xs
xsm
sm
md
lg

ผู้หญิงญี่ปุ่นกับโอกาสที่ยังน้อยนัก (2)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

https://topicsfaro.com/
คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน สัปดาห์ก่อนพูดถึงสถานการณ์ของผู้หญิงในสังคมญี่ปุ่นในด้านการงานไปแล้ว สัปดาห์นี้ขอเปรียบเทียบกับอเมริกาในบางแง่ แล้วก็มีเรื่องสถานะของผู้หญิงญี่ปุ่นที่ยังด้อยกว่าผู้ชายในบริบทต่าง ๆ ที่ได้ยินมาเล่าสู่กันฟังด้วยค่ะ

แต่ก่อนอื่น ขอให้เพื่อนผู้อ่านที่รักทายว่า ล่าสุดญี่ปุ่นถูกจัดอันดับอยู่ที่เท่าใดของโลกในเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศ ? แล้วเดี๋ยวมาดูเฉลยกันตอนท้ายนะคะ

ระหว่างที่ฉันกำลังเขียนเรื่องผู้หญิงกับโอกาสในด้านการงาน และบทบาทของผู้หญิงที่ถูกคาดหวังให้เลี้ยงดูลูกและครอบครัวเป็นหลักในสังคมญี่ปุ่นแล้ว ก็นึกถึงบรรดาเพื่อนร่วมงานหญิงชาวอเมริกันหลายคนว่าทำไมจึงทำงานเต็มเวลาไปพร้อมกับการมีลูกได้ ทั้งที่กฎหมายบังคับใช้ทั่วประเทศอนุญาตให้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายลาได้เพียง 12 สัปดาห์โดยไม่ได้รับเงินเดือน (ส่วนกฎหมายมลรัฐบางแห่ง รวมทั้งบางบริษัทอาจให้สิทธิ์ลาได้มากกว่านี้)
https://www.birthandbeyondmagazine.com/
ปัจจัยที่ทำให้คนอเมริกันสามารถทำงานเต็มเวลาไปพร้อมกับการเลี้ยงลูกได้มีหลายอย่าง ทั้งการนิยมจ้างพี่เลี้ยงเด็ก การที่ผู้ชายมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูลูก และความยืดหยุ่นในการทำงานที่ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการหอบลูกมาที่ทำงาน ทำงานจากบ้านผ่านคอมพิวเตอร์ หรือนายให้ความยืดหยุ่นในการเข้าออกบริษัทตามเวลาที่จำเป็น และบางคนก็มีปู่ย่าตายายมาช่วยเลี้ยงหลานให้ด้วย

แต่ก็มีเพื่อนบางคนเหมือนกันที่ลาออกจากงานมาเลี้ยงลูกเอง เพราะรู้สึกว่าทำงานไปก็เอาไปจ่ายค่าพี่เลี้ยงเด็กหมด และไม่ค่อยได้อยู่กับลูกมากนัก พอลูกโต บางคนก็เลือกทำงานไม่ประจำเพื่อให้พอมีเวลาดูลูก หรือบางคนที่กลับไปทำงานประจำก็มีโอกาสที่จะได้งาน เพราะไม่มีการจำกัดว่าต้องอายุไม่เกินเท่านี้ ๆ ถึงจะรับเข้าทำงาน โอกาสในหน้าที่การงานสำหรับผู้หญิงในอเมริกาจึงนับว่าดีทีเดียว

คนญี่ปุ่นนิยมเลี้ยงลูกเองหรือให้ญาติช่วยเลี้ยง ไม่อย่างนั้นก็ฝากลูกไว้กับสถานรับเลี้ยงเด็กในระหว่างวัน แต่จำนวนสถานรับเลี้ยงเด็กมีจำกัด และพ่อแม่ก็ได้แต่ต้องลงชื่อรอไปก่อนแล้ววัดดวงว่าจะได้หรือไม่ บางครอบครัวใช้วันลาคลอดหมดแล้วแต่ยังหาสถานเลี้ยงเด็กไม่ได้ ฝ่ายหญิงก็ต้องลาออกมาเลี้ยงลูก แม้จะมีบริษัทจัดหาพี่เลี้ยงเด็กซึ่งเปิดโดยต่างชาติในญี่ปุ่นอยู่บ้าง แต่คนญี่ปุ่นก็ไม่นิยมใช้บริการ สาเหตุบางส่วนเป็นเพราะค่าใช้จ่ายสูง รวมทั้งสังคมก็มีค่านิยมว่าผู้หญิงควรอยู่บ้านเลี้ยงดูลูกด้วยตัวเอง ผู้หญิงบางคนจึงกลัวโดนหาว่าเป็นแม่ที่ไม่ดีหากจ้างพี่เลี้ยงเด็ก

และถึงแม้กฎหมายญี่ปุ่นจะเปิดโอกาสให้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงมีบทบาทในการเลี้ยงลูกร่วมกัน และให้วันลาไปเลี้ยงลูกถึงหนึ่งปี ก็ยังโดนค่านิยมสังคมที่ไม่ค่อยจะส่งเสริมให้ผู้ชายมีบทบาทด้านนี้ยั้งไว้ไม่ให้ไปช่วยภรรยาเลี้ยงลูกได้เต็มที่ รวมทั้งเมื่อผู้หญิงเองเมื่อตั้งครรภ์หรือกลับไปทำงานหลังลาคลอด ก็มีผู้หญิงร้อยละ 20-30 ที่โดนตีตราในที่ทำงาน สร้างความเครียดและความกดดันทางจิตใจไม่น้อย กลับบ้านไปก็ยังต้องรับภาระในการดูแลครอบครัวและงานบ้านอีก

มีผู้ชายญี่ปุ่นคนหนึ่งลาออกจากงานเพื่อตามภรรยาซึ่งเป็นนักการทูตมาประจำที่อเมริกา เมื่อมาอยู่อเมริกา ฝ่ายชายก็รับหน้าที่ทำกับข้าวและเลี้ยงดูลูกเล็ก ๆ สองคน เขาบอกว่าพอมาทำงานบ้านและเลี้ยงลูกเต็มตัวถึงได้รู้สึกว่า งานแม่บ้านเป็นงานที่เหนื่อยและหนักยิ่งกว่าทำงานประจำเสียอีก

นานมาแล้วที่ฉันได้ยินว่าแม่บ้านญี่ปุ่นจะต้องตื่นก่อนใครในบ้านเพื่อมาเตรียมอาหารเช้าให้ทุกคนในครอบครัว และเข้านอนดึกกว่าคนอื่นเพราะต้องรอสามีที่ต้องทำงานจนดึกกลับมาถึงบ้านก่อนแล้วตัวเองจึงได้เข้านอน ปัจจุบันก็ยังคงมีครอบครัวในลักษณะนี้อยู่ และก็ยังได้ยินผู้ชายญี่ปุ่นทั้งรุ่นพ่อและรุ่นเพื่อนที่บ่นถึงผู้หญิงที่แต่งงานแล้วและไม่ค่อยจะทำกับข้าวว่าเป็นผู้หญิงที่ใช้ไม่ได้ และถ้าทำไม่อร่อยก็อาจโดนแขวะเพิ่มอีกดอก

สถานะของผู้หญิงในสังคมญี่ปุ่นที่ด้อยกว่าชายยังเห็นได้จากบริบทอื่น ๆ อีก เช่น ไม่ค่อยมีผู้หญิงที่ได้ตำแหน่งผู้บริหารในภาคเอกชนหรือเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในภาครัฐ หรือบางอาชีพก็จำกัดให้เฉพาะผู้ชายเท่านั้นที่จะทำได้ เช่น พ่อครัวซูชิ เรื่องนี้ฉันไม่เคยนึกถึงมาก่อนเลย แต่เมื่อนึกดูแล้วก็ไม่เคยเจอแม่ครัวซูชิจริง ๆ นั่นแหละ

เพื่อนลูกครึ่งญี่ปุ่น-อเมริกันเล่าให้ฟังว่ารู้จักผู้หญิงญี่ปุ่นคนหนึ่งที่ดูเหมือนผู้ชายมาก กระทั่งเสียงก็ยังเหมือนผู้ชาย เธอคนนี้ไปเรียนทำซูชิอยู่ระยะหนึ่งจนกระทั่งเรียนจบโดยไม่มีใครรู้เลยว่าเป็นผู้หญิง ตอนนั้นเธอจึงสารภาพว่าจริง ๆ แล้วเธอไม่ใช่ผู้ชาย ทางโรงเรียนก็ตกใจเพราะตามความเป็นจริงแล้วผู้หญิงไม่มีสิทธิ์มาเป็นพ่อครัวซูชิได้ และขอให้เธออย่าได้บอกใครเป็นอันขาดว่าเธอจบจากโรงเรียนนั้น แน่นอนว่าเพราะความที่เธอเป็นผู้หญิงก็เลยไม่สามารถทำอาชีพพ่อครัวซูชิในญี่ปุ่นได้ และเธอก็ได้ย้ายมาอยู่อเมริกาเพื่อประกอบอาชีพนี้แทน

บางคราวสถานะของผู้หญิงญี่ปุ่นยังถูกมองในแง่ลบด้วย อย่างปีที่แล้วมีผู้หญิงที่ปราดเข้าไปช่วยปฐมพยาบาลชายคนหนึ่งที่เป็นลมไปบนสนามแข่งซูโม่ และโดนกรรมการประกาศไล่ออกไปทันที เพราะมีกฎว่าห้ามผู้หญิงเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ แถมหลังจากผู้หญิงออกไปแล้วก็ไปเอาเกลือมาโรยอีกต่างหาก (การโรยเกลือเป็นประเพณีญี่ปุ่นมาแต่โบราณเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย ในการแข่งซูโม่จะโรยเกลือก่อนเริ่มแข่ง) สังคมวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้กันมาก มีคนบอกว่าน่าจะโรยเกลือใส่สมาคมซูโม่นั่นแหละที่ทำเสียมารยาทแบบนั้นกับคนที่อุตส่าห์รีบเข้าไปช่วยชีวิตคนอื่น

นอกจากนี้ ยามมีเหตุคุกคามทางเพศ หลายครั้งผู้หญิงซึ่งตกเป็นเหยื่อกลับเป็นฝ่ายถูกสังคมติเตียนในขณะที่ไม่ค่อยพูดถึงการเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษ อย่างปีที่แล้วหลังฟุตบอลญี่ปุ่นชนะโคลัมเบียและผู้คนไปฉลองกันต่อ ก็มีผู้หญิงจำนวนมากไปแจ้งความว่าถูกลวนลาม พอเรื่องนี้เป็นข่าวก็มีการให้ความเห็นในโลกโซเชียลว่าผู้หญิงไม่ควรจะไปอยู่ในที่แบบนั้น หรือผู้หญิงไม่ระวังตัวให้ดีเอง หรือบอกว่าธรรมชาติของผู้ชายก็เป็นอย่างนี้ เลยช่วยไม่ได้

แม้ญี่ปุ่นจะมีกฎหมายต้านการคุกคามทางเพศ แต่ในทางปฏิบัติก็ยังปล่อยปละละเลยโดยเฉพาะในที่ทำงานหรือในโรงเรียน และน้อยนักที่จะมีการแจ้งความเพราะกลัวอับอายขายหน้าและกลัวว่ากฎหมายจะไม่สามารถลงโทษผู้กระทำผิดได้

ไม่กี่ปีก่อนมีนักข่าวหญิงออกมาเปิดเผยว่าเธอถูกขืนใจโดยเพื่อนร่วมอาชีพ แต่ดูเหมือนหลักฐานจะไม่เพียงพอเลยเอาผิดผู้ชายไม่ได้ แทนที่สังคมจะยกย่องความกล้าหาญของเธอที่ก้าวออกมาสร้างความตระหนักให้สังคมได้รับรู้ เธอกลับโดนสังคมประณามว่าหน้าไม่อาย และยังถูกล้อเลียนว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสมและยั่วผู้ชายไปทั่วเพื่อให้ก้าวหน้าทางอาชีพ นอกจากนี้เธอยังโดนข่มขู่จะฆ่าอีกด้วย ในที่สุดจึงต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศแทน นอกจากจะไม่ได้รับความเป็นธรรมใด ๆ แล้วยังโดนซ้ำเติมอีก จึงนับว่าเธอตกเป็นเหยื่อความรุนแรงสองต่อ คือจากคนที่ทำร้ายเธอและจากสังคมเอง
https://select.mamastar.jp
เพื่อนเคยเล่าให้ฟังว่ามีแม่บ้านคนหนึ่งถูกทำมิดีมิร้าย แต่ก็ยังต้องกลับบ้านไปทำกับข้าวให้คนในครอบครัวโดยพยายามทำตัวให้ปกติและไม่กล้าปริปากอะไรเรื่องนี้สักคำ เพราะกลัวถูกประณามแทนที่จะได้รับความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และช่วยเหลือ เพื่อนเล่าด้วยความเศร้าใจว่าสังคมญี่ปุ่นไม่ค่อยจะปกป้องอะไรผู้หญิงเลย ทั้งที่ต้องอดทนและมีอะไรต้องแบกรับมากมายเหลือคณา

มาถึงเฉลยต่อคำถามข้างต้นของบทความแล้วนะคะ ดัชนีช่องว่างระหว่างเพศ (Global Gender Gap Index) ประจำปี 2561 ซึ่งรวบรวมโดย World Economic Forum ได้จัดความเท่าเทียมกันทางเพศของญี่ปุ่นไว้ในอันดับที่ 110 จาก 149 ประเทศที่ทำการสำรวจ ซึ่งต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศ G7 (ฝรั่งเศสอันดับที่ 12 / เยอรมนีอันดับที่ 14 / อังกฤษอันดับที่ 15 / แคนาดาอันดับที่ 16 / สหรัฐอเมริกาอันดับที่ 51 / และอิตาลีอันดับที่ 70) ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 73

ตราบใดที่สังคมญี่ปุ่นยังตีกรอบจำกัดบทบาทและหน้าที่ของชายและหญิงแยกออกจากกันอย่างชัดเจน หรือการที่รัฐมองว่าการให้สิทธิสตรีคือการเน้นเพิ่มจำนวนผู้หญิงในภาคแรงงาน แล้วละเลยปัญหาการเหยียดเพศที่เกิดขึ้นในหลายบริบทในชีวิตประจำวัน ตราบนั้นกฎหมายที่สร้างมาเพื่อส่งเสริมสถานะผู้หญิงก็จะใช้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะทัศนคติที่ไม่ยืดหยุ่นของสังคมญี่ปุ่นเองจะเป็นตัวฉุดรั้งไม่ให้วิถีชีวิตของผู้คนดีขึ้นกว่าที่ควรจะเป็นอยู่ดี.


ย้อนอ่าน ผู้หญิงญี่ปุ่นกับโอกาสที่น้อยนัก (ตอนที่ 1)




"ซาระซัง"
สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น