xs
xsm
sm
md
lg

ฆาตกรรม(ไม่)ต่อเนื่อง-ใครฆ่าใคร ตอนที่ 8 บุคคลเดียวที่มีพยานหลักฐาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

จากบทประพันธ์ของ Ango Sakaguchi (1906-1955)
ปรมาจารย์แห่งความลึกลับของฆาตกรรมปริศนา
แปลและเรียบเรียงโดย ฉวีวงศ์

สงครามเพิ่งสงบ สังคมนครหลวงสมัยโชวะพยายามดิ้นรนกลับสู่ยุคทองในอดีตที่ไม่ใช่ว่าไกลโพ้น
ไม่เคยมีเสียดีกว่า ต้องสูญเสียไปแล้วอยากได้คืน...

“ท่านพูดเหมือนกำลังคิดอะไรอยู่ การอยู่ว่าง ๆ บางทีสมองอาจปลอดโปร่งมองอะไรได้ชัดกว่าคนอื่น ๆ นะครับ” ผมขัดขึ้นเพราะยังติดใจกับคำของท่านที่ว่า...แต่สำหรับฉันยังมีอะไรที่คิดไม่ตกอยู่อย่างหนึ่ง

“ไม่เอาละ เลิกพูดเรื่องนี้กันเสียที ขอโทษนะที่อุตส่าห์มาหาทั้งทีไม่ได้เตรียมอะไรไว้ต้อนรับ แต่ฉันมีอะไรที่อยากให้เธอทั้งสองเป็นที่ระลึก สำหรับซุนเปคือผลงานชื้นเล็ก ๆ ของท่านปาต้าซันเหรินจิตรกรจีนสมัยราชวงศ์ชิงที่พอดีได้มาตอนไปเที่ยวกรุงปักกิ่ง อาจจะดูสงบและโดดเดี่ยวแต่ก็แฝงความรู้สึกลึกซึ้งจับใจ ส่วนของเคียวโกะคือเข็มกลัดเน็คไทที่ฉันใช้ตอนไปเที่ยวปารีส ทำนองว่าถึงจะเป็นซามูไรบ้านนอกก็อยากจะประดับอะไร ๆ ให้ดูหรูกับเขามั่ง เข็มกลัดอันนี้ฝังเพชรสิบแปดการัตเชียวนะ แต่สารรูปอย่างฉันเวลาติดเดินไปไหน ๆ ไม่มีใครมองออกหรอกว่าเป็นเพชรแท้ ๆ คิดว่าเป็นแก้วเจียรนัยกันทั้งนั้น ซึ่งก็ดีไปอย่างที่ฉันจะได้ไม่กังวลและอากลับมาญี่ปุ่นได้อย่างปลอดภัยไม่มีใครมาแย่งชิง คุณนายคาจิโกะเมียฉันที่ตายไปยังนึกว่าเป็นเรื่องตลกและไม่สนใจ ฉันเองก็เอาไปเก็บไว้เสียจนลืม เพิ่งจะพอโดยไม่ได้ตั้งใจเมื่อไม่นานมานี้เอง”

ท่านผู้เฒ่าทามอนส่งของสองสิ่งให้เราเหมือนกับฤๅษีผู้ละทิ้งแล้วซึ่งกิเลศทั้งปวง เพชรสิบแปดการัตมีค่าสูงเกินกว่าคนอย่างเราจะมีไว้ครอบครอง ทั้งยังผลงานของจิตรกรปาต้าซันเหริน ซึ่งแม้ท่านจะบอกว่าชิ้นเล็ก ๆ แต่ก็เป็นของแท้หายากซึ่งย่อมมีค่าเกินประมาณ ความเมตตาปรานีที่ท่านแสดงต่ออดีตผู้หญิงที่เคยรักเอ็นดูราวกับว่าเจ้าหล่อนเป็นลูกสาวคนหนึ่งนั้น ทำให้เรารู้สึกซาบซึ้งและอบอุ่นล้นเหลือ

หลังจากที่ได้ดื่มด่ำกับน้ำใจกับท่านผู้เฒ่าแล้ว ผมจึงสังเกตเห็นว่าห้องที่เราสนทนากันอยู่นั้นเต็มไปด้วยหนังสือหลายชนิดหลายประเภทเรียงกันเป็นระเบียบเต็มแน่นทุกชั้น ส่วนใหญ่เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ นอกจากนั้นเป็นพวกนวนิยายซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งเป็นนิยายสืบสวนสอบสวนฉบับแปลจากภาษาต่างประเทศ เท่าที่เห็นมีผลงานของคุโรอิวะ รุอิโก นักประพันธ์และนักแปล ผลงานของวาน ไดน์ นักประพันธ์นิยายสืบสวนของอเมริกาด้วย ส่วนนิยายก็มีบทประพันธ์มีชื่อเสียงของนักเขียนต่างชาติฉบับแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น เรื่องมองเตคริสโต เหยื่ออธรรม และวิมานลอย เป็นต้น
ร้านหนังสือมารูเซ็น (1910)
“รู้สึกว่าท่านจะชอบนิยายสืบสวนนะครับ” ท่านผู้เฒ่าพยักหน้าบอกว่า

“ตอนหนุ่ม ๆ ชอบอ่านของรุอิโกนักเขียนญี่ปุ่น แต่พอหลัง ๆ ได้ไปต่างประเทศบ่อยก็เลยสนใจพวกนิยายนักสืบของต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ ท่านคาคุระ เท็นชิน นักปราชญ์มีชื่อเสียงที่คุ้นเคยกับฉันก็เป็นคนชอบนิยายนักสืบมากคนหนึ่ง คนที่บ้านท่านป่วยไม่มีใครหาสุราให้ดื่ม ท่านเลยใช้อุบายจัดงานชุมนุมเล่าเรื่องนักสืบอย่างเช่นของโคนันดอลย์ พอเล่าไปได้ครึ่ง ๆ ถึงตอนที่จะไขความลับท่านก็หยุด พอพวกเราคาดคั้นให้เล่าต่อ ท่านก็บอกว่าวันนี้เอาไว้แค่นี้ก่อนที่เหลือเอาไว้เล่าวันหลัง พวกเราก็ฮึดฮัดกันเพราะอยากรู้ ท่านก็ว่าถ้าอยากรู้เดี๋ยวนี้ก็ไปเอาเหล้ามาเพิ่ม เรื่องสืบสวนของโคนันดอลย์เหมาะมากสำหรับอุบายของท่านเท็นชิน แต่นิยายสืบสวนสมัยนี้มีรายละเอียดลึกลับซับซ้อนมากเหลือเกิน อ่านก็สนุกดีหรอกแต่ไม่เหมาะกับอุบายในวงเหล้าแบบนั้น”

“ผมก็ชอบนิยายสืบสวนสอบสวนมากเหมือนกันอ่านได้ทุกเรื่อง ท่านชอบหนังสือของใครบ้างครับ”

“ฉันชอบเรื่องของอากาธา คริสตีนักเขียนสตรีชาวอังกฤษมากเลย แต่ของวาน ไดน์ หรือว่าเอลเลอรี่ ควีนนี่ต้องฝืนใจอ่านจนจบ เพราะมันไม่มีตัวเอกที่น่าสนใจและดูยัดเยียดอะไร ๆ ให้คนอ่านยังไงไม่รู้ สมัยก่อนฉันจะไปร้านหนังสือมารูเซ็นเป็นประจำก็เพื่อไปหาซื้อหนังสือพวกนี้แหละ”

ท่านผู้เฒ่าทามอนหยิบหนังสือสืบสวนสอบสวนภาษาอังกฤษที่วางซ้อนกันอยู่ที่มุมหนึ่งของชั้นมาให้ดูทั้งตั้ง มีทั้งของ ฟรีแมน ครอฟต์ส ของริชาร์ด ฟรีแมน และของอีกหลายคน

“อย่างนี้ ท่านน่าจะมีความเห็นอะไรดี ๆ เกี่ยวกับคดีที่เกิดขึ้นครั้งนี้นะครับ”

ท่านทามอนเม้มปากนิ่งไปครู่หนึ่งก่อนเอ่ยเป็นเชิงถามว่า

 “คนฆ่านายวานิกับทามาโอะเป็นคนเดียวกันหรือไม่ ถ้าเป็นคนเดียวกัน...” ท่านเม้มปากเงียบไปอีก

“ซุนเป...เธอคิดยังไง มนุษย์เราไม่ว่าใครถ้าลองคิดจะฆ่าก็ฆ่าได้ คือใครก็ตามมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นฆาตกรกันทั้งนั้น ไม่ว่าใคร...ถ้าคิดจะฆ่าก็ฆ่าได้ทั้งนั้น”

ดวงตาของท่านผู้เฒ่าทามอนเป็นประกายวาววับขึ้นมาทันใด แล้วเบนมาจ้องหน้าเราเขม็งโดยไม่ปกปิดประกายวาวนั้น ริมฝีปากสั่นระริกคล้ายกับจะพูดอะไรออกมาแต่ก็ระงับเอาไว้

ผมกับเคียวโกะออกจากห้องของท่านทามอน ขณะเดินผ่านเฉลียงทางเดินหน้าห้องคุณทามาโอะเพื่อกลับไปที่เรือนฝรั่ง ก็ถูกผู้หญิงวัยราวสามสิบปีร่างสูงเพรียวคนหนึ่งในเครื่องแต่งกายชุดฝรั่งส่งเสียงเรียกออกมาจากห้องนั้น

“ฮัลโหล หยุดก่อน คุณสองคนชื่ออะไร”

“ถามทำไม คุณคือใครกัน"

“ฉันเป็นตำรวจ ที่ถามชื่อก็เพราะอยากจำหน้าพวกคุณให้ได้ทุกคน”

“อย่างนั้นเองหรือครับ” ผมเผลอหัวเราะออกไปเมื่อนึกขึ้นได้ “งั้นคุณก็คือ อาตาพินเซ็นเซนั่นเอง”

“เสียมารยาท” อาตาพินเซ็นเซทำตาถมึงทึง “พวกคุณที่มาชุมนุมกันอยู่ที่นี่เหมือนกันหมดไม่ว่าหญิงหรือชาย หาดีไม่ได้สักคน บอกว่าเป็นนักประพันธ์บ้างละ ดาราละครบ้างละ แต่ละคนเพี้ยนกันไปหมด มันถึงได้เกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้นมายังไง”

“ขออภัยเถิดครับ มันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ แล้วยังไงล่ะครับ เห็นพื้นที่เกิดเหตุแล้วแจ่มกระจ่างขึ้นมาทันทีไหมล่ะครับ คุณตำรวจสมองใส ช่วยบอกทีว่าใครเป็นฆาตกร”

“เงียบ”

“ขอโทษครับ...ขอโทษ”

ผมตั้งท่าจะเดินต่อไป เจ้าหล่อนก็คว้าข้อมือผมดึงตัวกลับมา

“ฉันต้องการรู้ชื่อคุณ รักษามารยาทหน่อยได้ไหม”

“ได้ชื่อว่าคุณตำรวจหญิงสมองใสทั้งที ก็ทายดูซิครับว่าเราชื่ออะไร การขู่ให้คนบอกชื่อ เป็นการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญนะครับ ฮะ ฮะ ฮะ” ผมยั่วให้อาตาพินเซ็นเซโกรธแล้วพาเคียวโกะเดินหนีไป

กว่าผมจะได้นั่งลงสงบจิตสงบใจปรึกษาหารือกับดอกเตอร์โคเซและคาซุมะได้ก็บ่ายสามโมงล่วงแล้ว

คณะที่มารับกระดูกของนายวานิซึ่งประกอบด้วยประธานบริษัทและหัวหน้าแผนกจัดพิมพ์ของสำนักพิมพ์ที่จัดพิมพ์หนังสือรวมชุดของนักประพันธ์เรืองนามผู้นี้ พร้อมทั้งหนุ่มพนักงานบริษัทและลูกศิษย์ของเขาคนหนึ่งมาถึงแล้วเมื่อก่อนเที่ยง แต่สถานีตำรวจยังไม่นำศพของนายวานิที่นำไปผ่าชัณสูตรกลับมาส่ง ตามกำหนดคือเมื่อศพมาถึงก็จะจัดการเผาทันที แต่เนื่องจากที่หมู่บ้านไม่มีโรงเผาศพ จึงต้องก่อกองฟืนเผากันกลางแจ้งซึ่งด้วยใช้เวลาทั้งคืน

กว่าจะจัดการอะไร ๆ ให้ลุล่วงลงไปได้ก็ชุลมุนวุ่นวายกันพอดู ไหนจะต้องจัดเตรียมห้องสำหรับรับศพนายวานิ เจรจาต่อรองกับพระที่จะมาทำพิธี ติดต่อกับเจ้าหน้าที่สถานเผาศพซึ่งก็ไม่รู้ว่ามาจากที่ไหนและมายังไงเหมือนกัน แต่ก็มาถึงพร้อมด้วยม่านสีดำแล้วจัดการทำเชิงตะกอนเพื่อเผาศพขึ้นมาด้วยความแคล่วคล่องว่องไว

ในที่สุดผมก็ได้โอกาสคุยกับดอกเตอร์โคเซและคาซุมะเป็นความลับสมความตั้งใจ

“ผมมีเรื่องอยากรายงานให้คุณสองคนรับรู้เอาไว้ คือเมื่อคืนนี้ผมกลับไปห้องส่วนตัว แต่นอนไม่หลับก็เลยออกไปเดินเล่น ไม่รู้ชัดว่ากี่โมงแต่คิดว่าราวห้าทุ่ม เคียวโกะหลับแล้วคิดว่าคงไม่รู้ว่าผมออกไป

“ค่ะ ตอนออกไปไม่รู้ แต่ตอนกลับมาจำได้ลาง ๆ”

“ผมออกไปทางประตูห้องกินข้าว ตั้งใจจะไปทางป่าต้นบุนะ แต่พอเดินไปถึงประตูหลังบ้านก็เปลี่ยนใจเดินกลับมาทางสวน อ้อมบ่อน้ำไปที่ “ยุเมะโดโนะ” ปีนขึ้นไปที่แอ่งน้ำตกเพื่อไปทางศาลาและพอมองลงมาก็เห็นเรือนน้ำชาที่อยู่ติดกับสระน้ำมีแสงลอดออกมา ตอนนั้นเองมีผู้หญิงคนหนึ่งหายแวบเข้าไปในความมืด ผมไม่เห็นตอนที่ออกมาแต่คิดว่าคงจะออกมาจากเรือนนั้น ตอนที่เห็นผมคิดว่าคงจะกลับออกมาจากห้องคุณพ่อแล้วเดินอ้อมไปทางครัว เห็นชัดว่าเป็นผู้หญิงแต่ไม่รู้เลยว่าเป็นใคร แต่หลังจากนั้นครู่หนึ่ง คราวนี้มีผู้ชายคนหนึ่งออกมาจากเรือนนั้น หมอเอบิสึกะครับ ใส่เสื้อเชิ้ตแขนสั้นกับกางเกง เขานั่งลงล้างมือในสระแล้วล้วงผ้าเช็ดหน้าออกมาเช็ดมือ ทำท่าจะปีนเนินเขาไปทางสวนแต่กลับหันมาเดินไปในทางเดียวกับผู้หญิงคนนั้นหายลับไป ผมเห็นแค่นั้นแต่ก็ซุ่มดูอยู่อีกราวสิบนาทีจึงกลับห้อง”

“ยุเมะโดโนะ” คือหอหกเหลี่ยมที่ท่านทามอนจำลองแบบย่อส่วนมาจาก “ยุเมะโดโนะ”ของโชโตกุไทชิเจ้าชายผู้มีบทบาทสำคัญในสมัยโบราณ ส่วนเรือนน้ำชาก็จำลองแบบมาจากที่ใดสักแห่งของบ้านสมัยโบราณ ภายในแบ่งเป็นสองห้องคือห้องปูด้วยเสื่อทาทามิแบบญี่ปุ่น กับห้องตั้งโต๊ะเก้าอี้แบบจีน

“อ้อ ถ้าอย่างนั้นเมื่อวานหมอเอบิสึกะก็พักอยู่ที่เรือนน้ำชาซีนะ ระยะนี้รู้สึกว่าจะนอนที่นั่นแทบทุกคืน ผมไม่ได้ใส่ใจหรอกกว่าใครที่หมู่บ้านจะขึ้นมาพัก ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้วบ้านนี้ไม่มีกฎระเบียบเคร่งครัด อย่างเช่นใครจะมาพักต้องขออนุญาตเจ้าของบ้าน เจ้าของบ้านก็อยู่ส่วนหนึ่ง บริวารคนรับใช้ก็อยู่ส่วนหนึ่งเป็นอิสระต่อกัน หมอเอบิสึกะนั้นถือว่าเป็นสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัว เวลามาที่นี่ตอนกลางคืนส่วนใหญ่ก็จะนอนค้าง ใครจะอยากเดินเขยกกลับโรงพยาบาลตั้งเกือบสี่กิโลใช่ไหม ก่อนสงครามบ้านเรามีรถยนต์ใช้ แต่ตั้งแต่เกิดสงครามอย่าว่าแต่รถยนต์เลย ทั้งหมู่บ้านแม้แต่รถลากก็หาไม่ได้สักคัน หมอเอบิสึกะรู้ตัวว่าเป็นคนแปลกจากคนอื่นเขา ก็เลยไม่อยากนอนที่เรือนใหญ่และไปยึดเอาเรือนน้ำชาเป็นที่พักแรมไม่รู้ว่าตั้งแต่เมื่อไร เวลามีคนไข้ฉุกเฉินทางโรงพยาบาลก็จะโทร.มา เมื่อคืนก็คงจะถูกโทร.เรียกละมัง”

“งั้น เรียกยาเอะมาถามดูไหม”

คุณนายอายากะหมุนโทรศัพท์ภายในเรียกหาหญิงรับใช้ส่วนตัว แต่ปรากฏว่ายาเอะไปทำธุระที่หมู่บ้าน จึงได้ตัวโมโรอิ นางพยาบาลมาแทน

“คุณพยาบาลไม่ได้ไปโรงพยาบาลหรอกรึ”

“ค่ะ วันนี้มีธุระอยู่กับตำรวจจนถึงเที่ยง และเมื่อเช้านี้คุณนางุโมะปวดท้อง ดิฉันก็เลยฉีดยาให้และดูอาการอยู่”

“คุณอายูระรึ”

“ไม่ใช่ค่ะ คุณตานางุโมะ”

“เมื่อคืน ที่โรงพยาบาลไม่ได้มีคนไข้ฉุกเฉินหรอกหรือ”

“ไม่มีค่ะ” นางพยาบาลตอบพลางชำเลืองไปที่คาซุมะด้วยสายตาชาเย็น

“ถ้างั้น เมื่อคืนคุณก็ไม่ได้พบกับหมอเอบิสึกะด้วยธุระเรื่องโรงพยาบาลหรืออะไร”

“ไม่มีอะไรที่จะต้องไปพบนี่คะ”

“เมื่อคืนนี้หมอเอบิสึกะพักที่เรือนน้ำชาหรือ”

“เห็นแต่เมื่อเช้าที่บ้านนี้ เมื่อคืนดิฉันไม่ทราบค่ะ” นางพยาบาล เบือนหน้าไปทางหนึ่งด้วยท่าทีเย็นชา

“หมดธุระกับดิฉันหรือยังคะ”

“เสร็จแล้ว ขอบคุณมาก อย่าถือเอามาเป็นอารมณ์เลยนะที่เราถามอะไรแปลก ๆ”

“ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาระหว่างหมอเอบิสึกะกับคุณนายยูระละก็ถามคุณชิงุซะจะดีกว่า คืนไหนที่คุณหมอมาพักที่เรือนน้ำชาเธอจะต้องไปที่นั่นทุกครั้งไป คุณ ๆ อาจไม่ทราบแต่พวกข้างล่างเขารู้กันแทบทุกคน เพราะเธอไม่ได้ไปอย่าง แอบ ๆ แต่กลับทำเหมือนเป็นเรื่องที่ควรแก่ความภาคภูมิด้วยซ้ำ”

เจ้าหล่อนปรายตามาทางเราขณะค้อมตัวคำนับทำมุม 45 องศาอย่างเป็นพิธีรีตอง แล้วออกจากห้องไป
[ตัวละครในเรื่องและความสัมพันธ์ระหว่างกัน]
อุตางาวะ ทามอน บิดาของคาซุมะ
เอบิสึกะหมอขาเป๋ ลูกญาติห่าง ๆ ที่นายอุตางาวะผู้อุปถัมภ์ให้เรียนหอมและมาประจำอยู่ที่หมู่บ้าน
โมโรอิ โคโตมิ นางพยาบาล
อายากะ ภรรยาคนปัจจุบันของคาซุมะ
ชิงุซะ หญิงขี้ริ้วลูกพี่ลูกน้องของคาซุมะ
ทามาโอะ น้องสาวคาซุมะ
โคโจ ดาราสาว ภรรยาของ (โคโรกุ) ฮิโตมิ นักเขียนบทละคร
ดอกเตอร์โคเซ นักสืบอัจฉริยะ
ผม ยาชิโระ ซุนเป คนเล่าเรื่อง ภรรยาชื่อเคียวโกะ เคยเป็นเมียน้อยนายอุตางาวะ ทามอน บิดาของคาซุมะ


กำลังโหลดความคิดเห็น