คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
ฉันเคยได้ยินชื่อ “นัตโต” หรือที่บางคนเรียกว่า “ถั่วเน่า” มาตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ แล้ว แม้จะไม่เคยเห็นของจริง แต่ก็ได้ยินชื่อเสียงอันลือชาว่าเหม็นหนักหนา กระทั่งคนญี่ปุ่นบางคนเองก็ขยาดเหมือนกัน ฉันจึงไม่เคยมีความคิดจะลิ้มลองแต่อย่างใด จนวันหนึ่งก็ได้เจอนัตโตของจริงเข้า จึงได้เข้าใจว่าทำไมคนไทยถึงเรียกมันว่า “ถั่วเน่า”
ระหว่างรับประทานอาหารเช้าเมื่อหลายปีก่อน รูมเมทของฉันซึ่งเป็นคนญี่ปุ่นกำลังนั่งรับประทานนัตโตกับข้าวสวยพร้อมซุปมิโสะ ฉันลงนั่งข้าง ๆ เธอก็ไม่นานก็อดรนทนไม่ไหว เพราะกลิ่นของนัตโตในกล่องเล็กจิ๋วราวกลิ่นถุงเท้าเน่านั้นขจรขจายโชยมาปะทะจมูกแทบตลอดเวลา ฉันจึงอัญเชิญให้ทั้งเธอและฉันไปนั่งกันคนละฟากของหัวโต๊ะ รูมเมทฉันทั้งขำและอยากหยิกฉันไปในคราวเดียวกัน แต่เธอก็เข้าใจว่าไม่ใช่ทุกคนที่รับนัตโตได้ ก็คงเหมือนกับไม่ใช่ทุกคนที่รับปลาร้าได้กระมัง...ฉันคิด
พูดถึงปลาร้าแล้วน้ำลายจะหก...เอ๊ย นึกได้ว่าสามีของฉันก็รับประทานปลาร้าได้เหมือนกัน เท่าที่ฉันเคยเจอมาคนต่างชาติที่รับประทานปลาร้าเป็นจะเป็นคนที่เคยอยู่แถบอีสานหรือประเทศลาวมาก่อนจึงรับประทานได้แบบเดียวกับคนท้องถิ่น แต่สามีฉันไม่ได้อยู่ในข่ายนี้ ครั้งแรกที่เขารับประทานส้มตำปลาร้าที่ฉันสั่งมา ฉันรอดูว่าเขาจะมีปฏิกิริยาอย่างไร แต่พอไม่เห็นเขาทำหน้าพิสดารอย่างที่ฉันนึกสนุกไว้แต่แรกก็ชักประหลาดใจ ถามว่า “ไม่เหม็นรึ” เขางงถามกลับมาว่า “เหม็นอะไรละ” ฉันจึงบอกเขาว่าในส้มตำมีปลาร้า และอธิบายให้ฟังว่าปลาร้าคืออะไร เขาก็เฉย ๆ
ฉันเดาว่าคงเพราะเขาชินกับกลิ่นนัตโตกระมังจึงไม่ได้รู้สึกถึงกลิ่นปลาร้าที่หลายต่อหลายคนรับไม่ได้ ตัวฉันเองถ้าได้กลิ่นปลาร้าที่เพิ่งเอาออกจากไหหรือถุงโดยที่ยังไม่ได้ต้มก็แทบสลบเหมือนกัน และสำหรับฉันแล้วกลิ่นปลาร้าที่ยังไม่ได้ต้มนี่แหละคล้ายกับกลิ่นนัตโต
จากประสบการณ์เรื่องกลิ่นนัตโตที่ได้รับจากรูมเมทชาวญี่ปุ่นทำให้ฉันเกิดความฝังใจอันเลวร้าย คิดว่าชาตินี้จะไม่มีวันแตะมันเด็ดขาด แต่แล้ววันหนึ่งก็มีเหตุการณ์มาทำให้ฉันเปลี่ยนใจ
ตอนนั้นฉันไปทำงานที่ฮอกไกโด แม้จะพักโรงแรมที่ดีและอยู่สบาย อาหารก็มีให้เลือกหลากหลายประเภท แต่เนื่องจากอยู่ในโรงแรมเดิมตลอดระยะเวลาสองสัปดาห์ ตื่นเช้ามาก็เจอแต่อาหารหน้าตาเหมือนกันทุกวันก็อดไม่ได้ที่จะเบื่อ สิ่งที่เหลือยังไม่ได้รับประทานมีอยู่อย่างเดียวคือ “นัตโต”
ฉันมองเพื่อนร่วมงานสนิทที่นั่งอยู่ตรงข้ามและกำลังแกะพลาสติกใสหุ้มถ้วยนัตโตเล็ก ๆ นั้นออก เทมัสตาร์ดญี่ปุ่นสีเหลืองกับซอสสีน้ำตาลอ่อนห่อเล็ก ๆ ที่มาคู่กันใส่ลงในถ้วยนัตโต จากนั้นเอาตะเกียบคนให้เข้ากันก่อนจะราดลงบนข้าวสวยแล้วตักเข้าปากหน้าตาเฉย
“เก่งแฮะ กินนัตโตได้ด้วย” ฉันเอ่ยปากชม “หัดกินยังไงน่ะ”
“ทำไมละ อร่อยดีออก ลองกินดูสิ” เพื่อนตอบ แถมยังบอกว่านัตโตนี่เอาไปทำไข่เจียว ใส่กิมจิเสียหน่อยอร่อยดีด้วย ฉันทำหน้าแหย นึกภาพไม่ออก
เห็นเพื่อนแล้วก็ชักฮึดว่า “เขายังกินได้เลย เราก็น่าจะหัดลองกินดูบ้าง”
ฉันใช้เวลาทำใจอยู่วันสองวัน วันหนึ่งก็ทำใจกล้าหยิบเจ้านัตโตถ้วยจิ๋วนั่นใส่ถาดมาด้วย นั่งมองมันอย่างชั่งใจ แล้วก็คิด “เป็นไงเป็นกัน” และลงมือใส่เครื่องปรุงแบบที่เคยเห็นเพื่อนทำ คนให้เข้ากัน ราดลงบนข้าวสวย ตักเข้าปาก พยายามระงับความสยองสุดขีดที่พุ่งพล่านอยู่ในหัว....
“เอ๊ะ ไม่ยักเป็นอะไรนี่ ” ฉันคิดอย่างประหลาดใจตัวเอง “ก็กินได้แฮะ ทำไมไม่เห็นเหม็นเลย”
ถ้าถามว่านัตโตรสชาติเป็นอย่างไร ฉันก็ตอบไม่ถูกเหมือนกัน บอกได้แต่ว่าสัมผัสของถั่วเหลืองหมักนั้นมีความแข็งคล้ายถั่วที่ต้มจนเกือบสุกแต่มีความหนึบอันเบาบางซ่อนอยู่ และเปลือกถั่วก็เหมือนจะแอบมีความกรอบนิด ๆ แบบบอกไม่ถูก ชวนให้เคี้ยวแล้วแปลก ๆ เพลิน ๆ ดี ส่วนรสของมันก็มีความผสมผสานกันจนบอกไม่ได้แน่ชัดว่ารสอย่างไรแน่ และก็น่าจะขึ้นอยู่กับซอสและมัสตาร์ดที่มาคู่กันในปริมาณที่พอดีกับนัตโตด้วย ซึ่งก็ไม่ได้เค็มหรือหวานเกินไป
เวลานั้นฉันไม่ได้รู้สึกว่านัตโตอร่อยหรือไม่อร่อย แค่รู้สึกว่า “ให้กินก็กินได้” แต่วันต่อมาหลังจากนั้นฉันหยิบนัตโตใส่ถาดอาหารเช้ามาด้วยแทบทุกวันเลยค่ะ และตั้งแต่นั้นมานัตโตก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน เป็นหนึ่งในสิ่งที่ฉันมักหยิบใส่ตะกร้าเวลาไปจ่ายกับข้าวด้วยเสมอ
พี่ฉันเคยมาเที่ยวบ้านที่ญี่ปุ่น เห็นฉันกับสามีรับประทานนัตโต ก็มองด้วยความสนใจแต่ก็ทำหน้าแปลก ๆ ถามว่า “รสชาติเป็นยังไงน่ะ” ฉันเลยท้า “ลองไหม” เขาจึงทำหน้าออกจะหวาด ๆ แต่ก็รับไปลองแต่โดยดี พอตักเข้าปากคำหนึ่งก็บอก “อืม กลิ่นเหมือนกาแฟ” ฉันงง เดาว่าคงตอนเคี้ยวละมังที่จะไม่รู้สึกว่ามันเหม็น และอาจจะตอนนั้นเองที่รู้สึกว่ากลิ่นคล้าย ๆ กาแฟ? สงสัยสัมผัสในการรับรสของคนคงไม่เหมือนกัน แล้วพี่ก็สรุปว่า “จะว่าไปมันก็กินได้นะ ไม่ได้รู้สึกเหม็น”
ถ้าไม่ได้รับประทานนัตโตเอง กลิ่นของนัตโตที่โชยมาจากอาหารของคนอื่นจะเหมือนกลิ่นเน่าจริง ๆ นะคะ (อย่างน้อยก็สำหรับฉัน) ยิ่งนัตโตมีเมือกเหนียว ๆ เกาะกันเป็นพรืด แถมพอใส่ซอสใส่มัสตาร์ดแล้วคนก็ยิ่งเป็นเมือกหนืดแล้วยังมีฟองอีกต่างหาก ทั้งกลิ่นทั้งภาพแบบนั้น ยิ่งชวนให้ทุกประสาทสัมผัสในร่างกายพร้อมใจกับต่อต้าน สมองจะตัดสินว่าสิ่งที่ได้รับรู้นั้นเหมาะแก่การโยนลงถังขยะโดยเร็วมากกว่าใส่เข้าปาก
ความหนืดของนัตโตชวนให้ฉันนึกถึงเพื่อนสนิทชาวออสเตรเลียคนหนึ่งที่ทำหน้าขยะแขยงตอนเห็นฉันกำลังรับประทานโจ๊กสำเร็จรูป
“กินเข้าไปได้ไง” เพื่อนถามด้วยความสยอง
“อ้าวทำไม มันก็เป็นข้าวที่ต้มจนเหลวปรุงรสเท่านั้นเอง กินง่าย อร่อยดีออก ลองไหม”
เพื่อนส่ายหัวเต็มแรง
“ไม่ เราไม่กินอะไรที่มันยืด ๆ หนืด ๆ เหลว ๆ อี๋ แค่คิดก็สยองแล้ว”
ฉันมองเพื่อนแล้วก็พยายามนึกภาพตามถึงความน่าขยะแขยงของอาหารที่ยืด ๆ หนืด ๆ ในหัวเขา แต่ก็ไม่นึกไม่ออกอยู่ดีว่าโจ๊กมันน่าขยะแขยงตรงไหน สงสัยเหมือนกันว่าอย่างนี้เขาก็คงกินซุปข้น ๆ อย่างซุปครีมเห็ด หรือซุปมะเขือเทศไม่ได้ด้วยหรือเปล่า แต่ก็ลืมถาม นึกขำ ๆ ว่าถ้าเกิดมาเห็นฉันกินนัตโต ได้ทั้งกลิ่นและภาพชัดแจ่มอยู่ต่อหน้าต่อตามีหวังตานี่คงเป็นลม
พอรับประทานนัตโตเป็นแล้ว เวลามื้ออาหารเช้านอกบ้านหรือบ้านเพื่อนมีนัตโตให้รับประทานด้วย จะรู้สึกดี ภาพข้าวสวยหนึ่งถ้วย นัตโตหนึ่งกล่อง ซุปมิโสะร้อน ๆ พร้อมกับข้าวอย่างอื่นตรงหน้าชวนให้รู้สึกสบายใจคล้ายกับเวลาได้ซดชาร้อน ๆ ในวันที่อากาศหนาว เหมือนได้กลับบ้านอันแสนสุขอย่างไรบอกไม่ถูก ไม่ทราบว่าคนอื่น ๆ จะรู้สึกแบบนี้หรือเปล่านะคะ
วิธีรับประทานนัตโตไม่ใช่เพียงแค่ใส่มัสตาร์ดกับซอสแล้วคนให้เข้ากันอย่างเดียว ตอนฉันไปเยี่ยมครอบครัวเพื่อนคนญี่ปุ่นที่สนิทกัน ตอนเช้าคุณแม่เพื่อนก็ถามว่าฉันรับประทานนัตโตได้หรือเปล่า พอรู้ว่ารับประทานได้ก็ดีใจ เลยตักเอาต้นหอมและขิงสดที่สับเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแช่ไว้ในโชยุ มิริน และน้ำส้มสายชูใส่ถ้วยเล็ก ๆ มาวางให้ และคะยั้นคะยอให้ฉันลองตักเฉพาะต้นหอมและขิงใส่นัตโตรับประทานดู
โอ้โฮ...ความรู้สึกมันเหมือนกับเปิดศักราชใหม่แห่งนัตโตอย่างไรอย่างนั้น จากนัตโตที่เคยแต่รับประทานตามแต่เครื่องปรุงที่เขาให้มาอย่างเดียว เพิ่งรู้ว่าที่จริงแล้วสามารถเอามาเปลี่ยนเป็นรสชาติอื่นอีกได้หลายอย่าง วิธีรับประทานที่คุณแม่ให้ลองนี้ฉันขอยกนิ้วให้เลย อร่อยมาก วันต่อมาคุณแม่ไม่ได้หยิบออกมาด้วย พอฉันถามหา คุณแม่ก็ขำอย่างคนอารมณ์ดีบอกว่าฉันติดใจนัตโตใส่เครื่องเสียแล้ว
ถ้าเพื่อนผู้อ่านที่รักท่านไหนรู้สึกขยาดกับนัตโต หากมีโอกาสได้รับประทานที่ไหนก็อยากให้ลองดูก่อนค่ะ อาจจะติดใจอย่างที่ฉันติดใจก็ได้ พอรับประทานเป็น ภาพและกลิ่นอันโหดร้ายที่เคยปรากฏในสมองจะหายไปเป็นปลิดทิ้ง และรับประทานนัตโตได้โดยที่ไม่รู้สึกว่ามันเป็น “ถั่วเน่ามหาประลัย” อีกต่อไป.
"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.