xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียน 4 ประการ จาก “ไต้ฝุ่นฮากิบิส” เหตุใดคนญี่ปุ่นจึงแกร่งกว่าพายุ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์

ภาพเอเอฟพี
ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


พายุไต้ฝุ่นหมายเลข 19 หรือฮากิบิสซึ่งมีขนาดมหึมานั้นผ่านพ้นญี่ปุ่นลงมหาสมุทรแปซิฟิกไปแล้ว ดูเหมือนทั่วโลกจับตามองเป็นพิเศษและเอาใจช่วยกันล้นหลาม มีกระแสห่วงใยหลั่งไหลเข้ามาตั้งแต่ก่อนไต้ฝุ่นจะขึ้นฝั่งหลายวัน ผมได้รับข้อความแสดงความห่วงใยล่วงหน้าจากคนในเมืองไทย ตอนนั้นยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพายุก่อตัวเพราะมัวแต่ทำงานอื่นและไม่ได้ดูโทรทัศน์นานมาก ลูกศิษย์ชาวญี่ปุ่นก็รายงานให้ทราบหลายเสียงว่าเพื่อนคนไทยส่งข้อความถามไถ่มาตลอด ในฐานะผู้อยู่ในญี่ปุ่นคนหนึ่งก็ขอขอบคุณทุกท่านที่แสดงความห่วงใย และในที่นี้ขอบอกเล่าสภาพกว้าง ๆ ของโตเกียว พร้อมกับตั้งข้อสังเกตบางอย่าง (ข้อมูลพื้นฐานว่าด้วยไต้ฝุ่น https://mgronline.com/japan/detail/9610000098187)

ภาพข่าวและเหตุการณ์ของภัยธรรมชาติครั้งนี้มีเผยแพร่ตามสื่อมากมาย คงไม่ต้องลงรายละเอียดกันมาก บางเรื่องต้องยอมรับว่าคนไทยในเมืองไทยรู้ดีรู้ไวกว่าคนในญี่ปุ่นเสียอีก...ก็แปลกดี อย่างไรก็ตาม หากประมวลเรื่องราวในมุมที่ไม่ค่อยเป็นข่าวเท่าไรก็จะได้ว่า ในกรุงโตเกียวนครหลวงเกิดความเสียหายน้อยจนน่าชื่นชม คืนวันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม ศูนย์กลางไต้ฝุ่นมาถึงโตเกียวประมาณ 21.00 น. ตามเวลาญี่ปุ่น โดยเข้ามาทางด้านตะวันตกซึ่งเป็นแถบที่ผมอาศัยอยู่ ก่อนหน้านั้นมีฝนตกนำมาตลอดวันและมีลมกระโชกเป็นระยะ แต่เมื่อศูนย์กลางพายุมาถึงกลับรู้สึกว่าไม่โหดเท่าไต้ฝุ่นฟ้าใสเมื่อเดือนกันยายน ซึ่งตอนนั้นลมแรงมากจนน่ากลัวและนอนแทบไม่ได้เพราะหนวกหูลมกระโชกที่ปะทะต้นไม้รอบบ้านกับกระจกหน้าต่างเกือบตลอดคืน

ครั้งนี้แม้เกิดไฟฟ้าดับและน้ำท่วมบางจุดในโตเกียว แต่ความเสียหายที่ใจกลางกรุงมีน้อย ความโชคร้ายไปเกิดที่ต่างจังหวัดโดยเฉพาะนางาโนะเมื่อเขื่อนกั้นตลิ่งริมแม่น้ำพังทลายเพราะต้านแรงน้ำไม่ไหว (ในสังคมออนไลน์มีการใช้คำว่า “ทำนบ” แต่ทำนบมักหมายถึงสิ่งที่ใช้กั้นในลำน้ำ ถ้ามีขนาดใหญ่เรียกว่าเขื่อน และคำว่าเขื่อนมีอีกความหมายหนึ่งคือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้กั้นตลิ่ง) เป็นเหตุให้น้ำไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนฉับพลันอย่างคิดไม่ถึง


เช้าวันรุ่งขึ้นอากาศในโตเกียวแจ่มใสเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเมื่อคืนก่อน พอสาย ๆ บ่าย ๆ นครหลวงก็หวนคืนสู่สภาวะปกติเกือบทั้งหมด รถไฟเริ่มวิ่ง รถเมล์ให้บริการตามเดิม ผู้คนออกไปทำกิจกรรม คนบางส่วนจัดปาร์ตี้ตามแผนที่วางกันไว้แต่แรก ดูเหมือนไต้ฝุ่นเป็นแค่ปรากฏการณ์ธรรมดาที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป...คนญี่ปุ่นอยู่กับมันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายหลายสิบปี จะเรียกว่าชินก็คงได้
เส้นทางไต้ฝุ่นหมายเลข 19 (จากล่างขึ้นบน)
ตัดภาพมาที่เมืองไทย ทั้งในช่วงก่อนไต้ฝุ่นจะมา จนกระทั่งมา และจนกระทั่งลาลงทะเล ปรากฏว่านอกจากกระแสกำลังใจแล้ว ยังเกิดกระแสดราด้วย ประมาณว่า “ไต้ฝุ่นจะกลืนญี่ปุ่น ดูรัศมีสิ เป็นพันกิโล โอ้โฮ น่ากลัวที่สุด จะทำยังไงล่ะเนี่ย!” ตลอดจนกระแสเปรียบเทียบญี่ปุ่นกับไทยด้านการรับมือภัยพิบัติและลามไปถึงถ้อยคำเชิงการเมือง ประมาณว่า “ผู้นำญี่ปุ่นสั่งการอย่างนั้น แล้วหันมาดูผู้นำไทยสิ...” ผมเห็นข้อความกับภาพทั้งหลายที่แพร่กระจายต่อ ๆ กันแล้วก็...อืม บางครั้งเราดรามากันมากไปไหม? ทั้ง ๆ ที่บางเรื่องมันไม่เกี่ยวกันสักเท่าไร ดูเหมือนคนไทยชอบใส่อารมณ์ทุกอย่าง จนอดคิดไม่ได้ว่าคงเสพติดอารมณ์ ถ้าไม่มันถึงใจก็ไม่มอง ถ้าไม่สยองเร้าใจก็จะไม่ฟัง ถ้าไม่ปังไม่เปรี้ยงจะรู้สึกว่าไม่น่าสนใจ ถ้านางเอกไม่ตบนางร้ายก็ไม่สาแก่ใจ...อย่างหลังนี่เกี่ยวหรือเปล่าไม่รู้ แต่ถ้าเป็นคนญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นจะนิ่งไว้ก่อน...เพราะการนิ่งมันทำให้คิดอ่านได้ถี่ถ้วนและพลาดน้อย และจะไม่ใช้ถ้อยคำที่รุนแรงที่ปั่นอารมณ์ผู้รับสารจนตื่นตระหนก

บัดนี้เมื่อไต้ฝุ่นสลายตัวแล้ว อยากจะนำข้อสังเกตบางประการมาแบ่งปันให้ผู้ที่มองญี่ปุ่นจากภายนอกได้ทราบกัน กล่าวคือ ประสบการณ์รับมือภัยพิบัติไต้ฝุ่นของญี่ปุ่นลดความสูญเสียได้จริง ถ้าย้อนกลับไปดูอดีตช่วงประมาณ 70 ปีนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด จะเห็นได้ว่า สมัยก่อนคนญี่ปุ่นเสียชีวิตและสูญหายเพราะไต้ฝุ่นถึงหลักพันหลายครั้ง เช่น ไต้ฝุ่นมากูราซากิ เดือนกันยายน 1945 ทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหาย 3,756 คน เรียกได้ว่าพอแพ้สงครามโลกในเดือนสิงหาคม เดือนถัดมาก็ถูกซ้ำด้วยไต้ฝุ่นเลยทีเดียว, สองปีถัดมาคือปี 1947 ไต้ฝุ่นแคเธอรีน 1,930 คน, ปี 1958 ไต้ฝุ่นคาโนงาวะ 1,269 คน, และปี 1959 ไต้ฝุ่นอ่าวอิเซะ 5,098 คน นั่นคือครั้งสุดท้ายที่มีตัวเลขเกินพัน

หลังจากนั้นจนบัดนี้ซึ่งผ่านมา 60 ปี ด้วยเทคโนโลยีการพยากรณ์อากาศกับมาตรการรับมือทั้งหลาย ไม่มีครั้งใดที่คนญี่ปุ่นเสียชีวิตและสูญหายเพราะไต้ฝุ่นถึงพันคนอีกเลย ว่าอย่าแต่หลักพัน ครั้งที่เกินสองร้อยก็มีน้อยมาก คาดว่ากรณีไต้ฝุ่นฮากิบิสก็น่าจะเป็นเช่นนั้น ความเสียหายรุนแรงเพราะภัยพิบัติในญี่ปุ่นส่วนใหญ่เกิดจากแผ่นดินไหวเพราะพยากรณ์ได้ยากกว่า ไม่ได้มาจากไต้ฝุ่นอีกต่อไป การป้องกันภัยของญี่ปุ่นแม้รับประกันความปลอดภัยไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยก็สร้างความอุ่นใจให้แก่การดำรงชีวิตเพราะมีความเป็นรูปธรรมสูงและทำจริง

มาตรการที่ประชาชนคุ้นกันดีคือ ญี่ปุ่นมี “วันป้องกันภัยพิบัติ 1 กันยายน” เป็นการสร้างความตระหนักด้านการพิทักษ์ชีวิตและทรัพย์สินอยู่เสมอ มีการซ้อมเดินกลับบ้านเผื่อกรณีที่รถไฟหยุดวิ่ง, ในชุมชนยังคงมีเครื่องกระจายเสียงแจ้งข่าวให้ประชาชนรับรู้ แม้เราอยู่ในยุคสมาร์ตโฟนกันแล้ว แต่ญี่ปุ่นก็ยังคงไว้ซึ่งวิธีบ้าน ๆ แบบนี้นี่แหละ เพราะคำนึงถึงคุณตาคุณยายในชนบททั้งหลาย, จัดศูนย์พักพิงหลบภัยไว้ตลอดเวลาให้ประชาชนอพยพไปได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินโดยทำแผนที่เผยแพร่ให้ทราบอยู่ตลอด, สร้างโรงระบายน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ใกล้กรุงโตเกียว

นอกจากนี้ ตามริมทะเลและที่ลุ่มริมแม่น้ำทั่วญี่ปุ่นซึ่งมีอยู่ประมาณ 35,000 กว่าสาย มีแนวเขื่อนริมตลิ่งที่สูงทั่วท่วมคนเป็นปราการ ในกรุงโตเกียวก็มีหลายจุด ทีแรกผมเคยเห็นในยามปกติยังนึกสงสัยอยู่ว่าสร้างไว้สูงขนาดนี้เพื่ออะไร แต่ในยามฉุกเฉิน นี่คือสิ่งที่ช่วยลดความเสียหาย ตอนไม่มีภัยก็จัดพื้นที่ให้เป็นสวนหย่อมพักผ่อนหรือที่ออกกำลังได้ตามความสะดวก กรณีของแม่น้ำชินาโนะที่ไหลผ่านจังหวัดนางาโนะและนีงาตะซึ่งเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในญี่ปุ่น (367 กิโลเมตร ส่วนที่ผ่านนางาโนะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “แม่น้ำชิกูมะ”) และไหลลงทะเลญี่ปุ่นทางเหนือนั้นก็มีแนวเขื่อนริมตลิ่ง แต่เกิดความเสียหายอย่างไม่คาดฝันเพราะเขื่อนพัง ทำให้น้ำไหลบ่าท่วมบ้านเรือน ต่อมาไม่นานทางการก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นตรวจสอบสาเหตุของการพังทลายนั้นทันทีเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม นี่คือความไวของญี่ปุ่น
ภาพจำลองเขื่อนกั้นน้ำริมตลิ่งพัง (จาก TBS)
แนวแม่น้ำชินาโนะ (เส้นสีน้ำเงิน)
อีกจุดหนึ่งคือ ทางการและชุมชนท้องถิ่นของญี่ปุ่นเข้มแข็ง คนญี่ปุ่นมี “ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง” (sense of belonging) อย่างเหนียวแน่น รักชุมชนและพร้อมจะให้ความร่วมมือ ทางด้านการบริหารส่วนท้องถิ่นของญี่ปุ่นแยกย่อยลงไปมาก (หมู่บ้าน, ตำบล, เขตพิเศษ, เมือง รวม 1,741 หน่วย) แต่มีความเข้มแข็ง เมื่อใดที่หน่วยบริหารท้องถิ่นขอความร่วมมือมา ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่หรืออาสาสมัคร คนญี่ปุ่นมักจะเต็มใจออกไปช่วย และแก้ปัญหาได้ด้วยกันเองภายในชุมชนโดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากส่วนกลางอยู่ตลอดนอกจากกรณีที่ใหญ่หลวงจริง ๆ การสื่อสารระหว่างทางการกับประชาชนมีสม่ำเสมอ และผู้คนมักเชื่อคำประกาศเตือน (แม้มีส่วนหนึ่งดื้อก็ตาม) อย่างในกรณีภัยไต้ฝุ่นก็เก็บของขึ้นที่สูง เคลียร์ขยะที่วางบนพื้นนอกบ้านก่อนน้ำจะมา หาเทปกาวไปแปะกระจกประตูหน้าต่างไว้ตามคำแนะนำของทางการ เป็นต้น

ส่วนสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ระบบเตือนภัยของญี่ปุ่นละเอียดและครอบคลุม ข้อมูลของญี่ปุ่นรวดเร็ว เชื่อถือได้ และประสานกับผู้เกี่ยวข้องได้ทันที การเตือนภัยทั่ว ๆ ไปอย่างการเตรียมเสบียงเกิดขึ้นก่อนภัยมาอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ ทางการบอกให้ซื้ออาหารและน้ำดื่มเผื่อกรณีที่ออกจากบ้านไม่ได้หรือเส้นทางลำเลียงสินค้าถูกตัดขาดระยะหนึ่ง บริษัทคมนาคมรีบพิจารณาสถานการณ์และประกาศให้รู้ว่าจะหยุดบริการเมื่อไร พอภัยมาถึง สถานีโทรทัศน์ NHK ตัดเข้ารายการข่าวและรายงานข้อมูลโดยอ่านชื่อพื้นที่เสี่ยงทุกชื่อออกอากาศทันทีโดยรับข้อมูลจากสำนักงานอุตุนิยมวิทยาที่ระบุลงไปได้ถึงระดับหมู่บ้าน ชื่อบางชื่อคนญี่ปุ่นเองไม่เคยได้ยินมาก่อน เพิ่งจะได้รู้จากสำนักงานอุตุนิยมวิทยานี่แหละ ผู้ประกาศข่าวจะช่วยย้ำเตือนด้วยว่าอย่าออกไปใกล้แม่น้ำ อย่าออกไปดูสภาพสิ่งแวดล้อม จงอยู่ในบ้านหรืออาคารที่ปลอดภัย จนกระทั่งถึงคำเตือนสูงสุดถึงขนาดใช้คำว่า “ขอให้ทำทุกอย่างเพื่อรักษาชีวิตให้ปลอดภัย” อีกทั้งยังเพิ่มการเผยแพร่ข้อมูลเป็นภาษาต่างประเทศด้วย แน่นอนว่ามีภาษาอังกฤษและมีภาษาไทยเป็นบางส่วน

และข้อสังเกตประการสุดท้ายคือ ในยามภัยพิบัติไม่เกิดบรรยากาศทะเลาะกัน คนญี่ปุ่นไม่ชี้นิ้วหาคนรับผิดชอบว่าเหตุแห่งความเสียหายเป็นความผิดใคร อาจมีบ้างที่แสดงความคับข้องใจเมื่อความช่วยเหลือไปถึงช้ากว่าหนึ่งสัปดาห์ แต่จะไม่ใช่การด่าว่าด้วยอารมณ์รุนแรง อะไรที่ยังไม่เกิดก็เตรียมรับ ส่วนอะไรที่เกิดแล้วก็ยอมรับและก้มหน้าก้มตาช่วยกันเก็บกวาดให้เรียบร้อยเพราะชีวิตต้องดำเนินต่อไป บรรยากาศในสังคมเป็นแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย (แต่ไม่มีการขอรับเงินช่วยเหลือทางทีวี) และในสังคมออนไลน์ไม่ร้อนระอุด้วยถ้อยคำสาดอารมณ์ใส่กัน แต่ทุกคนมุ่งมองไปข้างหน้าและแก้สถานการณ์ให้กลับสู่ปกติโดยเร็วที่สุด

ในภาพรวม เมื่อพายุไต้ฝุ่นขึ้นฝั่ง (โปรดสังเกตว่าผมพยายามไม่ใช้คำว่า “ถล่ม”) ญี่ปุ่นเมื่อไร ความเสียหายย่อมหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่คนในประเทศนี้รู้ดีว่าต้องทำให้ความเสียหายมีน้อยที่สุดด้วยการเตรียมพร้อมอย่างมีสติ ก่อนไต้ฝุ่นจะมา ไร้ความตื่นตระหนก มีแต่การตื่นตัว ตลอดช่วงเวลาอย่างน้อยยี่สิบปีที่ผมเห็นมา ไม่เคยเกิดความวุ่นวายประเภทซื้ออาหารไปกักตุน จริงอยู่ที่ว่าสินค้าร่อยหรอจนร้านโล่งเกือบหมด แต่ไม่ได้เกิดการแย่งชิง ขณะนี้บางพื้นที่ในต่างจังหวัดน้ำไม่ไหล แต่ทุกคนไปเข้าคิวรองน้ำจากรถของทางการอย่างเป็นระเบียบ ในฐานะคนที่ผ่านภัยธรรมชาติครั้งใหญ่กับคนญี่ปุ่นมาหลายครั้ง ยังคงได้เห็น “ความนิ่ง” ของคนญี่ปุ่น และตัวเองก็นิ่งเหมือนกัน ส่วนหนึ่งคงเพราะไม่มีบรรยากาศกระตุ้นความตื่นกลัว สื่อมวลชนเสนอแต่ข้อมูล แต่ไม่ยัดเยียดอารมณ์

แล้วก็มักจะมีคำถามตามมา ทำไมญี่ปุ่นถึงทำได้ขนาดนั้น คำตอบง่ายมาก...ก็ฝึกสิครับ เราไปดูงานในประเทศที่พัฒนาแล้วมากมาย ที่ญี่ปุ่นนี่ก็เหมือนกัน...คณะจากไทยชอบมากันมาก มาดูแล้วถ้าเอากลับไปทำจริงจัง ปลูกฝังกันให้ดี จัดสรรงบประมาณให้ถึงมือประชาชนอย่างแท้จริง เราคงดีขึ้นในหลาย ๆ ด้าน อย่างในด้านภัยพิบัติ หากดูญี่ปุ่นไว้แล้วเตรียมรับมือให้รัดกุม พอเกิดน้ำท่วมที (ทั้ง ๆ ที่ระดับภัยพิบัติของไทยเบากว่าของญี่ปุ่นมาก) เราก็ไม่ต้องให้ดาราไปออกทีวีรับเงินบริจาค จากข้อสังเกตในญี่ปุ่น คงห้ามไม่ให้เปรียบเทียบไม่ได้ แต่ถ้าจะให้ดีกว่านั้นคือ เมื่อเทียบแล้วเราช่วยกันทำ ความเสียหายจากภัยธรรมชาติใด ๆ ในเมืองไทยคงจะน้อยลงหรือแทบหมดไปเพราะมีน้อยครั้งมากที่ไทยจะประสบภัยขนาดใหญ่ระดับเดียวกับญี่ปุ่น

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com



กำลังโหลดความคิดเห็น