ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
เรื่องที่จะเล่าคราวนี้ ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากครั้งที่แล้ว และอีกส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับคำถามที่ได้รับบ่อย ๆ ว่า “นอกจากภาษาไทยแล้ว สอนอะไรให้คนญี่ปุ่นบ้าง” คำตอบคือ สอนเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทย แต่เนื่องจากวิชาภาษาไทยมีจำนวนชั่วโมงเรียนมากกว่า ภาพลักษณ์ของอาจารย์จึงกลายเป็นผู้ที่สอนเฉพาะภาษาไทย ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่ ในครั้งนี้จึงถือโอกาสมาบอกเล่าแนวทางที่มหาวิทยาลัยญี่ปุ่นกำหนดไว้เพื่อสร้างบุคลากรด้านภูมิภาคศึกษา
ในญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยแห่งชาติที่สอนด้านไทยศึกษา (เอกภาษาไทย) มี 2 แห่ง ได้แก่ Tokyo University of Foreign Studies กับ Osaka University (เดิมเคยมี Osaka University of Foreign Studies แต่ด้วยการปรับระบบบริหาร จึงกลายเป็นคณะหนึ่งของ Osaka University เมื่อปี 2550) เมื่อว่ากันถึงการวางหลักสูตรทางด้านภาษา หากมองจากสายตาบุคคลนอก อาจเกิดคำถามที่ว่า โรงเรียนสอนภาษากับมหาวิทยาลัยต่างกันอย่างไร? ถ้าอยากรู้ภาษาใดภาษาหนึ่ง ไปเรียนโรงเรียนสอนภาษาโดยไม่ต้องเข้ามหาวิทยาลัยก็ได้มิใช่หรือ?
มุมมองแบบนี้เป็นที่เข้าใจได้เพราะภาพลักษณ์ของการเรียนภาษาเป็นวิชาเอกย่อมมีภาษาเป็นตัวตั้ง แต่ผู้ที่ไม่ได้คลุกคลีกับการสอนโดยตรงอาจไม่ทันนึกว่าวัฒนธรรมกับสังคมส่งอิทธิพลต่อภาษามากโดยที่เจ้าของภาษาอาจไม่รู้ตัว มหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันสร้างคนให้มีความรู้และทักษะการหาความรู้ด้วยตนเองนั้นตระหนักข้อนี้ จึงกำหนดให้เรียนวิชาเอกมากชั่วโมงเพื่อถ่ายทอดความรู้เฉพาะทาง ขณะเดียวกันก็บรรจุอีกหลายวิชาที่ไม่เกี่ยวกับวิชาเอกลงไปด้วย ซึ่งมักเป็นวิชาทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เพื่อให้รู้จักสภาพและแนวคิดของคนภูมิภาคนั้นในระดับที่ลึกกว่าการเรียนภาษาทั่วไป หน้าที่ของมหาวิทยาลัยจึงไม่ใช่แค่การสอนความรู้ แต่สอนที่มา วิธีค้นคว้า และการประยุกต์ใช้ความรู้นั้นด้วย นี่คือส่วนที่แตกต่างจากโรงเรียนสอนภาษาซึ่งอาจไม่มีเวลาพอจะทำได้ถึงขั้นนั้น
ความรู้เชิงสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์จะช่วยเพิ่มความเข้าใจให้แก่ผู้เรียนภาษาได้มาก ดังตัวอย่างง่าย ๆ จากสถานการณ์เหล่านี้ เช่น
สถานการณ์ 1 (สมมุติ) : ในการประชุมฉุกเฉินของบริษัทแห่งหนึ่ง ฝ่ายขายกำลังเดือดร้อนเพราะเตรียมข้อมูลเพื่อนำเสนอให้ลูกค้าไม่ทัน จึงกล่าวว่า “การนำเสนอครั้งนี้ เราไม่มีเวลาเตรียม คงต้องยอมทำแบบผักชีโรยหน้า ไปก่อน เดี๋ยวค่อยมาเพิ่มเนื้อหากันทีหลัง” ในกรณีแบบนี้ คนต่างชาติที่ไม่รู้จักวัฒนธรรมด้านอาหารของไทยคงจะสงสัยว่าผักชีมาเกี่ยวอะไรด้วย
สถานการณ์ 2 (สมมุติ) : ผู้หญิงไทย 2 คนกำลังคุยกันเกี่ยวกับแฟนหนุ่มคนล่าสุดของอีกฝ่าย
ก: ที่ผ่านมา แฟนเธอผิวขาวทุกคน ทำไมคนนี้ดำจัง
ข: แหม เธอนี่ไม่รู้อะไร เวลาอยู่กับฉันสองคน เขาถอดรูปน่ะ ฮ่า ๆ ๆ
ถ้าไม่รู้จักเรื่องสังข์ทอง อาจงงเล็กน้อยว่า “ถอดรูป” คืออะไร
สถานการณ์ 3 : นี่เป็นสถานการณ์จริงที่ผมอยู่ในเหตุการณ์ด้วยเมื่อหลายปีมาแล้ว ตอนนั้นมีการจัดแสดงผลงานศิลปะของไทยที่ญี่ปุ่น อาจารย์ถวัลย์ ดัชนีมาร่วมงานและมีศิลปินจากไทยอีกหลายคนนำผลงานมาแสดงด้วย ในวันเปิดงานผู้ใหญ่ฝ่ายญี่ปุ่นมาชมงานและมีล่ามชาวญี่ปุ่นเดินประกบช่วยแปลคำอธิบาย ส่วนใหญ่จากภาษาไทยเป็นภาษาญี่ปุ่น เมื่อเดินวนไปถึงภาพภาพหนึ่ง ศิลปินหญิงชาวไทยเจ้าของผลงานอธิบายที่มาว่า “ภาพนี้ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนา สื่อถึง ‘มรรค’ ซึ่งเป็นหนทางหลุดพ้น” ปรากฏว่าล่ามอึ้งไปพักใหญ่กับคำว่า “มรรค” บังเอิญผมอยู่ตรงนั้นด้วยจึงพอจะช่วยแก้ปัญหาไปได้ (คำว่า “มรรค” ภาษาญี่ปุ่นพูดว่า “ฮัชโชโด” [八正道;hasshōdō] ถือว่าเป็นคำยากในภาษาญี่ปุ่น แต่สำหรับคนไทย เราคุ้นหูกันดี)
สถานการณ์ 4 : เรื่องนี้ได้ฟังมาจากคนญี่ปุ่นอีกต่อหนึ่ง ในมุมหนึ่งฟังดูแล้วก็น่ารักดี แต่ในอีกมุมหนึ่งก็รู้สึกสงสารล่าม เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อทางฝ่ายญี่ปุ่นพูดถึงทุเรียนเป็นภาษาญี่ปุ่นทำนองว่า “ทราบมาว่าทุเรียนเป็น King of Fruits” ล่ามชาวญี่ปุ่นซึ่งมีความรู้ภาษาไทยดีพอสมควรและรู้จักคำว่า “ในหลวง” จึงอธิบายคุณลักษณะของทุเรียนออกมาเป็นภาษาไทยว่า “ทุเรียนคือในหลวงแห่งผลไม้”
เหตุการณ์เหล่านี้พอจะชี้ให้เห็นว่าการเรียนภาษาไม่ได้จบที่การรู้ความหมายเท่านั้น แต่ต้องครอบคลุมไปถึงภูมิหลังและนัยแวดล้อมด้วย สิ่งเหล่านี้สอดแทรกอยู่ในวิชาอื่นนอกเหนือจากวิชาทางภาษาโดยที่เราแทบไม่รู้ตัวเลยว่าความรู้เหล่านั้นเป็นเหมือนน้ำมันหล่อลื่นที่ทำให้การสื่อสารหรือการสื่อความคิดราบรื่น คนสอนก็ไม่รู้หรอกว่าความรู้ไหนจะมีประโยชน์เมื่อไรและกับใคร แต่ที่รู้แน่ ๆ คือจำเป็นจะต้องมี
เมื่อกล่าวเฉพาะส่วนที่ตัวเองรับผิดชอบทุกวันนี้ สิ่งที่พยายามทำคือ ชี้ให้คนญี่ปุ่นเห็นเบื้องหลังของลักษณะความเป็นไทยเท่าที่จะทำได้โดยเฉพาะส่วนที่แสดงออกมาทางภาษา ตัวอย่างใกล้ตัวที่คนญี่ปุ่นพูดถึงกันมากคือชื่อกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นชื่อเมืองหลวงที่ยาวที่สุดในโลก เรื่องนี้มีระบุทั่วไปในหนังสือของญี่ปุ่นและคนญี่ปุ่นจำนวนมากก็รู้ แต่นั่นย่อมเป็นเพียงความรู้ทั่วไป สิ่งที่ผมบอกนักศึกษาเอกภาษาไทยว่าควรจะต้องรู้ให้มากกว่านั้น คือ ชื่อกรุงเทพมหานครมีความคล้องจองในแต่ละวรรค มีลักษณะคล้ายร่าย ซึ่งเกิดจากความนิยมพูดเป็นจังหวะจะโคนและการใช้คำคล้องจองของคนไทย และนอกจากชื่อกรุงเทพฯ แล้ว เรื่องอื่น ๆ ในชีวิตประจำวันก็มีลักษณะเช่นนั้นอยู่มาก หากอยากรู้ตัวอย่างอื่น “คราวหน้า ถ้าไปเมืองไทย ก็ไปจดชื่อประตูรอบวัดพระแก้วมา” ผมบอกเช่นนั้น
พอทราบอุปนิสัยด้านภาษาของคนไทยแล้ว เมื่อนักศึกษาจะต้องเรียนสำนวน อย่างเช่น รู้จักมักคุ้น, อยู่เย็นเป็นสุข, พักผ่อนหย่อนใจ หรือข้าวยากหมากแพง ย่อมเข้าใจได้เร็วและลดภาระการจำลงไปได้เยอะ แทนที่จะต้องทำความเข้าใจทุกคำ ก็ศึกษาความหมายครึ่งแรกหรือครึ่งหลังของสำนวนพวกนี้ อีกทั้งมองโครงสร้างออกได้ง่ายว่ามันคล้องจองกันอยู่ พอมาเมืองไทยเห็นคำขวัญตามป้ายประกาศหรือได้ยินคำโฆษณาทางโทรทัศน์จะเข้าใจทันทีว่า การใช้ภาษาแบบนี้สะท้อนความเจ้าบทเจ้ากลอนของคนไทยนั่นเอง
สืบเนื่องจากความพยายาม “ไปให้สุด” ของอาจารย์เพื่อให้นักศึกษารู้จักเสียงสัมผัสกับโครงสร้างที่คนไทยคุ้นเคย ผมจึง ‘อาจหาญ’ ให้นักศึกษาญี่ปุ่นลองแต่งกลอนแปด ผลงานที่ออกมาหลังจากอาจารย์ช่วยปรับเล็กน้อยแล้วถือว่าไม่เลวสำหรับคนต่างชาติที่เรียนภาษาไทยมาสองปีครึ่ง จึงขอยกบางส่วนมาแนะนำดังนี้
ผลงานที่ 1 :
ช่วงนี้ฉันปวดหัวบ่อยมาก ตอนนั้นอยากนอนเร็วที่บนเตียง
อยากนอนแม้แต่ตอนเรียนตอนเที่ยง ถ้านอนเพียงพอปวดหัวก็หาย
อยากจะนอนแต่ว่าไม่ได้นอน ตอนนี้หย่อนใจบ่อยก็ไม่ได้
เพราะอาทิตย์หน้ามีสอบมากมาย อ๋อตอนบ่ายไปซื้อยาดีกว่าเอย
ผลงานที่ 2 :
ผมอยากอยู่กับเธอไปตลอด ให้สินสอดขอแต่งงานในวันนี้
แต่พ่อแม่ไม่ยอมแย้งทันที พากันหนีห่างไกลจากบ้านไป
เราสองคนหนุ่มสาวยังเด็กมาก ต้องทุกข์ยากไร้ความรู้จะแก้ไข
กลับมาคิดถึงบ้านแทบขาดใจ ทนไม่ไหวตรอมใจตายตามกัน
ผลงานที่ 3 :
เมื่อวันก่อนทั้งห้องไปปีนเขา ซึ่งพวกเราเคยเรียนเกี่ยวกับมัน
หนทางเข้มงวดเราฝ่าฟัน ปีนด้นดั้นแต่ไม่ทันเวลาได้
แล้วก็ไปบาร์บีคิวกันต่อ พวกเราท้อเพราะถ่านไม่ติดไฟ
แขกคนหนึ่งมาช่วยจุดไฟให้ ไปที่ไหนก็สนุกกันทุกคน
เหล่านี้คือบางส่วนที่นักศึกษาได้เรียนรู้ในวิชาอื่นนอกจากวิชาภาษา (มีนักศึกษาที่ไม่รู้ภาษาไทยมาเรียนวัฒนธรรมไทยด้วย เมื่อถึงคราวแต่งกลอนแปด ผมให้ใช้ภาษาอังกฤษแทนภาษาไทย) จริงอยู่ที่ว่าผู้เรียนด้านภูมิภาคศึกษา ส่วนใหญ่เมื่อจบไปแล้วก็ไม่ได้เป็นล่ามหรือนักแปล แต่ทักษะด้านภาษาในระดับสื่อสารผสานกับความรู้ในเชิงลึกย่อมช่วยปิดช่องว่างทางความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรมได้ นี่คือกระบวนการที่นักศึกษาเอกภาษาจะต้องผ่าน ดังนั้น ในมุมกลับ การมองจากภายนอกว่าคนที่จบด้านภาษาไม่มีทักษะอื่นนอกจากภาษานั้นอาจเป็นมุมมองที่คับแคบอยู่สักหน่อย
ในกรณีเอกภาษาไทย ถ้าถามว่าจะเรียนไปถึงไหนจึงจะถือว่าแตกฉาน คำตอบก็คือ นอกจากตัวภาษาแล้ว จะต้องเรียนรู้ให้ถึงพุทธศาสนา สถาบันกษัตริย์ รากทางวัฒนธรรมที่ไทยได้รับจากอินเดียและจีน เพราะสิ่งเหล่านี้ปรากฏอยู่ในชีวิตประจำวันมาเนิ่นนาน สรุปคือโครงสร้างหลักสูตรไทยศึกษาของมหาวิทยาลัยไม่ได้สอนแต่ภาษาไทย แต่สอนให้คนเรียนได้รู้ทั้งภาษาไทยและประสาไทย
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com