คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
สวัสดีค่ะ เพื่อนผู้อ่านที่น่ารัก เนื่องจาก “ซาระซัง” เจ้าของคอลัมน์นี้กลับไปเยี่ยมบ้านที่ประเทศไทย เธอจึงได้ขอให้ฉันมาช่วยเล่าเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับญี่ปุ่นเป็นการชั่วคราว ฉันชื่อ “มิกิ” ค่ะเป็นคนญี่ปุ่นที่เคยไปอยู่ที่ประเทศไทยนาน 3 ปี
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ฉันได้เล่าเรื่องที่คิดว่า เมืองไทยทำได้ดีกว่าญี่ปุ่นเรื่องแรก คือ การควบคุมบุหรี่ ไปแล้ว ล่าสุดในสัปดาห์นี้รัฐสภาญี่ปุ่นได้ผ่านกฎหมายเพิ่มมาตรการที่เข้มงวดในการป้องกันผลเสียต่อสุขภาพของผู้สูบบุหรี่มือสอง
กฎหมายใหม่นี้จะห้ามการสูบบุหรี่ภายในอาคารของโรงเรียน โรงพยาบาล และองค์กรปกครอง แต่จะอนุญาตให้สถานที่เหล่านี้จัดพื้นที่สูบบุหรี่ไว้ด้านนอกอาคารภายในอาณาบริเวณ
ร้านอาหารที่มีอยู่แล้วและมีพื้นที่บริการลูกค้า 100 ตารางเมตรหรือน้อยกว่า สามารถอนุญาตให้ลูกค้าสูบบุหรี่ได้ถ้ามีป้ายแจ้งไว้ที่ด้านนอก แต่ร้านอาหารที่มีอยู่แล้วที่มีพื้นที่บริการลูกค้าเกิน 100 ตารางเมตร และร้านที่จะเปิดใหม่นับตั้งแต่นี้ในทุกขนาดพื้นที่จะต้องห้ามสูบบุหรี่ ยกเว้นภายในห้องสูบบุหรี่ที่กำหนดไว้เท่านั้น
ตามกฎหมายฉบับปรับปรุนี้ การจำกัดการสูบบุหรี่จะมีผลบังคับใช้ในราว 1 ปีสำหรับโรงเรียน โรงพยาบาล และองค์กรปกครอง ส่วนร้านอาหารจะบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2563
กฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับทั่วประเทศค่ะ แต่ถ้าดูเนื้อหาแล้วจะเห็นว่ายังอ่อนกว่ากฎหมายของทางการกรุงโตเกียว และยิ่งอ่อนกว่ากฎหมายของไทย เพราะยังเปิดช่องให้โรงเรียน โรงพยาบาล ร้านอาหาร มีสถานที่สำหรับสูบบุหรี่ได้ และก็ยังไม่มีการควบคุมการจำหน่ายและโฆษณาบุหรี่ ที่เข้มงวดเหมือนประเทศไทยค่ะ
สัปดาห์นี้มาถึงเรื่อง การควบคุมสุรากันต่อค่ะ คนญี่ปุ่นเชื่อว่าเหล้าเป็นของศักดิ์สิทธิ์เพราะทำจากข้าวจึงเรียกสุราอย่างยกย่องว่า “โอ สาเกะ” เหล้าและข้าวเป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นนำไปถวายเทพเจ้า และใช้ในพิธีต่าง ๆ เหล้าจึงมีภาพลักษณ์ที่สูงส่งในวัฒนธรรมของญี่ปุ่น
ตามสถิติขององค์การอนามัยโลก ไทยและญี่ปุ่นมีปริมาณการบริโภคสุราใกล้เคียงกันคือ เฉลี่ย 7.1-7.2 ลิตรต่อคนต่อปี แต่เมื่อเทียบกฎหมายแล้ว ประเทศไทยห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างสิ้นเชิงและห้ามส่งเสริมการตลาดด้วย และสิ่งที่คนต่างชาติแปลกใจที่สุดเมื่อไปเมืองไทย คือ มีกำหนดเวลาที่ซื้อสุรา แต่ที่ญี่ปุ่นซื้อได้ตลอดทั้งวัน และการโฆษณาเหล้าเบียร์ก็สามารถทำได้
กฎหมายของญี่ปุ่นก็กำหนดอายุที่จะซื้อสุราได้ไว้ที่ 20 ปี ถึงแม้กฎหมายจะกำหนดอายุไว้ แต่มีผลการสำรวจพบว่าเด็กมัธยมต้นร้อยละ 50 และเด็กมัธยมปลายร้อยละ 70 บอกว่าเคยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนถึงอายุ 20 ปี
เครื่องดื่มแอลกฮอล์ที่ญี่ปุ่นซื้อง่ายขายคล่องกว่าไทย เพราะมีช่องทางการจำหน่ายมากกว่าทั้งตามร้านสะดวกซื้อ และยังมีตู้ขายอัตโนมัติด้วย โดยถ้าซื้อที่ตู้ก็ไม่ต้องใช้บัตรบอกอายุเหมือนกับการซื้อบุหรี่ แต่เหตุผลที่ทำให้ธุรกิจสุราในญี่ปุ่นรุ่งเรืองอย่างมาก คือ ความหลากหลายของสินค้าที่ยั่วยวนให้ซื้อ เฉพาะแค่เบียร์ยี่ห้อหลัก ๆ ที่ญี่ปุ่นก็มีมากกว่า 50 ชนิด และราคาก็ไม่แพงมาก แค่ 100-200 เยน
นอกจากนี้ ยังมีเครื่องดื่มที่เรียกว่า “ชูไฮ” ที่เป็นค็อกเทล หรือเหล้าที่ผสมสารพัดอย่างตั้งแต่โซดา น้ำผลไม้ ไปจนถึงเหล้าผสมชาเขียว เครื่องดื่มประเภทนี้ดึงดูดให้ผู้หญิงและคนหนุ่มสาวดื่มง่าย จนกฎหมายต้องกำหนดให้มีการระบุที่กระป๋องให้ชัดเจนว่าเป็น “สุรา”
ที่ญี่ปุ่น ยังมี เครื่องดื่มที่มีรสชาติคล้ายเบียร์หรือค็อกเทล แต่ไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งก็ผลิตโดยบริษัทที่ผลิตเบียร์นั่นล่ะ แต่บอกว่าเป็นทางเลือกให้คนที่อยากดื่มแต่ดื่มไม่ได้ เช่น ต้องขับรถหรือมีเรื่องของสุขภาพ เบียร์ไร้แอลกอฮอล์นี้มีข้อดีก็จริง แต่ก็มีคนวิจารณ์ว่าเป็นจุดเริ่มต้นให้ติดใจในรสชาติ และอาจพัฒนาเป็นการดื่มเบียร์จริง ๆ ได้ต่อไป
แต่เรื่องที่น่าแปลก คือ ถึงแม้กฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์ของไทยจะเข้มงวดกว่าญี่ปุ่น แต่ที่ญี่ปุ่นมีเหตุ “เมาแล้วขับ” น้อยกว่าเมืองไทยอย่างชัดเจน ฉันคิดว่าน่าจะมีเหตุผลหลัก 3 อย่างดังนี้
1.กฎหมายเข้มงวด ญี่ปุ่นกำหนดว่าหากมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 0.03% จะถือว่าขับขี่ภายใต้อิทธิพลของแอลกอฮอล์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 5 แสนเยน
และหากหากมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 0.08% จะถือว่าเมาแล้วขับ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 1 ล้านเยน
เกณฑ์ปริมาณแอลกอฮอล์นี้ถือว่าเข้มงวดกว่าประเทศอื่นมาก คิดง่าย ๆ คือ คนที่มีน้ำหนักตัวราว 65 กก. ดื่มเบียร์แค่กระป๋องเดียวก็จะมีระดับแอลกอฮอล์เกิน ห้ามขับรถ!
นอกจากนี้ ผู้โดยสารที่นั่งรถไปด้วยกับคนขับที่ดื่มสุรา, ร้านที่ขายสุราให้คนต้องที่ขับรถ รวมทั้งคนที่เอารถให้คนที่ดื่มสุราไปขับก็มีโทษด้วย ถึงแม้คนเหล่านี้จะไม่ได้ดื่มแม้แต่นิดเดียว แต่ก็ถือว่ามีความผิด เพราะไม่ระงับยับยั้งให้คนที่ดื่มสุราไปขับรถ
2. จิตสำนึก ในยุคที่เศรษฐกิจดี ญี่ปุ่นมีอุบัติเหตุเมาแล้วขับมาก แต่หลังจากนั้นก็มีการเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายให้เข้มงวดขึ้นหลายครั้ง ขณะที่คนที่ถูกดำเนินคดีเมาแล้วขับไม่เพียงต้องรับโทษตามกฎหมาย ยังอาจจะสูญเสียหน้าที่การงานด้วย ยิ่งถ้ามีผู้เสียชีวิตด้วย คนที่เมาแล้วขับคนนั้นแทบจะไม่มีหน้าอยู่ในสังคมได้อีกต่อไป
3. ระบบคมนาคม คนญี่ปุ่นมักจะไปสังสรรค์หลังเลิกงานทำให้ดูเหมือนคนญี่ปุ่นจะดื่มเหล้ามาก แต่เนื่องจากระบบคมนาคมในญี่ปุ่นดีมาก คนส่วนใหญ่จะเดินทางด้วยรถไฟทำให้โอกาสเมาแล้วขับน้อยลง และที่ญี่ปุ่นยังมีบริการ “ขับรถแทน” คนที่ขับรถไปสังสรรค์และถ้าดื่มเหล้าก็สามารถโทรตามให้คนมาขับรถ (ของตัวเอง) ส่งกลับบ้านได้
จริง ๆ จะว่าไปก็น่าแปลกใจไม่น้อย ที่กฎหมายควบคุมการจำหน่ายและโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยเข้มงวดกว่าญี่ปุ่น แต่อุบัติเหตุจาก “เมาแล้วขับ” ของไทยกลับสูงมาก นักท่องเที่ยวต่างชาติหลายคนต้องเอาชีวิตมาทิ้งบนถนนที่เมืองไทย คนต่างชาติมากคนถึงกับบอกว่าคนไทยใจดี โอบอ้อมอารี แต่เมื่ออยู่บนถนน คนไทยกลายเป็นคนที่น่ากลัวไปในบัดดล ต่อให้ประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามแค่ไหน แต่ถ้าหาความปลอดภัยไม่ได้แล้ว ก็คงไม่มีนักท่องเที่ยวคนไหนกล้าจะมาเสี่ยง
ในฐานะคนต่างชาติที่รักเมืองไทย ฉันหวังว่าคนไทยที่ชอบญี่ปุ่นจะเรียนรู้สิ่งดี ๆ ของญี่ปุ่น และกฎหมายของไทยที่บางเรื่องเข้มงวดกว่าญี่ปุ่นด้วยซ้ำ ก็ควรจะถูกบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียมกัน วันนี้สวัสดีค่ะ.
"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.