ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
ท่ามกลางแนวโน้มการหดตัวของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ในญี่ปุ่น การตีพิมพ์หนังสือสักเล่มออกขายกลายเป็นเรื่องที่สำนักพิมพ์ต้องคิดเยอะเพราะหนังสือดีไม่ใช่ว่าจะขายได้เสมอไป ซึ่งก็เหมือนกับสภาพในเมืองไทย แต่ของญี่ปุ่นดีกว่าไทยตรงที่มีวัฒนธรรมการอ่านเข้มแข็งกว่า ในสภาวะเช่นนี้ มีเรื่องเล็ก ๆ ที่น่าดีใจสำหรับวงการวรรณกรรมไทยอันควรบอกเล่าไว้เป็นอนุสรณ์ หรืออย่างน้อยก็เป็นข้อมูลสาธารณะ ว่าด้วยวรรณกรรมไทยเล่มล่าสุดที่ตีพิมพ์เผยแพร่เชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น
ด้วยภาวะ “ตะวันตกดิน” ของธุรกิจสำนักพิมพ์ การที่หนังสือภาษาไทยสักเล่มผ่านการแปลและตีพิมพ์ออกจำหน่ายในญี่ปุ่นจึงเป็นเรื่องน่ายินดี ที่น่ายินดียิ่งขึ้นคือ ผลงานนี้ถือเป็นตัวแทนวรรณกรรมไทยและประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งได้ด้วย หนังสือที่ว่านี้คือ “ใบไม้ที่หายไป” ของจิระนันท์ พิตรปรีชา ที่เพิ่งมีฉบับภาษาญี่ปุ่นออกมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561
ทุกวันนี้กวีนิพนธ์เป็นวรรณกรรมที่ขายยากมาก อย่าว่าแต่ของไทย ในญี่ปุ่นเองงานประเภทนี้ก็ขายไม่ค่อยได้ หากไม่นับงานคลาสสิกของกวีอย่างมะสึโอะ บะโช (松尾芭蕉, Matsuo Bashō ; 1644-1694) ยุคเอะโดะ ซึ่งคนญี่ปุ่นเรียนกันในโรงเรียน หรือของกวีร่วมสมัยอย่างชุนตะโร ทะนิกะวะ (谷川俊太郎; Tanikawa, Shuntarō ; 1931~) ซึ่งเป็นนักประพันธ์ญี่ปุ่นอีกคนที่มีกระแสความคาดหมายว่าอาจได้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม นอกเหนือจากนี้แล้ว กวีนิพนธ์แทบไม่มีที่ยืนในตลาดหนังสือญี่ปุ่น นั่นหมายความว่า การตัดสินใจตีพิมพ์ “ใบไม้ที่หายไป” ของไทยคือความกล้าหาญของสำนักพิมพ์ขนาดเล็กที่ชื่อว่า “มินะโต โนะ ฮิโตะ”(港の人;Minato no hito) โดยแท้ เพราะเสี่ยงต่อการขาดทุนอยู่ไม่น้อย
ชื่อจิระนันท์ พิตรปรีชา คุ้นหูในสังคมไทย ปัจจุบันเราก็มักจะเห็นชื่อนี้อยู่บ่อย ๆ ในฐานะผู้ให้คำบรรยายภาษาไทยแก่ภาพยนตร์ต่างประเทศ แต่ผลงานสร้างชื่อที่ทำให้จิระนันท์ได้รับการยอมรับในฐานะกวีชั้นแนวหน้าของไทยคือ “ใบไม้ที่หายไป” ซึ่งเป็นหนังสือรวมบทกวีนิพนธ์ที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือซีไรต์ ประจำปี 2532
จิระนันท์เป็นคนจังหวัดตรัง สอบเข้าเรียนในคณะวิทยาศาสตร์ แผนกเตรียมเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ เป็นผู้หญิงที่โดดเด่นมาตั้งแต่สมัยเรียน เป็นนักเคลื่อนไหนช่วง 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นยุคที่นักศึกษาออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างแข็งขัน จิระนันท์มีฝีมือด้านการแต่งกลอนมาตั้งแต่อายุยังน้อย มีบทประพันธ์เด่น เช่น “อหังการของดอกไม้” ซึ่งแสดงความเข้มแข็งของสตรี โดยลงท้ายว่า “สตรีมีชีวิต ล้างรอยผิดด้วยเหตุผล คุณค่าเสรีชน มิใช่ปรนกามารมณ์, ดอกไม้มีหนามแหลม มิใช่แย้มคอยคนชม บานไว้เพื่อสะสม ความอุดมแห่งแผ่นดิน!”
ผมเป็นคนรุ่นหลังที่รู้จักเพลง “ดอกไม้จะบาน” ในเสียงร้องของสุชาติ ชวางกูร ก่อนที่จะรู้ว่าเนื้อเพลงมาจากบทกวีชื่อเดียวกันที่รวมอยู่ใน “ใบไม้ที่หายไป” และได้อ่านผลงานเล่มนี้หลังจากที่ได้รางวัลซีไรต์ไปแล้วหลายปี นับจากปีที่ได้รางวัล บัดนี้ผ่านมา 3 ทศวรรษแล้ว เชื่อว่าคงมีเด็กรุ่นหลังอีกมากมายที่ไม่รู้จักผลงานนี้ หรือหลายคนอาจรู้จัก แต่ไม่ “อิน” ดังที่ผมเองต้องยอมรับว่าครั้งแรกสุดที่ได้อ่านก็ไม่ได้ ‘รู้สึก’ อะไรมากไปกว่า “อืม กลอนเพราะดีเนอะ” เพราะตอนนั้นมีความด้านรู้ประวัติศาสตร์การเมืองไทยน้อยมาก และตรงนี้คือประเด็นน่าสนใจอันส่งผลให้มีการนำผลงานนี้มาแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น
เมื่อพูดถึงกระบวนการแปล “ใบไม้ที่หายไป” มีชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า “คิเอะเตะ ชิมัตตะ ฮะ” (消えてしまった葉;Kiete shimatta ha) เป็นการแปลตรงไปตรงมา ได้ความหมายตามชื่อไทยทุกประการ โดยคำว่า “kiete shimatta” แปลว่า “หายไป” และ “ha” แปลว่า “ใบไม้” แปลร่วมกัน 2 คน โดยชิเอะ ซะกุระดะ (หญิง) กับ อินุฮิโกะ โยะโมะตะ (ชาย) ราคา 2,160 เยน (ราว 700 บาท) ซึ่งถือว่าไม่ถูกนักสำหรับหนังสือราวร้อยห้าสิบหน้า มีการจัดงานเปิดตัวพร้อมการเสวนาที่กรุงโตเกียวเมื่อต้นเดือนมีนาคม ผู้ขึ้นเวทีเสวนา ได้แก่ จิระนันท์ พิตรปรีชา นักแปลทั้งคู่ และล่าม ส่วนผมเป็นผู้ร่วมงานคนหนึ่ง
“ใบไม้ที่หายไป” คือ รวมบทกวีซีไรต์ของไทยเล่มแรกที่แปลเป็นภาษาญี่ปุ่นครบบริบูรณ์ทั้งเล่ม ก่อนหน้านี้ร้อยกรองซีไรต์ผ่านการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นบ้างแล้ว แต่เป็นการเลือกแปลบางบทอย่าง “เพียงความเคลื่อนไหว” ของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ หรือ “ปณิธานกวี” ของอังคาร กัลยาณพงศ์เป็นอาทิ หากพูดถึงความยากในการแปลงานเหล่านี้เป็นภาษาญี่ปุ่น ภาษาไทยของจิระนันท์แปลง่ายกว่าของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ หรืออังคาร กัลยาณพงศ์ ซึ่งต่างก็ใช้พรรณนาโวหารและคำใหญ่ ๆ ยาก ๆ เป็นจำนวนมาก
แม้กระนั้นก็ตาม นักแปลต้องใช้ความอุตสาหะอย่างสูงกว่าจะถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาญี่ปุ่นที่สื่อความได้ชัดเจน เพราะการเรียนรู้ภาษาไทยให้ถึงขั้นแปลร้อยกรองได้ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปีแน่นอน กระบวนการที่เกิดขึ้นคือ ซะกุระดะซึ่งเคยมาเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและแน่นอนว่ารู้ภาษาไทย เป็นผู้แปลถอดความจากต้นฉบับเป็นภาษาญี่ปุ่น ส่วนโยะโมะตะซึ่งเป็นอาจารย์ผู้คร่ำหวอดในวงการหนังสือและเป็นกวีด้วยนั้น แม้ไม่รู้ภาษาไทย แต่ก็ใช้ประสบการณ์ทำหน้าที่เรียบเรียงและปรับให้เนื้อความปลายทางลงจังหวะกลอนร่วมสมัยแบบญี่ปุ่น ซึ่งมิได้มีฉันทลักษณ์กำหนดตายตัวเหมือนร้อยกรองตามขนบอย่างเช่นกลอนไฮกุที่บังคับจำนวนหน่วยเสียงเป็น 5-7-5
ดังนั้น ฉันทลักษณ์ร้อยกรองไทยด้านจำนวนคำกับสัมผัสระหว่างวรรคจะหายไปเมื่อเป็นภาษาญี่ปุ่น (ส่วนใหญ่ก็เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่จะคงไว้เมื่อเกิดการแปล) กลายเป็นกลอนเปล่าในภาษาญี่ปุ่นซึ่งให้ความสำคัญกับความหมายและจังหวะ และมิได้มีแนวคิดว่าด้วยการส่งสัมผัสแต่อย่างใด ดังเช่นบทหนึ่งจาก “อหังการของดอกไม้”
สตรีมีสองตีน Onna ni wa nihon no ashi ga aru
ไว้ป่ายปีนความใฝ่ฝัน Akogare o hyouteki ni shite yojinoboru tame
ยืดหยัดอยู่ร่วมกัน Ippo mo shirizokazuni tomo ni tatakau tame no ashi
มิหมายมั่นกินแรงใคร Dareka hito no chikara o tanomu koto dewa nai
เมื่อถามเหตุผลว่าทำไมต้องแปล “ใบไม้ที่หายไป” โยะโมะตะบอกว่า “เพราะผมอยากอ่าน แต่อ่านภาษาไทยไม่ได้” ซึ่งเป็นคำตอบที่ทำให้คนไทยได้ภูมิใจที่ทราบว่า มีคนสนใจเราในแง่มุมที่ลึกซึ้งถึงขั้นอยากอ่านร้อยกรองด้วย นอกจากนี้ ในมุมมองของผม บรรดากวีนิพนธ์ซีไรต์เท่าที่เราเคยมีมาทั้งหมด ผมคิดว่า การนำ “ใบไม้ที่หายไป” มาแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นทั้งเล่ม ถือว่าเลือกถูกเล่มในแง่ของเนื้อหาเกี่ยวกับประเทศไทย เพราะมีประเด็นสากลให้นำไปพูดต่อได้อีก หลัก ๆ คือ สตรีนิยม และประวัติศาสตร์การเมืองในยุคที่คอมมิวนิสต์แผ่อิทธิพลมาถึงประเทศไทย
หากไม่นับ “ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน” ของวินทร์ เลียววาริณ ซึ่งเป็นนวนิยายการเมืองอย่างชัดเจนแล้ว อาจกล่าวได้ว่าผลงานที่ได้รับอิทธิพลทางการเมืองมากที่สุดคือ “ใบไม้ที่หายไป” ด้วยความที่เป็นคนเดือนตุลา จิระนันท์ใช้ร้อยกรองถ่ายทอดความรู้สึกต่างกรรมต่างวาระ โดยแทรกแนวคิดหัวก้าวหน้า แสดงความเข้มแข็งของผู้หญิง วิจารณ์ ตลอดจนบันทึกสภาพความเป็นอยู่ระหว่างที่ตัวเองหลบเข้าป่าเพราะถูกหมายหัวว่าเป็นคอมมิวนิสต์ หรือแม้แต่บรรยากาศการคลอดลูกคนโต (แทนไท ประเสริฐกุล) ที่หน้าถ้ำและการพลัดพรากจากลูก จนกระทั่งท้ายสุดก็วางปืนออกจากป่ามามอบตัวกับทางการ
ทว่าด้วยรูปแบบการนำเสนอที่เป็นร้อยกรอง เมื่อนำมาอ่านในยุคปัจจุบัน ก็อาจจะยากสำหรับคนรุ่นหลังที่จะเห็นภาพหรือมีอารมณ์ร่วมไปด้วย แต่นี่แหละคือสิ่งที่ดูเหมือนจิระนันท์อยากจะสื่อผ่านงานแปลสู่สายตาคนญี่ปุ่น โดยกล่าวไว้ว่าอยากให้คนญี่ปุ่นได้รู้จักประเทศไทยในมิติอื่นที่นอกเหนือไปจากรอยยิ้มกับอาหารหรือแหล่งท่องเที่ยว อันที่จริง ผมก็เพิ่งเข้าใจจริง ๆ เดี๋ยวนี้เองว่า จิระนันท์ต้องการสื่ออะไรใน “ใบไม้ที่หายไป” โดยทราบจากคำบอกเล่าในงานนี้ ไม่ได้ทราบจากตัวอักษรบนหน้ากระดาษ เพราะอ่านยังไงก็ไม่มีทางมองทะลุไปถึงเหตุการณ์จริงที่เป็นแรงบันดาลใจแก่กวี ณ ตอนนั้น
ในการเสวนาซึ่งทางฝั่งญี่ปุ่นตั้งชื่อว่า “เข้าป่า, เขียนกลอน” จิระนันท์เล่าที่มาของกลอนแต่ละช่วงด้วยความรู้สึกที่ยังแจ่มชัดว่าอารมณ์ ณ ตอนเขียนและภูมิหลังของเรื่องราวเป็นอย่างไร (ซึ่งแทบทุกเรื่องไม่เคยปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรที่ไหน) เช่น การตระเตรียมพื้นที่เพื่อรับสมาชิกใหม่ที่เพิ่งหนีเข้าป่า การถอดใจเพราะเกิดความขัดแย้งในแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จากนั้นจึงเลือกอ่านออกเสียงกลอนบางชุด โดยที่ผู้แปลสลับกันอ่านภาษาญี่ปุ่นประกอบไปด้วยเพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนญี่ปุ่นเข้าใจ
คนไทยอย่างผมก็กลับเห็นว่า เนื้อเรื่องและอารมณ์อันเป็นที่มาของกลอนแต่ละชุดนั้นน่าสนใจเสียยิ่งกว่าตัวบทกลอน และคาดว่าคนญี่ปุ่นอีกหลายสิบในหอประชุมคงรู้สึกเหมือนกัน จึงน่าจะตีความได้ว่าเจตนารมณ์ของจิระนันท์บรรลุเป้าหมายแล้ว และถึงแม้จะเป็นจุดเล็ก ๆ แต่ก็เป็นจุดที่มีความหมายมากในฐานะภาพตัวแทนของหญิงไทยยุคหนึ่ง ที่กล้าลุกขึ้นมาต่อสู้ร่วมกับผู้ชายเพื่อแสดงจุดยืนของตน
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com