ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
บัณฑิตใหม่ที่กำลังจะเริ่มทำงานย่อมสนใจเรื่องการงานเป็นธรรมดาเพราะต้องเข้าสู่สิ่งแวดล้อมใหม่ มีอะไรที่จะต้องเรียนรู้และปรับตัวมากมาย ด้วยเหตุนี้ วันก่อน ลูกศิษย์ชาวญี่ปุ่นที่เป็นบัณฑิตใหม่จึงเล่าให้ผมฟังแบบติดตลกเกี่ยวกับทัศนคติต่อการทำงานของคนญี่ปุ่นกับคนไทย
“อาจารย์คะ หนูเห็นภาพการ์ตูนเปรียบเทียบคนญี่ปุ่นกับคนไทย เกี่ยวกับเรื่องงานน่ะค่ะ”
“ว่าไงล่ะครับ”
“ในภาพคือ พอพนักงานญี่ปุ่นถูกเจ้านายดุ ก็เครียดจัด แล้วก็ฆ่าตัวตายค่ะ”
“คนญี่ปุ่นก็งี้แหละ ฆ่าตัวตายเป็นว่าเล่น” ผมก็พูดไปตามแกน
“ส่วนอีกภาพคือพนักงานคนไทย พอถูกเจ้านายดุ ก็ฆ่าเหมือนกันค่ะ ฆ่าเจ้านายตายค่ะ ฮ่าๆๆ แล้วก็เครียดจัด”
เมื่อได้ฟังดังนั้น ผมก็หัวเราะตาม ก็ไม่รู้ว่าลูกศิษย์คนนี้ไปเห็นภาพการ์ตูนที่ว่านั้นมาจากไหน แต่คิดๆ ไปก็รู้สึกว่าคงเป็นเช่นนั้นจริง
พอมาย้อนนึกถึงเรื่องนี้อีกที ผมก็สะกิดใจเกี่ยวกับการทำงานในญี่ปุ่นขึ้นมาด้วยเหมือนกันว่า ระยะหลังๆ นี้ คำว่า “ฮะ-ระ-ซุ-เม็น-โตะ” เป็นที่ได้ยินบ่อยในญี่ปุ่น คำนี้มาจากภาษาอังกฤษ harassment แปลว่า การคุกคาม การรังควาน คำประสมที่ได้ยินบ่อยที่สุดน่าจะเป็น sexual harassment หมายถึง การคุกคามทางเพศ ไม่ว่าทางกายหรือทางคำพูด
แต่ harassment ไม่ได้มีแค่นั้น และเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะในสถานที่ทำงานอย่างบริษัท โรงพยาบาล หรือแม้แต่ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เช่น การคุกคามทางการแพทย์ (ระหว่างแพทย์กับคนไข้) เมื่อหมอพูดกับคนไข้เชิงผลักไสว่า “ถ้าไม่เชื่อหมอ ก็ไปรักษาที่อื่น”, การคุกคามด้วยอำนาจโดยเจ้านาย และอีกมากมายหลายรูปแบบที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น ซึ่งคนไทยอาจนึกไม่ถึงว่าเกิดขึ้นจริง อย่างการคุกคามผ่านคาราโอะเกะด้วยการบังคับให้คนที่ไม่อยากร้องเพลงจำใจต้องร้องเพลงต่อหน้าคนอื่น หรือการคุกคามทางการศึกษาโดยอาจารย์กระทำต่อนักศึกษา ซึ่งมีการขึ้นศาลกันมาหลายกรณี
แต่ harassment ไม่ได้มีแค่นั้น และเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะในสถานที่ทำงานอย่างบริษัท โรงพยาบาล หรือแม้แต่ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เช่น การคุกคามทางการแพทย์ (ระหว่างแพทย์กับคนไข้) เมื่อหมอพูดกับคนไข้เชิงผลักไสว่า “ถ้าไม่เชื่อหมอ ก็ไปรักษาที่อื่น”, การคุกคามด้วยอำนาจโดยเจ้านาย และอีกมากมายหลายรูปแบบที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น ซึ่งคนไทยอาจนึกไม่ถึงว่าเกิดขึ้นจริง อย่างการคุกคามผ่านคาราโอะเกะด้วยการบังคับให้คนที่ไม่อยากร้องเพลงจำใจต้องร้องเพลงต่อหน้าคนอื่น หรือการคุกคามทางการศึกษาโดยอาจารย์กระทำต่อนักศึกษา ซึ่งมีการขึ้นศาลกันมาหลายกรณี
การคุกคามหรือการข่มเหงรังแกในสถานที่ทำงานด้วยอำนาจที่เหนือกว่า เรียกเต็ม ๆ ว่า “พะ-วา-ฮะ-ระ-ซุ-เม็น-โตะ” (パワーハラスメント) หรือพูดสั้นๆ ว่า “พะ-วะ-ฮะ-ระ” (パワハラ) คำเต็มเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า power harassment แต่คำนี้เป็นภาษาอังกฤษที่คนญี่ปุ่นคิดขึ้นเอง ไม่ได้มีมาแต่เดิม หลังจากแพร่หลายเป็นคำทับศัพท์ในภาษาญี่ปุ่น ก็เกิดคำภาษาอังกฤษตามมา
กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น ระบุพฤติกรรมที่เข้าข่ายการใช้อำนาจคุกคามโดยมิชอบไว้ 6 ประเภท ดังนี้
1.ใช้ความรุนแรง ทำให้เกิดความเสียหายทางกาย
2.ทำให้เกิดความกระทบกระเทือนทางจิตใจ เช่น ข่มขู่ สร้างความเสื่อมเสียแก่ชื่อเสียง หมิ่นประมาท พูดจาถากถาง
3.เมินเฉย จงใจไม่สุงสิงด้วย
4.บังคับให้ทำสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับหน้าที่การงานอย่างเห็นได้ชัด
5.สั่งให้ทำงานที่ยากหรือง่ายกว่าความสามารถและประสบการณ์ที่แท้จริงมากโดยไม่มีเหตุผลสมควร หรือไม่มอบหมายงานใด ๆ ให้ทำเลย
6.ละเมิดความเป็นส่วนตัว
แม้กฎหมายพยายามปกป้องผู้ที่อยู่ในสถานะอ่อนแอกว่าไม่ให้ถูกเอาเปรียบดังข้างต้นอย่างชัดเจน แต่ในความเป็นจริง การจะจับพฤติกรรมของเจ้านายว่าเข้าข่ายเหล่านี้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะหลายๆ เรื่องก็ชี้วัดไม่ได้ง่ายๆ และวัฒนธรรมญี่ปุ่นก็สอนให้เคารพผู้อาวุโสกว่าอย่างเคร่งครัด อีกทั้งโดยธรรมชาติแล้ว ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาก็มักจะพยายามอดทนก้มหน้าก้มตาทำงาน เพราะไม่อยากมีปัญหาและคิดว่าตัวเองด้อยประสบการณ์กว่า
พอสำรวจออกมาเมื่อปี 2555 ก็ปรากฏว่าพนักงานในญี่ปุ่นทุก 1 ใน 4 คนเคยถูกคุกคามด้วยอำนาจในช่วง 3 ปี และในบรรดา 4,580 บริษัทที่อยู่ในการสำรวจ ก็พบว่าร้อยละ 45.2 มีกรณีคุกคามแบบนี้ในบริษัท ซึ่งตอกย้ำหนักว่า การกล้ำกลืนฝืนทนให้เจ้านายโขกสับกลายเป็นเรื่องปกติในบริษัทญี่ปุ่น ทั้งที่จริงๆ แล้วการคุกคามเช่นนั้นผิดกฎหมายทางแพ่งหรือทางอาญาด้วย นานๆ ทีก็จะมีข่าวปรากฏออกมาให้ฮือฮากันสักครั้ง
แต่ก็ยังดีที่พอจะมีข่าวออกมาเป็นอุทาหรณ์บ้าง เพราะเมื่อหันมามองของไทย ก็ไม่ค่อยจะได้ยินว่าเรื่องแบบนี้เป็นคดีความถึงแม้สิ่งที่เกิดขึ้นจะไม่ค่อยต่างกันนัก ดังที่เรามักได้ยินบ่อยๆ จากคนรอบตัวว่า “ถูกบีบให้ออก”, “เจ้านายไม่ชอบ”, “ความชั่วไม่มี ความดีไม่ปรากฏ ก็ได้เลื่อนหนึ่งขั้น”, “ทางนั้นมันเล่นพรรคเล่นพวก” เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้เข้าข่ายการใช้อำนาจคุกคามทั้งนั้น แต่สำหรับคนไทย เมื่อเจอกรณีแบบนี้ ก็จะเงียบๆ ไว้ อดทนทำงานต่อไป ไม่ได้คิดจะต่อสู้ทางกฎหมาย หรือไม่ก็หาพรรคพวกมาต้านทานพลัง หนักๆ เข้าจึงหางานใหม่
ส่วนของญี่ปุ่น ขณะที่การคุกคามในที่ทำงานเพิ่มขึ้นทุกปีจนกลายเป็นปัญหาสังคม ทางการก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้ออกแนวทางปฏิบัติให้พึงสังวรณ์กันไว้ว่า อย่าได้ล่วงละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นในฐานะคนทำงานร่วมกัน เช่น กระตุ้นให้บริษัทวางกฎระเบียบให้ชัดเจน ให้บริษัทจัดตั้งกรรมการรับเรื่องร้องเรียน บริษัทส่วนใหญ่ก็ให้ความร่วมมือดี แม้แต่มหาวิทยาลัยที่ผมสอนอยู่ก็มีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนภายในเช่นกัน เพราะการเป็นอาจารย์ไม่ได้รับประกันว่าจะไม่ใช้อำนาจคุกคามเพื่อนร่วมงานและลูกศิษย์ กรณีต่อไปนี้คงพอจะชี้ให้เห็นได้ว่า การคุกคามเกิดขึ้นได้ทุกที่ เช่น
• ตำรวจจังหวัดอะกิตะนายหนึ่งถูกผู้บังคับบัญชาขึ้นเสียงดุด่าซ้ำๆ จนทนไม่ไหวและฆ่าตัวตายเมื่อปี 2548 ต่อมาผู้บังคับบัญชาคนนั้นถูกลงโทษทางวินัย (แต่ทางตำรวจไม่เปิดเผยจนกระทั่งปี 2557 โดยให้เหตุผลว่า หากเปิดเผยจะเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้เกี่ยวข้อง)
• ชายในช่วงอายุ 50 ปีซึ่งทำงานอยู่ในบริษัทพิซซาแห่งหนึ่งตั้งแต่ปี 2536 ถูกเจ้านายตะคอกด่าเรื่อยมาว่า “นี่แกมาทำงานที่สำนักงานใหญ่ได้ไงวะ”, “แกนี่มันหมดความเป็นคนละ” จนกระทั่งปี 2555 ชายผู้นี้ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า เมื่อแจ้งแก่ทางบริษัทก็ถูกเลิกจ้าง ต่อมาชายคนนี้ก็ฟ้องศาล ก่อนจะไกล่เกลี่ยกันได้โดยได้รับเงินชดใช้ 2,500,000 เยน
• ผู้บังคับบัญชาคนหนึ่งของกระทรวงการป้องกันประเทศ อายุ 44 ปี ด่าผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาซ้ำๆ ว่า “ไอ้โง่”, “รำคาญลูกตาว่ะ” บางทีก็ทำกิริยาเอารองเท้าเคาะพื้น ปรากฏว่าลูกน้องเสียสุขภาพจิตและส่งผลต่อร่างกาย เมื่อร้องทุกข์ ผู้บังคับบัญชาคนนี้จึงถูกสั่งพักงาน
นี่แหละ...บรรยากาศการทำงานของสังคมญี่ปุ่นในอีกมุมหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าการส่งเสริมให้เคารพความเป็นคนเท่าๆ กันไม่ว่าจะเป็นลูกน้องหรือเจ้านายนั้นเป็นเรื่องที่ดี หากองค์กรของไทยซึ่งมีระบบพรรคพวกอยู่ทั่วไปช่วยกันยกระดับความตระหนักในจุดนี้ได้ก็คงดีเหมือนกัน การเล่นพรรคเล่นพวกก็จะได้ลดลง และคำว่า “ถูกเจ้านายใช้ให้ทำตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ” ก็จะได้หมดไป
วันนั้น ผมพูดส่งท้ายกับลูกศิษย์บัณฑิตใหม่ไปว่า “หนูก็เลือกเอานะ ว่าจะเป็นคนญี่ปุ่นหรือคนไทย” พร้อมกับหัวเราะและทิ้งท้ายด้วยการอวยพรว่า “แต่อาจารย์ขอให้หนูอย่าได้ถูกเจ้านายดุเสียเลยจะดีกว่านะจ๊ะ”
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th