฟ่ หรืออาจรวมถึงร้านอาหารและโรงแรม ที่มีบริการที่พนักงาน (มักเป็นหญิงสาว หรือเพศตรงข้ามกับกลุ่มลูกค้า) มาดื่มกินเป็นเพื่อนและให้ความบันเทิงกับลูกค้าด้วยวิธีต่าง ๆ บริการ “เซ็ตไต” นี้อาจดู “วาบหวิว” แต่ว่าไม่ใช่บริการทางเพศ มุ่งหวังเพียงเพื่อให้ความสำราญกับลูกค้าเท่านั้น แต่แน่นอนว่าก็มีหลายสถานที่ “ล้ำเส้น”


ธุรกิจที่มีบริการ “ต้อนรับลูกค้า” หรือภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “เซ็ตไต” ถึงแม้จะอยู่ภายใต้กฎหมายธุรกิจเริงรมย์ แต่เป็นธุรกิจประเภทที่ "เปิดเผย" มากที่สุด ใกล้เคียงกับธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม โดยในกฎหมายธุรกิจเริงรมย์ยังมีธุรกิจประเภทอื่นที่ใกล้เคียงกับธุรกิจทางเพศและถูกควบคุมเข้มงวดกว่า แต่เนื่องจากสถานบริการหลายแห่งใช้ช่องว่างทางกฎหมายเพื่อดึงดูดลูกค้า จนถึงมี "บริการแอบแฝง" ทำให้ต้องมีการอธิบายจำกัดความอย่างละเอียด

ในปี 2561 สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ได้ออกประกาศที่กำหนดลักษณะของการบริการลูกค้าที่เรียกว่า “เซ็ตไต” ตามกฎหมายธุรกิจเริงรมย์ให้ชัดเจนขึ้น ดังนี้

เป็นเพื่อนคุยและดื่ม
เซ็ตไต: พนักงานนั่งร่วมโต๊ะกับลูกค้า บริการอาการและเครื่องดื่ม เป็นเพื่อนคุยกับลูกค้า
ไม่เซ็ตไต: พนักงานรับออเดอร์จากลูกค้า โดยอยู่ด้านหลังเคาท์เตอร์ หรือมาที่โต๊ะเพียงเพื่อเสริฟอาหารหรือผสมเครื่องดื่ม ทั้งนี้การพูดคุยทักทายหรือสนทนาทั่วไปไม่ถือเป็นบริการเซ็ตไต

การแสดง
เซ็ตไต: ทำการแสดง เช่น ร้องเพลง เต้นรำ เฉพาะสำหรับลูกค้าในห้องหรือพื้นที่ส่วนตัว
ไม่เซ็ตไต: แสดงบนเวที ให้ความบันเทิงแก่คนหมู่มาก

ร้องเพลง:
เซ็ตไต: พนักงานร่วมร้องเพลงกับลูกค้าเป็นการเฉพาะ เชื้อชวนให้ลูกค้าร้องเพลงทั้ง ร้องคนเดียวและร้องคู่กัน รวมทั้งให้กำลังใจ ชมเชยระหว่างที่ลูกค้าร้องเพลง
ไม่เซ็ตไต: พนักงานเชื้อชวนให้ลูกค้าทั้งหมดร้องเพลงร่วมกัน โดยอาจปรมมือ ให้กำลังใจ และชมเชยทักษะการร้อง บริการช่วยเลือกเพลงจากเครื่องคาราโอเกะ หรือ เล่นเครื่องดนตรีให้กับลูกค้าที่ร้องเพลงจะเป็นถือเป็นบริการเซ็ตไต หากให้บริการกับลูกค้าทั้งหมด ไม่ใช่บริการเฉพาะกลุ่ม

พนักงานในสถานบันเทิงสวม ผ้าคลุมหน้า ที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันโควิด
เต้นรำ
เซ็ตไต: เต้นรำร่วมกับลูกค้าป็นการเฉพาะ มีการแตะเนื้อต้องตัวระหว่างเต้น หรือเต้นรำร่วมกับลูกค้าเฉพาะกลุ่มเป็นเวลานาน
ไม่เซ็ตไต: การเต้นรำที่โรงเรียนสอนเต้น หรือให้คำแนะนำการเต้นกับลูกค้า

เล่นเกม

เซ็ตไต: พนักงานร่วมเล่นเกมกับลูกค้า หรือแข่งขันกับลูกค้า
ไม่เซ็ตไต: ช่วยเหลือให้ลูกค้าเล่นเกมเอง หรือ เล่นกับลูกค้ารายอื่น

อื่นๆ

เซ็ตไต: บริการใดๆ ที่พนักงานใกล้ชิดกับลูกค้าอย่างมาก มีการจับมือ สัมผัสร่างกาย ป้อนอาหารหรือเครื่องดื่ม
ไม่เซ็ตไต: การจับมือทักทายตามมารยาท ช่วยเหลือลูกค้า เสริฟอาหาร ช่วยถือกระเป๋า เสื่อผ้า หรือการสัมผัสร่างการโดยไม่เจตนา

เจ้าหน้าที่ทางการกรุงโตเกียวรณรงค์ในย่านเริงรมย์ ให้ประชาชน อยู่บ้านหยุดเชื้อ
การกำหนดลักษณะของการบริการลูกค้าที่เรียกว่า “เซ็ตไต” ตามกฎหมายอย่างละเอียดนี้ เดิมใช้เพื่อจำกัดอายุของผู้เข้าใช้บริการเป็นหลัก แต่ในช่วงที่ไวรัสโควิดระบาด คำว่า “เซ็ตไต” ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาอ้างถึงโดยนายกฯ ญี่ปุ่น และผู้ว่าการจังหวัดต่าง ๆ ว่าสถานที่เหล่านี้มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้ออย่างสูง พร้อมร้องขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการไปใช้บริการ หลายจังหวัดถึงขนาดขอให้สถานที่เหล่านี้ปิดบริการชั่วคราว

ทางด้านผู้ประกอบการธุรกิจสถานบันเทิงกลางคืนก็ออกมาโต้แย้งว่า ธุรกิจหลายอย่างไม่ได้เข้าข่ายบริการ“เซ็ตไต” ตามกฎหมายธุรกิจเริงรมย์ แต่กลับถูกทางการตีตราว่าเป็นแหล่งแพร่เชื้อโควิด และตกเป็นเป้าหมายในการตรวจตราของเจ้าหน้าที่.


กำลังโหลดความคิดเห็น