xs
xsm
sm
md
lg

สะดุดคำ “พะวะฮะระ” — ผู้ใหญ่คุกคามผู้น้อย เรื่องจริงในองค์กรญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


สะดุดคำ คือ มุมพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึกที่ลงทุกวันจันทร์ มุมนี้จะเป็นการบอกเล่า ‘ความเคลื่อนไหว’ หรือ ‘สิ่งที่อยู่ในความสนใจ’ ของคนญี่ปุ่นตามโอกาสพิเศษผ่าน ‘คำสำคัญ’ หรือ ‘คำเด่น’ ในช่วงเวลาหรือฤดูกาลนั้น มีกำหนดนำเสนอเดือนละครั้ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถติดตามสิ่งที่เป็นปัจจุบันหรือร่วมสมัยได้ในเวลาใกล้เคียงกับคนญี่ปุ่น อีกทั้งยังต้องการให้ผู้ที่เรียนหรือสนใจภาษาญี่ปุ่นได้นำคำหลักและคำที่เกี่ยวข้องไปใช้พูดคุยกับคนญี่ปุ่นหากมีโอกาสเพื่อให้บทสนทนาน่าสนใจและมีชีวิตชีวา โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อคนหรือคำญี่ปุ่นไว้ในระดับหนึ่งเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการค้นคว้าเพิ่มเติม อนึ่ง การถ่ายเสียงจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยในทุกบทความอิงหลักการเขียนคำทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นของราชบัณฑิตยสภาเป็นหลักแม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องการใช้เสียงสั้นและเสียงยาวตามหลักภาษาญี่ปุ่น

คนวัยทำงานคงเคยได้ยินปัญหาผู้ใหญ่รังแกผู้น้อยในที่ทำงานหรือการเล่นพรรคเล่นพวก เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นทั้งในองค์กรภาครัฐและเอกชน เจอเพื่อนฝูงคนไทยรุ่นเดียวกันทีไร มักได้ยินคำบ่น “การเมือง (แม่ม) เยอะ น่าเบื่อ”, “เจ้านายไม่เอาไหน ชอบโยนงาน” หรือแม้แต่ “น้ำเน่ายิ่งกว่าในละคร มีทั้งนินทา ทั้งรวมหัวกันแกล้ง” อืม...คนฟังก็ต้องบอกว่า “มันเน่าเหมือนกันทั้งโลกแหละ ที่ญี่ปุ่นนี่ก็ใช่ย่อย” แล้วมหากาพย์แห่งความดำมืดของจิตใจมนุษย์ในที่ทำงานก็ถูกผลัดกันเล่าสู่กันฟังเป็นวรรคเป็นเวร

ปัญหาแบบนี้ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “พะวะ-ฮะระ” (パワハラ;pawa hara) ย่อมาจากคำเต็มว่า “power harassment” (パワーハラスメント;pawā harāsumento) แปลว่า “การใช้อำนาจคุกคาม” หรือการลุแก่อำนาจ เป็นภาษาอังกฤษที่คนญี่ปุ่นคิดขึ้นมาและใช้แพร่หลายในปัจจุบัน จากเดิมมีภาษาอังกฤษอยู่แล้ว คือ คำว่า “abuse of power” (การใช้อำนาจในทางมิชอบ) หรือ “bullying” (การกลั่นแกล้ง)

จากที่เคยนำเสนอไว้เกี่ยวกับทัศนคติของคนญี่ปุ่นต่อการทำงานและมีบางส่วนที่เกี่ยวกับ “พะวะฮะระ” (https://mgronline.com/japan/detail/9600000036265) ในขณะที่ประเด็นนี้เป็นที่สนใจของสังคมญี่ปุ่นขึ้นมาอีก จึงขอหยิบยกเรื่องนี้มาขยายความกันอีกครั้ง เริ่มจากนิยามของคำนี้ กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นให้ความกระจ่างไว้ในระดับหนึ่งว่า การคุกคามด้วยอำนาจ หมายถึง “พฤติกรรมที่สร้างความเดือดร้อนทางใจหรือทางกาย หรือพฤติกรรมที่ทำให้สิ่งแวดล้อมในการทำงานเลวร้ายลงอันเกินขอบข่ายที่เหมาะสมของภารกิจการงาน โดยเกิดแก่ผู้ทำงานในสถานที่เดียวกันผ่านการใช้ประโยชน์จากสถานภาพที่เหนือกว่าภายในที่ทำงาน เช่น ตำแหน่ง ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล”

ประเด็น “พะวะฮะระ” เกิดขึ้นหลายครั้งและมีมานานแล้ว เพราะวัฒนธรรมญี่ปุ่นตีกรอบว่าผู้น้อยต้องเคารพผู้ใหญ่อย่างเคร่งครัด ซึ่งจุดนี้ล่อแหลมต่อการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เช่น การถูกผู้ใหญ่ในที่ทำงานดุด่าว่ากล่าวเสียงดังมักถูกตีความว่าผู้ใหญ่คนนั้นจริงจังกับงานและทุ่มเทให้แก่การสร้างคน การถูกผู้ใหญ่ซักถามเรื่องส่วนตัวมาก ๆ ถูกตีความว่าผู้ใหญ่เป็นห่วง การถูกใช้งานมาก ๆ ถูกตีความว่าผู้ใหญ่รัก

แต่สิ่งเหล่านี้อ่อนไหว เพราะการตีความเข้าข้างคนที่มีอำนาจเหนือกว่าทำให้ผู้ถูกกระทำเสียเปรียบ สิ่งที่ผู้ใหญ่คิดว่าถูกไม่ได้หมายความว่าผู้น้อยจะรับได้ และก่อให้เกิดความเดือดร้อนทางร่างกายหรือจิตใจแบบไม่สมเหตุสมผลแก่ผู้น้อย บางคนตกเป็นเหยื่อของ “พะวะฮะระ” จนฆ่าตัวตาย และเมื่อเกิดเหตุแบบนั้น ประเด็นนี้จะถูกหยิบยกขึ้นมาถกและกลายเป็นข่าวอย่างกว้างขวางสักทีหนึ่ง แต่กรณีที่เงียบ ๆ ไปก็มีมากมาย
คะโอะริ อิโช (ชุดสีน้ำเงิน, ภาพโดยMarcello.far)
เรื่องที่ถูกจับตาในญี่ปุ่นตอนนี้ไม่ถึงกับฆ่าตัวตาย แต่เพราะเกี่ยวพันกับนักกีฬาโอลิมปิก ผู้คนจึงให้ความสนใจกันมาก กล่าวคือ โค้ชมวยปล้ำถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรม “พะวะฮะระ” ต่อนักกีฬามวยปล้ำหญิงเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 4 สมัย สื่อรายงานว่าผู้ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ได้มอบหมายให้ทนายความส่งจดหมายร้องทุกข์ถึงคณะกรรมการของสำนักคณะรัฐมนตรี ในจดหมายระบุว่า คะโอะริ อิโช (นักกีฬามวยปล้ำหญิงอายุ 33 ปี) ผู้คว้าเหรียญทองในโอลิมปิกเอเธนส์ 2004 และปักกิ่ง 2008 ได้ออกจากความดูแลของโค้ชซะกะเอะ (ชาย, 57 ปี) ซึ่งเป็นผู้ฝึกสอนให้ตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนมัธยมปลาย และไปฝึกซ้อมที่โตเกียวภายใต้การดูแลของโค้ชอีกคนหนึ่ง ตั้งแต่นั้นมาโค้ชซะกะเอะก็ใช้อิทธิพลกดดัน เช่น สั่งไม่ให้ฝึกซ้อมให้อิโช เป็นต้น

ต่อมาในโอลิมปิกลอนดอน 2012 อิโชคว้าเหรียญทองได้อีก ขณะเดียวกันการคุกคามก็รุนแรงขึ้น มีการขัดขวางไม่ให้อิโชใช้ค่ายฝึกซ้อมของนักกีฬาชายทีมชาติ จนกระทั่งในโอลิมปิกรีโอเดจาเนโร 2016 อิโชพิชิตเหรียญทองได้เป็นครั้งที่ 4 และในคราวเดียวกันนี้ โยะชิดะนักกีฬาหญิงอีกคนหนึ่งคว้าเหรียญทองเป็นสมัยที่ 4 ได้ด้วย โค้ชซะกะเอะพูดว่า “อยากเห็นอิโชแพ้ มากกว่าเห็นโยะชิดะครองเหรียญทองสมัยที่ 4”
นักกีฬาโยะชิดะกับโค้ชซะกะเอะในโอลิมปิกปักกิ่ง 2008 (ภาพโดย Marcello Farina)
นั่นคือเนื้อความบางส่วนในจดหมาย ซึ่งขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนความจริง แต่ผลยังไม่ปรากฏออกมาทั้งหมด เนื้อหาแบบนี้คนไทยอ่านแล้วอาจมีความรู้สึกหนักเบาต่างกันไป แต่สำหรับคนญี่ปุ่นจำนวนมาก หากเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นจริง ถือว่าโค้ชกระทำรุนแรงต่อนักกีฬาและเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ถึงได้กลายเป็นประเด็นใหญ่ติดต่อกันมาครึ่งเดือนแล้ว

สิ่งที่อยากจะชี้ไว้ตรงนี้คือ สำหรับคนไทย เรามีแนวโน้มที่จะมองการกระทบกระทั่งทำนองนี้ว่า “เรื่องแค่นี้เอง” แต่การใช้อำนาจหรืออิทธิพลกดขี่ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือใหญ่แค่ไหน ถือว่าเป็นการละเมิดความเป็นมนุษย์ทั้งนั้น และเราไม่ควรปล่อยให้ “พะวะฮะระ” กลายเป็นเรื่องเคยชินไปหมด อย่างของญี่ปุ่นคราวนี้น่าจะถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่กลายเป็นประเด็นระดับประเทศ หาไม่แล้วปัญหาจะถูกหมกไว้ในหลืบ

พอเป็นข่าว คนในตำแหน่งสูงกว่าจะได้ตระหนักว่า ทุกคนมีความเป็นมนุษย์เท่ากัน ต่างกันแค่ว่าใครเกิดก่อนเกิดหลัง และการเกิดก่อนไม่ได้รับประกันความเป็นมนุษย์มากกว่าการเกิดทีหลัง อีกทั้งการได้รับความเคารพไม่ได้หมายความว่าคำพูดทุกคำหรือการกระทำทุกอย่างจะชอบธรรมโดยไม่มีใครโต้แย้งได้ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์กับลูกศิษย์ เจ้านายกับลูกน้อง หรือรุ่นพี่กับรุ่นน้อง เป็นคนเท่า ๆ กันทั้งนั้น

ในองค์กรของญี่ปุ่นและไทยมี “พะระฮะระ” ไม่เว้นแม้แต่ในกระทรวง หรือสถาบันการศึกษา แต่จุดหลักที่ต่างกันคือ อย่างน้อยญี่ปุ่นก็มีกรอบชัดเจนเพื่อให้คนที่ถูกอำนาจคุกคามสามารถต่อสู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในขณะที่ของไทยก็ตัวใครตัวมัน หรือไม่ก็ช่างมัน ถ้าใครถูกผู้ใหญ่เกลียด ชีวิตมีแต่จะอับเฉา จิตใจถูกบั่นทอนจนไม่อยากไปทำงาน และมักจะกลายเป็นว่าคนที่แพ้ก็ต้องดูแลตัวเอง แต่ในญี่ปุ่น หากรู้สึกว่าถูกคุกคาม สามารถฟ้องร้องได้ และคดีที่ชนะก็มีมานักต่อนักแล้ว

การระบุว่าพฤติกรรมแบบใดเป็น “พะวะฮะระ” หรือไม่นั้น บางทีทำได้ยากเพราะอยู่ในพื้นที่สีเทา ๆ แต่จุดที่ผู้มีอำนาจต้องตระหนักคือ การตีความการกระทำนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าผู้ใช้อำนาจคิดอย่างไร แต่ขึ้นอยู่กับความรู้สึกและการตีความของผู้ถูกกระทำมากกว่า ผู้ใหญ่อาจคิดว่าตนไม่ได้ตั้งใจจะใช้อำนาจคุกคาม แต่หากผลที่ตกแก่ผู้รองรับอำนาจคือความเสียหาย ย่อมตีความว่าอยู่ในข่ายการถูกคุกคามได้ ส่วนเกณฑ์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้นสำหรับการประเมิน กระทรวงแรงงานฯ ระบุไว้ 6 ประเภทคือ

1) การทำร้ายร่างกาย คือ ใช้ความรุนแรง ทำให้ได้รับบาดเจ็บ
2) การสร้างความเดือดร้อนทางจิตใจ เช่น ขู่ ทำให้เสื่อมเสียเกียรติ หมิ่นประมาท ประณาม ใช้คำพูดรุนแรง
3) การจงใจตัดความสัมพันธ์ เช่น ทำตัวห่างเหิน กีดกัน เมินเฉย
4) การเรียกร้องล้นเกิน คือ บังคับให้ทำงานที่เห็นได้ชัดว่าเกินขอบข่ายภาระหน้าที่ที่จำเป็นและเกินความสามารถอันสมเหตุสมผล ขัดขวางการทำงาน
5) การจงใจให้ทำงานน้อยเกินไป คือ สั่งให้ทำงานที่ต่ำกว่าความสามารถและประสบการณ์อย่างมากโดยไร้เหตุอันควร ไม่มอบหมายงานให้ทำ
6) การแทรกแซงเรื่องส่วนตัว

จากข้อกำหนดข้างต้น จะเห็นได้ว่าทางการของญี่ปุ่นพยายามปกป้องพนักงานเต็มที่ ครอบคลุมไปถึงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ และทุกวันนี้ ในบริษัทส่วนใหญ่ รวมทั้งหน่วยงานรัฐด้วย จึงมี “คอลเซ็นเตอร์” ภายในองค์กรเพื่อให้พนักงานปรึกษาเรื่องการถูกอำนาจคุกคาม เมื่อคนหนุ่มสาวญี่ปุ่นเข้าสู่ตลาดแรงงาน ส่วนใหญ่ไม่รู้กฎหมายแรงงาน ต่อเมื่อเริ่มเผชิญปัญหาในที่ทำงาน จึงเริ่มศึกษาและตระหนักว่ามีเรื่องไม่ชอบมาพากล เป็นไปได้ว่าตัวเองอาจกำลังถูกคุกคามอยู่ แต่อย่างน้อยก็อุ่นใจได้หน่อยที่สังคมไม่ได้นิ่งนอนใจและปล่อยเลยตามเลย

ในทางตรงกันข้าม คนไทยวัยทำงานทั้งหลายมักแก้ปัญหาโดยการทน เมื่อทนไม่ได้ก็ออกไปหางานใหม่ โดยที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิต่อสู้อย่างเต็มที่ การกลั่นแกล้งเบา ๆ หรือร้ายแรงจนถึงขั้นบีบให้ออกจึงมีให้ได้ยินเสมอ คนไทยได้ชื่อว่าใจดีมีเมตตา แต่มองอีกทีก็น่าคิดว่า เราเป็นแบบนั้นจริงไหม เพราะขนาดเพื่อนในที่ทำงาน ยังมีเรื่องขัดแข้งขัดขาสารพัด สกัดดาวรุ่งกันเป็นว่าเล่น

ในเมื่อเรารู้ว่าความหมั่นไส้มันไม่เข้าใครออกใครและยากที่จะสะกดไว้ อย่างน้อยการสร้างความตระหนัก และตั้งหน่วยรับมือการคุกคามให้แพร่หลายกว่านี้แบบที่ญี่ปุ่นทำบ้าง ก็น่าจะช่วยลดปัญหาการใช้อำนาจคุกคามในที่ทำงานลงได้ในระดับหนึ่ง หากเป็นจริงได้ดังนั้น คราวหน้าเมื่อเจอเพื่อนคนไทย อาจจะได้ยินเรื่องเล่าใหม่ ๆ ประมาณว่าออเจ้าออกอาวะวาดทั่วพระนคร

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com



กำลังโหลดความคิดเห็น