xs
xsm
sm
md
lg

เปิดกฎหมาย “ภาวะฉุกเฉินโรคระบาด” ญี่ปุ่นรับมือโควิด-19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมประกาศกฎหมายใหม่รับมือการบาดของไวรัสโคโรนา ให้อำนาจนายกฯ ประกาศภาวะฉุกเฉิน สั่งปิดโรงเรียน และใช้พื้นที่เอกชนจัดตั้งสถานพยาบาลชั่วคราวได้

คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ปรับปรุงกฎหมายเพื่อรับมือกับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่และโรคติดต่ออื่น ๆ ซึ่งเคยประกาศใช้เมื่อปี 2555 โดยให้ครอบคลุมไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ มีระยะเวลาบังคับใช้ไม่เกิน 2 ปี

ร่างกฎหมายนี้จะเปิดทางให้นายกรัฐมนตรีสามารถประกาศภาวะฉุกเฉิน หากการระบาดของไวรัสรวดเร็วและแพร่กระจายทั่วประเทศ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตของประชาชนและเศรษฐกิจ


นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นจะกำหนดพื้นที่ และช่วงเวลาที่มาตรการพิเศษต่างๆ จะบังคับใช้ภาวะฉุกเฉิน และจะอนุญาตให้ผู้ว่าการจังหวัดที่กำหนดไว้มีอำนาจ เช่น

- ขอให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน
- ร้องขอหรือสั่งการปิดโรงเรียน ระงับการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ
- จำกัดการใช้สถานที่ต่าง ๆ ซึ่งมีผู้คนรวมตัวกันจำนวนมาก
- จัดตั้งสถานพยาบาลชั่วคราวบนพื้นที่หรือในอาคารของรัฐและเอกชน โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของสถานที่ ถ้าหากจำเป็น
- มีอำนาจควบคุมสินค้า เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการป้องกันและรักษาโรค
- มีอำนาจควบคุมการจราจร และจำกัดสิทธิการเดินทางของประชาชน

ทั้งนี้ คำสั่งของรัฐบาลที่ผ่านมายังเป็น “ร้องขอ” เพราะไม่มีกฎหมายรองรับโดยตรง แต่หากมีกฎหมายพิเศษรัฐบาลจะสามารถ “สั่งการ” ให้หน่วยราชการ เอกชน และประชาชนปฏิบัติตามได้


นายโยชิฮิเดะ ซูงะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาในประเทศญี่ปุ่นขณะนี้ ยังไม่จำเป็นต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่รัฐบาลจำเป็นต้องเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่สำหรับกรณีที่เลวร้ายที่สุด เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยง

ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นจะส่งต่อให้วุฒิสภา และคาดว่าจะผ่านการพิจารณาภายในสัปดาห์นี้

สมาชิกรัฐสภาบางส่วนได้ตั้งคำถามถึงการให้ “อำนาจเด็ดขาด” กับนายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาบางส่วนเสนอว่าต้องแจ้งต่อรัฐสภา หรือหารือกับคณะผู้เชี่ยวชาญ ก่อนที่จะประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่สมาชิกรัฐสภาฝ่ายรัฐสภาระบุว่า ไม่สามารถรอช้าได้

นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ระบุว่า รัฐบาลจะประเมินสถานการณ์อย่างระมัดระวังก่อนที่จะตัดสินใจ โดยจะคำนึงถึงผลกระทบต่อชีวิตและเสรีภาพของประชาชน.


กำลังโหลดความคิดเห็น