xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ถึงเลือกเรียน “ไทยศึกษา”?

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


ในเดือนเมษายนของทุกปี ภาควิชาไทยศึกษาและภาษาไทยของมหาวิทยาลัยที่ผมประจำอยู่จะต้อนรับนักศึกษาญี่ปุ่นประมาณ 15-20 คน ซึ่งผมคิดว่าการรับได้เท่านี้น้อยไปเมื่อเทียบกับความนิยมที่คนญี่ปุ่นมีต่อประเทศไทย แต่ด้วยงบประมาณของรัฐบาลญี่ปุ่น จึงมีศักยภาพที่จะรับได้เพียงเท่านี้ และปีนี้ก็เช่นกัน มีนักศึกษาสอบเข้ามาได้ 17 คน

ภาษาไทยเป็นภาษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่คนญี่ปุ่นนิยมเรียนมาก ถ้าวัดจากการแข่งขันกันสอบเข้า จะพบว่าความนิยมที่ผู้สอบมีต่อภาษาไทยตีคู่มากับภาษาเวียดนามและอินโดนีเซีย แต่ถ้ารวมการสอนภาษาไทยสำหรับคนญี่ปุ่นทั่วไปนอกจากวิชาเอกในมหาวิทยาลัยแล้ว บอกได้เลยว่าภาษาไทยกินขาด มีโรงเรียนสอนภาษาไทยมากมายทั่วกรุงโตเกียวและในเมืองใหญ่ของญี่ปุ่น เสียดายที่ยังไม่เคยมีการสำรวจอย่างชัดเจนว่ามีคนญี่ปุ่นเรียนภาษาไทยประมาณกี่คน

ไทยในฐานะประเทศเล็กที่ไม่ได้มีอิทธิพลในระดับโลกเท่าใดนัก พอมีคนต่างชาติสนใจเราถึงขนาดตั้งใจเรียนภาษา ย่อมถือว่าเป็นเรื่องน่าภูมิใจ และเรามักสงสัยตัวเองด้วยว่า เอ...อะไรทำให้คนต่างชาติสนใจถึงขนาดนั้น ในกรณีของคนญี่ปุ่น ผมสอบถามนักศึกษาใหม่ทุกปีว่าทำไมจึงเลือกภาษาไทย ซึ่งวันนี้จะได้นำมาแบ่งปันให้คนไทยได้ตระหนักในภาษาของเราและบอกเล่าเกี่ยวกับแนวโน้ม

ก่อนจะสนใจเรียนภาษาของประเทศไหน เรามักสนใจประเทศนั้นโดยรวมก่อน ในภาพกว้างคนญี่ปุ่นมองไทยในทางดีมาตลอดแม้บางครั้งเกิดเรื่องที่ทำให้เสียความรู้สึกบ้าง เช่น นักข่าวชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตระหว่างการทำข่าวการปะทะกันทางการเมือง น้ำท่วมโรงงานญี่ปุ่นมากมาย หรือแม้แต่รัฐประหาร มีน้อยคนมากที่รู้สึกไม่ดีเกี่ยวกับเมืองไทย สื่อมวลชนของญี่ปุ่นก็นำเสนอเรื่องของไทยอยู่ตลอด ตั้งแต่เรื่องเล็กไปถึงเรื่องใหญ่ ทั้งเรื่องชื่อเมืองหลวงที่ยาวที่สุดในโลก อาหารไทย สถาบันพระกษัตริย์ วัฒนธรรมไทย รวมไปถึงการเกณฑ์ทหารในไทยที่มักมีชายหน้าสวยไปจับใบดำใบแดง เมื่อไทยมีความน่าสนใจหลากหลายแง่มุม คนญี่ปุ่นทั่วไปจึงอยากรู้จักมากขึ้น และเมื่ออยากรู้มากขึ้นก็ต้องเรียนภาษา ตรรกะง่าย ๆ เท่านี้

ก่อนอื่นต้องบอกเลยว่า สำหรับนักศึกษาใหม่ ตอนสอบเข้า ความยากง่ายของภาษาไม่ใช่ปัจจัยที่ผู้เลือกเรียนนำมาประกอบการตัดสินใจ เพราะแทบไม่มีคนญี่ปุ่นที่ไหนรู้หรอกว่าภาษาไหนเรียนยากหรือง่าย (อันที่จริง ภาษาไทยเรียนยากสำหรับคนญี่ปุ่น แต่เวลานักศึกษาบ่น เราก็ต้องมีชั้นเชิงหน่อย ผมมักจะบอกว่า ภาษาญี่ปุ่นยากกว่าตั้งเยอะ ผันอะไรต่ออะไรสารพัด ภาษาไทยไม่เห็นจะต้องผันอะไร ถ้าไม่นับเรื่องวรรณยุกต์ ง่ายกว่าภาษาญี่ปุ่นเยอะ) สำหรับคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ แนวโน้มเหตุผลแห่งการเลือกเท่าที่ประมวลได้คือ

1) เลือกเพราะได้รับอิทธิพลจากผู้ใหญ่ที่เคยอยู่เมืองไทย คำว่าอิทธิพลหมายถึงความเกี่ยวข้องของพ่อหรือแม่ (ส่วนใหญ่จะเป็นพ่อมากกว่า) หรือญาติที่มีโอกาสมาทำงานในเมืองไทยและนำเรื่องดี ๆ ไปถ่ายทอด หรือตัวเด็กเองเคยอยู่เมืองไทยเพราะต้องตามครอบครัวมา ได้ไปเรียนที่โรงเรียนคนญี่ปุ่น สิ่งแวดล้อมทางการศึกษาเป็นญี่ปุ่นขณะที่นอกรั้วโรงเรียนคือบรรยากาศไทย ๆ แต่ตัวเองไม่รู้ภาษาไทยในระดับที่สื่อสารได้ เมื่อถึงวัยเข้ามหาวิทยาลัย ด้วยความฝังใจ จึงเลือกเรียนภาษาไทย ปัจจุบันมีนักศึกษาแบบนี้สอบเข้ามาทุกปี

2) เลือกเพราะศึกษาข้อมูลเชิงเศรษฐกิจ เด็กกลุ่มนี้มองไกลไปถึงอนาคตเรื่องการงาน โดยนำองค์ประกอบด้านแนวโน้มทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นมาร่วมพิจารณาด้วย และมักได้ข้อสรุปว่า เมืองไทยจะยังคงเป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นต่อไปในอนาคต การได้ทำงานในบริษัทญี่ปุ่นที่มีฐานในเมืองไทยจะเอื้อให้มีโอกาสก้าวหน้าและอาจได้มาประจำในเมืองไทยสักวัน เด็กกลุ่มนี้นอกจากจะศึกษาข้อมูลด้วยตนเองแล้ว ก็มักถามความเห็นของผู้ใหญ่ ได้แก่ พ่อแม่และอาจารย์ที่โรงเรียน ในระยะหลังคนที่มีบทบาทสำคัญอีกกลุ่มหนึ่งคือ อาจารย์ที่โรงเรียนกวดวิชา อย่างปีก่อนมีนักศึกษาคนหนึ่งตอบชัดเจนว่า “อาจารย์ที่โรงเรียนกวดวิชาแนะนำให้เลือกภาษาไทย” และปีนี้มีอีกคนตอบว่า “อาจารย์ที่โรงเรียนกวดวิชาพูดภาษาไทยได้ จึงเลือกเรียนภาษาไทย”

3) เลือกเพราะภาพลักษณ์หรืออิทธิพลของสื่อมวลชน ก่อนที่นักศึกษาจะเข้ามาเรียนเอกภาษาไทย ส่วนใหญ่ไม่เคยมาเมืองไทย ความรู้เกี่ยวกับเมืองไทยจึงมาจากหนังสือ หรือคำบอกเล่า และสิ่งที่มีอิทธิพลอย่างสูงคือสื่อมวลชน โดยเฉพาะโทรทัศน์ ซึ่งเลือกที่จะนำเสนอภาพที่ดึงดูดผู้ชมอยู่แล้ว ท้ายที่สุดเด็กก็เลือกเพราะภาพลักษณ์ประกอบกับข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือเลือกไปตามความรู้สึกนั่นเอง ตัวอย่างของนักศึกษาที่เลือกเรียนเพราะเหตุนี้ เช่น “เคยได้ยินเสียงภาษาไทย รู้สึกว่าเสียงเพราะ จึงเลือกเรียน”, “ชอบกินอาหารไทย จึงเลือกเรียน”, “ทราบว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ อยากเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนาพุทธมากขึ้น” หรือ “อยากรู้เรื่องเกี่ยวกับ LGBT มากขึ้น จึงเลือกเรียนภาษาไทย เพราะเห็นว่าเมืองไทยเปิดกว้างเรื่องนี้”

การตัดสินใจของนักศึกษามักมีเหตุผลมาจากข้อ 2 หรือ 3 หรืออาจจะทั้งสองข้อ แต่เหตุผลในข้อ 3 มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะสื่อออนไลน์กระจายข้อมูลพร้อมภาพได้รวดเร็วหลากหลาย และคงเพราะเหตุนี้เอง เมื่อดูในรายละเอียดแล้วจะเห็นแนวโน้มที่น่าสนใจ คือ เหตุผลของนักศึกษารุ่นก่อน ๆ มักเกี่ยวกับบริษัทญี่ปุ่นในเมืองไทย อาหารไทย วัฒนธรรมดั้งเดิม แต่เหตุผลในระยะหลังหลากหลายกว่านั้น มีทั้งเด็กที่อยากรู้เรื่องพุทธศาสนาของไทย (มีเยอะมาก) อยากรู้เรื่องการศึกษา ตลอดจนการสอนภาษาอังกฤษในไทย และที่อาจเหนือความคาดหมายของหลายคนคือ อยากรู้ประเด็น LGBT ในไทยอย่างลึกซึ้ง ซึ่งในปีนี้มีนักศึกษาให้เหตุผลแบบเดียวกันนั้นโดยมิได้นัดหมายถึง 2 คน

สิ่งนี้สะท้อนอะไร? สะท้อนว่าไทยในฐานะชาติที่มีเสน่ห์ควรก้าวข้ามการนำสินค้าวัฒนธรรมตามขนบออกขายอย่างเดียว เพราะคนต่างชาติไม่ได้อยากรู้แค่นั้นแล้ว แต่อยากรู้จักสังคมสมัยใหม่ของเราด้วยว่า นอกจากเราดูรำไทยและมวยไทยแล้ว เรากินอยู่ในชีวิตประจำวันกันอย่างไร และสิ่งที่ผมกำลังพยายามจะบอกคือ ประเทศเรามีศักยภาพในการทำให้ “ไทยศึกษา” เป็นสินค้าที่มูลค่าสูงกว่านี้ได้หากเราหันมาทำอย่างจริงจัง และอันนี้ขอเสนอให้กระทรวงวัฒนธรรมกับกระทรวงศึกษาธิการร่วมมือกันแบบเชิงรุก ส่วนที่จะอนุรักษ์ก็อนุรักษ์ไป แต่ส่วนที่จะสร้างใหม่และนำออกเผยแพร่ก็ต้องเร่งมือทำเพื่อให้ตอบสนองความอยากรู้ของคนจากภายนอกได้ในเร็ววัน

ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนด้านไทยศึกษากระจายอยู่ตามประเทศต่าง ๆ ไม่มากนัก ขณะที่โลกเราพัฒนาไปถึงจุดที่ความเป็นปัจเจกมีพื้นที่ให้แทรกตัวขึ้นมาสู่สาธารณะมากขึ้น วัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มมีมากขึ้นและแต่ละกลุ่มมีเสรีภาพในการแสดงตนมากกว่าเมื่อก่อน ดังนั้น ตลาดความรู้เกี่ยวกับไทยจึงยังมีโอกาสขยายได้อีกขณะที่คนที่อยากรู้เรื่องเมืองไทยมีทั่วโลก พร้อมกันนี้เราต้องมองเสียใหม่ว่าภาษาไทยไม่ภาษาของคนไทยเท่านั้น แต่กลายเป็นภาษาที่มีคนต่างชาติเรียนมากขึ้นทุกวัน

เมื่อมหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่จะสอนไทยศึกษามีไม่เท่าไร เราก็จัดเองเสียเลยสิ สร้างบุคลากรด้านไทยศึกษาที่พูดภาษาอังกฤษได้ขึ้นมามาก ๆ สร้างตลาดให้คนไทยรู้ว่าเมื่อศึกษาเกี่ยวกับประเทศของตัวเองแล้วก็ทำมาหากินได้ เพราะเดี๋ยวจะมีคนต่างชาติมาเรียนกับเรา หรืออาจมีคนต่างชาติมาเชิญเราไปสอน ประชาสัมพันธ์อย่างเป็นระบบให้คนต่างชาติรู้ว่าเรายินดีถ่ายทอดเรื่องราวไทย ๆ ให้ได้รู้อย่างลึกซึ้ง

ทั้งนี้ ในการไปให้ถึงจุดนั้น สิ่งที่เราควรให้ความสำคัญ คือ การวางระบบการสอนภาษาไทยสำหรับคนต่างชาติเพื่อให้เรียนได้โดยง่าย เพราะการมุ่งสู่ไทยศึกษาอย่างถึงแก่น จำเป็นต้องรู้ภาษาไทย ในขณะที่เรารับภาษาต่างประเทศเข้ามาใช้มาก ในทางกลับกัน เราก็ส่งออกภาษาไทยให้คนภายนอกใช้ด้วยสิ เพราะมีคนอีกมากมายที่อยากเรียน ซึ่งอันนี้คงต้องเชิญราชบัณฑิตยสภาเข้าร่วมทีมด้วย ในเบื้องต้นก็เพื่อให้ช่วยวางระบบการถ่ายเสียงตัวอักษรไทยให้เป็นโรมัน พร้อมทั้งใช้เครื่องหมายแสดงวรรณยุกต์อย่างที่ภาษาจีนทำเป็นตัวพินอิน

การสอนภาษาไทยให้คนไทยไม่เหมือนกับการสอนภาษาไทยให้คนต่างชาติ ขณะนี้ตำราการสอนภาษาไทยสำหรับคนต่างชาติทั่วโลกมีแต่ของใครของมัน ใช้สัญลักษณ์แทนเสียงไม่เหมือนกัน ไม่มีมาตรฐานเดียวกันเพราะเรายังไม่ได้กำหนดไว้ การสอนคนต่างชาติให้เริ่มเรียนอักษร ก ไก่ ข ไข่ เลยนั้นทำได้ก็จริง แต่ผู้เรียนจำนวนมากรู้สึกว่าเป็นภาระและก้าวหน้าช้าเพราะต้องจำทั้งตัวอักษรและวรรณยุกต์ไปในคราวเดียวกัน ส่วนการผันวรรณยุกต์ หากสอนตามหลักไตรยางศ์ทันดีด้วยอักษรไทย เราก็อาจจะรักษาลูกค้าไว้ได้ยาก

ภาษาไทยจะเป็นสื่อให้ผู้เรียนก้าวเข้าสู่เขตความรู้ด้านอื่นเกี่ยวกับไทย แล้วการค้นคว้าวิจัยด้านไทยศึกษาที่กระทำจากมุมมองของคนต่างชาติจะแตกแขนงออกไปอีก หากมองในเชิงเศรษฐกิจ สินค้าเชิงความรู้และวัฒนธรรมเป็นสินค้าต่อเนื่อง เราจะเก็บกินไปได้เรื่อย ๆ หากเรารู้จักบริหารจัดการสิ่งที่เรามีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com



กำลังโหลดความคิดเห็น