ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
“ยลศิลป์ยินญี่ปุ่น” คือมุมพิเศษมุมใหม่ที่มาแทน “สะดุดคำ” หลังจากที่ได้นำเสนอมาครบ 3 ปีเต็ม มุมนี้จะแนะนำญี่ปุ่นผ่านงานศิลปะเดือนละครั้ง ด้วยการบอกเล่าแง่มุมที่น่าสนใจในเชิงศิลปะ สังคม และเกร็ดประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการมองผ่านจิตรกรรมประเภทต่าง ๆ ของญี่ปุ่น ประกอบกับคำอธิบายสะท้อนภูมิหลังทางยุคสมัยในลักษณะที่หาอ่านที่อื่นได้ยาก
ศิลปินใหญ่มักไม่พลาดที่จะนำแม่บทเด่นในวัฒนธรรมของตนมาถ่ายทอดเป็นผลงาน นั่นคือปัจจัยที่ทำให้ศิลปกรรมชิ้นนั้นคงความเป็นอมตะข้ามผ่านยุคสมัยตราบเท่าที่วัฒนธรรมยังได้รับการสืบทอดต่อมา ในจิตรกรรมญี่ปุ่น แม่บทสำคัญอย่างหนึ่งคือดอกไม้ และในจำนวนนั้น มีบางชนิดโดดเด่นมาก คนต่างชาติอาจนึกดอกไม้ชนิดอื่นไม่ออกนอกจากซากุระ แต่สำหรับคนญี่ปุ่น ดอกไม้ที่ใกล้ชิดกับวิถีชีวิตและเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมมานาน ยังมีดอกเบญจมาศด้วย ซึ่งจิตรกรผู้ยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่นอย่างน้อยสองคนในช่วงเวลาที่ต่างกันก็นำมาสร้างสรรค์เป็นผลงานที่ได้รับการประเมินค่าสูงจนทุกวันนี้ คือ “ฉากพับลายดอกเบญจมาศ” และ “ภาพดอกเบญจมาศกับสายน้ำ”
“ดอกเบญจมาศ” ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “คิกุ” (菊;kiku) มีหลายขนาดและหลายสี แต่สีที่คุ้นตาคงจะเป็นสีเหลือง เบญจมาศไม่ใช่ดอกไม้พื้นถิ่นในญี่ปุ่นมาแต่เดิม แต่รับเข้ามาจากจีน สันนิษฐานว่าคงได้มาในสมัยเฮอัน (794-1185) และเป็นที่นิยมมาตั้งแต่นั้น เรื่องความสวยงามของดอกนั้นแน่นอนอยู่แล้ว แต่คุณลักษณะอื่นทำให้ผูกพันกับคนญี่ปุ่นคือ เป็นดอกไม้ที่มีพลังชีวิตทรหดยืนยาว มีสรรพคุณทางยา และบางชนิดใช้ประกอบอาหาร หากเทียบกับดอกไม้ประดับประดาอย่างกุหลาบ เหล่านั้นคือดอกไม้พิเศษ แต่ถ้าเบญจมาศละก็ ถือว่าเป็นดอกไม้ในชีวิตประจำวันที่ใกล้ชิดกับคนญี่ปุ่น
ค่านิยมของคนญี่ปุ่นต่อดอกเบญจมาศที่ขยายไปสู่ศิลปกรรมคาดว่ามาจากจีนเช่นกัน ในวัฒนธรรมจีนมี “ซื่อจุนจื่อ” (四君子; Sì Jūnzǐ ) ภาษาญี่ปุ่นอ่านว่า “ชิกุนชิ” (Shikushi) แปลตามตัวอักษร คือ “สี่บัณฑิต” และนำมาใช้หมายถึง “พืชสี่ชนิด” ได้แก่ กล้วยไม้ ไผ่ เบญจมาศ และบ๊วยซึ่งล้วนปรากฏบ่อยในภาพเขียนของจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง (960-1279) พืชสี่ชนิดนี้มีลักษณะเด่นประจำตัว กล้วยไม้มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ดึงดูดให้เข้าใกล้ ไผ่มีความทรหด คงใบเขียวตลอดเวลาแม้ในหน้าหนาว และมีลำต้นตรง เบญจมาศออกดอกสดใสท่ามกลางความหนาวเย็นในฤดูใบไม้ร่วง และบ๊วยคือดอกไม้ชนิดแรกที่แย้มบานท่ามกลางหิมะในช่วงปลายฤดูหนาว ลักษณะเช่นนี้นำมาเปรียบเป็นบัณฑิตผู้มีลักษณะพึงปรารถนาตามค่านิยมจีน โดยถึงพร้อมด้วยคุณธรรมเป็นสัตบุรุษ มีความรู้เป็นปราชญ์ ผ่านการอบรมจรรยามารยาทเป็นสุภาพบุรุษ
สถานะของดอกเบญจมาศในจีนตอนนั้นคือ เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจบารมีและความสูงศักดิ์ พอเข้ามาสู่ญี่ปุ่น ด้วยรูปลักษณ์และกลิ่นที่ถูกจริตคนญี่ปุ่นชั้นสูง จึงเป็นที่นิยมในราชสำนักไปถึงเชื้อพระวงศ์ และค่อย ๆ กลายเป็นลายประจำสถาบันจักรพรรดิของญี่ปุ่น โดยมีจุดเริ่มต้นเด่นชัดในสมัยจักรพรรดิโกโตบะ (1183-1293) ซึ่งเป็นรัชสมัยที่ 82 ของญี่ปุ่นในปลายสมัยเฮ พระองค์โปรดดอกเบญจมาศ สลักลายดอกเบญจมาศลงบนพระแสงขรรค์บ้าง ทอลายดอกเบญจมาศลงบนฉลองพระองค์บ้าง จากนั้นจักรพรรดิพระองค์หลัง ๆ ก็ทรงสืบทอดขนบนี้มา
ในสมัยเอโดะ (1600-1868) ความนิยมดอกเบญจมาศแพร่หลายในหมู่ประชาชนทั่วไป มีการพัฒนาพันธุ์ขึ้นหลากหลายตามพื้นที่ต่าง ๆ และตั้งชื่อตามแหล่งของการพัฒนาด้วย เช่น “ดอกเบญจมาศเอโดะ” อันถือว่าเป็นดอกมาตรฐาน เมื่อความนิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ การชมดอกเบญจมาศจึงไม่หยุดอยู่ที่ดอกไม้จริง เท่านั้น แต่ขยายเข้าไปในวงการศิลปะทั้งด้านจิตรกรรมและการแสดง มีแม้กระทั่งหนังสืออธิบายวิธีวาดดอกเบญจมาศ และมีฉากสวนดอกเบญจมาศปรากฏในละครคาบูกิซึ่งเป็นมหรสพที่ได้รับความนิยมล้นหลามในสมัยนั้น
“ฉากพับลายดอกเบญจมาศ” (菊図屏風;Kiku-zu byōbu) กับ “ภาพดอกเบญจมาศกับสายน้ำ” (菊花流水図;Kikuka-ryūsui zu) ล้วนเป็นผลงานที่เกิดขึ้นในสมัยเอโดะ โดยจิตรกรเอกของญี่ปุ่นสองคนที่มีพรสวรรค์ด้วยกันทั้งคู่ คือ โองาตะ โคริง (尾形光琳; Ogata Kōrin; 1658-1716) และอิโต จากูจู (伊藤若冲; Itō Jakuchū;1716-1800) ซึ่งเกิดช่วงต้นปีในปีที่โคริงถึงแก่กรรมพอดี
“ฉากพับลายดอกเบญจมาศ” ประกอบด้วยฉากสองฝั่ง ฝั่งละหกพับ ภาพบนฉากเน้นดอกเบญจมาศอย่างเห็นได้ชัด มีดอกบานสะพรั่งหลายสิบดอกอยู่บนต้น และสองฝั่งต่างก็จัดองค์ประกอบได้ลงตัว โดยเลือกใช้สีไม่มากนักในการเน้นจุดเด่น ที่เห็นได้สะดุดตาคือสีโทนขาวของดอกขนาดใหญ่กับสีโทนเขียวของลำต้นและกิ่งใบ สิ่งที่ช่วยขับให้ภาพดูเด่นและมีเสน่ห์ยิ่งขึ้นคือพื้นหลังสีทองอร่าม ซึ่งทำให้ภาพที่เรียบง่ายกลับดูหรูขึ้นมาทันที การเน้นความสดใสและแปลกตาคือลักษณะเด่นในงานหลายชิ้นของโคริง ผลงาน “ฉากพับลายดอกเบญจมาศ” เก็บรักษาอยู่ในกรุพิพิธภัณฑ์ศิลปะโอกาดะ (Okada Musuem of Art) ในจังหวัดคานางาวะ
ลายที่ดูเรียบแต่หรูเช่นนี้เป็นแนวทางของศิลปกรรมที่เกิดขึ้นในสมัยเอโดะ ศิลปินหลายคนในตอนนั้นนำมาใช้ในงานของตนจนเกิดเป็นกลุ่มที่ชัดเจนขึ้นมา ตอนนั้นยังไม่มีชื่อเรียก แต่คนสมัยปัจจุบันศึกษาและจัดกลุ่มเรียกว่า “แนวริมปะ” (琳派;Rinpa) ลักษณะสำคัญคือลงสีพื้นเป็นสีทองหรือสีเงินเท่านั้น และนำสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติ เช่น คน สัตว์ ที่มักแหวกความรู้สึกของคนในสมัยนั้นมาวาดเป็นองค์ประกอบหลัก ออกแบบให้เรียบง่ายแต่สะดุดตา สร้างความตะลึงหรือความประทับใจแก่ผู้ชม อย่างการวาดภาพขนาดใหญ่บนฉากพับหกบานซึ่งมักไม่ค่อยปรากฏก็ถือว่าเป็นเทคนิคหนึ่งของแนวริมปะ ที่สร้างความอลังการท่วมท้นตรึงสายตาคนดูได้แนบแน่น
ส่วน “ภาพดอกเบญจมาศกับสายน้ำ” เป็นจิตรกรรมประเภท “ภาพเขียนญี่ปุ่น” (日本画;Nihon-ga) อิโต จากูจูสร้างสรรค์ผลงานไว้มากมาย เป็นศิลปินคนสำคัญยิ่งในประวัติศิลปกรรมของญี่ปุ่น มีฝีมือในการใช้สีเป็นเลิศ ชอบวาดภาพพืชและสัตว์เป็นพิเศษ สำหรับภาพนี้ องค์ประกอบหลักอันได้แก่ ดอกเบญจมาศ และสายน้ำปรากฏชัดตามชื่อภาพ ส่วนที่เด่นสะดุดตาที่สุดคงจะเป็นกลุ่มดอกเบญจมาศขนาดใหญ่สีขาวที่บานกระจุกตัวกันอยู่แถว ๆ ขอบบน ดูเหมือนล่องลอยในอากาศ กลายเป็นภาพที่คิดแบบตรงไปตรงมาก็ออกจะหาความสมเหตุสมผลได้ยาก
ถัดจากมวลดอกเบญจมาศที่บดบังต้นน้ำด้านบนลงมาคือแนวพลิ้วคดโค้งคล้ายตัว S ที่แลดูเหมือนมีน้ำไหลจริง ๆ พาให้สายตาเคลื่อนไหวไปทางซ้ายและเลื่อนเยื้อง ๆ ลดระดับลงมาทางขวาจนสุดขอบด้านล่าง ปะทะเข้ากับกระจุกโขดหินประหลาด รูปทรงกับองค์ประกอบแบบนี้ชวนให้ตีความได้ว่าคงมีอิทธิพลของโคริงแฝงอยู่ไม่น้อย (https://m.mgronline.com/japan/detail/9620000019661)
หินพวกนั้นมีสีเขียวปนสีน้ำเงิน มองแวบเดียวสายตาย่อมจับรูปลักษณ์ได้ไม่ถนัดนัก แต่ความน่าพิศวงที่จงใจทำออกมาแบบนี้จนคนดูต้อง ‘จ้อง’ ซ้ำว่าอะไรเป็นอะไรคือเอกลักษณ์ที่พบได้บ่อยในงานของจากูจู ความซับซ้อนที่มุมนี้ทวีขึ้นด้วยกอเบญจมาศที่แซมอยู่ตามหินอีก แถบนี้มีทั้งดอกสีขาว สีชมพู และสีแดงส้ม มีนกตัวน้อยเกาะอยู่สองสามตัว ผลงาน “ภาพดอกเบญจมาศกับสายน้ำ” เก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ของสะสมในพระองค์ (Museum of the Imperial Collections) ในความดูแลของสำนักพระราชวัง ตั้งอยู่ในกรุงโตเกียว
ความนิยมที่มีต่อดอกไม้ชนิดนี้ยังไม่เสื่อมคลายแม้ในขณะนี้ ที่สำคัญคือดอกเบญจมาศได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งสถาบันจักรพรรดิของญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ เดิมเป็นแค่ความโปรดส่วนพระองค์ของจักรพรรดิสมัยโบราณ แต่ในสมัยเมจิ (1868-1912) ซึ่งเป็นช่วงที่สถาบันจักรพรรดิเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูความแข็งแกร่งหลังจากอยู่ภายใต้เงาบริหารของโชกุนมานาน ก็มีการกำหนดอย่างเป็นทางการให้ดอกเบญจมาศสิบหกแฉก/กลีบดอก เป็นตราของจักรพรรดิและพระบรมวงศ์ สื่อมวลชนต่างชาติเอ่ยถึงสถาบันจักรพรรดิของญี่ปุ่นว่า “ราชวงศ์/บังลังก์เบญจมาศ” ก็เพราะเหตุนี้ และปัจจุบันธงประจำพระองค์ของจักรพรรดิญี่ปุ่นก็มีลายดอกเบญจมาศอยู่ตรงกลางผืนธงสีแดง
ดอกเบญจมาศในสองผลงานนี้คือตัวแทนของผลงานชิ้นเอกอีกมาก และเป็นลายที่ศิลปินสมัยหลังยังคงนึกถึงเป็นอันดับต้น ๆ ไม่เฉพาะในงานวาดเท่านั้น แต่ในงานทอก็เป็นลายมาตรฐาน ดอกไม้ที่เห็นเป็นลายบนชุดกิโมโนทั้งหลาย นอกซากุระแล้ว ดอกเบญจมาศก็มีมาก บ้างลงลายเฉพาะดอก บ้างดัดแปลงผลงานของจากูจูมาลงเกือบทั้งภาพ เมื่อยังไม่รู้เราอาจดูผ่าน ๆ แต่เมื่อได้รู้ภูมิหลังแล้ว แน่นอนว่าย่อมมองได้ลึกซึ้งและสนุกยิ่งขึ้น เพราะดอกเบญจมาศของญี่ปุ่นที่เราเห็น เป็นมากกว่าดอกไม้ธรรมดา
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com