ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
คนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อย ‘เชื่อว่า’ ฮอกไกโดปลอดภัยจากแผ่นดินไหวมากกว่าที่อื่น เมื่อหลายปีก่อน เพื่อนญี่ปุ่นคนหนึ่งซึ่งรักฮอกไกโดมากแม้เป็นคนภาคกลาง ถึงกับแนะนำเชิงชักชวนว่า “ไปเรียนที่ฮอกไกโดสิ ดีนะ ค่าครองชีพถูกกว่าโตเกียว อากาศดี ไม่มีแผ่นดินไหวด้วย” เรื่องอื่นผมฟังแล้วเชื่อหมด ยกเว้นเรื่องแผ่นดินไหว เพราะจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีเทคโนโลยีใดพยากรณ์ได้แม่นยำ
แล้วธรรมชาติก็แสดงให้เห็นว่าเราชะล่าใจไม่ได้เลยไม่ว่าที่ไหน ประมาณตี 3 ของวันที่ 6 กันยายน 2561 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ฮอกไกโด มีขนาด (แมกนิจูด) 6.7 และจากตัวเลขเท่านี้ พลังที่ปล่อยออกมาอาจดูเหมือนไม่มาก แต่ตัวเลขตามมาตรวัดของญี่ปุ่นซึ่งประเมินแรงสั่นที่รู้สึกได้จริง ๆ นั้นพุ่งไปถึง “ชินโดะ 7” ซึ่งสูงที่สุด (รายละเอียดด้านแผ่นดินไหวของญี่ปุ่น https://mgronline.com/japan/detail/9590000039042) เพราะจุดที่เกิดนั้นไม่ลึกเท่าไร ความแรงขนาดนี้หมายความว่าต้องทรุดตัวลงคลานถึงจะเคลื่อนที่ได้ หรืออาจถึงขั้นกระเด็นกระดอน
ทว่าสิ่งที่น่าชื่นชมเกี่ยวกับคนญี่ปุ่นคือ ไม่ว่าเกิดภัยพิบัติครั้งใด เราจะได้เห็นการฝ่าฟันความยากลำบากจนผ่านพ้นไปได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย และอดนึกไม่ได้ว่าหากไม่ใช่ที่ญี่ปุ่น การกู้ภัยอาจไม่ไวเท่านี้และอาจมีความสูญเสียหนักกว่า ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งคือความตระหนักของคนญี่ปุ่นที่มีต่อภัยธรรมชาติและการเตรียมตัวรับมือ แม้ช่วยไม่ได้ทั้งหมดแต่ก็ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้บ้าง และเป็นสิ่งที่ประเทศอื่นน่ายึดถือเป็นแนวทาง
ก่อนอื่นเมื่อไล่เลียงเหตุการณ์ที่เกิดกับฮอกไกโดจะพบว่าพื้นที่นี้เกิดแผ่นดินไหวน้อย จนคนญี่ปุ่นก็เกือบ ๆ เชื่อสนิทใจแล้วว่าปลอดภัย ตามข้อเท็จจริงคือ ขณะที่โตเกียวเกิดแผ่นดินไหวรู้สึกได้ประมาณ 2 สัปดาห์ครั้ง แต่ที่ซัปโปโรซึ่งเป็นเมืองเอกของฮอกไกโดจะรู้สึกได้แค่ปีละประมาณ 5 ครั้ง คำว่า “รู้สึกได้” หมายถึงการสั่นไม่รุนแรงชนิดที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายด้วย จึงไม่เป็นข่าวระดับโลกทุกครั้งที่บันทึกได้ นอกจากนี้ แผ่นดินไหวที่เกิดบนภาคพื้นแผ่นดินโดยตรงที่ฮอกไกโดก็มีน้อยมาก สถิติของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นชี้ว่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2466 มี 8 ครั้งเท่านั้น
เมื่อย้อนพิจารณาแผ่นดินไหวโดยแบ่งกว้าง ๆ โดยใช้จุดที่เกิดเป็นเกณฑ์ มี 2 ประเภท คือ แผ่นดินไหวที่เกิดจากร่องในมหาสมุทร (海溝型;kaikō-gata) เกิดจากการเลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกและประเมินได้ในระดับหนึ่งว่ามีโอกาสจะเกิดเมื่อไร ผู้เชี่ยวชาญมองว่าวงรอบของการเกิดค่อนข้างแน่ชัด จึงมีการพยากรณ์ออกมาเป็นระยะ ๆ (แต่ก็ไม่แม่นเหมือนการพยากรณ์ฝนตกฟ้าร้อง) ตัวอย่างที่ชัด ๆ คือ แผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 ที่ภูมิภาคโทโฮกุ ครั้งนั้นจุดเหนือศูนย์แผ่นดินไหวอยู่ในทะเล ความเสียหายหนักไม่ได้เกิดจากแผ่นดินไหวโดยตรง แต่เกิดจากสึนามิที่พัดเข้าถล่มฝั่ง
อีกประเภทหนึ่ง คือ แผ่นดินไหวที่เกิดบนภาคพื้น (直下型; chokka-gata) ซึ่งมีโอกาสสร้างความเสียหายได้มากกว่า เพราะแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินที่อยู่บนบก โดยเกิดจากแผ่นเปลือกโลกงอบ้างบิดบ้าง ดังที่เกิดในคูมาโมโตะเมื่อ 2 ปีก่อนและทำให้ปราสาทคูมาโมโตะเสียหายหนัก และในฮอกไกโดครั้งนี้ด้วย แผ่นดินไหวประเภทนี้ไม่สามารถประเมินได้ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนและเมื่อไร ผู้เชี่ยวชาญจึงบอกว่าที่ไหนก็ไว้ใจไม่ได้
เมื่อเกิดเหตุแล้วก็ต้องแก้กันไป ปัญหาใหญ่ที่ฮอกไกโดในครั้งนี้คือ ไฟดับ หลังเกิดแผ่นดินไหว ไฟดับเกือบทั้งจังหวัด รวมแล้วเกือบ 3 ล้านครัวเรือน นี่เป็นเรื่องแปลกประหลาดสำหรับญี่ปุ่น เพราะนับตั้งแต่ใช้ “ระบบบริษัทไฟฟ้าใหญ่ 9 ราย” (จริง ๆ คือ 10 ราย ได้แก่ 9 รายบนเกาะใหญ่ และอีก 1 รายคือ “การไฟฟ้าโอกินาวา”) นี่คือครั้งแรกที่ญี่ปุ่นไฟดับระดับภูมิภาค ตอนปี 2554 ที่ฟูกูชิมะซึ่งเกิดวิกฤติหนักหนากว่านี้มากก็ไม่ดับ สาเหตุของไฟดับคือโรงไฟฟ้าพลังความร้อนขนาดใหญ่ที่ป้อนไฟแก่ที่อื่นเป็นวงกว้างไม่สามารถเดินเครื่องปั่นไฟได้
แต่เอ้า...ดับก็ดับไป หลายคนบอกว่าแค่นี้ยังพอทำเนา ทว่าพอมีข่าวว่าโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์โทมาริก็ไฟดับและต้องใช้ไฟสำรองป้อนเครื่องหล่อเย็นสำหรับแท่งเชื้อเพลิง เท่านั้นแหละ ชื่อ “ฟูกูชิมะ” ของเมื่อ 7 ปีก่อนเริ่มกลับมาเป็นข่าวอีกครั้ง ถ้าพลาดพลั้งคุมไม่อยู่เหมือนที่ฟูกิชิมะละก็...? แต่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีประกาศทันทีว่ายังไม่มีความผิดปกติใด ๆ เกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสี ฮึ่ม...เกิดกระแสวิจารณ์กันขึ้นมาอีกทีว่า ตกลงเราควรจะมีไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ไหม เพราะเกิดแผ่นดินไหวทีไรใจหายใจคว่ำทุกที โชคดีที่ค่อย ๆ กู้ไฟฟ้ากลับมาได้ แต่ทางการยังคงขอความร่วมมือให้ประชาชนใช้ไฟอย่างประหยัด
อีกปัญหาหนึ่งคือ ดินถล่มทับบ้านเรือน บางครั้งคนพื้นราบอย่างคนกรุงเทพฯ ฟังข่าวแล้วอาจนึกภาพไม่ออกว่าดินถล่มเป็นยังไง หรืออาจเกิดคำถามว่าไปปลูกบ้านอยู่ใกล้ ๆ ภูเขาทำไม แต่สำหรับคนญี่ปุ่น เนื่องด้วยประเทศมีภูเขามาก จึงไม่ค่อยมีทางเลือกเท่าไร การปลูกบ้านที่เชิงเขาหรือบนเนินเขาเป็นเรื่องปกติ พอเกิดฝนตกหนักหรือแผ่นดินไหว ทั้งดินทั้งหินตรงภูเขาจะทรุดลงมา ถ้าหนักหน่อยภูเขาทั้งลูกอาจทลายลงมากลายเป็นดินไหลกวาดบ้านไปทั้งหลัง เมื่อเกิดอย่างปัจจุบันทันด่วน คนที่อยู่ในบ้านย่อมหนีไม่ทัน เหตุการณ์แบบนี้เกิดที่เมืองอัตสึมะซึ่งอยู่ใกล้จุดเหนือศูนย์แผ่นดินไหวและเกิดดินถล่มเป็นวงกว้าง โดยพบคุณตาอายุ 77 ปีในวันจันทร์ที่ 10 กันยายน กว่าจะพบก็ใช้เวลาถึง 4 วัน และเมืองนี้มีคนเสียชีวิตมากที่สุดถึง 36 คน จากยอดทั้งหมด 40 คน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์ ญี่ปุ่นกู้ภัยคืบหน้าไปมาก สนามบินเริ่มกลับมาให้บริการ รถไฟเริ่มวิ่ง นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทยอยกลับประเทศได้แล้ว แม้จะมีความขลุกขลักอยู่บ้าง แต่ถือได้ว่าเป็นการแก้ไขสถานการณ์ที่รวดเร็วฉับไวอย่างน่าชื่นชม เช่นเดียวกับที่สนามบินนานาชาติคันไซที่ถูกพายุไต้ฝุ่นเชบีถล่มไปไม่กี่วันก่อนหน้านี้ก็กลับมาเปิดทำการได้แล้วบางส่วน อีกทั้งมีอาสาสมัครจากจังหวัดอื่นเข้าไปช่วยเหลือที่ฮอกไกโดด้วย รวมถึงคนไทยที่อยู่ที่นั่นก็ให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยวชาวไทยด้วยกัน
เมื่อเห็นสภาพญี่ปุ่นแล้วก็อดไม่ได้ที่จะเห็นใจและชื่นชม ขณะเดียวกันก็อยากหันมามองที่ประเทศเราด้วยว่าความตระหนักต่อภัยพิบัติและการเตรียมพร้อมอยู่ในระดับไหน ผมไม่ทราบข้อมูลแน่ชัดว่าประเทศไทยจัดระบบอพยพหลบภัยธรรมชาติกันมากน้อยขนาดไหน (หรืออาจเป็นไปได้ว่าไม่ทราบเพราะยังไม่มี?) แต่ในขณะที่ภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลง เรากำลังได้เห็นภัยธรรมชาติเกิดขึ้นทั่วโลกในลักษณะที่รุนแรงและคาดเดาได้ยากขึ้น
ในกรณีของคนญี่ปุ่น เรื่องพื้นฐานที่ทำอยู่เสมอคือ 1) กำหนดสถานที่พักพิงเมื่อเกิดภัยพิบัติ ส่วนใหญ่เป็นตึกคอนกรีตเสริมเหล็ก เช่น อาคารโรงเรียน โรงพละ อาคารที่ทำการเขต, 2) มีระบบกระจายเสียงและการสื่อสารระดับชุมชนที่จะประกาศให้ประชาชนรีบอพยพไปอยู่ในอาคารที่แข็งแรงตามที่กำหนดไว้ได้ทันที, 3) สร้างความตระหนักโดยให้เตรียมพร้อมตลอดเวลา เช่น มีถุงยังชีพติดบ้านไว้เป็นประจำ สอนกันตั้งแต่ระดับอนุบาลให้รู้จักหลบภัย ซ้อมหลบภัยกันทั้งประเทศ
ตัวอย่างการสร้างความตระหนักที่เห็นชัด ๆ คือ ญี่ปุ่นกำหนดให้วันที่ 1 กันยายนเป็น “วันป้องกันภัยพิบัติ” เหตุที่กำหนดวันนี้เพราะวันเดียวกันนี้เมื่อปี พ.ศ.2466 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในภูมิภาคคันโต กรุงโตเกียวกับพื้นที่รายรอบโดนเข้าไปเต็ม ๆ ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่าแสนคน ต่อมาจึงกำหนดให้วันนี้เป็นวันซ้อมรับมือภัยพิบัติ เมื่อถึงวันนี้จะมีการซ้อมตั้งแต่ระดับประเทศไปจนถึงท้องถิ่น สมมุติสถานการณ์ว่าเกิดแผ่นดินไหว รถไฟหยุดวิ่ง คณะรัฐมนตรีเรียกประชุมด่วน และลองให้เดินจากที่ทำงานกลับบ้านด้วย ส่วนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ตามปกติก็ซ้อมเป็นประจำอยู่แล้ว ทางโรงเรียนจะเปิดหวอดังลั่น นักเรียนมุดลงไปอยู่ใต้โต๊ะ และคุมสติให้อยู่ในความสงบ
ประเทศไทยโชคดีที่ประสบภัยพิบัติน้อย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิด (เช่นเดียวกับที่ฮอกไกโด) จริงอยู่เรื่องแผ่นดินไหวไทยอาจไม่เสี่ยงเท่าญี่ปุ่น แต่เรื่องน้ำท่วมกับดินถล่มนี่ ระยะหลังมาถี่ ๆ เราจึงน่าจะวางแผนอย่างจริงจังเสียที อย่างเรื่องการกำหนดพื้นที่พักพิงในช่วงที่มีพายุเข้า ไทยมีวัดเยอะ หากจะใช้ข้อดีตรงนี้ให้เกิดประโยชน์ย่อมทำได้ เช่น ขอความร่วมมือกับวัดเรื่องสถานที่พักพิง และประกาศให้ประชาชนอพยพไปอยู่ในที่นั่นล่วงหน้า หรือการเตรียมถุงยังชีพติดบ้านไว้เป็นประจำให้ประทังชีวิตได้เผื่อกรณีน้ำมากะทันหัน
การเตรียมตัวไม่ใช่เรื่องน่าอาย เมื่อเห็นบ้านเขา บ้านเราเองก็ควรได้เรียนรู้ อย่าเพียงแต่รู้สึกเห็นใจแล้วหยุดแค่นั้น ควรหันมาเตรียมตัวเพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบา เพราะญี่ปุ่นพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าได้ผลจริง
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com