ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
สะดุดคำ คือ มุมพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึกที่ลงทุกวันจันทร์ มุมนี้จะเป็นการบอกเล่า ‘ความเคลื่อนไหว’ หรือ ‘สิ่งที่อยู่ในความสนใจ’ ของคนญี่ปุ่นตามโอกาสพิเศษผ่าน ‘คำสำคัญ’ หรือ ‘คำเด่น’ ในช่วงเวลาหรือฤดูกาลนั้น มีกำหนดนำเสนอเดือนละครั้ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถติดตามสิ่งที่เป็นปัจจุบันหรือร่วมสมัยได้ในเวลาใกล้เคียงกับคนญี่ปุ่น อีกทั้งยังต้องการให้ผู้ที่เรียนหรือสนใจภาษาญี่ปุ่นได้นำคำหลักและคำที่เกี่ยวข้องไปใช้พูดคุยกับคนญี่ปุ่นหากมีโอกาสเพื่อให้บทสนทนาน่าสนใจและมีชีวิตชีวา โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อคนหรือคำญี่ปุ่นไว้ในระดับหนึ่งเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการค้นคว้าเพิ่มเติม อนึ่ง การถ่ายเสียงจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยในทุกบทความอิงหลักการเขียนคำทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นของราชบัณฑิตยสภาเป็นหลักแม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องการใช้เสียงสั้นและเสียงยาวตามหลักภาษาญี่ปุ่น
หากเอาแผนที่ญี่ปุ่นมากาง นอกจากจะเห็นเกาะใหญ่กระจุกตัวกันอยู่สามสี่เกาะด้านบนแล้ว พอไล่สายตาลงไปด้านล่างซ้าย ใกล้ ๆ ไต้หวัน จะเห็นหมู่เกาะเล็กอีกกระจุกหนึ่ง ตรงนั้นคือ “โอกินาวา” เดือนมิถุนายนของทุกปี ชื่อ “โอกินาวา” จะปรากฏตามสื่อ เพราะเดือนนี้วันที่ 23 คือวันรำลึกการสิ้นสุดการสู้รบครั้งใหญ่ที่คร่าชีวิตประชากรกว่าแสนคนของที่นั่นไปในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 ทุกวันนี้คนไทยรู้จักโอกินาวาในฐานะแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเพราะมีสายการบินราคาประหยัด แต่วันนี้ขอละเรื่องเที่ยว หันมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับโอกินาวาที่คนไทยไม่ค่อยได้เรียนในโรงเรียนสักเท่าไร
คนสยามตั้งแต่สมัยอยุธยารู้จักดินแดนโอกินาวาในนาม “ริวกิว” ส่วนชื่อ “โอกินาวา” ในฐานะจังหวัดหนึ่งของญี่ปุ่นเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงที่ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทยนี่เอง จนถึงตอนนั้น ริวกิวเป็นคนละประเทศกับญี่ปุ่น มีกษัตริย์ปกครองมายาวนาน และหากว่ากันตามประวัติศาสตร์ กล่าวได้ว่าริวกิวเป็นดินแดนอาภัพ สถานะที่เป็นอยู่ทุกวันนี้คือผลจากการถูกรุกราน ในเบื้องแรกคือการรุกรานจากแคว้นซัตสึมะของญี่ปุ่นในสมัยเอโดะ จนกระทั่งถูกผนวกเป็นของญี่ปุ่นโดยสมบูรณ์เมื่อสมัยเมจิ ในเบื้องถัดมาคือการยกพลขึ้นบกของทหารอเมริกัน ซึ่งสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินมหาศาล หลังญี่ปุ่นแพ้สงคราม โอกินาวายังถูกอเมริกาปกครองต่อมาอีกหลายปี หรือแม้กระทั่งบัดนี้ เมื่ออเมริกาคืนให้ญี่ปุ่นแล้ว ในโอกินาวายังคงมีฐานทัพอเมริกันกินพื้นที่กว้างขวางอยู่ในจังหวัด สร้างความเดือดร้อนใจแก่คนในท้องที่มาตลอดหลายสิบปี
ริวกิวเดิมเป็นประเทศเอกราช มีวัฒนธรรมและภาษาของตนเอง และด้วยความเป็นหมู่เกาะ ภาษาริวกิวจึงมีภาษาถิ่นที่แตกต่างไปจากภาษาบนเกาะหลักหลายสำเนียงด้วย ริวกิวเป็นประเทศเมืองท่า รุ่งเรืองด้วยการค้าที่ทำอย่างกว้างขวางทั้งกับสยาม จีน ญี่ปุ่น ตลอดจนประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสินค้าซื้อมาขายไปรอนแรมไปพักอยู่ตรงนั้นก่อนจะกระจายไปยังจุดอื่นมากมาย ด้วยภูมิรัฐศาสตร์และการค้าระหว่างประเทศ ริวกิวจึงได้รับอิทธิพลจากหลายชาติโดยเฉพาะจีน อย่างการค้าที่ทำกับสยามก็ใช้ภาษาจีนในการสื่อสารทางพระราชสาสน์ระหว่างกษัตริย์อยุธยากับกษัตริย์ริวกิว และเรื่องเด่นที่ต้องหยิบยกขึ้นมาเมื่อเอ่ยถึงการค้าระหว่างสยามกับริวกิวคือ คนริวกิวเรียนรู้วิธีกลั่นเหล้าจากสยามและนำเข้าข้าวจากอยุธยาเพื่อใช้ผลิต “อาวาโมริ” (Awamori; 泡盛) ซึ่งเป็นเหล้าแรง มีแอลกอฮอล์สูง 30-40% และเป็นของขึ้นชื่อของโอกินาวา ทุกวันนี้วัตถุดิบผลิตอาวาโมริทั้งหมดยังคงเป็นข้าวไทย
ริวกิวกับญี่ปุ่นคบค้ากับมานานหลายร้อยปี โดยเฉพาะกับแคว้นซัตสึมะ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่กลายเป็นจังหวัดคาโงชิมะบนเกาะคิวชู ความสัมพันธ์ส่วนใหญ่ถือว่าเป็นไปด้วยดี แต่ในช่วงปลายทศวรรษ 1500 แคว้นซัตสึมะเริ่มหมั่นไส้ริวกิวขึ้นมาด้วยเหตุที่ว่าริวกิวเมินคำขอร้องบ้าง ทำหยิ่งบ้าง แต่จะว่าไปก็น่าสงสารริวกิว ก็เรื่องที่รัฐบาลโชกุนกับแคว้นซัตสึมะขอมานั้น บางทีมันน่ารำคาญ เพราะไม่ใช่ครั้งสองครั้ง แต่มาเป็นระลอก เช่น ตอนญี่ปุ่นจะบุกคาบสมุทรเกาหลีก็ขอให้ริวกิวส่งทหารไปช่วย หนักเข้ากษัตริย์ริวกิวจึงทำเมิน แคว้นซัตสึมะทนไม่ไหว ขออนุญาตโชกุนที่เอโดะ บอกว่าขอสักทีเถอะ กระด้างกระเดื่องนัก จะกำราบเสียให้อยู่หมัด
ยุคนั้นแคว้นซัตสึมะมีพลังอำนาจมาก เมื่อได้รับอนุญาต จึงเริ่มบุกริวกิว ไล่มาตั้งแต่หมู่เกาะทางเหนือ แค่ราว 3 เดือน จากมีนาถึงพฤษภา ปี 1609 (พ.ศ. 2152) ริวกิวแพ้ราบ กษัตริย์จำต้องไปรายงานตัวต่อโชกุน อีกทั้งเจ้าหน้าที่จำนวนมากถูกส่งไปเป็นตัวประกัน หลังจากนั้นยังถูกบังคับให้ลงนามยอมรับด้วยว่าริวกิวเป็นดินแดนในอาณัติของแคว้นซัตสึมะมาตั้งแต่สมัยโบราณ และให้ริวกิวรับผิดที่ทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน พร้อมกับยอมรับความชอบธรรมของการรุกราน ท้ายสุดบรรดาขุนนางถูกบังคับให้สวามิภักดิ์ให้สัตย์ปฏิญาณต่อแคว้นซัตสึมะ...ข้ามหน้ากษัตริย์ของริวกิวไปเลย สภาพ “ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง” ของริวกิวเริ่มขึ้นนับแต่นั้นมา บ้านแตกสาแหรกขาดกลายเป็นประเทศราชของญี่ปุ่นในสมัยเอโดะนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ระบอบกษัตริย์ของริวกิวยังคงอยู่ต่อมาอีกเกือบ 300 ปี แต่ระหว่างนั้นก็ถูกซัตสึมะ “เคี่ยวเข็ญเย็นค่ำกรำไป” ขายอะไรได้กำไรมาต้องยกให้ซัตสึมะมากมาย ถูกบังคับใช้แรงงานเยี่ยงทาส ให้ปลูกอ้อย ผลิตน้ำตาล โดยเฉพาะที่หมู่เกาะอามามิ พอได้ผลผลิตก็บังคับให้ขายราคาถูก ชาวนาเอาเวลาไปปลูกอ้อยหมด ข้าวจึงปลูกได้ไม่พอ ซัตสึมะสบช่องอีก เอาข้าวมาโก่งราคาขายให้คนริวกิว ชีวิตคนที่นั่นแร้นแค้นจนได้ชื่อว่า “นรกน้ำตาลดำ” (黒糖地獄;Kokutō jigoku)และแล้วเมื่อสิ้นสมัยเอโดะเข้าสู่ต้นสมัยเมจิ ชื่อริวกิวในฐานะประเทศถูกลบชื่อทิ้งเนื่องด้วยญี่ปุ่นผนวกริวกิวเป็นของตน ตอนนั้นกษัตริย์ริวกิวคือ พระเจ้าโช ไท (Shō Tai ; 尚泰) ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของริวกิว ครองราชย์ 31 ปีตั้งแต่พระชนมายุ 6 พรรษา ถูกรัฐบาลญี่ปุ่นบีบให้สละราชสมบัติเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 1879 (พ.ศ. 2422)
เมื่อเป็นโอกินาวาแล้ว รัฐบาลเมจิส่งคนไปควบคุมดูแล แน่นอนว่ากระแสค่านิยมจากหมู่เกาะใหญ่ย่อมหลั่งไหลเข้าไปด้วย ภาษาริวกิวเอนเอียงเข้าใกล้ภาษาญี่ปุ่นมากขึ้น นักเรียนถูกสอนให้ตระหนักว่าตัวเองคือคนญี่ปุ่น ต้องจงรักภักดีต่อจักรพรรดิ และไม่ใช้ภาษาโอกินาวา หากนักเรียนถูกจับได้ว่าพูดภาษาเดิมของตน (ซึ่งถือว่าเป็นภาษาถิ่นของญี่ปุ่นแล้ว) จะถูกลงโทษโดยให้นำแผ่นไม้ที่เขียนว่า “ป้ายภาษาถิ่น” มาแขวนคอให้รู้กันไปเลยว่าเด็กคนนี้พูดภาษาถิ่น ขณะเดียวกันคนบนเกาะใหญ่ก็มองว่าวัฒนธรรมโอกินาวาเป็นของล้าหลัง และคนที่มีถิ่นกำเนิดในโอกินาวาหางานทำได้ยากเพราะถูกกีดกัน
เท่านั้นยังไม่พอ หลังจากเป็นโอกินาวาได้ 60 กว่าปี เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ช่วงท้าย ๆ ของสงคราม โอกินาวาคือด่านแรกที่ทหารอเมริกันบุกเข้าญี่ปุ่น คำว่า “ตายเป็นเบือ” คือสภาพของโอกินาวาตอนนั้นเลยทีเดียวเพราะมีหนึ่งแสนกับอีกหมื่นกว่าชีวิตล้มตาย หรือราว 1 ใน 4 ของประชากรโอกินาวาทั้งหมดในตอนนั้น คนทั่วโลกจำชื่อฮิโรชิมากับนางาซากิได้ดีเพราะมีการใช้ระเบิดปรมาณู แต่ถ้าเอาตัวเลขผู้ตายมาเทียบกัน บอกได้เลยว่าที่โอกินาวาตายไม่น้อยหน้าไปกว่า 2 เมืองนั้น (ตัวเลขประเมินมีหลายสำนัก ที่มากที่สุดคือ ฮิโรชิมาราว 140,000 คน นางาซากิราว 80,000 คน)
ตอนนั้นคือปี 1945 (พ.ศ. 2488) ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของสงคราม โอกินาวาโดนชุดใหญ่เข้าไปเมื่อทหารอเมริกันยกพล 540,000 นายขึ้นบกที่นั่น ทหารญี่ปุ่นตรงนั้นมีแค่แสนคน จะเอาอะไรไปสู้ได้ ซ้ำร้ายในจำนวนแสนที่มี คือพลเรือนที่ถูกเกณฑ์ไปรบ และที่ร้ายกว่านั้นอีกคือ มีผู้คนซึ่งสมัยนี้เราต้องเรียกว่า “เด็ก” ออกรบด้วยราว 3 หมื่นคน กองทัพญี่ปุ่นไปตั้งกองบัญชาการอยู่ที่ใต้ดินของวังอดีตกษัตริย์ริวกิวนั่นแหละ ญี่ปุ่นทุ่มสุดตัวในสนามรบโอกินาวา เพราะกลัวว่าถ้าอเมริกาชนะตรงนั้น การขึ้นฝั่งใหญ่จะทำได้ง่าย ซึ่งก็ตรงกับที่อเมริกาคิดคือ ต้องการใช้โอกินาวาเป็นฐานบัญชาการเพื่อบุกขึ้นฝั่งใหญ่ต่อไป
ทหารอเมริกันเริ่มบุกขึ้นเกาะหลักโอกินาวาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2488 พอปลายเดือนพฤษภาคม ทหารฝ่ายญี่ปุ่นตายไปประมาณ 70% สู้กันดุเดือดเลือดพล่านไม่นานนัก รวมแล้วเกือบ 3 เดือน จนกระทั่ง 22 มิถุนายน ญี่ปุ่นแพ้ราบคาบ ต้านไม่ไหวอีกแล้ว มีคนส่วนหนึ่งคิดว่าถ้ายอมตกเป็นเชลยของศัตรู อย่างน้อยยังมีอาหารกิน แต่มีหรือที่จักรวรรดิญี่ปุ่นจะรับได้ กลับตราหน้าว่ามันผู้ใดยอมจำนน คนผู้นั้นต้องเป็นสายลับแน่ ๆ ว่าแล้วก็ฆ่าคนที่เรียกร้องให้ยอมแพ้ ส่วนคนที่อดตายเพราะขาดอาหารก็มีไม่น้อย ในอีกด้านหนึ่ง เนื่องจากจักรวรรดิญี่ปุ่นสอนแบบฝังหัวว่า “การยอมแพ้ให้ศัตรูจับไปเป็นเชลยเป็นเรื่องเสียศักดิ์ศรี” ผู้คนจำนวนมากจึงรับลูกระเบิดจากทหารญี่ปุ่นติดตัวไว้ พอเข้าตาจน ทำท่าว่าจะถูกฝ่ายตรงข้ามจับ ทำใจเสียเถิด กดระเบิดมันเสียเลย เกิดการฆ่าตัวตายหมู่อีก ยอมตายดีกว่ายอมขายหน้า...สงครามเอย ช่างเป็นไปได้ถึงขนาดนั้น
การสู้รบที่โอกินาวาจบลง และไม่นานหลังจากนั้นญี่ปุ่นก็พ่ายแพ้ด้วยระเบิดปรมาณู 2 ลูกในเดือนสิงหาคม ปิดฉากสงครามในญี่ปุ่น ญี่ปุ่นแพ้แล้ว ต่อมาอเมริกาเข้าปกครองโอกินาวา เพิ่งคืนให้ญี่ปุ่นเมื่อปี 1972 (พ.ศ. 2515) นี่เอง จวบจนวันนี้ ผ่านมา 73 ปีแล้ว วันที่ 23 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันรำลึกการสิ้นสุดการสู้รบที่โอกินาวา และเป็นวันหยุดราชการของที่นั่น
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com