xs
xsm
sm
md
lg

ฆาตกรรม(ไม่)ต่อเนื่อง-ใครฆ่าใคร ตอน 2. แปลกเหลือเชื่อ 1 (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

จากบทประพันธ์ของ Ango Sakaguchi (1906-1955)
ปรมาจารย์แห่งความลึกลับของฆาตกรรมปริศนา
แปลและเรียบเรียงโดย ฉวีวงศ์

สงครามเพิ่งสงบ สังคมนครหลวงสมัยโชวะพยายามดิ้นรนกลับสู่ยุคทองในอดีตที่ไม่ใช่ว่าไกลโพ้น
ไม่เคยมีเสียดีกว่า ต้องสูญเสียไปแล้วอยากได้คืน...

2. แปลกเหลือเชื่อ 1 (ต่อ)

เช้าวันที่ 10 กรกฎาคม ผมได้รับจดหมายจากคาซุมะฉบับหนึ่ง เขียนมาว่า

ผมสั่งให้สำนักงานท่องเที่ยวส่งตั๋วมาถึงคุณในวันที่ 15 กรกฎาคม ขอให้ขึ้นรถไฟเที่ยวสุดท้ายของวันนั้นมาที่นี่ ตั๋วมี 3 ใบ ใบหนึ่งเป็นของดอกเตอร์โคเซ ช่วยพยายามหว่านล้อมไม่ว่าจะด้วยวิธีใดให้เขามากับคุณ ขอขอบคุณอย่างยิ่งมาล่วงหน้า

อาชญากรรมสยองขวัญกำลังจะเกิดขึ้น เลือดของคนหลายคนจะเนืองนอง คุณกับดอกเตอร์โคเซเท่านั้นที่จะช่วยผมได้ และโอเคียว โอเคียว ช่วยผมด้วย ผมกำลังคอยอยู่เบื้องหน้าทะเลเลือดอันมืดทะมึน

บ่ายวันที่ 15 คนของสำนักงานท่องเที่ยวเอาตั๋ว 3 ใบมาให้ พร้อมทั้งอธิบายว่ารถไฟเที่ยวสุดท้ายไปยังเมือง N ออกเวลา 23.35 น. และถึงเมือง N เวลา 7.00 น. วันรุ่งขึ้น และให้ขึ้นรถบัสเที่ยวแรกไปยังจุดหมายบนภูเขา

คาซุมะทำงานที่สำนักงานท่องเที่ยว มีส่วนร่วมในการวางแผนด้านโฆษณาและวัฒนธรรม เขาเป็นคนตรงไปตรงมาและบางครั้งก็พูดอะไรแบบขวานผ่าซาก ซึ่งออกจะคบยากและอึดอัดสักหน่อยสำหรับผมซึ่งเป็นคนเปิดเผยคบคนง่าย แต่แรกเคียวโกะก็ทำท่าไม่อยากยุ่งด้วย แต่เนื่องจากเนื้อหาของจดหมายน่ากลัวมาก อีกทั้งผู้หญิงส่วนใหญ่มักจะอ่อนไหวกับเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ โดยเฉพาะรายนี้เป็นเรื่องความรักระหว่างพี่น้องด้วยกัน นางจึงคลายความแข็งขืนลงในที่สุด บอกว่าไปก็ได้แล้วก็ไปหาดอกเตอร์โคเซด้วยกันกับผม ตามที่คาซุมะขอร้องมาในจดหมาย

ดอกเตอร์โคเซนั้นถึงจะเรียกว่าดอกเตอร์แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้เป็นศาสตราจารย์หรืออะไร ยังเป็นหนุ่มกว่าผมและคาซุมะถึง 11 ปี ดูเหมือนปีนี้จะยังแค่ 29 ตอนนายโคเซเรียนอยู่มัธยมต้นอายุราว 17 ปีเคยมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์บอกว่าอยากเป็นนักประพันธ์ พอผมบอกว่ามาเป็นลูกศิษย์คนอย่างผมที่อายุก็ยังน้อยและเพิ่งเริ่มเข้าวงการให้เสียเวลาทำไม ไปหาพวกนักประพันธ์ใหญ่ ๆ ไม่ดีกว่ารึ นายโคเซก็แถไปว่าคนหนุ่มเป็นครูเป็นลูกศิษย์กันนั่นแหละดี

ไม่นานหลังจากนั้นนายโคเซก็หันไปเอาจริงเอาจังกับการเป็นนักสืบ จริง ๆ แล้วที่มหาวิทยาลัยนายโคเซเรียนวิชาศิลปะที่ฟังดูเท่ดี แต่ความที่ไม่ได้สนใจท่องหนังสือและรู้ตัวว่าคงสอบเข้าคณะอื่นไม่ได้ ผลสุดท้ายก็เลยเป็นเช่นนี้

พอหันมาสนใจเรื่องนักสืบแววอัจฉริยะก็ปรากฏออกมาอย่างน่าประหลาด อัจฉริยะจริง ๆ ไม่ได้พูดเล่น ที่ผ่านมานายโคเซคนนี้สืบสวนสำเร็จมาหลายคดีจนนับไม่ถ้วน มีบางคดีที่นายคนนี้แสดงความฉลาดแหลมคม ถอดรหัสคดีที่ยากเย็นด้วยสายตาที่เฉียบขาดตรงเป้า จับความรู้สึกและอ่านใจฝ่ายตรงข้ามอย่างเจาะลึกในรายละเอียดด้วยชั้นเชิงจิตวิทยาได้แม่นยำอย่างน่ากลัวเลยทีเดียว คดีอาชญากรรมใดก็ตามพอมาถึงมือพ่อนักสืบเอกคนนี้ สภาพจิตของคนร้ายจะถูกเขาอ่านออกมาทีละฉาก ๆ ไม่มีตกหล่น นายโคเซจะวิเคราะห์รหัสคดีทุกแง่ทุกมุมให้เห็นภาพอย่างชัดเจน คำนวณหาความเป็นไปได้ แล้วก็ได้คำตอบ แต่สำหรับพวกเราที่เฝ้าดูอยู่นั้นไม่มีทางรู้ว่าเขาใช้สูตรอะไร วิธีอะไรในการสืบสวน

สำหรับเราที่อยู่ในวงการวรรณศิลป์ จิตใจของมนุษย์เป็นสิ่งเราไม่สามารถชี้ขาดลงไปได้อะไรเป็นอะไร วังวนแห่งจิตใจของมนุษย์นั้นลึกล้ำไม่มีขอบเขตจำกัด ดังนั้นจึงมีการเขียนถึงจิตใจมนุษย์ในรูปของวรรณศิลป์ อย่างกาพย์กลอนและนิยาย แต่สำหรับนายนักสืบคนนี้ เขาสามารถอ่านจิตใจมนุษย์แยกแยะได้ชัดเจนเสมอ

“อ่านใจมนุษย์ได้ถ่องแท้อย่างนี้ ทำไมนายถึงแต่งนิยายไม่เอาไหนอย่างนี้ล่ะ”

พอผมแกล้งยั่วนายนั่นก็หัวเราะแล้วย้อนว่า

“ก็เพราะแต่งนิยายไม่เอาไหนน่ะซีครับ ถึงได้อ่านอาชญากรรมออก”

นายโคเซคงไม่ได้พูดให้ฟังดูเท่หรือว่าถ่อมตัวอะไร คำพูดนั้นมีความหมายชัดเจนตรงเป้าเลยทีเดียว เวลาถอดรหัสคดีนายนักสืบคนนี้จะมองมนุษย์โดยหยุดอยู่ที่ปรัชญาอาชญากรรมอันเป็นเส้นเกณฑ์ต่ำสุด ไม่ก้าวล่วงเข้าไปในวังวนที่ไม่มีขอบเขตสิ้นสุด นั่นคือความเป็นอัจฉริยะของเขา

ดังนั้นนายโคเซจึงเขียนนิยายไม่ได้ดีเพราะ วรรณศิลป์ไม่มีเส้นกำหนดขอบเขตการมองมนุษย์ นายคนนี้เป็นนักสืบอัจฉริยะก็จริงแต่อาจเรียกได้ว่าเป็นคนซื่อบื้อทางวรรณศิลป์

เราเชื่อฝีมือการสืบสวนของเขาอย่างไม่มีข้อกังขาใด ๆ และเรียกนายคนขี้เกียจเรียนหนังสือคนนี้ว่าดอกเตอร์ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีความรู้ด้านวิชาการที่ต้องแบกไว้ให้เมื่อยบ่าสักอย่าง มีแต่อะไรที่ดูจะเป็นการบันเทิงไปเสียทุกอย่าง ถ้าพูดถึงหนังสือก็เห็นมีตั้งแต่หนังสือชั้นดีหน่อยอย่างพวกหนังสือรวมเรื่องเล่า หนังสือชุดราคุโงะซึ่งเป็นเรื่องเล่าตลกขบขันดั้งเดิม ไปจนถึงนิตยสารภาพยนตร์ โปรแกรมแข่งขันซูโม่ และพวกหนังสือลามก เห็นอ่านจนถึงบางครั้งก็ตลอดคืน ดังนั้นถ้าเป็นเรื่องไร้สาระละก็บอกได้เลยว่าล่วงรู้ไปทุกอย่าง

ผมไปหา เอาจดหมายให้ดูแล้วขอให้ไปช่วยกันหน่อย ดอกเตอร์โคเซบอกว่า

“อย่างนั้นหรือครับ ดีเหมือนกันจะได้มีที่หนีร้อน มีอาหารให้กินมีสาเกให้ดื่มด้วย แต่คืนนี้ผมไปไม่ได้ครับ”

“ทำไมล่ะ”

“พูดยาก เดี๋ยวใครได้ยิน เอียงหูมาซิ มี—นัด---กับ—แฟน เข้าใจหรือยัง”

“อ้อ ดอกเตอร์ก็มีแฟนกับเขาด้วย ผู้หญิงอย่างว่าละซี”

“อะไร้...เซ็นเซไปก่อนเถอะ ผมจะไปคืนพรุ่งนี้ อยากเอาเธอไปด้วยนะ”

“พามาเลย ไม่ต้องเกรงใจ”

“ไม่ได้ ไม่ได้ จะให้ผมพาสาวบริสุทธิ์ไปอยู่ในฝูงเสือฝูงหมาป่าได้ยังไง”

“ไม่ยักรู้ว่าดอกเตอร์ชอบเด็กรุ่นกระเตาะ เอาเข้าไป รสนิยมแบบนี้ฉันเห็นจะไม่สู้ละ”

ผมออกเดินทางตามที่คาซุมะกำหนดไว้ในจดหมาย

รถไฟในช่วงนี้ของปีแน่นขนัดไปด้วยนักเดินทาง เรื่องที่นั่งและที่นอนไม่ต้องพูดถึงเพราะแม้จะหาที่ยืนก็ยังยาก ไปห้องสุขาก็ไม่ได้ นับว่าเป็นการเดินทางที่เรียบง่ายเพราะแทบไม่ต้องกระดิกตัว

พอลงที่เมือง N ผมตกใจเมื่อได้ยินเสียงเรียกจากคนที่ไม่คาดฝันว่าจะได้พบ คามิยามะ ฮิโรชิ กับ คิโซโนะ ภรรยา ลงมาจากรถขบวนเดียวกัน

ช่วงหลบภัยระหว่างสงครามสามีภรรยาคู่นี้เคยเยี่ยมหน้าเข้ามาที่บ้านบนภูเขานิดหนึ่ง นายคามิยามะเป็นทนายความ เคยเป็นเลขานุการของนาย อุตางาวะ ทามอนมาจนถึงเมื่อแปดเก้าปีที่แล้ว ส่วนนางคิโซโนะเคยเป็นเกอิชาอยู่ที่ย่านชิมบาชิ แต่ได้ลาออกมาเป็นนางบำเรอของนายทามอน แต่ได้ลอบรักกับนายคามิยามะซึ่งจากนั้นได้ลาออกจากตำแน่งเลขานุการแต่ดูเหมือนว่าจะมาเยี่ยมเยือนนายเก่าเป็นบางครั้ง ทนายความเป็นอาชีพที่ใช้สมองแต่หน้าตาท่าทางของนายคามิยามะไม่สมกับอาชีพนี้เลย ความที่เป็นคนร่างกายใหญ่โตบึกบึนดูมีพละกำลังทำให้ดูเหมือนพวกแก๊งอันธพาลมากกว่า ทุกคนในบ้านอุตางาวะเกลียดนายคนนี้ไม่ว่าจะหันไปทางไหน แม้แต่หญิงรับใช้ก็ทำหน้ารังเกียจ ชวนใครพูดก็ไม่มีใครพูดใครตอบ

“โอเคียวซังก็มาด้วยหรือนี่ ใช่ ๆ ยินเรื่องที่เธอแต่งงานกับยาชิโระเซ็นเซแล้ว เซ็นเซของเราเห็นอย่างนี้จริง ๆ แล้วไม่เลวเลยทีเดียว มันก็ต้องอย่างนั้นแหละนะ นักประพันธ์ดูสงบเสงี่ยมแต่เรื่องนั้นมันก็ต้องดุเดือดกันบ้าง ผมละยอมแพ้เลย ต้องขอฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะครับ”

ผมไม่ตอบ

“ยาชิโระเซ็นเซก็กำลังจะไปบ้านคุณอุตางาวะใช่ไหม งั้นเราไปด้วยกัน”

“คุณก็ไปบ้านคุณอุตางาวะรึ”

“ครับ คือยังไงดีล่ะ คือผมได้รับจดหมายเชิญ รู้สึกแปลก ๆ เหมือนกัน”

พอขึ้นรถบัส ผมก็ต้องเพลียใจเมื่อพบกับคนที่ไม่คาดคิดว่าจะพบและเป็นคนที่ผมไม่ชอบขี้หน้าเข้าอีกคน โดอิ โคอิชิ นั่งอยู่บนรถบัสแล้ว เขาทักทายผมด้วยการก้มศีรษะเหมือนเป็นการพบกันตามปกติธรรมดา

“อ้าว นั่นนายกำลังจะไปไหน”

“ก็จะให้ไปไหนล่ะ ทุ่งนาป่าเขารกร้างหาอะไรดีไม่ได้อย่างนี้ จะให้ไปที่ไหนอื่นได้นอกจากบ้านของอุตางาวะ คาซุมะ นายก็เหมือนกันไม่ใช่รึ”

หมอนี่มาด้วยธุระอะไรกัน

“นายมานี่มีธุระอะไรรึ”

“บ้ารึเปล่า ฉันน่ะรึจะมีธุระอะไรกับกวีต๊อกต๋อยอย่างนั้น เงินที่ได้มาถึงจะใช้ดื่มกินไปหมดแล้ว แต่ฉันก็ไม่ได้สิ้นไร้ไม้ตอกถึงกับต้องมารีดไถเขาอีก นายนั่นเป็นคนเชิญฉัน บอกให้มาให้ได้ มีสาเกมีอาหารพร้อม ฉันเองก็แปลกใจเหมือนกันว่านายคาซุมะคิดอะไรถึงได้เชิญฉันมา แต่ก็เห็นว่ามีสาเกก็เลยคิดว่าอยากให้มาดื่มด้วย ก็ไม่เป็นไร มาได้อยู่แล้ว”

นายโดอิมองไปที่เคียวโกะแล้วหัวเราะเสียงขึ้นจมูก....

[ตัวละครในเรื่องและความสัมพันธ์ระหว่างกัน]
อุตางาวะ (ทามอน) บิดาของ คาซุมะ และ ทามาโอะ
คุณนายคาจิโกะ ภรรยาอุตางาวะ (ทามอน) แม่เลี้ยงคาซุมะตายปริศนา
ดอกเตอร์โคเซ นักสืบอัจฉริยะ
ผม ยาชิโระเซ็นเซ คนเล่าเรื่อง ภรรยาชื่อเคียวโกะ เคยเป็นเมียน้อยนายอุตางาวะ (ทามอน) บิดาของ คาซุมะ
คามิยามะ ฮิโรชิ (ทนายความ) กับ คิโซโนะ ภรรยา (อดีตเกอิชา บางบำเรอของนายทามอน)
โคอิชิ (โดอิ) จิตรกรอดีตสามีของอายากะ
อายากะ ภรรยาคนปัจจุบันของคาซุมะ


กำลังโหลดความคิดเห็น