xs
xsm
sm
md
lg

ยลศิลป์ยินญี่ปุ่น : “ภูเขาฟูจิสิริมงคล”

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


“ยลศิลป์ยินญี่ปุ่น” คือมุมพิเศษมุมใหม่ที่มาแทน “สะดุดคำ” หลังจากที่ได้นำเสนอมาครบ 3 ปีเต็ม มุมนี้จะแนะนำญี่ปุ่นผ่านงานศิลปะเดือนละครั้ง ด้วยการบอกเล่าแง่มุมที่น่าสนใจในเชิงศิลปะ สังคม และเกร็ดประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการมองผ่านจิตรกรรมประเภทต่าง ๆ ของญี่ปุ่น ประกอบกับคำอธิบายสะท้อนภูมิหลังทางยุคสมัยในลักษณะที่หาอ่านที่อื่นได้ยาก

วันสิ้นปีต่อปีใหม่ของญี่ปุ่นมีบรรยากาศค่อนไปทางขรึมขลังมากกว่ารื่นเริง เป็นช่วงเวลาอยู่ร่วมกันของครอบครัว ในคืนสิ้นปีคนญี่ปุ่นมักจะนอนดึกและรอจนล่วงเข้าสู่วันใหม่ พอเข้าสู่ปีใหม่แล้ว คนญี่ปุ่นยังคงยึดถือขนบการไปวัดหรือศาลเจ้าเพื่อเป็นสิริมงคล กำหนดวันและเวลาการไปนั้นไม่ตายตัว แต่มักไปในสัปดาห์แรกของปีโดยเฉพาะช่วง 3 วันแรก แต่ก็มีบางครอบครัวออกไปตั้งแต่กลางดึกหลังเที่ยงคืนเมื่อเลยวันสิ้นปี

นอกจากการไปศาสนสถานซึ่งเป็นประเพณีเหมือนกับของไทยแล้ว คนญี่ปุ่นยังเชื่อเรื่อง “ความฝันครั้งแรกของปี” ด้วย ในฝันครั้งแรก ถ้าได้เห็น ‘บางสิ่ง’ จะถือว่าเป็นมงคลกับชีวิต (ทั้งนี้ คนญี่ปุ่นไม่ยึดถือแนวคิดการแปลความฝันเป็นตัวเลขเพื่อนำไปซื้อหวย และความเชื่อเรื่องการทำนายฝันก็ไม่แพร่หลายเหมือนในวัฒนธรรมไทย) สำหรับ ‘บางสิ่ง’ ในความฝันอันถือว่าเป็นสุดยอดความโชคดีนั้น...เพียงแค่บอกใบ้นิดเดียวว่า “เป็นภูเขา” แม้แต่คนต่างวัฒนธรรมก็คงจะเดาถูกว่าคืออะไร

สามอันดับของสิ่งมงคลในฝันแรกตามความเชื่อนี้ มีชื่อเรียงกันเรียกเป็นสำนวนญี่ปุ่นว่า “อิจิ-ฟูจิ, นิ-ทากะ, ซัง-นาซูบิ” (一富士二鷹三茄子; Ichi-Fuji, Ni-Taka, San-Nasubi) คำแปลคือ “หนึ่ง ภูเขาฟูจิ, สอง เหยี่ยว, สาม มะเขือ” หมายความว่า ถ้าในฝันแรกได้เห็นสิ่งเหล่านี้ ความโชคดีจะบังเกิดโดยมีลำดับดีที่สุดเรียงตามนั้น แน่นอนว่าภูเขาฟูจิคือภูเขาคู่บ้านคู่เมืองมาทุกสมัย เป็นความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของธรรมชาติที่สร้างภูเขาลูกนี้ให้แลดูสมมาตรเหมือนมีคนจงใจวาด จึงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายแต่อย่างใดที่ภูเขาฟูจิคือลางดีอันดับหนึ่ง (ที่มาของความเชื่อเหล่านี้มีคำอธิบายหลายกระแส และจะได้ขยายความในโอกาสต่อ ๆ ไป)

อันที่จริง คนญี่ปุ่นไม่ได้นึกถึงภูเขาฟูจิเฉพาะช่วงปีใหม่เท่านั้น แต่รู้สึกเกรงขามและชื่นชมตลอดปีอยู่แล้ว และด้วยความสวยงาม ความลี้ลับ ตลอดจนลักษณะทางกายภาพในฐานะภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศ (3,776 เมตร) คนญี่ปุ่นจึงถือว่าเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณ และในบรรยากาศส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ “ยลศิลป์ฯ” ในครั้งนี้จึงนำภาพภูเขาฟูจิที่อยู่ในใจคนญี่ปุ่นเสมอมาบอกเล่า

ภูเขาฟูจิขึ้นชื่อในระดับโลก จึงมีทั้งภาพถ่ายในยุคที่มีเทคโนโลยีช่วยและภาพศิลป์ที่ผลิตด้วยมือ รวมแล้วเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน หากเป็นภาพสมัยใหม่ เรามักไม่จดจำในฐานะผลงานโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์และไม่สนใจว่าใครถ่าย อาจจะรับรู้แค่ว่านี่คือภาพถ่ายภูเขาฟูจิที่สวยงาม อีกทั้งไม่มีภาพใดภาพหนึ่งได้รับการผลิตซ้ำจนชินตา แต่ถ้าเป็นภาพศิลป์ ส่วนใหญ่เป็นงานที่ศิลปินญี่ปุ่นสร้างสรรค์ขึ้นและเป็นที่ชื่นชมจดจำในประเทศอยู่ก่อนแล้ว จนกระทั่งแพร่หลายเป็นที่รู้จักในต่างประเทศมากขึ้นเมื่อมีการแลกเปลี่ยนทางการค้าและวัฒนธรรม

ในจำนวนนั้นมีผลงานส่วนหนึ่งที่ผ่านการผลิตซ้ำจนชินตา ช่วยตอกย้ำความเป็นญี่ปุ่นทั้งในและนอกประเทศ เมื่อได้เห็นบ่อยเข้า แม้แต่คนที่ไม่รู้ที่มาและชื่อเจ้าของผลงานก็ยังสะดุดใจว่า ‘ภาพนี้’ คงมีความสำคัญและมีคุณค่าทางจิตใจต่อคนญี่ปุ่นสูงมาก จึงพบเห็นตามที่ต่าง ๆ เป็นประจำ เช่นเดียวกับที่คนทั่วโลกชินตากับภาพโมนาลิซาก่อนจะรู้เรื่องราวเบื้องหลัง

กล่าวกันว่าคนที่ทำให้ภูเขาฟูจิเริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกคือจิตรกร คัตสึชิกะ โฮกูไซ (葛飾北斎; Katsushika Hokusai; 1760-1849) ผ่านผลงานภาพพิมพ์แกะไม้ โฮกูไซสร้างผลงานไว้มากมาย ชุดที่ถือว่าเป็นตัวแทนอัจฉริยภาพของศิลปินผู้นี้คือ ภาพพิมพ์แกะไม้ “สามสิบหกทัศนียภาพภูเขาฟูจิ” (富嶽三十六景; Fugaku sanjūrokkei) ชื่อชุดระบุว่ามี 36 ภาพ แต่จริง ๆ แล้วมีเพิ่มอีก 10 ภาพ รวมเป็น 46 ภาพ ทุกภาพมีภูเขาฟูจิเป็นองค์ประกอบ เล็กบ้างใหญ่บ้างตามมุมมองของผู้สร้างสรรค์ สองภาพที่แพร่หลายที่สุดในชุด คือ 1) หลังคลื่นที่เงื้อมทะเลคานางาวะ และ 2) ภูเขาฟูจิแดง

สำหรับภาพแรก หลายคนรู้จักในชื่อที่แปลมาจากภาษาอังกฤษ “คลื่นยักษ์นอกฝั่งคานางะวะ” (The Great Wave off Kanagawa) แต่ชื่อจริง ๆ ตามภาษาญี่ปุ่นแปลได้ว่า “หลังคลื่นที่เงื้อมทะเลคานางาวะ” เป็นภาพที่พบเห็นบ่อยมากในญี่ปุ่น เช่น ที่สนามบิน บนเอกสารสิ่งพิมพ์ แผ่นพับโฆษณา หน้าปกสมุด ในพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศหลายแห่งก็มีผลงานนี้ การที่มีปรากฏหลายแห่งนั้นเป็นเพราะนี่คือภาพพิมพ์ เมื่อสร้างบล็อกพิมพ์ขึ้นมาจากไม้แล้ว จะผลิตภาพซ้ำได้มากมาย โดยภาพที่พิมพ์ช่วงแรกย่อมคมชัดกว่าเพราะแบบพิมพ์ยังใหม่อยู่

จากชื่อภาพและองค์ประกอบซึ่งมีคลื่นโดดเด่นที่สุด ผู้ชมส่วนใหญ่จึงมักเห็นคลื่นก่อนจะเห็นภูเขาฟูจิที่อยู่ลิบ ๆ และจำคลื่นได้ดีกว่าภูเขา อย่างไรก็ตาม ผลงานนี้อยู่ในชุดภูเขาฟูจิ จึงต้องถือว่าภูเขาคือองค์ประกอบที่จะขาดไม่ได้และเป็นงานศิลป์ตัวแทนภูเขาฟูจิที่แพร่หลายที่สุดในโลก (ข้อมูลเพิ่มเติมใน “คลื่นเด่นภาพดัง” https://mgronline.com/japan/detail/9580000116705)

ภาพที่สองคือ “ลมใต้ฟ้าใส” (凱風快晴; Gaifū kaisei) ซึ่งกล่าวได้ว่า ในชุดภาพภูเขาฟูจิของโฮกูไซ นี่คือผลงานที่แสดงภาพภูเขาฟูจิในฐานะ ตัวเอก ได้โดดเด่นที่สุด สายตาของผู้ชมจะพุ่งตรงไปจับที่รูปลักษณ์ของภูเขาทันที โดยที่องค์ประกอบอย่างอื่นนั้นคือ ตัวประกอบ จริง ๆ และเมื่อรวมกันแล้ว องค์ประกอบทั้งภาพมีไม่กี่อย่าง ได้แก่ ภูเขาฟูจิ เมฆ ท้องฟ้า ป่าไม้ การใช้สีก็เป็นที่สะดุดตา โดยให้สีภูขาที่สูงตระหง่านครองพื้นที่ซีกขวาภายในกรอบราวครึ่งหนึ่งนั้นเป็นสีแดง เพื่อสื่อถึงช่วงปลายฤดูร้อนต้นฤดูใบไม้ร่วงในยามเช้าที่แสงอาทิตย์ส่องกระทบภูเขา แลดูเป็นสีแดง

ดูเหมือนอิทธิพลของสีแดงแผ่ครองบรรยากาศทั้งหมด ผู้คนจดจำส่วนนี้ได้ดีกว่าส่วนอื่น ภาพจึงได้ชื่อเล่นว่า “ภูเขาฟูจิสีแดง” ทัศนียภาพของท้องฟ้าก็บ่งชี้ว่านี่คือฤดูใบไม้ร่วงเพราะมีเมฆอิวาชิ ซึ่งเป็นเมฆสีขาวลำลีบ ๆ กระจุกตัวเป็นกลุ่ม ดูเหมือนฝูงปลาซาร์ดีนกลางน้ำทะเล (อิวาชิ แปลว่า ปลาซาร์ดีน) ศัพท์วิชาการเรียกว่า “เมฆซีร์โรคิวมูรัส” (cirrocumulus) เกิดที่ความสูงตั้ง 7,500 เมตรขึ้นไป และคนญี่ปุ่นเชื่อว่าหากบนฟ้ามีเมฆเช่นนี้ วันนั้นจะจับปลาซาร์ดีนได้มาก

นอกเหนือจากสองภาพดังในชุด “สามสิบหกทัศนียภาพภูเขาฟูจิ” แล้ว หากจะยกอีกหนึ่งภาพที่เน้นตัวภูเขามากที่สุด ย่อมได้แก่ “ฝนขาวใต้ภูเขา” (山下白雨;Sanka-hakū) ภาพนี้จัดองค์ประกอบคล้าย “ภูเขาฟูจิสีแดง” แต่รายละเอียดในแนวคิดต่างกัน คำว่า “ฝนขาว” ในภาษาญี่ปุ่น หมายถึง ฝนตกแดดออก หรือฝนที่จู่ ๆ ก็ตกลงมา แต่ตกชั่วครู่แล้วหยุดทันที ดังที่ภาษาไทยเรียกว่า “ฝนไล่ช้าง” ช่วงที่เกิด “ฝนขาว” บ่อย ๆ ในญี่ปุ่นคือฤดูร้อน ภาพนี้จึงถือว่าเป็นทัศนียภาพในฤดูร้อนของญี่ปุ่น

หากสังเกตแถบมุมขวาของภาพจะเห็นเส้นหนาพาดผ่านเป็นแฉก นั่นคือแนวฟ้าผ่า และด้วยความที่แถบครึ่งล่างของภาพเป็นสีดำเกือบหมด ภาพจึงมีชื่อเล่นด้วยว่า “ภูเขาฟูจิสีดำ” ตัดกับสีท้องฟ้า ถือเป็นคู่เรียกสำหรับ “ภูเขาฟูจิสีแดง” จากความใสของฟ้ากับความมืดครึ้มเบื้องล่าง ซึ่งคาดว่ามาจากมวลเมฆฝนกลุ่มหนึ่ง ตีความได้ว่า ท่ามกลางสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงฉับพลันทันที ภูเขาฟูจิที่ต้องผจญกับความไม่แน่นอนนั้นยังคงยืดหยัดตั้งตระหง่านมานานปีโดยไม่หวั่นไหว

จากจิตรกรรมตัวแทนเหล่านี้ พอจะเห็นได้ว่าภูเขาฟูจิผูกพันกับคนญี่ปุ่นมาช้านาน ไม่ว่าจะมองจากมุมไหนก็มีเสน่ห์ให้ศิลปินนำมาเป็นแม่บทในผลงานได้เสมอ นอกจากการปรากฏเป็นภาพแล้ว ยังเป็นทั้งที่แสวงบุญ สถานที่ท่องเที่ยว และสัญลักษณ์สำคัญของญี่ปุ่นด้วย ในช่วงเปิดภูเขาซึ่งอยู่ในฤดูร้อนราวเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม จึงมีผู้คนมากมายมุ่งไปพิชิตยอดเขาแห่งนี้ และพอปีใหม่เวียนมาบรรจบทีไร ก็จะมีผู้คนไปจับจองพื้นที่ใกล้ ๆ เพื่อรอถ่ายภาพพระอาทิตย์แรกที่ขึ้นประดับยอดเขาแห่งนี้กันทุกปีเช่นกัน

และในโอกาสนี้ ด้วยความลี้ลับ ความอลังการ ความงดงาม หรือแม้แต่ความศักดิ์สิทธิ์อันใดแห่งภูเขาฟูจิหากมีจริง ขอให้สิ่งเหล่านี้เป็นที่ชื่นชูจิตใจแก่ผู้อ่านทุกท่าน หากจะให้ดีกว่านั้น เมื่อชมภาพศิลป์แล้ว ขอให้ฝันเห็นภูเขาฟูจิอันเป็นสิริมงคลกันถ้วนหน้า พากันเข้าสู่ปีใหม่ด้วยความสุขสวัสดี...สวัสดีปีใหม่ครับ

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com



กำลังโหลดความคิดเห็น