คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน เวลาอากาศร้อน ๆ เพื่อนผู้อ่านนึกถึงของกินอะไรเป็นพิเศษบ้างไหมคะ ที่ญี่ปุ่นในช่วงฤดูร้อนจะมีของกินบางอย่างโดยเฉพาะวางขายกันมาก ตามแบบฉบับของประเทศที่นิยมรับประทานอาหารประจำฤดูกาล นับเป็นเรื่องสนุกที่น่ารอคอยอย่างหนึ่งของปีเหมือนกัน
ฉันเลือกมาเฉพาะของกินแบบที่ต่างจากบ้านเรานะคะ มีอะไรบ้างมาดูกันดีกว่า
แตงกวาแช่เย็นเสียบไม้
เป็นอะไรที่นึกไม่ถึงสำหรับฉันมาก ตอนเห็นแตงกวาเสียบไม้วางซ้อน ๆ กันอยู่ในลังแช่น้ำแข็งที่วางขายตามงานเทศกาลในฤดูร้อน แล้วมีคนซื้อรับประทานอย่างเอร็ดอร่อย ฉันก็ไม่เข้าใจว่าแตงกวาจืด ๆ แช่เย็นนี่กินเปล่า ๆ มันจะไปอร่อยอย่างไร ภายหลังถึงได้ทราบว่าแตงกวาเหล่านี้เขาดองอ่อน ๆ ไว้นี่เอง ฉันเคยลองทำที่บ้านเหมือนกันค่ะ แต่หั่นแตงกวาเป็นแว่น แช่น้ำสำหรับดองผักโดยเฉพาะที่ขายบรรจุขวด รับประทานเป็นเครื่องเคียงในมื้ออาหาร รสเค็มอ่อน ๆ อร่อยดี
โซเม็ง
โซเม็งเป็นบะหมี่ชนิดหนึ่งสีขาวเส้นเล็ก ดูคล้ายหมี่ซั่ว นิยมรับประทานเย็น ๆ แบบเดียวกับโซบะเย็นหรือซารุโซบะ คือเอาไปลวกให้สุกแล้วล้างน้ำเย็นให้ความร้อนคลายตัว จากนั้นจับเป็นขดพอดีคำเอาไว้ (คล้ายจับขนมจีนเป็นคำ ๆ ไว้) จะได้ไม่เกาะกันเป็นพรืดภายหลัง จากนั้นเอาไปแช่เย็นหรือถ้าจะรับประทานเลยก็ใส่น้ำแข็งไว้ ส่วนซอสก็ใช้สึหยุผสมน้ำเย็นตามความเข้มข้นที่ชอบ โรยหน้าด้วยหอมซอย เหยาะวาซาบิหรือขิงขูดเป็นฝอยลงไปถ้าชอบเผ็ด คนให้เข้ากัน เวลารับประทานก็คีบโซเม็งจุ่มลงในชามสึหยุรับประทาน ถ้ารับประทานคู่กับผักดองอ่อน ๆ หรือผักสดตามฤดูกาลก็เข้ากันดี บางคนก็นิยมรับประทานกับข้าวอย่างอื่นไปด้วย
ฉันเคยไปเที่ยวในจังหวัดค่อนไปทางใต้ของญี่ปุ่นในฤดูร้อน เพื่อนพาไปรับประทานโซเม็งในน้ำซึ่งเรียกว่า “โซเม็งนางาฉิ” (そうめん流し) “นางาฉิ” แปลว่า “ลอย” (เช่น ลอยกระทง ลอยโคม) หรือ “ปล่อยให้ไหล”
โซเม็งนางาฉิมีทั้งร้านที่ใช้ปล้องไม้ไผ่ตัดครึ่งตามยาว แล้วปล่อยให้เส้นโซเม็งไหลมาตามรางของปล้องไม้ไผ่ ลูกค้าที่นั่งเรียงกันตามยาวอยู่หน้าปล้องไม้ไผ่ก็คีบเส้นขึ้นมาจุ่มสึหยุรับประทาน
บางร้านก็ใช้เครื่องพลาสติกกลม ๆ เส้นโซเม็งก็จะไหลวนไปมาเป็นวงกลมอยู่ในนั้นแทนที่จะไหลตามแนวยาว ฉันว่าแบบนี้น่าจะเรียกว่า “โซเม็งมาวาฉิ” มากกว่า (“มาวาฉิ” แปลว่า “หมุน”) แต่ก็ไม่มีใครเรียกกันอย่างนั้น เครื่องหมุนพลาสติกพวกนี้พัฒนาไปไกลถึงขนาดทำรูปร่างคล้ายเครื่องเล่นในสวนน้ำที่เป็นท่อขดไปมาเป็นสไลเดอร์ ดูแล้วเหมือนของเล่นมากกว่าของกิน
ส่วนในจังหวัดคาโกชิมะซึ่งว่ากันว่าเป็นต้นแบบของการใช้ปล้องไม้ไผ่ในการรับประทานโซเม็งนี้ จะเรียกกลับข้างกันว่า “นางาฉิโซเม็ง” (流しそうめん) แม้เดี๋ยวนี้จะใช้เครื่องหมุนกันมากขึ้นก็ยังเรียกแบบนี้
เห็นเขาว่าการปล่อยให้เส้นโซเม็งอยู่ในน้ำแบบนี้ทำให้เส้นชุ่มฉ่ำ แต่น้ำที่โซเม็งไหลมาหรือหมุนไปมาก็เป็นเพียงน้ำอุณหภูมิห้องอยู่ดี ฉันไม่ค่อยรู้สึกว่ามันชวนให้หายร้อน จึงชอบรับประทานแบบปกติมากกว่า โดยเฉพาะถ้ารับประทานในบ้าน พอเส้นหายเย็นก็เอาน้ำแข็งมาวางใหม่ ไม่ก็ใส่น้ำแข็งลงในชามสึหยุเสียเลย
ฮิยาฉิจูกะ (บะหมี่เย็น)
บะหมี่เหลืองชนิดนี้มีขายเฉพาะฤดูร้อนเท่านั้น นิยมใส่แตงกวา มะเขือ ไข่ แฮมหรือเนื้อไก่ต้ม หั่นเป็นเส้นยาว ๆ ราดซอสขลุกขลิกที่ทำสำหรับฮิยาฉิจูกะโดยเฉพาะ มีขายตามร้านอาหารทั่วไป หรือจะซื้อเส้นกับน้ำซอสมาจากซูเปอร์มาร์เก็ตมาใส่เครื่องเคียงทำเองที่บ้านก็ได้
น้ำแข็งไส
อันนี้บ้านเรามีก็จริง แต่ฉันว่ารสชาติกับบรรยากาศไม่เหมือนกัน ที่ญี่ปุ่นถ้าขายตามงานวัดหรืองานเทศกาล บางทีคนขายก็ปล่อยให้ลูกค้าใส่น้ำหวานกันเองตามสบาย ถ้ารับประทานตามร้านขนมสไตล์ญี่ปุ่นก็จะมาเป็นชามใหญ่ ๆ มักใส่เครื่องมาด้วย ถ้าเป็นคาเฟ่ก็อาจจะมีหลากรสหลากเครื่องให้เลือก ตามร้านมักจะไม่ราดน้ำหวานให้เต็ม มักราดเยอะส่วนบนไม่ก็ส่วนล่าง และน้ำหวานของญี่ปุ่นไม่ค่อยหวาน และไม่ข้นเหมือนน้ำหวานบ้านเรา
เอาเข้าจริงมันก็ไม่ได้อร่อยมากมาย แต่ตอนอากาศร้อน ๆ เห็นแล้วก็อยากรับประทานทุกที ลิ้มรสทีไรก็คิดถึงน้ำแข็งไสแบบบ้านเรา ที่เป็นรถเข็นเอาน้ำแข็งก้อนสี่เหลี่ยมโต ๆ มาไส ทั้งโปะทั้งอัดใส่ถ้วยกระดาษไขเสียน้ำแข็งสูงปรี๊ด ราดน้ำหวานเยอะ ๆ ใส่นมข้นเพียบ ไม่ได้รับประทานเป็นสิบปีแล้วยังจำรสชาติและความดีใจยามรถน้ำแข็งไสมาแถวบ้านได้อยู่เลยค่ะ เดี๋ยวนี้คงแทบไม่มีขายแล้ว
โทโคโระเต็น
โทโคโระเต็นเป็นขนมโบราณเก่าแก่มาเป็นพันปีแล้ว ทำจากสาหร่ายสีแดงบางจำพวก ลักษณะคล้ายวุ้นใส แต่แข็งกว่าวุ้นและเยลลี่ ปัจจุบันนิยมรับประทานกับน้ำซอสที่ทำจากโชยุกับน้ำส้มสายชู หรืออาจผสมมิรินด้วย ถ้าเป็นภูมิภาคคันไซจะใส่เป็นน้ำเชื่อมทำจากน้ำตาลทรายแดง
ฉันเคยรับประทานแบบแรก รสแปลกดีค่ะ เหมือนเคี้ยวเยลลี่จืด ๆ หนึบ ๆ คลุกน้ำเปรี้ยว ๆ เค็ม ๆ จะว่าอร่อยก็ไม่ใช่ ไม่อร่อยก็ไม่เชิง แต่คิดว่ารสนี้น่าจะไม่ถูกปากคนต่างชาติเท่าไหร่ แบบที่สองน่าจะอร่อยกว่าเพราะน่าจะหวาน ๆ ไว้มีโอกาสจะลองหาทานดู แต่อาจต้องไปภูมิภาคคันไซถึงจะมีแบบที่สองนี้ ถ้าเพื่อนผู้อ่านอยากลองโทโคโระเต็น เวลาไปญี่ปุ่นตอนฤดูร้อนก็ลองหาในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านสะดวกซื้อดูนะคะ
ปลาไหลย่าง
อากาศร้อน ๆ เห็นปลาไหลย่างแล้วน่าจะชวนให้ร้อนกว่าเดิม แถมฤดูกาลของปลาไหลจริง ๆ คือฤดูใบไม้ร่วงถึงฤดูหนาวซึ่งปลาไหลมีไขมันเยอะ ตอนหน้าร้อนจึงน่าจะไม่ค่อยอร่อยเท่าไหร่ด้วยซ้ำ แต่มักจะเห็นโปสเตอร์หรือธงปักหน้าร้าน โฆษณาขายปลาไหลย่างให้เห็นกันดาษดื่นในฤดูร้อน
ว่ากันว่าเดิมทีปลาไหลย่างไม่ได้เป็นอาหารที่นิยมในฤดูร้อนเลย ส่วนที่มาที่ไปแม้จะไม่แน่ชัด แต่ที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันดีคือเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ค่ะ
กาลครั้งหนึ่งในสมัยเอโดะตอนกลาง มีพ่อค้าปลาไหลพยายามหาทางแก้ปัญหาปลาไหลขายไม่ดีในฤดูร้อน จึงไปปรึกษากับฮิราตะ เก็นไน ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงและรอบรู้หลายแขนง ฮิราตะ เก็นไนเลยเขียนป้ายให้เอาไปแปะไว้หน้าร้านว่า “วันนี้วันฉลู” นับแต่นั้นมาร้านปลาไหลร้านนั้นเลยขายดิบขายดี ร้านอื่น ๆ จึงพากันเลียนแบบ กลายเป็นว่าวันฉลูเมื่อไหร่ต้องรับประทานปลาไหล แล้วจะเลี่ยงอาการไม่สบายต่าง ๆ เพราะอากาศร้อนได้...ว่าไปโน่น
คืออย่างนี้ค่ะ คำว่า “วันฉลู” นี้ในภาษาญี่ปุ่นอ่านว่า “อุชิโนะฮิ”(丑の日)ปีหนึ่ง ๆ จะมีวันที่ตรงกับอุชิโนะฮิหลายวัน แต่ดูเหมือนคนจะนึกถึงอุชิโนะฮิของฤดูร้อนเป็นส่วนใหญ่ สมัยก่อนเชื่อกันว่าวัน “อุชิโนะฮิ” นี้ให้รับประทานอาหารที่ขึ้นต้นด้วยเสียง “อุ” แล้วจะเป็นมงคล นอกจากปลาไหลซึ่งเรียกภาษาญี่ปุ่นว่า “อุ”นาหงิแล้ว ก็มี “อุ”เมะโบฉิ (บ๊วยดอง) “อุ”ด้ง “อุ”ชิ (วัว) “อุ”มะ (ม้า) และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ปัจจุบันดูเหมือนจะไม่นิยมแบบนั้นแล้ว เหลือแต่ปลาไหลที่เป็นความสำเร็จทางการตลาดมากว่า 250 ปีและยังคงอยู่ในปัจจุบัน
แกงกะหรี่
ภาษาญี่ปุ่นมีคำกล่าวว่า “หน้าร้อนต้องแกงกะหรี่” เมื่อก่อนได้ยินแล้วขมวดคิ้ว รู้สึกว่าอากาศก็ร้อนตับแล่บอยู่แล้วถ้ารับประทานของเผ็ดร้อนแล้วมิยิ่งร้อนในแย่หรือ แต่เขามีเหตุผลว่าเครื่องเทศในแกงกะหรี่ดีต่อสภาพร่างกายที่ระโหยโรยแรงจากอากาศร้อน ทำให้เกิดความอยากอาหาร แถมความเผ็ดก็ทำให้เหงื่อออก ร่างกายก็เย็นลงอีกด้วย
ฉันมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งเกี่ยวกับฤดูร้อนของญี่ปุ่นว่า คนญี่ปุ่นไม่ถึงกับ “ติด” เครื่องปรับอากาศมากนัก หรือคิดว่าต้องไปอยู่แต่ในห้างสรรพสินค้าเพื่อรับแอร์เย็น ๆ แถมกิจกรรมหลายอย่างในฤดูร้อนก็อยู่กลางแจ้ง ทำให้คนญี่ปุ่นยอมรับที่จะอยู่กับสภาพอากาศแบบนั้น และหาทางปรับตัวให้เข้ากับความอบอ้าวของอากาศด้วยวิธีสร้างสรรค์ (อ่านย้อนหลังได้ที่ แก้ร้อน - คนญี่ปุ่นเขาทำกันอย่างไร)
หนึ่งในวิธีนั้นก็คือเลือกอาหารการกินที่เหมาะกับช่วงอากาศร้อนดังที่เล่ามา รวมทั้งเอาผักที่เพาะปลูกได้มากในฤดูร้อนมาเป็นไอเดียเมนูอาหาร อย่างร้านแกงกะหรี่ก็อาจจะโฆษณาว่า “ใส่ผักหน้าร้อนเพียบ” ชวนให้รู้สึกว่ามีอาหารพิเศษให้รับประทานแค่ช่วงนี้เท่านั้น หรือเอามะเขือเทศลูกโต ๆ แช่เย็นมาเป็นเมนูวางขายในร้านอาหารแกล้มเหล้าในฤดูร้อน เป็นต้น
ถ้าเป็นบ้านเราก็อาจจะพึ่งพาอาหารอย่างอื่นที่เหมาะกับสภาพอากาศและร่างกายแต่ละคน ช่วงอากาศร้อน ๆ ฉันจะพยายามเลือกบริโภคอาหารฤทธิ์เย็นมากขึ้น เช่น ต้มน้ำรากบัว หรือต้มน้ำใบเตยใส่น้ำตาลกรวดเล็กน้อยเก็บใส่ตู้เย็นไว้ เวลาจะดื่มก็ได้กลิ่นหอมฉุย มีรสหวานอ่อน ๆ เวลาอากาศร้อน ๆ แล้วได้ดื่มแบบนี้เป็นต้องอมยิ้มทุกที ชวนให้อารมณ์ดี มีกำลังใจทำงานดีนะคะ
ถ้าเพื่อนผู้อ่านมีเวลา ลองต้มเครื่องดื่มสมุนไพรไทยติดบ้านไว้หรือเอาติดมาที่ทำงาน เปลี่ยนความเคยชินจากเครื่องดื่มคาเฟอีนมาเป็นเครื่องดื่มสู้อากาศร้อนแบบไทย ๆ ดูบ้างจะได้บรรยากาศอีกแบบ หรือถ้ามีไอเดียอาหารที่เหมาะกับอากาศร้อนก็อย่าลืมแนะนำกันบ้างนะคะ
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.