xs
xsm
sm
md
lg

ทำงานจนตัวตาย…Twitter ส่งท้าย OT 87 ชั่วโมง คร่าชีวิตหนุ่มวัย 28 ปีชาวญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมื่อวันพุธที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทนายความของครอบครัวผู้เสียชีวิตเปิดเผยว่า สำนักงานตรวจสอบมาตรฐานแรงงานในเขตอิเคะบุกุโระ กรุงโตเกียว ได้ประกาศรับรองให้กรณีการเสียชีวิตของชายหนุ่มวัย 28 ปีเมื่อปี 2017 เป็นการเสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินกว่าเหตุ

พิจารณารับรองสาเหตุการเสียชีวิตจากการทำงานเกินกว่าเหตุ

จากการตรวจสอบบันทึกการทำงาน พบว่าผู้เสียชีวิตได้ทำงานล่วงเวลาเฉลี่ย 87 ชั่วโมง 45 นาทีในช่วง 2 เดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิตจากภาวะเลือดออกในสมอง (Brain Hemorrhage) เป็นผลให้พิจารณารับรองว่าความตายของเขาเกิดจากอุบัติเหตุในที่ทำงาน เป็นเหตุสมควรที่จะได้รับการชดเชย ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์พิจารณาสาเหตุการเสียชีวิตในที่ทำงาน อันเกิดจากการทำงานล่วงเวลาเกินกว่า 80 ชั่วโมงต่อเดือน
คะวะฮิโตะ ฮิโระชิ ทนายความของครอบครัวผู้เสียชีวิต
คะวะฮิโตะ ฮิโระชิ ทนายความของครอบครัวผู้เสียชีวิต เปิดเผยในการแถลงข่าวว่า ก่อนหน้าที่ผู้เสียชีวิตจะเข้าสู่ระบบสัญญาการทำงานแบบคิดค่าตอบแทนคงที่ (ไม่มี OT) เขาทำงานอยู่ในระบบคิดค่าตอบแทนตามจริงมาก่อน ซึ่งพบว่าเขาทำงานล่วงเวลา (OT) อยู่ที่ 184 ชั่วโมงต่อเดือนเลยทีเดียว

ในระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ผู้เสียชีวิตได้โพสต์ข้อความผ่าน Twitter ส่วนตัว บอกเล่าถึงความเป็นไปของเขา…

“ยังเหลือเวลาอีก 22 ชั่วโมง กว่าผมจะเสร็จสิ้นการทำงาน”

“ตั้งแต่ทำงานมา…
นี่เป็นครั้งแรกที่ผมทำงานติดต่อกันยาวนานถึง 36 ชั่วโมง”
คะวะฮิโตะ ทนายความกล่าวว่า ผู้เสียชีวิตทำงานให้กับ IT company ReCI Inc., ซึ่งตั้งอยู่ในเขตโทะชิมะของกรุงโตเกียว ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่พัฒนาระบบให้กับบริษัท อสังหาริมทรัพย์ ก่อนที่จะได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นหัวหน้าทีมในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว และเข้าสู่ระบบสัญญาการทำงานแบบคิดค่าตอบแทนคงที่ (ไม่มี OT) ในฐานะผู้ชำนาญการพิเศษ โดยกำหนดให้มีเวลาทำงานอยู่ที่ 8 ชั่วโมงต่อวัน

ร่างกายส่งสัญญาณ…กว่าจะรู้ก็สายไปเสียแล้ว…

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้าที่ผู้เสียชีวิตจะเข้าสู่ระบบการทำงานตามสัญญาใหม่ เขาก็ได้ทำงานอย่างหนักเกินกว่าเหตุมาก่อนหน้านั้นเป็นเวลานานแล้ว ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2017 บริษัทฯ ตกอยู่ในสถานการณ์เร่งรีบ ส่งผลให้เขาต้องทำงานอย่างต่อเนื่องถึง 36 ชั่วโมง และในสิ้นเดือนนั้นเอง เขาได้บอกกับครอบครัวว่าเขามีอาการปวดหัว และในช่วงกลางเดือนต่อมา เขาถูกพบในสภาพทรุดโทรมหมดสติอยู่ในอพาร์ทเมนท์ หลังจากนั้นไม่นานก็ถึงแก่ชีวิตในท้ายที่สุด กระทั่งเดือนตุลาคมภายหลังการเสียชีวิต ครอบครัวของเขาได้ยื่นขอให้มีการพิจารณาตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตจากการทำงาน เพื่อเรียกร้องการชดเชยจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

“ฉันขอเรียกร้องให้บริษัทสร้างความมั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก
ไม่ว่ากับใครก็ตาม…ช่วงชีวิตในวัยเยาว์นั้นผ่านพ้น และไม่มีวันย้อนคืน…
ดังนั้น โปรดจงให้โอกาสคนหนุ่มสาว ได้มีช่องว่างสำหรับการพักผ่อนให้สดชื่น
จากการทำงานในช่วงเวลาที่เหมาะสมเสียบ้างเถิด”

- แม่ของผู้เสียชีวิต กล่าว -
อย่างไรก็ดี เมื่อผู้สื่อข่าวถามไถ่ถึงความคิดเห็นจากตัวแทนบริษัทฯ ก็มิได้รับข้อมูลใด ๆ นอกจากการกล่าวอย่างรัดกุม…“เนื่องจากยังไม่ทราบในรายละเอียดอย่างชัดแจ้ง ดังนั้นจึงยังไม่สามารถให้คำตอบใด ๆ ได้”

ส่วนหนึ่งจาก Twitter ผู้เสียชีวิต

และข้อความต่อไปนี้ ถูกหยิบยกมาจากส่วนหนึ่งใน Twitter ของผู้เสียชีวิต ช่วงปี 2017…

* วันที่ 24 มิถุนายน เวลา 01:00 น. “ในที่สุดผมก็ถึงบ้านแล้ว ช่างรู้สึกโล่งใจอะไรเช่นนี้ กว่า 300 ชั่วโมงแห่งความยิ่งใหญ่ของเดือนนี้ ผมอ่อนเพลียเหลือเกิน”

* วันที่ 26 มิถุนายน เวลา 22:29 น. “ความอ่อนล้าของร่างกายผมในตอนนี้ไม่ใช่อะไรที่ปกติ”

* วันที่ 4 กรกฎาคม เวลา 00:24 น. “ง่วงจัง ตั้งแต่บ่ายโมง ข้ามคืนไปถึงหกโมงเย็นของอีกวัน นี่มันอะไรกันเนี่ย!?”

* วันที่ 4 กรกฎาคม เวลา 20:20 น. “ยังเหลือเวลาอีก 22 ชั่วโมง กว่าผมจะเสร็จสิ้นการทำงาน”

* วันที่ 5 กรกฎาคม เวลา 06:32 น. “ผมว่าข้างนอกนั่นคงสว่างแล้วมั้ง และแล้วก็หกโมงเช้า อาเมน”

* วันที่ 6 กรกฎาคม เวลา 01:20 น. “ว้าว! ในที่สุดก็เลิกงานเสียที!! ตั้งแต่ทำงานมา…นี่เป็นครั้งแรกที่ผมทำงานติดต่อกันยาวนานถึง 36 ชั่วโมง”

ช่างเป็นข่าวที่ชวนให้สะเทือนใจ และสะท้อนให้เห็นปัญหาการทำงานในสังคมญี่ปุ่นได้อย่างชัดเจนเหลือเกิน การทำงานอย่างทุ่มเทเป็นสิ่งดี แต่การทำงานอย่างทุ่มเทเกินกว่าเหตุโดยไม่ดูแลสุขภาพตัวเองนั้น ดูจะไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่ต้องแลกไปด้วยปัญหาสุขภาพมากมายที่ตามมา เคราะห์ดีก็เพียงแค่เจ็บป่วย หากเคราะห์ร้ายก็คงจะไม่มีโอกาสที่สองให้ย้อนคืน เห็นจะจริงดั่งคำกล่าวอาลัยลูกของแม่ผู้เสียชีวิตเลยนะครับ…จงทำงานอย่างพอดี หาเวลาสร้างความสุขให้ตัวเอง และใช้เวลากับคนรอบข้างกันบ้างนะครับเพื่อน ๆ !!
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ anngle.org




กำลังโหลดความคิดเห็น