xs
xsm
sm
md
lg

ยลศิลป์ยินญี่ปุ่น : อภินิหารเทพลมกับเทพสายฟ้า

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์

“ฉากพับภาพวายุเทพกับอสุนีบาตเทพ” ทาวารายะ โซตัตสึ (154.5 ซม. × 169.8 ซม.)
ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


“ยลศิลป์ยินญี่ปุ่น” คือมุมพิเศษมุมใหม่ที่มาแทน “สะดุดคำ” หลังจากที่ได้นำเสนอมาครบ 3 ปีเต็ม มุมนี้จะแนะนำญี่ปุ่นผ่านงานศิลปะเดือนละครั้ง ด้วยการบอกเล่าแง่มุมที่น่าสนใจในเชิงศิลปะ สังคม และเกร็ดประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการมองผ่านจิตรกรรมประเภทต่าง ๆ ของญี่ปุ่น ประกอบกับคำอธิบายสะท้อนภูมิหลังทางยุคสมัยในลักษณะที่หาอ่านที่อื่นได้ยาก

ฟ้าฝนเป็นเรื่องธรรมชาติ ตอนนี้วิทยาศาสตร์ขยายความได้เกือบหมด แต่ในยุคที่ความรู้ของมนุษย์ยังเข้าไม่ถึง ปรากฏการณ์ธรรมชาติมักถูกอธิบายในเชิงเทววิทยา เป็นเช่นนั้นเหมือนกันทั่วโลก ทั้งตะวันตกและตะวันออก โลกนี้จึงดูเหมือนมีเทวดาหลายสัญชาติบริหารงาน บ้างแทรกแซงกิจการมนุษย์ บ้างซ้ำซ้อนกันคนละฝั่งโลกโดยมิได้นัดหมาย หรือหลาย ๆ องค์ก็เรียกร้องของเซ่นแผลง ๆ ในด้านหนึ่งทั้งหมดนี้คือเหยื่อทางความคิดของมนุษย์เท่านั้นเองเพราะจะดีจะร้ายก็ยกให้เทวดารับไป แต่ถ้าชี้ถึงด้านดี นี่คือการระบายความเครียดยามหาคำตอบเกี่ยวกับธรรมชาติไม่ได้ ในแง่นี้นอกจากเราจะได้เทพนิยายปรัมปราเนื้อหาเร้าใจแล้ว ยังต่อยอดไปถึงศิลปะด้วย
วัดเซ็นโซจิ อาซากูซะ
วัดเซ็นโซจิ อาซากูซะ
ญี่ปุ่นมีเทพในกลุ่มปรากฏการณ์ธรรมชาติมากมาย ที่รู้จักกันแพร่หลายคือ วายุเทพ กับอสุนีบาตเทพ ซึ่งมีทั้งตำนานและงานศิลป์สืบสานความขลัง เมื่อไปวัดบางแห่งอาจพบเห็นรูปสลักเทพสององค์นี้ สถานที่โด่งดังอย่างวัดเซ็นโซจิที่อาซากูซะ เมื่อเราหันหน้าจากด้านนอกเข้าหาจะพบว่าตรงซุ้มประตูขวาซ้ายมีรูปสลักเทพลมกับเทพสายฟ้ายืนตระหง่าน แต่คงเพราะเทพหน้าละม้ายกันและท่าที่โพสนั้นก็คล้ายคลึง นักเมียงมองจึงแค่ส่อง ๆ แล้วหันขวับกลับไปถ่ายรูปกับโคมยักษ์ดีกว่า มีน้อยคนที่รู้ว่ารูปสลักซึ่งคนไทยคงมองว่าใกล้เคียงกับยักษ์ของเรานั้นเป็นใครกัน

อันที่จริงเทพสององค์ที่เหมือนเป็นคู่หูกันนี้มิได้มีแค่รูปสลัก แต่ปรากฏเป็นจิตรกรรมเลื่องชื่อด้วย และพอเป็นภาพเขียนก็อาจพินิจได้ชัดเจนหรือเข้าใจความหมายได้ง่ายกว่าประติมากรรมตามวัด ภาพที่ว่านี้คือ “ฟูจินไรจิน-ซุ เบียวบุ” (風神雷神図屏風; Fūjin Raijin Zu Byōbu) หรือ “ฉากพับภาพวายุเทพกับอสุนีบาตเทพ” และเช่นเดียวกับงานจิตรกรรมตัวแทนอีกหลายชิ้นของญี่ปุ่น ภาพนี้ปรากฏอยู่บน “เบียวบุ” หรือฉากพับที่ใช้กั้นห้อง หากมองความต่อเนื่องของฉากรองภาพ ย่อมถือได้ว่าผลงานนี้คือสองภาพขวาซ้ายที่ประกอบกันเป็นชุดใหญ่ แต่ละภาพอยู่บนแผ่นฉากที่พับครึ่งได้ พอนำมาวางเรียงกันจะได้ฉากใหญ่ที่ประกอบด้วย 2 ฉากแยกกัน จิตรกรบรรจงวาดเทพสององค์ให้อยู่ใกล้ขอบแต่ละฝั่ง สำหรับคนต่างชาติผู้ไม่คุ้นเคยกับศิลปะญี่ปุ่น หากมองเพียงรูปลักษณ์ของเทพ อาจเดาไม่ถูกว่าองค์ไหนคือลม องค์ไหนคือสายฟ้า

บนพื้นฉากสีทอง เมื่อตวัดสายตาไปทางขวาจะเห็นเทพร่างเขียวหันกายเข้าหาคนชมและหันหน้าไปทางขวา ใบหน้าถมึงทึงอย่างนี้เรียกว่ายักษ์อาจเหมาะกว่า เทพองค์นี้หรือยักษ์ตนนี้งอเท้าอยู่ แลดูเหมือนเหาะ สองมือกุมอะไรบางอย่างพอง ๆ เป็นสีขาวที่ยาวต่อเนื่องลอยอยู่เหนือหัว นั่นคือผืนผ้าที่ใช้กางเพื่อบินเหมือนนินจาใช่หรือไม่? มิได้...นั่นคือถุงบรรจุลมตามชื่ออันสื่อถึงอำนาจแห่งวายุ “ฟูจิน” (風神; Fūjin) หรือวายุเทพ

ครั้นเหลือบไปทางซ้ายจะเห็นเทพรูปร่างหน้าตาไม่ผิดแผกกันมากนัก แต่สิ่งที่ต่างอย่างเห็นได้ชัดคือของในมือกับสีของร่างกาย องค์นี้ถือสิ่งที่แลดูเหมือนด้ามจับอะไรสักอย่าง ว่ากันว่าสิ่งนั้นคือเขาวัว และรอบตัวก็มีเชือกวนล้อมเป็นวงโค้งขึ้นไป หากสังเกตให้ดี แต่ละช่วงบนเชือกมีวัตถุกลม ๆ แบน ๆ ร้อยอยู่ นั่นคือกลอง หากตีเมื่อใดจะเกิดฟ้าร้องฟ้าผ่าตามชื่อที่สื่อถึงอำนาจว่า “ไรจิน” (雷神;Raijin) หรืออสุนีบาตเทพ

ตำนานกำเนิดญี่ปุ่นตามคติชินโตเล่าถึง “ฟูจิน” กับ “ไรจิน” ไว้ด้วย ทั้งสองต่างถือกำเนิดจากมหาเทพกับมหาเทวีผู้ทรงสร้างญี่ปุ่น (สององค์นี้เป็นพี่ชายกับน้องสาว) วันหนึ่งมหาเทวีสูดหมอกยามเข้าไป เมื่อหายใจออกมาก็กลายเป็นเทพลม เทพของญี่ปุ่นมีลักษณะก้ำกึ่งกับภูตผีปีศาจด้วย วายุเทพก็เช่นกัน ในบางภาคภาพลักษณ์สะท้อนออกมาในฐานะปีศาจหรือยักษ์ที่สร้างความเสียหายแก่ไร่นาหรือการประมงด้วยการโยกย้ายกระแสลม หรือหากเข้าสู่ร่างกายคนก็จะเป็นสาเหตุให้เจ็บไข้ได้ป่วย
รูปสลัก “ฟูจิน” ที่วัดซันจูซันเก็นโดในเกียวโต
ความเชื่อนี้สะท้อนมาถึงวัฒนธรรมทางภาษา กล่าวคือ คำว่า “ลม” ภาษาญี่ปุ่นพูดว่า “คาเซะ” (風;kaze) หรือเมื่อเขียนเป็นคำประสม โดยทั่วไปจะออกเสียงว่า “ฟู” ดังเช่น “ฟูจิน” (ลม-เทพเจ้า) และคำว่า “หวัด” ภาษาญี่ปุ่นก็ออกเสียงว่า “คาเซะ” เช่นกัน แต่เขียนโดยใช้ตัวอักษร 風 (ลม) กับ 邪 (ชั่วร้าย, ผิดแปลก)รวมกันเป็น 風邪 หรือ “ลมร้าย” ในสมัยเอโดะเมื่อมีโรคหวัดระบาด ก็ถึงกับนำฟางมามัดทำเป็นตุ๊กตาฟางแทนตัวฟูจิน ทำพิธีถือเคล็ดปัดเป่าไล่ฟูจินออกไป แล้วเอาตุ๊กตาฟางไปลอยน้ำ
ตุ๊กตาฟาง
ส่วน “ไรจิน” ซึ่งเป็นเทพฟ้าร้องฟ้าผ่าของญี่ปุ่นคงเหมือนรามสูรตรงที่เป็นยักษ์เหมือนกัน แต่ไม่ได้สู้กับเมขลา ไรจินถือกำเนิดจากหนอน 8 ตัวที่ไปเกาะตามตัวขอมหาเวทีตอนนางตกสู่ปรโลก จึงกลายเป็นไรจินทั้งแปดและได้รับมอบหมายให้ปกปักรักษาพระธรรมของพระพุทธเจ้า คนญี่ปุ่นเชื่อว่าดลบันดาลเรื่องฟ้าฝนสำหรับพืชผลการเกษตร และส่วนใหญ่เมื่อพูดถึงเทพสายฟ้ามักจะหมายถึง “ไรจินไฟ” ในญี่ปุ่นมีเรื่องหลอกเด็กด้วยว่าตอนฝนตกฟ้าร้องให้ปิดสะดือเอาไว้ให้ดี สืบเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่าไรจินจะลงมากินสะดือเด็ก ที่มาของความเชื่อนี้ไม่มีแหล่งยืนยันแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าคงมาจากการที่พบว่ารอบสะดือของคนที่ถูกฟ้าผ่าตายมีรอยไหม้ ๆ ดำ ๆ เหมือนสะดือถูกควัก
รูปสลัก “ไรจิน” ที่วัดซันจูซันเก็นโดในเกียวโต
หลังจากสืบเสาะความคิดเชิงคติชนเบื้องหลังภาพแล้ว เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาอีกครั้ง คราวนี้มั่นใจได้แล้วว่าฝั่งขวาคือเทพลมเพราะมีถุงลม ฝั่งซ้ายคือเทพสายฟ้าเพราะตีกลองให้เป็นฟ้าร้องได้ เมื่อทราบความหมายมากขึ้น แน่นอนว่าองค์ประกอบที่ดูเรียบง่ายย่อมกลายเป็นสนุก พอพุ่งเน้นมองภาพรวมอีกทีจะเห็นเทพสององค์ดูเด่นเพราะได้พื้นหลังสีทองมาช่วยขับ อีกทั้งท่วงท่าที่เหมือนกำลังขยับอยู่ริม ๆ ใกล้มุม ชิดจนแทบตกขอบนั้น ก็สร้างบรรยากาศความเขม็งเกลียวน่าตื่นเต้น คล้าย ๆ จะเกิดความเคลื่อนไหวของอะไรสักอย่างขึ้นมา ตรงนั้นคือจุดที่ศิลปินจงใช้ที่ว่างกลางฉากเป็นสัดส่วนสูงเพื่อดึงสายตาให้ขยับดูขวาและดูซ้าย และอีกสิ่งหนึ่งที่ฉีกขนบการวาดยักษ์ของญี่ปุ่นคือการใช้สี หากเอ่ยถึงยักษ์ คนญี่ปุ่นจะนึกถึงยักษ์ฟ้ายักษ์แดง รูปสลักเทพสององค์ที่ประตูคามินาริในย่านอาซากูซะก็เป็นสีฟ้ากับสีแดงเช่นกัน แต่จิตรกรใช้สีเขียวกับสีขาวระบายร่างเทพในภาพนี้

แม้ศิลปินมิได้ลงชื่อกำกับไว้ แต่การวิเคราะห์ในภายหลังชี้ว่าเป็นฝีมือของทาวารายะ โซตัตสึ (俵屋宗達; Tawaraya Sōtatsu; พ.ศ. 2113-2183) วาดขึ้นประมาณครึ่งแรกของศตวรรษที่ 17 ช่วงต้นสมัยเอโดะ ตอนนั้นเกียวโตยังเป็นนครหลวง และภาพนี้ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติแห่งชาติแล้วปัจจุบันอยู่ที่วัดเค็นนินจิในจังหวัดเกียวโต ในสมัยเอโดะผลงานนี้ไม่แพร่หลายนัก แต่ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกว้างขวางทั่วญี่ปุ่น
“ฉากพับภาพวายุเทพกับอสุนีบาตเทพ” โดยโองาตะ โคริง
หลังจากโซตัตสึเสียชีวิต ก็มีศิลปินรุ่นต่อมาวาดภาพนี้ซ้ำขึ้นมาอีกหลายภาพ หนึ่งในนั้นที่ควรเอ่ยชื่อไว้คือ “โองาตะ โคริง” ซึ่งวาดได้เหมือนและประณีตมาก (แต่สีสดกว่าเพราะวาดทีหลัง) ผู้ชมที่ไม่ทราบบางทีอาจสับสนเมื่อมองเผิน ๆ ว่าเจ้าของผลงานนี้คือใครกันแน่ การวาดซ้ำในสมัยก่อนถือเป็นเรื่องปกติและมิใช่การลอกเลียนแบบในความหมายเชิงลบ แต่เป็นการเรียนรู้และให้เกียรติผู้บุกเบิกหรืออาจารย์ การที่ผู้สืบทอดผลงานพยายามผลิตให้ใกล้เคียงกับของอาจารย์มากที่สุดเป็นขนบพึงปฏิบัติ และคงด้วยเหตุนี้ ผลงานดี ๆ จึงมีความเป็นอมตะและพบเห็นได้ง่ายกว่าการมีเพียงชิ้นเดียว

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com



กำลังโหลดความคิดเห็น