xs
xsm
sm
md
lg

สิ่งที่ไทยทำได้เยี่ยมกว่าญี่ปุ่น : ควบคุมบุหรี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ป้ายบอก ห้ามสูบบุหรี่เฉพาะเวลา 11.30-14.30 น.
คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

สวัสดีค่ะ เพื่อนผู้อ่านที่น่ารัก เนื่องจาก “ซาระซัง” เจ้าของคอลัมน์นี้กลับไปเยี่ยมบ้านที่ประเทศไทย เธอจึงได้ขอให้ฉันมาช่วยเล่าเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับญี่ปุ่นเป็นการชั่วคราว ฉันชื่อ “มิกิ” ค่ะเป็นคนญี่ปุ่นที่เคยไปอยู่ที่ประเทศไทยนาน 3 ปี ถ้าคนต่างชาติทำอะไรผิดเพราะไม่เข้าใจประเพณีวัฒนธรรมของไทย คนไทยก็มักจะบอกว่า “ไม่เป็นไร” ชีวิตที่เมืองไทยจึงอยู่ง่าย อยู่สบาย ไม่เหมือนที่ญี่ปุ่นที่เคร่งเครียดและจริงจังไปซะทุกเรื่องค่ะ

มิกิเห็นว่าคนไทยหลายคนชอบญี่ปุ่นม๊ากมาก ญี่ปุ่นดีไปหมดทุกเรื่องทุกอย่าง แต่ความจริงแล้ว สิ่งที่ญี่ปุ่นทำดี ประเทศไทยน่าจะเรียนรู้ก็มีมาก แต่ก็มีบางเรื่องที่มิกิคิดว่าเมืองไทยทำได้ดีกว่าญี่ปุ่น วันนี้จึงจะขอเล่าเรื่องที่คิดว่าเมืองไทยทำได้ดีกว่าญี่ปุ่นเรื่องแรกคือ การควบคุมบุหรี่และสุรา
บุหรี่ขายในร้านสะดวกซื้อญี่ปุ่นอย่างโจ่งแจ้ง
ถึงแม้ชาวญี่ปุ่นจะมีคนอายุยืนมากที่สุดในโลก และอาหารญี่ปุ่นก็ขึ้นชื่อว่า “ดีต่อสุขภาพ” แต่เรื่องการควบคุมบุหรี่และสุรา ญี่ปุ่นยังอ่อนด้อยกว่านานาชาติอย่างมากค่ะ

ตามกฎหมายของญี่ปุ่นกำหนดอายุขั้นต่ำของคนที่จะสูบบุหรี่และดื่มสุราไว้ที่ 20 ปี ถึงแม้ไม่นานมานี้ รัฐบาลญี่ปุ่นจะปรับลดอายุบรรลุนิติภาวะจาก 20 ปีเป็น 18 ปี แต่อายุขั้นต่ำที่จะสูบบุหรี่และดื่มเหล้าก็ยังคงกำหนดไว้ที่ 20 ปีเหมือนเดิมค่ะ

ถึงแม้กฎหมายจะระบุไว้เช่นนี้ แต่ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกในปี 2015 ระบุว่า คนญี่ปุ่น 19.3% สูบบุหรี่ โดยแบ่งเป็นผู้ชาย 29.7% และผู้หญิง 9.7% ในญี่ปุ่นมีการบริโภคบุหรี่เฉลี่ยต่อคน 1583.2 มวนต่อปี ขณะที่ประเทศไทยบริโภคบุหรี่เฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 837.4 มวนต่อปี น้อยกว่าญี่ปุ่นมากเลยค่ะ

ตอนอยู่ที่เมืองไทย มิกิรู้สึกว่าผู้หญิงไทยสูบบุหรี่น้อยกว่าผู้หญิงญี่ปุ่น ในสมัยโบราณผู้หญิงญี่ปุ่นที่สูบบุหรี่จะถูกมองว่า “กร้านโลก” หรือทำ “อาชีพพิเศษ” แต่เดี๋ยวนี้ผู้หญิงญี่ปุ่นหลายคนสูบบุหรี่เพราะต้องการแสดงว่าเป็นหญิงแกร่ง เท่าเทียมกับผู้ชาย ยิ่งผู้หญิงที่ทำงานนอกบ้าน ทำอาชีพที่ผู้ชายทำกันมาก เช่น เป็นนักการเมือง นักธุรกิจระดับสูง นักข่าว ก็สูบบุหรี่กันมาก บางคนก็อ้างว่าสูบเพื่อคลายเครียดจากการทำงาน แต่พอถามเข้าใจจริงว่าสูบแล้วหายเครียดจริงเหรอ? ก็บอกว่า “ไม่หายหรอก”

องค์กรที่รณรงค์เรื่องผลกระทบของการสูบบุหรี่บอกว่า บริษัทบุหรี่ประสบความสำเร็จในการสร้างภาพลักษณ์ของผู้หญิงที่สูบบุหรี่ ทั้งจากหนังละครที่นางเอกสูบบุหรี่ และจากการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อดึงดูดลูกค้าสตรี เช่น บุหรี่ทรงสลิม บุหรี่รสชาติผลไม้ หรือแพ็คเกจที่ใช้สีชมพู เป็นต้น

คนที่ญี่ปุ่นไปประเทศไทยจะแปลกใจที่ตาม 7-11 ไม่มีขายบุหรี่ แต่ความจริงแล้วมีใช่ไหมค่ะ เพียงแต่กฎหมายของไทย ห้ามวางขายแบบเปิดเผยก็เลยต้องมีแผ่นสีเทา ๆ บังเอาไว้

นอกจากนี้ ซองบุหรี่ของไทยยังต้องมีภาพที่น่าเกลียดน่ากลัวของคนที่ป่วยจากการสุบบุหรี่ และห้ามการโฆษณาบุหรี่ทุกรูปแบบ นี่แสดงว่ากฎหมายของไทยเข้มงวดกว่าของญี่ปุ่นมาก เพราะในญี่ปุ่นยังเห็นโฆษณาบุหรี่ตามท้องถนน ตามร้านสะดวกซื้อก็มีบุหรี่หลายสิบแบบวางขายอย่างโจ่งครึ่ม บุหรี่ไฟฟ้าก็ไม่ผิดกฎหมายเหมือนเมืองไทยและก็เริ่มแพร่หลายมากขึ้นเสียด้วย

ในญี่ปุ่นยังมี ตู้ขายบุหรี่อัตโนมัติ ซึ่งหากจะซื้อบุหรี่จากตู้นี้จะต้องมีบัตรอนุญาตที่เรียกว่า TASPO ซึ่งจะต้องไปขอจากทางสำนักงานเขตว่าเราอายุ 20 ปีแล้ว แต่หากซื้อบุหรี่จากร้านสะดวกซื้อ ส่วนใหญ่จะไม่ต้องใช้บัตรนี้ เพียงแต่ที่จอภาพหน้าเครื่องคิดเงินจะขึ้นข้อความถามว่า “คุณอายุเกิน 20 ปี แล้วใช่ไหม” พอเรากด “ใช่” พนักงานก็จะขายบุหรี่ให้ได้

ในญี่ปุ่น การสูบบุหรี่ยังแพร่หลายตามร้านอาหารและร้านกินดื่มต่าง ๆ ซึ่งนักท่องเที่ยวหลายคนก็บ่นเรื่องนี้ เพราะในเมืองไทยและหลายประเทศ ในร้านอาหารและสถานที่สาธารณะนั้นห้ามสูบบุหรี่เด็ดขาด

องค์การอนามัยโลกได้เคยว่าบอกว่า การควบคุมบุหรี่และปกป้องผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ของญี่ปุ่นยังอ่อนด้อยมาก ทั้งความเข้มงวดของกฎหมาย, ความแพร่หลาย หาซื้อได้ง่าย รวมทั้งการกำหนดราคาบุหรี่ ราคาบุหรี่ในญี่ปุ่นอยู่ที่ราวซองละ 420 เยน หรือ 140 บาท ซึ่งถือว่าถูกเมื่อเทียบกับรายได้ของคนญี่ปุ่น นอกจากนี้ บริษัทบุหรี่บางแห่งยังผลิตบุหรี่ซองเล็กที่มี 10 มวนอีกด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายที่กำหนดว่าห้ามแบ่งขายบุหรี่

กฎหมายของญี่ปุ่นไม่ได้กำหนดให้บุหรี่เป็นเรื่องผิดที่มีโทษปรับ เพียงแต่ของความร่วมมือเจ้าของสถานที่ให้แบ่งแยกพื้นที่สำหรับการสูบบุหรี่และไม่สูบบุหรี่ ซึ่งแน่นอนว่าร้านหลายแห่งก็ไม่อยากเสียลูกค้าจึงไม่คิดจะปฏิเสธห้ามสูบบุหรี่ทั้งร้าน ร้านในญี่ปุ่นที่เห็นว่าห้ามสูบบุหรี่อย่างชัดเจนคือ สตาร์บักส์ ที่ห้ามสูบบุหรี่ในทุกสาขา ส่วนร้านอื่น ๆ เช่น แมคโดนัลด์ หรือ เคเอฟซี ห้ามสูบบุหรี่เป็นบางสาขาเท่านั้น

เรื่องที่น่าผิดหวังอีกอย่างหนึ่ง คือ เมื่อกระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นจะปรับปรุงกฎหมายเพื่อควบคุมการสูบบุหรี่ กลับมี สส. จำนวนหนึ่งคัดค้านโดยอ้างว่า “ละเมิดสิทธิการสูบบุหรี่” และ สส. เหล่านี้อยู่ในสังกัดพรรคเสรีประชาธิปไตยของนายกฯ ชินโซ อะเบะ ด้วย

แต่ก็มีหลายจังหวัดและหลายพื้นที่ออกกฎหมายท้องถิ่น ห้ามสูบบุหรี่ตามท้องถนน หรือในร้านอาหาร เป็นต้น ล่าสุด ทางรัฐบาลท้องถิ่นกรุงโตเกียวก็เพิ่งออกกฎหมายควบคุมการสูบบุหรี่อย่างเข้มงวด เพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก

กฎหมายใหม่บังคับใช้พื้นที่นครโตเกียวห้ามการสูบบุหรี่อย่างสิ้นเชิงในโรงเรียนตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยม ส่วนในมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลสามารถจัดพื้นที่สูบบุหรี่ได้นอกตัวอาคาร

ความก้าวหน้าที่สำคัญคือ ห้ามสูบบุหรี่ในร้านอาหารไม่ว่าจะมีพื้นที่เท่าใดก็ตาม โดยร้านอาหารสามารถจัดพื้นที่สำหรับสูบบุหรี่ภายในอาคารได้ แต่จะต้องไม่มีการดื่มกินในพื้นที่นั้น

ผู้สูบบุหรี่หรือเจ้าของร้านอาหารที่ฝ่าฝืนจะมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 เยน หรือราว 15,000 บาท แต่กฎหมายนี้มีผลบังคับเฉพาะในพื้นที่กรุงโตเกียวเท่านั้น
เครื่องขายบุหรี่อัตโนมัติในญี่ปุ่น
มีบางคนบอกว่า สาเหตุทึ่การควบคุมบุหรี่ในญี่ปุ่นทำได้ลำบาก ไม่ใช่แค่เรื่องผลประโยชน์ที่นักการเมืองได้รับเท่านั้น ในแง่วัฒนธรรมอาจเป็นเพราะชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวอย่างมาก แต่ความจริงแล้ว การสูบบุหรี่ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ไม่ใช่แค่ส่งผลกระทบด้านสุขภาพต่อคนที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง แต่รัฐบาลเองก็ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อรักษาผู้ที่ป่วยจากบุหรี่ ซึ่งก็คือเงินภาษีของทุกคนนั่นเอง

วันนี้ ฉันได้เล่าถึงเรื่องที่คิดว่าเมืองไทยทำได้ดีกว่าญี่ปุ่นไปแล้ว คือ การควบคุมบุหรี่ ในครั้งต่อไปจะเล่าเรื่องการควบคุมสุรา ที่ประเทศไทยก็เข้มงวดกว่าญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน ขอฝากเนื้อฝากตัวด้วยค่ะ วันนี้ขอลาไปก่อน สวัสดีค่ะ.


"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น