ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
“ยลศิลป์ยินญี่ปุ่น” คือมุมพิเศษมุมใหม่ที่มาแทน “สะดุดคำ” หลังจากที่ได้นำเสนอมาครบ 3 ปีเต็ม มุมนี้จะแนะนำญี่ปุ่นผ่านงานศิลปะเดือนละครั้ง ด้วยการบอกเล่าแง่มุมที่น่าสนใจในเชิงศิลปะ สังคม และเกร็ดประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการมองผ่านจิตรกรรมประเภทต่าง ๆ ของญี่ปุ่น ประกอบกับคำอธิบายสะท้อนภูมิหลังทางยุคสมัยในลักษณะที่หาอ่านที่อื่นได้ยาก
แถบสีดำเหลือบเงินออกเงา ๆ ดูโดดเด่น สะกดสายตาผู้ชมให้จับอยู่ที่ด้านล่างกลางภาพอันเป็นช่วงปลายของแถบที่ลากคล้ายไหลออกมาแผ่บาน แถบนี้ไม่ตรง แต่คดโค้งจากบนลงล่างโดยมีขอบขนาบซ้ายขวาเป็นเส้นยึกยือที่มิได้ขนานกัน ต้นทางดูเหมือนอยู่ด้านบนเยื้องไปทางขวาเล็กน้อย กำเนิดจากทรงกระบอกสอบ ๆ ชิดริมภาพ แล้วยื่นย้อยไล่ลงมาขยายที่เบื้องปลาย กินพื้นที่กึ่งกลางและเยื้องไปทางซ้ายเป็นส่วนใหญ่จนสุดริมภาพด้านล่าง รวมแล้วครองพื้นที่ของสองฉากที่ตั้งประชิดกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าราวครึ่งหนึ่ง ด้วยพื้นหลังเป็นสีทอง จึงตัดกับสีดำเหลือบเงินของแถบทรงพลังนี้อย่างแรง ยากที่สายตาจะละผ่านโดยไม่สะดุดจ้องจุดนี้ อีกทั้งภายในบริเวณอันก่อเกิดจากแนวของสองเส้นกรอบนั้นก็ลึกลับด้วยด้วยอิทธิพลของสีดำกับลายริ้วโค้งเป็นหย่อม เพียงแค่มองผาด ๆ ย่อมคาดเดาได้โดยง่ายว่าแถบที่ว่านี้คงเป็นแม่น้ำที่มองจากมุมไกล-ใกล้
ใช่...จิตรกรตั้งใจวาดแม่น้ำเป็นองค์ประกอบเด่น แต่แม่น้ำไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในชื่อผลงาน จิตรกรรมชิ้นนี้มีชื่อว่า “ฉากพับจิตรกรรมดอกบ๊วยขาวแดง” (紅白梅図屏風; Kōhakubai-zu byōbu) เมื่อได้ชื่อเช่นนี้ย่อมต้องมีดอกบ๊วยปรากฏ นั่นอย่างไรเล่า! สองต้นที่ยืนกระหนาบซ้ายขวาช่วงปลายน้ำคือต้นบ๊วยยามออกดอก ใบนั้นหรือ?...ไร้วี่แววเพราะยังไม่ถึงเวลา แม้ฤดูในภาพได้ชื่อว่าใบไม้ผลิ แต่บ๊วยจะออกดอกมาอวดโฉมแฉล้มก่อน นัยว่าข้าไม่กลัวความหนาวเดือนกุมภาพันธ์ ครั้นผ่านช่วงดอกผยองราวหนึ่งถึงสองสัปดาห์ ต่อมาใบเขียวจึงค่อย ๆ เคลื่อนทัพผลิตาม อันเป็นธรรมชาติของต้นบ๊วยเช่นเดียวกับซากุระ
จิตรกรญี่ปุ่นนิยมวาดภาพบนฉากกั้นห้องหรือประตูเลื่อนที่ใช้ในบ้าน ผลงานภาพเขียนบนกำแพงของญี่ปุ่นมักไม่เป็นที่พูดถึงเท่าไร ผลงาน “ฉากพับจิตรกรรมดอกบ๊วยขาวแดง” แห่งสมัยเอโดะภาพนี้ก็เช่นกัน วาดอยู่บนฉากพับตามชื่อ และวงการศิลปะญี่ปุ่นถือว่าเป็น “มาสเตอร์พีซ” โดยประกอบด้วยฉากซีกขวาและซ้ายรวม 1 คู่ตามขนบ แต่ละฝั่งมีขนาด 156 x 172 เซนติเมตร แบ่งเป็น 2 พับ ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ “พิพิธภัณฑ์ศิลปะ MOA” (MOA Museum of Art) จังหวัดชิซูโอกะ
“อูเมะบานแล้ว!” น้ำเสียงตื่นเต้นดีใจแบบนี้มักจะได้ยินในเดือนกุมภาพันธ์ เพราะ “อูเมะ” (梅;Ume) หรือ “บ๊วย” คือไฮไลต์ของเดือน เป็นสัญลักษณ์เตือนใจให้อดทน และเป็นดอกไม้มงคล ดอกบ๊วยกับซากุระนั้นคล้ายกัน แต่ใครที่มาญี่ปุ่นและเห็นดอกสีชมพูไม่เป็นพุ่มเต็มต้น โดยเฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ขอให้ระลึกไว้ว่าส่วนใหญ่คือดอกบ๊วย (บางครั้งซากุระก็บานผิดฤดู ถ้าอากาศเดี๋ยวอุ่นเดี๋ยวหนาว บางทีต้นไม้ก็งง บานแล้วหุบไม่ได้)
ในขณะที่ดอกซากุระได้รับความนิยมมากกว่าบ๊วย แต่ในแง่ความหมาย คนญี่ปุ่นมองว่าดอกซากุระนั้นถึงสวยก็จริง แต่บอบบางและฉาบฉวย ส่วนดอกบ๊วยอึดกว่า ทนหนาวได้ดี และถึงแม้ไม่อลังการบานเป็นพุ่มใหญ่ แต่ก็สร้างความเพลินใจให้แก่ผู้นิยมดอกไม้มาช้านาน จึงกลายเป็นดอกไม้ที่ปรากฏในงานศิลปะบ่อยที่สุดชนิดหนึ่งรวมทั้งในภาพของโองาตะ โคริงแห่งสมัยเอโดะ เจ้าของผลงานจิตรกรรมดอกบ๊วยขาวแดงนี้ด้วย
โองาตะ โคริง (尾形光琳; Ogata Kōrin) เป็นจิตรกรเอกคนหนึ่งของญี่ปุ่น มีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ. 1658-1716 (พ.ศ. 2201-2259) เทียบกับไทยคือประมาณปลายสมัยอยุธยา เกิดในตระกูลมีอันจะกินในนครเกียวโต ครอบครัวทำกิจการเกี่ยวกับผ้า รับตัดเสื้อผ้าให้แก่หญิงสูงศักดิ์ โคริงได้รับอิทธิพลด้านศิลปะจากพ่อ พี่ชายก็เป็นช่างเครื่องปั้นและจิตรกรที่มีชื่อเสียงเหมือนกัน
ว่ากันว่าโคริงเป็นเพลย์บอย เจ้าชู้ ลูกสี่ทว่าคนละแม่ แต่โคริงก็มีพรสวรรค์ด้านศิลปะ โดยศึกษาจากศิลปินหลายคน และคนหนึ่งที่มีอิทธิพลต่องานของเขามากที่สุดคือทาวารายะ โซตัตสึ เจ้าของผลงาน “ฉากพับภาพวายุเทพกับอสุนีบาตเทพ” (https://mgronline.com/japan/detail/9610000095762) ซึ่งต่อมาโคริงเองก็วาดภาพเลียนแบบผลงานนี้ไว้ด้วย และมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าภาพบ๊วยขาวแดงของโคริงก็ได้แรงบันดาลใจจากภาพนั้น
เมื่อนำสองภาพมาวางเคียงกันเพื่อพินิจเชิงเปรียบเทียบจะเห็นโครงสร้างที่คล้าย ๆ หากลากเส้นแนวทแยงจากมุมล่างซ้ายขวาขึ้นไปบรรจบที่ยอดตรงรอยประชิดของสองฉากก็จะได้รูปสามเหลี่ยม ซึ่งจะทำให้เห็นชัดยิ่งขึ้นว่าโคริงตั้งใจใช้ความลึกตรงกลางภาพสร้างพลังดึงดูด โดยให้องค์ประกอบใหญ่ทางด้านซ้ายขวาโอบอัดพลังไว้ตรงกลาง ส่วนที่ต่างกันก็คือแม่น้ำในภาพบ๊วยขาวแดง ในภาพวายุเทพกับอสุนีบาตเทพนั้นตรงกลางว่างเปล่า อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบต้นบ๊วยกับสองเทพห้าวหาญแล้ว พลังบ๊วยอาจดูอ่อนไปหน่อย สายน้ำจึงเกิดขึ้น แล้วก็สร้างพลังได้จริง ๆ เพราะผู้ชมน่าจะเห็นแม่น้ำก่อนต้นบ๊วย
เมื่อเหลือบไปดูทางต้นบ๊วยอีกที จะเห็นได้ว่าตามกิ่งก้านมีตุ่มเล็ก ๆ อยู่ แลดูเหมือนไม้ชราที่ผลิดอกแรกแย้ม ต้นทางขวาดอกชูช่อขึ้นด้านบน ตัวดอกเป็นสีแดง หรือ “โค” (紅;kō) ส่วนต้นทางซ้ายโน้มกิ่งจากบนลงล่าง ออกดอกสีขาว หรือ “ฮากุ” (白;haku) “โค-ฮากุ” เข้าคู่กันตามขนบสีแดงขาวของญี่ปุ่น แม้มีความเชื่อเกี่ยวกับสิริมงคลอยู่ด้วย แต่ในอีกนัยหนึ่ง แดงกับขาวคือสีที่ประจันหน้าแข่งกัน ดังเช่นการแบ่งทีมเป็นสีขาวกับสีแดงในกีฬาสีของโรงเรียน หรืองานประชันเพลงขาวแดงวันสิ้นปีที่ออกอากาศทางช่อง NHK ทุกปี ส่วนลายน้ำไหวเป็นระลอกในกระแสนั้น จากการใช้วิทยาศาสตร์เข้าศึกษาด้วยพบว่าโคริงใช้แผ่นเงินเปลว ซึ่งเป็นเทคนิคที่น่าสนใจในการนำแผ่นเงินกับทอง (พื้นหลัง) มาใช่ร่วมกัน
นอกจากแนวคิดในภาพแล้ว เทคนิคอันควรค่าแก่การกล่าวถึงคือ “ทาราชิโกมิ” (溜込; Tarashikomi) หรือ “การหยดซึม” ซึ่งโคริงนำมาใช้กับลำต้นของต้นบ๊วย “ทาราชิโคมิ” เป็นศัพท์ในวงการศิลปะญี่ปุ่น หมายถึง การทาสีแรกลงไป จากนั้นก็ทาสีอื่นตามโดยไม่รอให้สีแรกแห้ง การซึมของสีจะก่อให้เกิดลักษณะเฉพาะ วิธีการนี้เป็นที่นิยมมากในช่วงที่สำนักโคริงเฟื่องฟู ส่วนตุ่มดอกบ๊วยก็เป็นการวาดรังสรรค์ขึ้นโดยไร้เส้นร่าง
สิริแล้วภาพที่ดูเหมือนเรียบง่ายช่างแฝงด้วยสัญลักษณ์และการเปรียบต่าง ไม่ว่าจะเป็น “ความชรา-ความแรกแย้ม”, “แดง-ขาว”, “ทอง-เงิน”, “บน-ล่าง” หรือแม้แต่ “ความเคลื่อนไหว-ความหยุดนิ่ง” (น้ำไหล-ไม้ยืนต้น) กลายเป็นความขัดแย้งที่สื่อความเขม็งเกลียวตื่นตัวออกมาหากมองด้วยสายตาศิลปะ และคงด้วยเหตุนี้ประกอบกับความคิดสร้างสรรค์และทักษะการใช้สี “ฉากพับจิตรกรรมดอกบ๊วยขาวแดง” จึงได้รับการยกย่องเป็น “เป็นสมบัติแห่งชาติ”
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com