xs
xsm
sm
md
lg

ยลศิลป์ยินญี่ปุ่น : ฝนไล่ช้างในภาพพิมพ์

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์

ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


“ยลศิลป์ยินญี่ปุ่น” คือมุมพิเศษมุมใหม่ที่มาแทน “สะดุดคำ” หลังจากที่ได้นำเสนอมาครบ 3 ปีเต็ม มุมนี้จะแนะนำญี่ปุ่นผ่านงานศิลปะเดือนละครั้ง ด้วยการบอกเล่าแง่มุมที่น่าสนใจในเชิงศิลปะ สังคม และเกร็ดประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการมองผ่านจิตรกรรมประเภทต่าง ๆ ของญี่ปุ่น ประกอบกับคำอธิบายสะท้อนภูมิหลังทางยุคสมัยในลักษณะที่หาอ่านที่อื่นได้ยาก

ฝนตกซู่
ฝนซู่ที่สะพานชิงโอฮาชิและย่านอาตาเกะ
ผู้คนบนสะพานก้มหน้างุด มองเผิน ๆ เห็นชัดหกคน แต่พอดูดี ๆ อาจมีเจ็ดก็เป็นได้เพราะเห็นขาเหลื่อมซ้อนกันอยู่ไกล ๆ...น่าจะใช่สิบสี่ขา อยู่ในท่วงท่าหลบลี้อะไรบางอย่าง อ้อ...วิ่งหลบฝนนั่นเอง มิน่าเล่าหัวจึงอยู่ใต้วัสดุกำบังด้วย และนั่นคงเป็นร่มหรือไม่ก็หมวก ฝนตกเป็นสายจนกลายเป็นม่านน้ำแทบจะหาที่ว่างไม่เจอ ผู้คนถึงได้เร่งร้อนหาที่หลบ ถ้าเดินตามปกติอาจเปียกมากกว่านี้

นอกจากคนบนสะพานแล้ว ที่เห็นอยู่ลิบ ๆ บนแพน้อยกลางลำน้ำยังมีอีกคน ป่านนี้คงเปียกทั้งตัว แต่ทำไงได้ล่ะ ในเมื่ออยู่ตรงนั้น จะหนีไปไหนก็คงไม่ทัน อ้อ แต่ถ้าถ่อไปถึงใต้สะพาน สถานการณ์อาจจะดีขึ้น พักตรงนั้นเสียหน่อย คอยให้ฝนซาก็น่าจะเปียกน้อยลง...จินตนาการของผู้ชมภาพเริ่มทำงาน ว่าแต่สะพานนี้อยู่ที่ไหนและนั่นแม่น้ำอะไร...ดึงมโนทัศน์กลับมาสู่ข้อเท็จจริง

นั่นคือสะพานชินโอฮาชิในเอโดะหรือกรุงโตเกียวสมัยปัจจุบัน เป็นสะพานเก่าแก่ลำดับ 3 (1694) ในทั้งหมด 17 สะพานที่ข้ามแม่น้ำซูมิดะ ซึ่งเป็นแม่น้ำใหญ่ไหลออกสู่อ่าวโตเกียว [1-สะพานเซ็นจูโอฮาชิ (1594), 2-สะพานเรียวโงกุ (1659)] สะพานชินโอฮาชิอยู่ในย่านอาตาเกะ ทุกวันนี้สะพานยังอยู่ แต่แน่นอนว่าวัสดุการสร้างได้พัฒนาเป็นคอนกรีตและเหล็กตามยุคสมัยแล้ว และด้วยสายฝนซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญ ภาพจึงได้ชื่อว่า “ฝนซู่ที่สะพานชินโอฮาชิและย่านอาตาเกะ” (大はしあたけの夕立 ; Ōhashi atake no yūdachi) ออกสู่สายตาผู้ชมเมื่อปี 1857
สะพานชินโอฮาชิในปี 1912
สะพานชินโอฮาชิในปัจจุบัน
“ฝนซู่” หรือคำที่อาจได้ยินบ่อยกว่าคือ “ฝนไล่ช้าง” ความหมายตามพจนานุกรมคือ ฝนเม็ดโตที่จู่ ๆ ก็ตกลงมาระลอกใหญ่เพียงครู่เดียวแล้วหยุด ญี่ปุ่นมีสภาพอากาศแบบนี้บ่อยในฤดูร้อนประมาณเดือนมิถุนายนจนถึงสิงหาคม โดยมักเกิดตอนช่วงบ่ายแก่ ๆ ไปถึงเย็น เรียกว่า “ยูดาจิ” ดังชื่อภาพ ผลงานนี้จัดอยู่ในหมวด “ฤดูร้อน” อันเป็นหนึ่งในชุด “ร้อยทิวทัศน์ดังแห่งเอโดะ” ผลงานของอูตางาวะ ฮิโรชิเงะ (歌川広重; Utagawa, Hiroshige; 1797 –1858) ศิลปินผู้ลือนามสมัยเอโดะ
อูตางาวะ ฮิโรชิเงะ
ฝนผ่านการถ่ายทอดเป็นเส้นดำแนวเฉียงมากมายเต็มกรอบสี่เหลี่ยม พอแซมด้วยอากัปกิริยาท่าวิ่งของผู้คน จึงรับรู้ได้ทันทีถึงความเคลื่อนไหวเร่งเร้า แต่ด้วยโทนสีของเมฆดำกับท้องฟ้าหม่นและสีฟ้าเทาของแม่น้ำ ในความลุกลี้ลุกลนของผู้คนจึงมีบรรยากาศนิ่ง ๆ น่าทอดสายตาสบาย ๆ เหมือนนั่งมองสายฝนเย็นแต่ไม่ชืดเพราะไร้ความเคลื่อนไหว

ฝนตกแดดออก

ภาพพิมพ์ในตระกูลฝนของฮิโรชิเงะมีหลายภาพ อีกหนึ่งผลงานที่พบเห็นบ่อยเช่นกันคือ “ฝนขาว” (白雨;Haku-u) หรือ “ฝนตกแดดออก” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติอีกอย่างที่เกิดบ่อยในฤดูร้อน ผลงานนี้อยู่ในชุด “ห้าสิบสามจุดแวะพักระหว่างเส้นทางโทไกโด” (1833-1834) ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงเช่นกัน
ฝนตกแดดออก
“โทไกโด” คือ เส้นทางแถบทะเลฝั่งตะวันออก มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพราะเป็น 1 ใน 5 เส้นทางหลักของญี่ปุ่นที่รัฐบาลสมัยเอโดะสร้างขึ้น (เส้น E ในแผนภาพ) และถือว่าสำคัญที่สุด จุดเริ่มต้นอยู่ที่เอโดะโดยเลาะเลียบแถบตะวันออกที่ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก มุ่งสู่ด้านตะวันตกไปยังพระนครเกียวโต
แผนที่แสดงเส้นทางหลัก 5 สายสมัยเอโดะ (โดย Hobe / Holger Behr - Own work)

เส้นทางโทไกโด
“ฝนตกแดดออก” ของฮิโรชิเงะนั้นเกิดขึ้นที่โชโน เขตจังหวัดมิเอะในปัจจุบัน เป็นจุดแวะพักลำดับที่ 45 ก่อนถึงพระนครไม่ไกลนัก มีกลุ่มนักเดินทางถือร่มบ้าง สวมเสื้อกันฝนบ้าง กำลังผจญสายฝนอยู่บนเนิน ดูจากท่าเดินแล้วอนุมานได้ว่าฝนคงตกหนัก ความพิเศษอยู่ที่เทคนิคการใช้ภาพเงาทึบในฉากหลังและการแสดงเส้นของสายฝนอย่างละเอียด บรรยากาศคล้ายกับที่ฝนซู่ที่สะพานชินโอฮาชิ คือมีทั้งความเคลื่อนไหวและความนิ่ง จุดที่แตกต่างกันคือ ภาพสะพานเป็นภาพแนวตั้งและอยู่ในเมืองใหญ่ ส่วนภาพนี้เป็นภาพแนวนอนและอยู่ในส่วนภูมิภาค

ความโดดเด่นในงานของฮิโรชิเงะ

ในบรรดาศิลปินภาพพิมพ์ของญี่ปุ่น สองคนที่ใคร ๆ มักนึกถึงก่อน คือ โฮกูไซและฮิโรชิเงะ แม้ฮิโรชิเงะเกิดหลังโฮกูไซเกือบสี่สิบปี (https://mgronline.com/japan/detail/9580000116705) แต่มีบางช่วงของชีวิตการทำงานที่ทับซ้อนกันอยู่ในสมัยเอโดะ ต่างคนต่างก็สร้างผลงานไว้มากมาย และฝีมือยอดเยี่ยมด้วยกันทั้งคู่ ผลงานของสองคนนี้มักถูกคนรุ่นหลังนำมาเปรียบเทียบกันบ่อย ๆ และในความเป็นจริงสองคนนี้ก็เป็นคู่แข่งกันอยู่ในที เมื่อดูแนวโน้มแล้วจะพบว่า ภาพพิมพ์ของโฮกูไซเน้นความเคลื่อนไหวมากกว่า และใช้ฝีมือของตนตกแต่งดัดแปลงต้นแบบที่อยู่ในธรรมชาติออกมาให้เหนือจริง แต่งานของฮิโรชิเงะจะค่อนไปทางความนิ่ง จับจ้องสิ่งรอบตัวด้วยสายตาของคนที่ใช้ชีวิตอยู่ตรงนั้นและถ่ายทอดออกมาอย่างที่เห็น

ในงานศิลป์ ภาพฝนมีน้อยเมื่อเทียบกับทิวทัศน์ทั่วไป และหากว่ากันถึงฝนของญี่ปุ่นในจำนวนที่มีไม่มากนั้น ว่ากันว่าสองภาพนี้เป็นที่รู้จักแพร่หลายที่สุด แม้คนญี่ปุ่นจำนวนมากไม่ทราบว่าใครคือผู้สร้างสรรค์ แต่คงคุ้นตากันแน่ ๆ ความโดดเด่นแปลกตาด้วยสายฝนในสองฉากนี้เป็นที่ชื่นชมโดยทั่วไป โดยภาพสะพานนั้นไม่ใช่แค่คนในประเทศ แต่ศิลปินระดับโลกอย่างฟินเซนต์ วิลเลิม ฟัน โคค (คนไทยเรียกติดปากว่าแวน โก๊ะ) ศิลปินดัตช์ผู้นิยมจิตรกรรมญี่ปุ่นเป็นพิเศษอยู่แล้ว ก็เป็นผู้หนึ่งที่มีไว้ในครอบครอง และถึงขนาดลองทำตามด้วย
ภาพซ้ายคือผลงานต้นแบบ (ฮิโรชิเงะ) ภาพขวาคือผลงานของฟัน โคค
ฉากฝนตกในสองภาพนี้ ถ้าคิดว่าเป็นภาพเขียน ผู้ชมคงทึ่งในระดับหนึ่งเพราะความละเอียดและการใช้พื้นที่อย่างไม่เหลือให้เปล่าดาย แต่หากได้รู้ว่านี่คือภาพพิมพ์แกะไม้ของญี่ปุ่นซึ่งเรียกว่า “อูกิโยเอะ” (浮世絵; Ukiyo-e) อาจทึ่งยิ่งขึ้น เพราะในการผลิตภาพพิมพ์ ต้องแกะสลักแม่พิมพ์ และด้วยรายละเอียดแบบนี้ ลองนึกดูว่าต้องอุตสาหะและประณีตเพียงใด

ทั้งภาพสะพานไม้ที่มีเสาตอม่อถี่ ๆ กับแม่น้ำเวิ้งว้างกว้างใหญ่และภาพป่าเขากับชาวบ้านบนเนิน ให้ความรู้สึกคลาสสิกพอตัวอยู่แล้ว เมื่อมีสายฝนกระจายเต็ม ยิ่งทำให้จอตาอิ่ม และหากพินิจให้ดี ในภาพสะพานนั้นจะเห็นได้ว่า เส้นที่เป็นสายฝนคือการจงใจทำให้มีเส้นบางกับเส้นหนา มีทั้งเฉียงมากและเฉียงน้อย ส่วนฝนบนเนินเป็นฝนเส้นละเอียดที่ตกเฉียงเหมือนจงใจจะให้ตัดกับแนวลาดชัดของเนินอย่างเด่นชัด

ทั้งหมดนี้เมื่อมีฝนจึงกลายเป็นภาพที่ดูไม่ชัด แต่ในความสลัวรางมีความลึกที่ชวนให้ตาสอดส่ายฝ่าสายฝน เป็นมุมหนึ่งของญี่ปุ่นที่ฮิโรชิเงะมองผ่านตาเนื้อ แล้วนำมาบอกเล่าเป็นภาพบนกระดาษได้สมจริงไม่แพ้กล้องถ่ายรูปสมัยใหม่

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com



กำลังโหลดความคิดเห็น