คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน ไม่ทราบว่าแต่ละท่านมีกิจกรรมยามว่างอะไรกันบ้างคะ ที่ผ่านมาฉันอยู่ในชมรมเทนนิสของคนญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งในอเมริกา แม้จะเป็นเพียงงานอดิเรก แต่ก็มีการฝึกซ้อมอย่างเป็นเรื่องเป็นราว จนคนญี่ปุ่นบางคนเองยังอุทานว่าอย่างกับชมรมสมัยเรียนแน่ะ ทำให้ฉันนึกอยากเอาเรื่องกิจกรรมชมรมของนักเรียนญี่ปุ่นมาเล่าสู่กันฟังค่ะว่ามีสีสันและน่าสนใจเพียงไร
เมื่อเทียบกับของญี่ปุ่นแล้ว สมัยที่ตัวฉันเองเรียนมัธยมที่เมืองไทย กิจกรรมชมรมถือเป็นหนึ่งในชั่วโมงเรียน และบังคับว่านักเรียนทุกคนต้องเข้าชมรมใดชมรมหนึ่ง ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรมชมรมมีเพียง 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้นเอง แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ฉันรอคอย เพราะนอกจากจะได้ทำอะไรเพลิดเพลินนอกเหนือไปจากการเรียนแล้ว ยังได้รู้จักเพื่อนใหม่เพิ่มอีกหลายคน ทำให้ชีวิตในวัยเรียนสนุกขึ้นอีกเป็นกอง
ชมรมจำนวนมากสมัยที่ฉันเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลายเป็นแนววิชาการ เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาต่าง ๆ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ นอกนั้นเป็นไปในแนวสันทนาการอย่างศิลปะ ดนตรี เกม กีฬา ซึ่งกีฬาเองก็มีจำนวนประเภทเท่าที่มีสนามหรือโรงยิมสำหรับกีฬาชนิดนั้น ๆ และเป็นกีฬาที่อยู่ในหลักสูตรวิชาพลศึกษาอยู่แล้ว ไม่แน่ใจว่าเดี๋ยวนี้ชมรมในโรงเรียนยังเป็นลักษณะนี้อยู่หรือเปล่านะคะ
ส่วนที่ญี่ปุ่นนั้นค่อนข้างจะต่างไปพอสมควรทีเดียวค่ะ กิจกรรมชมรมเป็นกิจกรรมที่แยกต่างหากนอกเหนือไปจากชั่วโมงเรียน และจะเข้าหรือไม่เข้าก็ได้แล้วแต่ความสมัครใจของนักเรียนเอง แต่กระนั้นนักเรียนจำนวนมากก็เข้าชมรมใดชมรมหนึ่ง ซึ่งมักกินเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงต่อวัน อาจมีกิจกรรมเป็นบางวันหรือทุกวันแล้วแต่ชมรมนั้น ๆ และเมื่อเข้าชมรมไหนแล้วก็แทบไม่ค่อยมีใครย้ายชมรมกัน
กิจกรรมชมรมของโรงเรียนมัธยมสตรีล้วนแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น ดูแล้วจะเห็นภาพชัดขึ้นค่ะว่ากิจกรรมชมรมในโรงเรียนญี่ปุ่นเป็นอย่างไร
ชมรมของญี่ปุ่นอาจแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ ๆ คือ ชมรมกีฬาและชมรมทางวัฒนธรรม ชมรมกีฬาได้แก่ ชมรมเบสบอล ฟุตบอล รักบี้ วอลเล่ย์บอล บาสเกตบอล ซอฟท์บอล กรีฑา ว่ายน้ำ แบดมินตัน เทนนิส ปิงปอง ยูโด เคนโด ฟันดาบ ยิงธนู ยิมนาสติก กอล์ฟ เป็นต้น ในขณะที่ชมรมทางวัฒนธรรมได้แก่ ชมรมวาดภาพ แตรวง ประสานเสียง เขียนพู่กัน ชงชา จัดดอกไม้ ทำอาหาร ถ่ายภาพ ออกอากาศ (broadcasting) การละคร เป็นต้น
นับว่าชมรมของโรงเรียนญี่ปุ่นมีความหลากหลายมากเสียจนน่าอิจฉาเลยทีเดียวนะคะ แต่ก็แล้วแต่ว่าโรงเรียนนั้นจะมีสถานที่และอุปกรณ์รองรับสำหรับกิจกรรมชมรมแบบใดบ้าง อาจจะไม่ได้มีหมดทุกอย่างที่กล่าวมาในโรงเรียนเดียวกัน เด็กนักเรียนบางคนถึงกับเลือกโรงเรียนโดยตรวจสอบดูก่อนว่าโรงเรียนไหนบ้างที่มีชมรมซึ่งตนต้องการเข้า เป็นชมรมที่มีความพร้อมหรือเด่นดังเพียงใด บางคนก็อยากเลือกโรงเรียนมัธยมปลายซึ่งมีชมรมเดียวกับที่ตนเคยเข้าสมัยมัธยมต้น
ถ้าเป็นชมรมกีฬามักจะมีกิจกรรมต่อเนื่อง เพราะต้องคอยฝึกซ้อมสำหรับลงแข่งกับโรงเรียนอื่นหรือภายในภูมิภาค จึงอาจมีการซ้อมทุกวันหลังเลิกเรียน บางชมรมมีซ้อมตอนเช้าก่อนเข้าเรียน และยังอาจต้องมาซ้อมในวันหยุดด้วย เรียกได้ว่าแม้จะเป็นกิจกรรมที่ทำตามความสมัครใจ แต่เมื่อเข้าร่วมแล้วก็ต้องจริงจังเต็มที่ ใช่ว่าจะมาบ้างไม่มาบ้างตามอารมณ์
แต่ละชมรมจะมีคุณครูเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ ชมรมไหนได้คุณครูที่มีความรู้หรือประสบการณ์เกี่ยวกับเนื้อหาของชมรมนั้นก็ดีไป เพราะจะมีคุณครูคอยเป็นโค้ชให้ได้ แต่ก็ใช่ว่าทุกชมรมจะมีคุณครูผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นเป็นผู้ดูแลเสมอไป ถ้าเป็นอย่างหลังนี้คุณครูมักปล่อยให้ฝึกซ้อมกันเอาเอง ซึ่งกิจกรรมชมรมจำนวนมากก็มีนักเรียนเป็นคนบริหารจัดการดูแลกันเองอยู่แล้ว ทั้งตารางและเนื้อหาการฝึกซ้อม
ตรงนี้ทำให้นึกถึงชมรมเทนนิสคนญี่ปุ่น(ผู้ใหญ่)ที่ฉันเข้าร่วมที่อเมริกา ถ้าเป็นช่วงฤดูร้อนที่สามารถใช้สนามเทนนิสสาธารณะได้ฟรี หัวหน้าชมรมจะจัดให้ซ้อมสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมงตั้งแต่ 7 โมงเช้า ชั่วโมงแรกจะเป็นการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและความว่องไวในการเคลื่อนไหว จากนั้นก็แบ่งกลุ่มกันฝึกซ้อมโดยมีคนใดคนหนึ่งที่ต้องเป็นคนคิดเนื้อหาและดูแลการฝึกซ้อมในวันนั้น แต่ละสัปดาห์จะสับเปลี่ยนหน้าที่กันไป
หัวหน้าชมรมเรียกกิจกรรมนี้ว่า “อาสะเร็น”(朝練) แปลตรงตัวว่า “ฝึกซ้อมตอนเช้า” ส่วนในฤดูอื่น ๆ ที่อากาศหนาวเราจะไปเช่าสนามในร่มแทนและเล่นตอนเย็นอย่างเดียว ไม่มีการฝึกซ้อมตอนเช้านี้ (คงเพราะค่าเช่าสนามแพง) ด้วยความที่มีสมาชิกถึง 20 คน หัวหน้าชมรมจึงแบ่งกลุ่มตามระดับความสามารถออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 1 คอร์ท แต่ละกลุ่มต้องมีหัวหน้าสลับกันไปทุกเดือน เพื่อดูแลความเรียบร้อยในกลุ่มกับประสานงานกับกลุ่มอื่น อีกทั้งยังมีอีกตำแหน่งคือคนคิดเนื้อหาและดูแลการฝึกซ้อมในสัปดาห์นั้น ตำแหน่งนี้สลับกันไปทุกสัปดาห์
สมาชิกบางคนก็พูดกันขำ ๆ ว่าเอาจริงเอาจังอย่างกับชมรมในโรงเรียนเลยทีเดียว ฉันจึงได้ถึงบางอ้อว่าบรรยากาศชมรมในโรงเรียนมัธยมญี่ปุ่นก็คงเป็นทำนองนี้น่ะเอง
ครั้งหนึ่งเคยมีคนฝรั่งและคนอเมริกาใต้หลงเข้ามาอยู่ในชมรมเราด้วย แต่มาแค่ไม่กี่ครั้งก็ออกจากชมรมไป ตอนหลังพอเจอกันโดยบังเอิญ ฉันก็ถามด้วยความเสียดายว่าทำไมไม่มาแล้วละ ก็ได้คำตอบว่า “เครียด” ฉันพยักหน้าเห็นด้วย(มาก!) แต่พอแลกกับความสนุกของการเล่นเทนนิสและเจอเพื่อน ๆ แล้ว ฉันก็อดรนทนอยู่มาหลายปี เคยเล่าให้พี่คนไทยซึ่งอยู่ในสังคมญี่ปุ่นมาระยะหนึ่งฟัง เขาเข้าใจในทันทีเพราะเคยเจอมาก่อน บอกว่า “ใช่เลย คนญี่ปุ่นเอาจริงเอาจังแม้กระทั่งกับงานอดิเรก”
...ออกอ่าวไปเสียไกลเลยทีเดียว ขอข้ามทวีปกลับมาเรื่องชมรมในโรงเรียนญี่ปุ่นกันต่อนะคะ เรื่องสนุกยังไม่จบ :)
นอกจากชมรมในโรงเรียนญี่ปุ่นจะมีคุณครูดูแลประจำแล้ว ยังมีประธานชมรม รองประธานชมรม อีกทั้งในส่วนของชมรมกีฬาก็อาจมี “ผู้จัดการ” ทำหน้าที่เหมือนเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลสมาชิกในชมรมด้วยนะคะ
บ่อยครั้งที่ผู้จัดการจะเป็นนักเรียนหญิงมากกว่านักเรียนชาย หน้าที่มีตั้งแต่ช่วยนับคะแนน จับเวลา ไปจนถึงซักผ้าให้ ซึ่งบางคนก็มองว่าทำไมจึงเอาเวลาส่วนตัวไปทำอะไรที่ไม่เกิดประโยชน์แก่ตนเช่นนั้น แต่จากมุมมองของคนที่เป็นหรือเคยเป็นผู้จัดการชมรมมาก่อน จะบอกว่าตนเองชอบกีฬาประเภทนี้อยู่แล้ว หรือไม่ก็เคยเล่นกีฬาชนิดนั้นมาก่อนแต่บาดเจ็บแล้วไม่สามารถเล่นได้อีก และอยากมีส่วนเกี่ยวข้องกับกีฬานั้นในฐานะผู้สนับสนุน จึงได้มาเป็นผู้จัดการชมรม นอกจากนี้ เวลาไปดูแข่งของชมรมก็ยังได้เปรียบกว่าผู้ชมคนอื่น เพราจะที่ได้นั่งดีซึ่งจัดไว้เฉพาะสำหรับผู้เกี่ยวข้องเท่านั่น
บางคนก็ตั้งแง่ว่าผู้หญิงอยากเป็นผู้จัดการชมรมกีฬาของผู้ชายเพราะอยากหาแฟน แต่เหตุผลนี้ก็ไม่แน่เสมอไป คือบางทีมันเป็นเพราะว่าผู้หญิงก็ชอบกีฬาประเภทเดียวกันกับผู้ชาย (เช่น ฟุตบอล เบสบอล) แต่โรงเรียนนั้นไม่มีชมรมกีฬาประเภทนั้นสำหรับผู้หญิง ด้วยความที่อยากมีส่วนร่วมในกีฬาชนิดนั้น ๆ มากจึงยินดีทำหน้าที่ซัพพอร์ตให้
ว่าแต่เรื่องราวความรักระหว่างนักเรียนชายในชมรมกับผู้จัดการหญิงก็มีจริง ๆ นะคะ หนึ่งในคู่ที่โด่งดังก็คือ ฮอนดะ เคสุเกะ นักบอลชื่อดังของญี่ปุ่นที่เคยตกหลุมรักผู้จัดการหญิงของชมรมฟุตบอลโรงเรียนคู่แข่ง และได้คบหากันมาจนกระทั่งแต่งงานมีลูกแล้วในปัจจุบัน
ในภาพรวมแล้ว กิจกรรมชมรมในโรงเรียนญี่ปุ่นเรียกได้ว่ามีสีสันและคึกคักเอามาก ๆ ฉันว่ามันดีจังที่ทำให้เด็กได้เปิดโลกทัศน์กว้างขวาง ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ซึ่งอาจนำไปสู่การค้นพบตัวเอง ได้รู้ว่าอยากทำอาชีพอะไร หรือมีงานอดิเรกอะไรที่อยากทำจริงจังต่อไป รวมทั้งได้เรียนรู้วิธีปฏิบัติตนที่เน้นความเป็นกลุ่มก้อน ท่ามกลางสังคมระบบอาวุโสที่มีทั้งคุณครู รุ่นพี่ รุ่นน้อง ซึ่งเป็นระบบเดียวกับสังคมทำงานที่จะต้องเข้าไปอยู่ต่อไปเมื่อจบการศึกษา การร่วมกิจกรรมชมรมในโรงเรียนญี่ปุ่นจึงน่าจะมีความสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กอย่างมากทีเดียว
แล้วเพื่อนผู้อ่านเคยสนุกกับการทำกิจกรรมชมรมอะไรกันมาบ้าง หรือมีงานอดิเรกอะไรที่ชื่นชอบกันบ้าง อย่าลืมเล่าสู่กันฟังนะคะ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.