ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
ในบรรยากาศใกล้ปลายเดือนมีนาคมที่กำลังจะมีงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปี 2562 ซึ่งจัดที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะย้ายไปจัดที่อิมแพ็คอารีน่าเมืองทองธานี อยากจะกล่าวถึงความเคลื่อนไหวของวรรณกรรมญี่ปุ่นในตลาดหนังสือไทยเท่าที่ผ่านมา ฝากไว้เป็นอนุสรณ์ก่อนจะย้ายที่จัด อันที่จริงอยากจะบอกเล่าเรื่องราวแวดวงหนังสือของญี่ปุ่นด้วย แต่กว่าจะหมดจดครบถ้วนคงต้องใช้พื้นที่เขียนเป็นซีรีส์หลายตอน ในเบื้องต้นจึงขอพูดเฉพาะแนวโน้มวรรณกรรมญี่ปุ่นในไทยก่อน โดยเฉพาะนวนิยาย ส่วนประเด็นอื่นค่อยว่ากันในโอกาสต่อ ๆ ไป
หากกล่าวถึงวรรณกรรมญี่ปุ่นเรื่องแรกที่แปลเป็นภาษาไทย ตอนนี้นักวิชาการเชื่อว่าเรื่อง “จำพราก” คือเรื่องแรกที่แปลเป็นไทย โดยอมราวดีแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่ชื่อ Namiko ลงตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสารรายสัปดาห์ “นารีนาถ” ก่อนจะรวมเล่มเมื่อปี 2518 ซึ่งทิ้งช่วงนานกว่า 20 ปี (อ้างอิงอาจารย์อาทร ฟุ้งธรรมสาร, 2534) ส่วนฉบับภาษาญี่ปุ่นคือ Ototogisu เป็นผลงานของ Roka (Kenjiro) Tokutomi ลงเป็นตอน ๆ ในหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2441-2442 ซึ่งอยู่ในสมัยเมจิ (ตรงกับรัชกาลที่ 5) เมื่อรวมเล่มก็กลายเป็นหนังสือขายดีในญี่ปุ่นและแปลเป็นภาษาอังกฤษอันเป็นที่มาของการแปลเป็นไทยอีกทอดหนึ่ง
แม้ว่าฉบับภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษต่างก็ขายดี อีกทั้งฉบับภาษาเกาหลีก็ส่งอิทธิพลต่อวงการหนังสือ แต่ฉบับภาษาไทยแทบไม่มีอิทธิพลต่อวงการอย่างมีนัยสำคัญ (Hiramatsu, 2010) โดยเฉพาะในด้านการจุดประกายความสนใจต่อวรรณกรรมญี่ปุ่น สันนิษฐานว่าเป็นเพราะในยุคนั้นกระแสวรรณกรรมแปลยังเป็นยุคของงานเขียนจากตะวันตก นอกจากนี้ ผู้ที่รู้ภาษาต่างประเทศที่ไม่ใช่อังกฤษกับฝรั่งเศสจนถึงระดับที่แปลเรื่องยาว ๆ ได้ก็คงมีไม่มาก จึงมีงานแปลจากภาษาอังกฤษเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงสมัยนี้แล้ว อาจจะกล่าวได้ว่าถึงเวลาที่น่าจะหยิบบทประพันธ์ Ototogisu ขึ้นมาพิจารณาซ้ำ หรือแปลใหม่ในฐานะหมุดหมายแห่งการเริ่มต้นแปลบทประพันธ์ญี่ปุ่น
ก่อนที่ “จำพราก” จะรวมเล่มเมื่อปี 2518 นั้น มีวรรณกรรมญี่ปุ่นปรากฏเป็นไทยอยู่บ้าง เช่น บทละคร “ราโชมอน” (2509) โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชผู้สนใจญี่ปุ่นเป็นพิเศษถึงกับเขียนสารคดีออกมาเป็นเล่ม ชื่อว่า “ฉากญี่ปุ่น”, “เสียงแห่งขุนเขา” (2512) โดยอมราวดี, “เหมันตคาม” (2515) โดยฉุน ประภาวิวัฒน (2515) ปัจจุบันคงหาอ่านได้ยากแล้วยกเว้นราโชมอน ซึ่งถ้าว่ากันโดยเนื้องาน ราโชมอนไม่ใช่งานแปลล้วน ๆ แต่เป็น “งานดัดแปลง” มากกว่า เพราะเป็นการนำเค้าโครงจากภาพยนตร์ญี่ปุ่นมาเขียนให้เป็นแบบไทย ๆ
สำหรับบทประพันธ์แปลง ในญี่ปุ่นเมื่อสมัยก่อน การผลิตงานลักษณะนี้ก็ทำกันทั่วไป มีศัพท์เฉพาะเรียกว่า “ฮงอัง” (翻案;hon-an) นวนิยายญี่ปุ่นจำนวนมากดัดแปลงมาจากของฝรั่ง โดยเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนฉากต่างประเทศให้เป็นญี่ปุ่น นักเขียนดัง ๆ อย่างเอโดงาวะ รัมโปะก็มีงานประเภท “ฮงอัง” อยู่หลายเล่ม และหนึ่งในนั้นเกี่ยวข้องกับไทยโดยบังเอิญด้วยคือ “ปีศาจผมขาว” ซึ่งเป็นงานที่แปลงมาจาก Vendetta!; or, The Story of One Forgotten (1886) บทประพันธ์ Vendatta! เรื่องเดียวกันนี้มีความสำคัญต่อวงการวรรณกรรมไทยในฐานะนวนิยายแปลเรื่องแรก โดยแม่วัน (พระยาสุรินทราชา) ในชื่อ “ความพยาบาท”
จากผลงานจำนวนหนึ่งข้างต้น กล่าวได้ว่าการแปลวรรณกรรมญี่ปุ่นเกิดขึ้นประปรายท่ามกลางสภาพที่ยังไม่ค่อยมีคนเรียนภาษาญี่ปุ่น แต่งานที่ออกมาส่วนใหญ่เกิดจากความสนใจเฉพาะตัวของนักวิชาการด้านวรรณกรรมและนักแปล อ่านกันอยู่ในวงจำกัด ยังไม่หลากหลายเท่าไร และเป็นงานที่แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษเป็นหลัก งานที่ถือว่าจุดกระแสให้คนเริ่มรู้จักวรรณกรรมญี่ปุ่นชนิดที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้นและกว้างขึ้นคือวรรณกรรมเยาวชน “โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง” (2527) ในญี่ปุ่นก็ถือว่าเป็นวรรณกรรมอมตะเรื่องหนึ่ง ผู้แปลคือผุสดี นาวาวิจิตซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาญี่ปุ่นและอยู่ในวงการแปลมานาน
หากจะถือว่าปลายทศวรรษ 2520 จนเข้าสู่ทศวรรษ 2530 คือยุคเริ่มต้นของการแปลวรรณกรรมญี่ปุ่นเป็นไทยอย่างจริงจังก็คงได้ เพราะเริ่มมีการแปลจากต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นมากขึ้นและแนวเรื่องค่อย ๆ ขยายตัวจากเดิมซึ่งเป็นวรรณกรรมหนัก ๆ มาเป็นวรรณกรรมเยาวชนด้วย อีกทั้งบางส่วนก็เป็นวรรณกรรมเพื่อความบันเทิงโดยเฉพาะ เช่น เรื่องลึกลับสยอง แต่ในแง่วัฒนธรรมมวลชนในไทยต้องถือว่าวรรณกรรมแปลของญี่ปุ่นยังไปไม่ถึงจุดนั้น
จนกระทั่งสำนักพิมพ์ JBOOK ในเครืออิมเมจ (ก่อนจะแยกออกมาเป็นบลิซพับลิชชิ่ง) บุกเบิกตลาดช่วงต้นทศวรรษ 2540 ยุคทองของวรรณกรรมญี่ปุ่นในไทยจึงเกิดขึ้น มีความร่วมสมัยมากขึ้น และเป็นช่วงที่วรรณกรรมญี่ปุ่นก้าวถึงระดับวัฒนธรรมมวลชนในไทย งานของ JBOOK เข้าถึงผู้อ่านในวัยที่หลากหลายกว่าเดิม ผู้แปลที่แปลได้โดยตรงจากภาษาญี่ปุ่นมีมากขึ้น ลักษณะงานไม่ได้มีแค่วรรณกรรมหนัก ๆ หรือวรรณกรรมเด็กเหมือนที่ผ่านมา แต่ครอบคลุมกว้างขวางทั้งเรื่องรักโรแมนติก สยองขวัญ วัยรุ่น สืบสวนสอบสวน โดยเฉพาะประเภทหลังนี้ ชุดที่ได้รับความนิยมอย่างสูงคือชุดนักสืบคินดะอิจิ ผลงานของโยโกมิโซะ เซชิ
หากใครยังจำได้ ช่วงนั้นในงานหนังสือฯ แต่ละครั้ง ถ้าเดินไปแถว ๆ บูทของสำนักพิมพ์ JBOOK จะเบียดเสียดยัดเยียดกันมากอย่างกับมีของแจกฟรี พนักงานขายมีเป็นสิบ ผมเคยไปชะเง้ออยู่หลายที แต่ไม่ได้เป็นลูกค้า JBOOK ตรงนั้นสักทีเพราะไม่ไหวจะเบียด แต่น่าเสียดาย เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป อะไรก็เกิดขึ้นได้ เกิดข่าวลือว่า JBOOK จะปิดกิจการ นักอ่านคาดเดากันไปต่าง ๆ นานา และผลที่สุดคือ JBOOK เลิกกิจการอย่างเป็นทางการจริงในปี 2555 โดยที่มีนักอ่านจำนวนมากรอคอยผลงานเล่มต่อในซีรีส์เดิมที่ยังไม่จบ
ช่วงปี 2555 ซึ่งเป็นปีที่ JBOOK ปิดไปนั้น วงการสิ่งพิมพ์เริ่มเข้าสู่ภาวะซบเซาแล้ว หนังสือแปลที่เคยบูมมาพักใหญ่ตั้งแต่ยุคแฮร์รี่ พอตเตอร์เริ่มซาลง อันหมายรวมถึงหนังสือที่แปลจากภาษาอังกฤษด้วย ส่วนวรรณกรรมญี่ปุ่นนั้น เมื่อ JBOOK ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่ผลิตวรรณกรรมญี่ปุ่นมากที่สุดไม่อยู่แล้ว นักอ่านจึงรู้สึกเคว้งคว้าง ทว่าต่อมาไม่นาน ในปีเดียวกันนั้นเองก็มีสำนักพิมพ์ Talent 1 เกิดขึ้น โดยมีบุคลากรและนักแปลบางส่วนที่เคยทำงานกับ JBOOK มาร่วมงาน และผลิตงานที่ดูเหมือนเป็นการสานต่อซีรีส์ดัง ๆ จาก JBOOK โดยเฉพาะชุดนักสืบคินดะอิจิ แต่พอผ่านไปสี่ห้าปี สำนักพิมพ์นี้ก็ไม่มีความเคลื่อนไหวด้านการผลิตหนังสืออีก ทำให้เกิดการคาดเดาอีกเช่นกันว่าอาจปิดกิจการไปแล้ว
ช่วงปลายทศวรรษ 2550 ย่างสู่ทศวรรษ 2560 ถือว่าเป็นช่วงแตกกระจายของตลาดวรรณกรรมญี่ปุ่นในแง่ที่ว่ามีทั้งผู้ผลิตรายใหญ่นอกเหนือจาก JBOOK และรายย่อยเข้าสู่ตลาด ผู้ผลิตรายใหญ่มาก ๆ อย่าง JBOOK ที่เคยผลิตงานออกมาไม่ต่ำกว่าปีละ 10 ปกนั้นตอนนี้ไม่มี สาเหตุคงเป็นเพราะตลาดหนังสือเองก็อยู่ในภาวะชะลอตัวและต้นทุนการผลิตก็สูงขึ้น สำนักพิมพ์บางแห่งเน้นจับงานของนักเขียนเป็นคน ๆ ไป เช่น กำมะหยี่ผลิตงานของมูรากามิ ฮารูกิ, อมรินทร์ผลิตงานของมินาโตะ คานาเอะ, เจลิตผลิตงานของนัตสึเมะ โซเซกิ
นอกจากนี้ กระแสไลต์โนเวลของสำนักพิมพ์บางแห่งก็เด่นชัดขึ้นด้วย เช่น ฟีนิกซ์ รักพิมพ์ และอีกกระแสหนึ่งที่เห็นได้ชัดในช่วงสองสามปีนี้คือ งานของฮิงาชิโนะ เคโงะนักเขียนแนวสืบสอนสวนที่อาจกล่าวได้ว่าดังที่สุดแห่งยุคกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดมาก มีสำนักพิมพ์ในไทยไม่ต่ำกว่า 5 แห่งนำผลงานของเคโงะมาแปล และหากพูดถึงความโด่งดังของนักเขียนญี่ปุ่นร่วมสมัยในระดับโลกแล้ว รองจากมูรากามิ ฮารูกิก็ต้องฮิงาชิโนะ เคโงะนี่แหละ เพียงแต่ว่าเป็นนักเขียนคนละแนว
เมื่อสรุปให้เห็นภาพกว้าง ๆ ของวรรณกรรมญี่ปุ่นในไทยตามช่วงเวลากับพัฒนาการน่าจะได้ดังนี้
• ยุคเริ่มต้นปลายทศวรรษ 2520 - ทศวรรษ 2530
• ยุคทอง (ผู้ผลิตรายหลักน้อยราย)ทศวรรษ 2540 - กลางทศวรรษ 2550
• ยุคทรงตัว (ผู้ผลิตมากราย) ปลายทศวรรษ 2550 เป็นต้นมา
ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ ในขณะที่คนไทยชอบอ่านนวนิยายสืบสวนกันมาก และวรรณกรรมญี่ปุ่นที่ขายดีตอนนี้ก็มักจะเป็นแนวนี้แทบทุกเล่ม แต่นักเขียนไทยที่เขียนแนวนี้ได้กลับมีน้อยมาก (ญี่ปุ่นมีเป็นร้อยนับตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา) วงการวรรณกรรมไทยไม่เคยมีนักสืบที่มีชื่อเป็นอมตะอย่างโฮมส์หรือปัวโรต์ของอังกฤษ หรืออาเกจิ โคโงโรของญี่ปุ่น
หากไปงานหนังสือฯ ลองโฉบไปสังเกตหน้าปกหนังสือตามบูทต่าง ๆ ดู อาจจะรู้สึกเหมือนที่ผมรู้สึกคือ น่าอิจฉาวรรณกรรมญี่ปุ่น จีน เกาหลี เพราะมีคนนำมาแปลกันอย่างแพร่หลาย ในขณะที่วรรณกรรมไทยในโลกใบนี้ไม่ค่อยจะมีให้เห็นที่ใดนอกจากในไทย แต่ในไทยเองก็ขายไม่ค่อยจะได้ในปัจจุบัน จึงอยากจะฝากว่าเราควรช่วยกันอ่านช่วยกันพัฒนาวงการ เผื่อว่าสักวันจะถึงยุคทองของวรรณกรรมไทยในต่างประเทศบ้าง
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com