xs
xsm
sm
md
lg

รองเท้าส้นสูงกับความเป็นธรรมที่สาวญี่ปุ่นใฝ่หา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ภาพจาก https://www.change.org
คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน คาดว่าหลายท่านคงได้ยินข่าวเรื่องแฮชแท็ค #KuToo ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวของผู้หญิงญี่ปุ่นเพื่อต่อต้านการบังคับใส่รองเท้าส้นสูงระหว่างการทำงาน ประเด็นนี้เป็นที่โจษจันไปต่าง ๆ นานาทั่วญี่ปุ่น ทั้งในแง่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

เรื่องของเรื่องคือ คุณอิชิคาวะ ยูมิ ผู้นำการรณรงค์นี้ได้รวบรวมรายชื่อชาวญี่ปุ่นเกือบสองหมื่นคนร้องเรียนไปยังคณะรัฐบาลเพื่อให้ออกกฎหมายห้ามบริษัทบังคับใส่รองเท้าส้นสูงในที่ทำงาน

เธอเล่าว่าที่ผ่านมาเธอต้องทนสวมรองเท้าส้นสูง 2-3 นิ้วในการทำงาน แต่ทำไมรองเท้าทำงานของผู้ชายกลับเบา ส้นเตี้ย แถมยังซัพพอร์ตข้อเท้าได้ดีอีก แล้วก็คิดว่าทำไมผู้หญิงจะต้องโดนบังคับให้ใส่รองเท้าส้นสูงที่แสนทรมานด้วยนะ เธอมองว่านอกจากมันจะส่งผลเสียต่อสุขภาพแล้ว ยังเป็นเรื่องของการเลือกปฏิบัติทางเพศอีกต่างหาก

รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นก็ให้ความเห็นในเชิงไม่ตอบรับและไม่ปฏิเสธว่า การสวมรองเท้าส้นสูงเป็นที่ยอมรับของสังคมว่าจำเป็นและเหมาะสมต่ออาชีพการงาน แต่ถ้าบังคับให้ใส่โดยไม่จำเป็นทั้งที่เจ้าตัวเท้าเจ็บก็ถือว่าเป็นเรื่องการข่มเหงรังแกในที่ทำงาน

อ่านรายละเอียดได้ที่ สาวญี่ปุ่นรณรงค์#KuToo เลิกบังคับสวมรองเท้าส้นสูง
ภาพจาก https://english.kyodonews.net/news/
ที่จริงบางประเทศก็มีการเรียกร้องให้เลิกบังคับสวมรองเท้าส้นสูงกันมาก่อนแล้วเหมือนกัน โดยเมื่อสองปีก่อนนี้เอง ฟิลิปปินส์ได้ออกกฎหมายห้ามมิให้บริษัทใด ๆ บังคับให้พนักงานสวมรองเท้าที่ส้นสูงเกินกว่า 1 นิ้ว ซึ่งที่ผ่านมาผู้หญิงที่โดนบังคับใส่ส้นสูงส่วนใหญ่คือคนที่ทำงานในสายงานขาย ร้านอาหาร สายการบิน และโรงแรม กฎหมายนี้จึงได้ช่วยให้ผู้หญิงประมาณ 1 ล้านคนไม่ต้องทุกข์ทรมานกับรองเท้าส้นสูงอีกต่อไป

ในขณะที่แคนาดาเริ่มออกกฎหมายก่อนในปีเดียวกัน แต่มีผลบังคับใช้เฉพาะในรัฐบริติชโคลัมเบียเพียงรัฐเดียวเท่านั้น ไม่ได้บังคับใช้ทั่วประเทศ ส่วนอังกฤษแม้จะมีผู้ลงชื่อสนับสนุนถึงหลักแสนภายในสามวันที่มีการรณรงค์ แต่ในทางกฎหมายยังไม่ไปถึงไหน แต่ได้ยินว่าจะมีการพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง

ส่วนที่นิวยอร์ก นับเป็นเรื่องปกติที่จะเห็นผู้หญิงหรือผู้ชายใส่สูทกับรองเท้าผ้าใบสะพายกระเป๋าเป้ หรือผู้หญิงใส่ชุดแส็คกับรองเท้าผ้าใบ ที่ทำงานฉันมีทั้งคนที่ใส่เสื้อเชิ้ตผูกเน็คไท ใส่ชุดเดรสทำงานหรือกึ่งลำลอง ไปจนกระทั่งคนที่ใส่เสื้อยืดกางเกงยีนส์รองเท้าผ้าใบไปทำงาน อย่างหลังนี้บางคนมีตำแหน่งใหญ่ขนาดรองผู้อำนวยการด้วยซ้ำไป ถ้ามองตามค่านิยมของบางสังคมแล้ว อาจจะคิดว่าดูไม่เป็นมืออาชีพ ไม่เหมาะสม แต่ในความเห็นส่วนตัวฉันว่าเป็นมืออาชีพหรือเปล่าน่าจะอยู่ที่ความสามารถในการทำงานและผลงาน ส่วนการแต่งกายเป็นเรื่องรอง น่าจะดูตามความจำเป็น และเน้นความเหมาะสมต่อประสิทธิภาพในการทำงานมากกว่า
ภาพจาก https://www.nytimes.com/2014/06/12/
ฉันจำได้ว่าครั้งแรกที่ใส่รองเท้าส้นสูง(คัชชู) น่าจะเป็นตอนรับปริญญา ถึงจะส้นสูงแค่นิ้วเดียว แต่มันก็ทั้งกัดหลังข้อเท้า บีบนิ้วเท้าทั้งสิบนิ้วเข้าหากัน ทำให้เดินลำบาก ทรมานเป็นที่สุด แม้สมัยนี้จะมีรองเท้าส้นสูงที่สวมสบายขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก แต่มันก็ไม่สบายเหมือนสวมรองเท้าที่ไม่ได้ยกส้นเราขึ้นสูงกว่าฝ่าเท้าอยู่ดี เวลาที่ต้องทำงานในชุดสูทหลายวันต่อกัน แม้ฉันจะเลือกรองเท้าที่ส้นสูงนิ้วเดียวและใส่สบายแล้วก็ยังรู้สึกเมื่อย พอมีเวลาพักฉันก็รีบถอดออกและเปลี่ยนมาใส่สลิปเปอร์หรือรองเท้าแตะแทน เพื่อนร่วมงานหญิงชาวญี่ปุ่นคนอื่น ๆ ก็ทำแบบเดียวกัน
ภาพจาก https://www.usatoday.com/story/news/world/2019/06/06/
เพื่อนฉันซึ่งเป็นผู้ชายและเล่าเรื่องแฮชแท็ค #kutoo นี้ให้ฉันฟังบอกว่า ไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่ารองเท้าส้นสูงไม่ดีต่อสุขภาพ นึกว่าผู้หญิงชอบใส่ จะได้สวย ๆ ดูเริ่ด ๆ เชิด ๆ ฟังแล้วขำ แต่ก็เห็นภาพเลยทีเดียว

ผู้หญิงหลายคนพอจะทราบอยู่บ้างว่ารองเท้าส้นสูงใส่แล้วไม่ดีต่อสุขภาพเท้า แต่อาจจะไม่มีใครคาดคิดว่ารองเท้าส้นสูงสามารถเปลี่ยนโครงสร้างกระดูกตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้บิดเบี้ยวตามไปด้วย จนก่อให้เกิดปัญหาที่นึกไม่ถึงอย่างการปวดคอ ปวดไหล่ ปวดหลัง ไปจนกระทั่งถึงกระดูกพรุนได้ ลองอ่าน ใส่ส้นสูง เสี่ยงกระดูกพรุน จะเห็นถึงความน่ากลัวของรองเท้าส้นสูงแบบไม่ควรมองข้าม

คงเพราะอยากให้ผู้ชายเข้าใจความรู้สึกของผู้หญิงบ้าง องค์กร Change ในญี่ปุ่นเลยจัดอีเวนท์ให้ผู้เข้าร่วมชายได้ลองใส่รองเท้าส้นเข็ม 2 นิ้วเดินดูเสียเลย แต่ละคนก็เดินกันกระย่องกระแย่ง คนหนึ่งบอกว่าถ้าเขาต้องโดนให้ใส่รองเท้าแบบนี้คงไม่ชอบแน่ ใส่แล้วเดินลำบาก แถมเท้ายังเต็มไปด้วยเหงื่ออีก
ภาพจาก https://www.medicalnewstoday.com/articles/
อันที่จริงผู้ชายญี่ปุ่นก็มีความไม่ชอบใจเรื่องการใส่สูท ผูกเน็คไท สวมรองเท้าหนังเหมือนกัน มีคนเล่าว่าเขาเห็นเพื่อนหญิงที่ไม่อยากจะสวมรองเท้าส้นสูงยังอดทนสวมเพื่อที่จะให้ดูสุภาพ เขาก็เลยคิดว่าเขาควรต้องฮึดอดทนกับการแต่งกายของผู้ชายด้วย

นักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งกล่าวว่า ด้วยเนื้องานแล้วทำให้พวกเขาต้องออกข้างนอกไปทำข่าวอยู่เรื่อย ๆ ก็จะสวมรองเท้ากีฬากัน ในขณะที่บางคนก็จะติอย่างนั้นอย่างนี้ว่าทำไมไม่สวมรองเท้าหนังให้เรียบร้อย ตัวเขาเองเจอแบบนี้ก็เข้าใจความรู้สึกผู้หญิงที่ต้องสวมส้นสูง และเห็นว่าน่าจะหาทางให้ผู้หญิงได้สวมรองเท้าที่สบายเวลาทำงานบ้าง

ในขณะเดียวกัน ก็มีคนที่ตั้งคำถามกับการรณรงค์เรื่องรองเท้าส้นสูงนี้ด้วย อย่างเช่น “ทำไมไม่ไปคุยกับบริษัทตัวเอง ต้องถึงขนาดร้องเรียนรัฐเลยหรือ” “อย่างนี้ผู้ชายก็ต้องร้องเรียนเรื่องสูทและรองเท้าหนังด้วยสิ” “มันเกี่ยวอะไรกับความไม่เท่าเทียมทางเพศ” เป็นต้น

ฉันคิดว่าดีแล้วที่เธอออกมาสร้างกระแส เพราะนอกจากจะทำให้คนได้เข้าใจว่ารองเท้าส้นสูงส่งผลเสียอย่างไรบ้าง ยังทำให้คนได้ตั้งคำถามกับค่านิยมสังคมที่ไม่มีใครกล้าท้าทาย อย่างที่นักหนังสือพิมพ์ชายคนเดิมบอกว่าเราน่าจะทำลายค่านิยมว่าต้องทำอะไรตาม ๆ กันเสียบ้าง

เพียงแต่คิดอยู่ว่าถ้าเธอใช้วิธีเลี่ยงการเอ่ยถึงเรื่องสิทธิสตรีหรือความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ แล้วหันมาเน้นการนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบของรองเท้าส้นสูงต่อสุขภาพผู้หญิง และเผยแพร่ข้อมูลนี้ไปในวงกว้างพร้อมกับตั้งคำถามว่าเราควรจะเลิกบังคับใส่รองเท้าส้นสูงในที่ทำงานไหม แบบนี้คนอาจจะสนใจและรับฟังมากกว่าเพราะชอบเรื่องสุขภาพกันอยู่แล้ว พอเป็นที่ยอมรับและสนับสนุนไปทั่วประเทศ การออกกฎหมายห้ามบังคับใส่รองเท้าส้นสูงในที่ทำงานก็น่าจะเป็นไปได้ง่ายขึ้น

แต่พอไปพูดในแนวเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศอาจจะยาก เพราะเรื่องสิทธิเสรีภาพยังไม่ใช่สิ่งที่สังคมญี่ปุ่นยอมรับกันในทางปฏิบัติ แต่มักเน้นเรื่องหน้าที่และความรับผิดชอบเสียมากกว่า อีกอย่างคือสังคมญี่ปุ่นกำหนดบทบาทและความคาดหวังที่มีต่อชายและหญิงไว้ค่อนข้างชัดเจนและแตกต่างกัน แม้โดยมากจะเป็นกฎที่ไม่มีการระบุเป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม

การจะทำให้สังคมญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงค่านิยมนับเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลามาก ดูเอาอย่างกฎหมายที่รัฐบาลอะลุ่มอล่วยให้ผู้ชายไม่ต้องใส่สูทในฤดูร้อนได้ เอาเข้าจริงตอนแรกก็มีผู้ชายจำนวนมากไม่กล้า หรือกฎหมายที่ให้ผู้ชายลาไปเลี้ยงลูกได้หนึ่งปีเต็มก็แทบจะไม่มีคนกล้าลาเพราะรู้สึกว่าดูไม่ดีที่ลางานไปเลี้ยงลูก สิ่งเหล่านี้พอจะบอกได้ว่าคนญี่ปุ่นไม่สบายใจหากตนเองจะเป็นหนึ่งในผู้ "แหกค่านิยมเดิม ๆ " แม้กฎระเบียบจะรองรับ สุดท้ายก็เลยยังทำแบบเดิมกันต่อไปเพราะกลัวสายตาประชาชี

ถ้าคนญี่ปุ่นก้าวข้ามความกลัวที่จะเดินออกจากกรอบได้ คงเกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างมหาศาลทีเดียว แต่เดาว่าน่าจะใช้เวลาอีกนาน(แสนนาน)

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.

 



"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น