ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ประสบวาตภัยตรง ๆ หรือได้รับอิทธิพลจากพายุบ่อยมาก จึงเชี่ยวชาญด้านการเตือนภัยและการรับมือภัยพิบัติ และมีข้อมูลทางสถิติที่น่าสนใจ หน่วยงานที่ทำหน้าที่เก็บรวบรวมและออกคำเตือนเกี่ยวกับภัยพิบัติคือ “สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งญี่ปุ่น” สังกัดกระทรวงที่ดิน สาธารณูปโภค คมนาคม และการท่องเที่ยว
วาตภัยครั้งล่าสุดคือพายุไต้ฝุ่นจ่ามี (ภาษาเวียดนาม) โดยพัดขึ้นเกาะหลักตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน และกวาดต่อเนื่องจากใต้สู่เหนือราว 2 วัน โดนกันถ้วนหน้าตั้งแต่โอกินาวา ไล่ขึ้นมาทางคิวชู และไม่ได้หยุดแค่นั้น แต่เคลื่อนต่อไป ผ่านเกาะชิโกกุ ขึ้นเกาะฮอนชู ตะลุยไปทางเหนือ เบนหัวออกไปทางขวาหน่อย ๆ แต่ฮอกไกโดก็ไม่พ้น แล้วจึงลงทะเลจากไปในช่วงบ่ายวันที่ 1 ตุลาคม
นาน ๆ ทีถึงจะได้เห็นเส้นทางพายุแบบนี้ ดูภาพในแผนที่อุตุนิยมวิทยาแล้วอดนึกไม่ได้ว่าไต้ฝุ่นแค้นเคืองกับญี่ปุ่นมาจากไหนถึงได้ระรานขนาดนี้ อีกทั้งจ่ามีไม่ใช่ไต้ฝุ่นลูกแรกที่ขึ้นฝั่งของญี่ปุ่นในปีนี้ด้วย แต่เป็นลูกที่ 5 ทำให้รู้สึกว่าญี่ปุ่นโดนถี่เหลือเกินในเวลาสั้น ๆ แต่เมื่อตรวจสอบดูจึงได้รู้ว่า ความรู้สึกที่ว่าถี่ก็ยังไม่ใช่ที่สุดของประเทศนี้ เพราะบางปีมีมากกว่านั้นดังที่ทางการเก็บสถิติไว้ตั้งแต่ปี 2494
ปี 2547 มีไต้ฝุ่นขึ้นฝั่งญี่ปุ่นถึง 10 ลูก และปี 2559 มีถึง 6 ลูกซึ่งมากที่สุดเป็นอันดับ 1 และ 2 ช่วงนั้นผมอยู่ในญี่ปุ่นแล้ว แต่จำไม่ค่อยได้ว่าเราเดือดร้อนอะไรหรือเปล่า สาเหตุคงเพราะไต้ฝุ่นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตในเมืองใหญ่มากนัก ทำให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว และคงเป็นโชคดีของเมืองหลวงโตเกียวที่ได้ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษมาช่วยเลือกทำเลที่ดี จึงหลบลี้วาตภัยได้เป็นส่วนใหญ่ เมื่อดูจำนวนครั้งของไต้ฝุ่นที่ประสบก็จะพบอีกว่าโตเกียวอยู่ในจุดที่มีความปลอดภัยสูงขณะที่จังหวัดแถบคิวชูประสบเหตุบ่อย ๆ หรือแม้แต่ชิบะที่อยู่ถัดจากโตเกียวแค่นิดเดียวก็เผชิญไต้ฝุ่นเกือบสิบครั้ง
ทว่าด้วยเส้นทางลากยาวของไต้ฝุ่นจ่ามี ปีนี้ทั้งโอซากาและโตเกียวโดนด้วยเต็ม ๆ ในกรุงโตเกียวเมื่อวันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม หลังจากไต้ฝุ่นพัดผ่านภาคกลางเมื่อกลางดึก ช่วงเช้าก็เป็นไปตามความคาดหมายคือระบบรถไฟรวนแทบทั้งหมด สถานีรถไฟมีคนล้นออกมานอกอาคาร แต่เมื่อคาดหมายกันไว้แล้ว การจัดการจึงทำได้ง่ายขึ้น เจ้าหน้าที่เร่งมือตรวจสอบแต่เช้า ผู้คนจึงเดินทางไปทำงานได้ตอนสาย ๆ แม้จะทุลักทุเลไปบ้างก็ตาม นี่คือคุณลักษณะที่ดีของคนญี่ปุ่นด้านการจัดการความเสียหายให้เข้าที่เข้าทางอย่างรวดเร็ว
จ่ามีคือไต้ฝุ่นลูกที่ 24 ในปีนี้ แต่จะยังไม่หมดเพราะเหลืออีก 3 เดือน และลูกที่ 25 ก็กำลังก่อตัวอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ทำท่าจะเฉียดกรายมาใกล้ ๆ ญี่ปุ่นเสียด้วย นับจนถึงสิ้นเดือนกันยายน มีไต้ฝุ่นในแถบนี้ 25 ลูก พอเห็นเลขยี่สิบกว่าอาจตกใจนึกว่ามาก แต่บางปีมีมากกว่านี้ อย่างเช่น 31 ลูกในปี 2535 หรือ 36 ลูกในปี 2514 แล้วแต่ปีไหนดวงดี จำนวนที่พัดขึ้นบกก็น้อยหน่อย แต่ไม่ใช่ปีนี้แน่ ๆ ส่วนปีโชคดีพอจะมีอยู่บ้างประมาณ 6% ในช่วงเกือบ 70 ปีเมื่อไม่มีไต้ฝุ่นขึ้นบกญี่ปุ่นแม้แต่ลูกเดียว
ข้อมูลหนึ่งที่ควรทราบไว้คือ ญี่ปุ่นไม่เรียกพายุด้วยชื่อเฉพาะดังที่สื่อมวลชนในประเทศอื่นเรียก (การเรียกชื่อไต้ฝุ่นมีการตกลงกันระหว่างประเทศแถบแปซิฟิก โดยให้เสนอชื่อเข้าไป บางชื่ออาจไม่ได้ใช้) แต่ญี่ปุ่นเรียกเป็นหมายเลข เช่น ไต้ฝุ่นจ่ามี ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “ไต้ฝุ่นหมายเลข 24” หรือไต้ฝุ่นมังคุด ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “ไต้ฝุ่นหมายเลข 22”
ส่วนลำดับการเรียกนั้น สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่นจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมของปีนั้น ไต้ฝุ่นลูกแรกที่เกิดจะเรียกว่าหมายเลข 1 และเรียงลำดับต่อไปเรื่อย ๆ หรือไต้ฝุ่นที่อ่อนกำลังลงเป็นพายุหมุนเขตร้อนและพัฒนากลับขึ้นมาเป็นพายุไต้ฝุ่นอีกก็จะใช้หมายเลขนั้นต่อไป ในอดีตญี่ปุ่นเคยเรียกชื่อพายุอิงตามชื่อที่อเมริกาตั้งเช่นกันซึ่งมักเป็นชื่อผู้หญิง แต่ช่วงทศวรรษ 1950 ได้เปลี่ยนมาใช้หมายเลขแทนและเป็นแบบนั้นเรื่อยมา ยกเว้นเมื่อต้องการสื่อสารระหว่างประเทศจึงจะเรียกโดยอิงชื่อสากล บางครั้งคนที่ฟังข่าวของญี่ปุ่นและฟังสื่ออื่นอาจต้องประสานความเข้าใจเล็กน้อยว่าชื่อที่ต่างกันหมายถึงพายุลูกเดียวกัน
และสำหรับผู้ที่นิยมไปญี่ปุ่น นอกจากการประเมินค่าใช้จ่ายทั่วไปแล้ว ข้อมูลเรื่องพายุเป็นอีกอย่างหนึ่งที่ควรนำมาพิจารณาประกอบด้วย จะสังเกตได้ว่าช่วงหน้าร้อนของญี่ปุ่นตั๋วเครื่องบินมักมีราคาถูก วงการท่องเที่ยวเรียกว่าโลว์ซีซัน สาเหตุหลักคืออากาศร้อนและคาบเกี่ยวถึงช่วงมรสุมด้วย ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการงดเที่ยวบินกะทันหัน ช่วงเวลาที่ควรหลีกเลี่ยงจึงได้แก่เดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม เมื่อดูค่าเฉลี่ย (30 ปี, 2524-2553) ของการเกิดไต้ฝุ่นและระยะที่ไต้ฝุ่นเข้าใกล้ญี่ปุ่น ก็จะเห็นว่าช่วงเวลาดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงกว่าช่วงอื่น
เดือนสิงหาคมมีความเสี่ยงต่อไต้ฝุ่นมากที่สุด คำอธิบายคร่าว ๆ คือช่วงอากาศร้อนซึ่งตรงกับเดือนสิงหาคมนั้น อุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกสูงขึ้น มีไอน้ำมาก พายุจะก่อตัวได้ง่าย ผู้ที่ไปญี่ปุ่นช่วงนั้น นอกจากจะต้องเผชิญกับความร้อนแล้ว ยังอาจได้รับอิทธิพลจากพายุ หรือมีเที่ยวบินไม่ราบเรียบระหว่างทาง ราคาตั๋วเครื่องบินที่ถูกนั้นมีเหตุผลเป็นฉะนี้ จึงต้องชั่งน้ำหนักให้ดี
ด้วยภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ชีวิตของคนญี่ปุ่นผจญกับวาตภัยตลอดมาและยังมีภัยแผ่นดินไว้กับภูเขาไฟอีก สิ่งแวดล้อมเหล่านี้ทำให้เกิดการปลูกฝังความพร้อมและสัญชาตญาณการเอาตัวรอดตั้งแต่เด็ก ในเดือนกันยายนปีนี้ญี่ปุ่นเผชิญทั้งแผ่นดินไหวที่ฮอกไกโดและไต้ฝุ่นติด ๆ กันอีก รวมแล้วมีผู้เสียชีวิตหลักร้อย เมื่อขยับลงไปที่อินโดนีเซีย เกิดแผ่นดินไหวและสึนามิในคราวเดียวมีผู้เสียชีวิตเกือบพัน เห็นข้อสรุปอยู่รำไรว่า แม้เราห้ามภัยธรรมชาติไม่ได้ แต่ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้แบบที่คนญี่ปุ่นรักษาชีวิตไว้ให้สูญเสียน้อยที่สุดในทุกครั้งที่มีภัย
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com