xs
xsm
sm
md
lg

เบญจมาศ ดอกไม้คู่บังลังก์ญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เมื่อพูดถึงดอกไม้ที่เป็นตัวแทนของญี่ปุ่น ผู้คนจำนวนมากคงนึกถึงซากุระ แต่ความจริงแล้วดอกไม้ที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์ญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการคือ ดอกเบญจมาศ หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อเก๊กฮว

ในช่วงพระราชพิธีสละราชสมบัติและขึ้นครองราชย์ของพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น คำว่า “บังลังก์ดอกเบญจมาศ“ ถูกใช้อย่างแพร่หลายในสื่อมวลชน หลายคนจึงเริ่มรู้ว่าดอกเบญจมาศคือสัญลักษณ์ของราชวงศ์ญี่ปุ่น

ในพระราชกำหนดเรื่องราชวงศ์ญี่ปุ่นปี 1926 กำหนดไว้ชัดเจนว่า ดอกเบญจมาศเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์ญี่ปุ่น มีสถานะเทียบเท่ากับธงชาติ ห้ามผู้ใดละเมิด หรือใช้เป็นเครื่องหมายการค้า

ดอกเบญจมาศถูกใช้เป็นตราของจักรพรรดิและพระบรมวงศ์ ใช้ในธงประจำพระองค์สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น พระจักรพรรดินี มกุฎราชกุมาร และสมาชิกราชวงศ์อื่น ๆ ในเอกสารของสำนักพระราชวัง บนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และยังปรากฏในสถานที่บางแห่ง เช่น ศาลเจ้าหลวง ตำหนักต่างๆ รวมทั้งที่หน้าปกหนังสือเดินทางของญี่ปุ่นด้วย

อย่างไรก็ตาม หากสังเกตให้ดี ดอกเบญจมาศสำหรับแต่ละสถานะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน

ดอกเบญจมาศที่ใช้สำหรับพระจักรพรรดิและพระบรมวงศ์สายตรงจะเป็น ดอกเบญจมาศซ้อน 16 กลีบดอก หรือ 十六八重表菊 คือดอกที่มี 16 กลีบซ้อนกันอยู่สองชั้น ขณะที่เชื้อพระวงศ์อื่นจะใช้สัญลักษณ์ดอกเบญจมาศ 14 กลีบ ส่วนสัญลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่นบนหน้าปกหนังสือเดินทางเป็นดอกเบญจมาศ 16 กลีบ แต่มีชั้นเดียว

ดอกเบญจมาศ ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “คิกุ” 菊 ไม่ใช่ดอกไม้พื้นถิ่นในญี่ปุ่นมาแต่เดิม แต่รับเข้ามาจากจีน สันนิษฐานว่าคงได้มาในสมัยเฮอัน (794-1185) และเป็นที่นิยมมาตั้งแต่นั้น

ค่านิยมของคนญี่ปุ่นต่อดอกเบญจมาศมาจากจีนเช่นกัน ในวัฒนธรรมจีนมี “ซื่อจุนจื่อ” 四君子 คือ พืช 4 ชนิดที่เปรียบดั่งบัณฑิต ได้แก่ กล้วยไม้ ไผ่ บ๊วย และ เบญจมาศ

พืชสี่ชนิดนี้มีลักษณะเด่นประจำตัว กล้วยไม้มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ดึงดูดให้เข้าใกล้ ไผ่มีความทรหด คงใบเขียวตลอดเวลาแม้ในหน้าหนาวและมีลำต้นตรง เบญจมาศออกดอกสดใสในฤดูใบไม้ร่วง และบ๊วยคือดอกไม้ชนิดแรกที่แย้มบานท่ามกลางหิมะในช่วงปลายฤดูหนาว ลักษณะเช่นนี้นำมาเปรียบเป็นบัณฑิตผู้มีลักษณะพึงปรารถนาตามค่านิยมจีน โดยถึงพร้อมด้วยคุณธรรมเป็นสัตบุรุษ มีความรู้เป็นปราชญ์ ผ่านการอบรมจรรยามารยาทเป็นสุภาพบุรุษ

สถานะของดอกเบญจมาศในจีนตอนนั้นคือ เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจบารมีและความสูงศักดิ์ พอเข้ามาสู่ญี่ปุ่น ด้วยรูปลักษณ์และกลิ่นที่ถูกจริตคนญี่ปุ่นชั้นสูง จึงเป็นที่นิยมในราชสำนักไปถึงเชื้อพระวงศ์ และค่อย ๆ กลายเป็นกลายประจำสถาบันจักรพรรดิของญี่ปุ่น โดยมีจุดเริ่มต้นเด่นชัดในสมัยจักรพรรดิโกโตบะ (1183-1293) ซึ่งเป็นรัชสมัยที่ 82 ของญี่ปุ่นในปลายสมัยเฮอัน พระองค์โปรดดอกเบญจมาศ สลักลายดอกเบญจมาศลงบนพระแสงขรรค์บ้าง ทอลายดอกเบญจมาศลงบนฉลองพระองค์บ้าง จากนั้นจักรพรรดิพระองค์หลัง ๆ ก็ทรงสืบทอดขนบนี้มา

อ่านรายละเอียดได้จาก https://mgronline.com/japan/detail/9620000041662

ความนิยมในดอกเบญจมาศแพร่หลายในญี่ปุ่น โดยขุนนางและซามูไร ต่างใช้เป็นตราประจำตระกูล และยังขยายเข้าไปในวงการศิลปะทั้งด้านจิตรกรรมและการแสดง มีแม้กระทั่งหนังสืออธิบายวิธีวาดดอกเบญจมาศ และมีการใช้ดอกเบญจมาศในละครมหรสพอย่างแพร่หลาย จนกระทั่งปี 1871 พระจักรพรรดิจึงได้มีพระราชโองการ กำหนดให้พระจักรพรรดิและราชวงศ์เท่านั้นจึงจะใช้ตราสัญลักษณ์ดอกเบญจมาศได้

ซากุระที่ผู้คนมากมายชื่นชมในวันนี้สวยงามก็จริง แต่บอบบางและอายุสั้น ซากุระบานเพียง 1 สัปดาห์ก็ร่วงโรย หากแต่ในอดีต ชาวญี่ปุ่นและจีนต่างชื่นชมดอกบ๊วยที่บานสะพรั่งท้าทายความหนาว และ เบญจมาศที่ออกดอกสดใสในฤดูใบไม้ร่วง สะท้อนถึงความงดงามที่มิใช่สวยแต่รูป เป็นความสวยคู่ความแข็งแกร่ง เป็นความงดงามที่แท้จริง.




ขอบคุณบทความจากเพจ บูรพาไม่แพ้


กำลังโหลดความคิดเห็น