xs
xsm
sm
md
lg

“ปลาญี่ปุ่น” กลายเป็นเหยื่อโซเชียล สินค้าการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หลังเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหวและกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะรั่วไหลเมื่อ 7 ปีก่อน อาหารทะเลจากญี่ปุ่นถูกสั่งห้ามนำเข้าโดยหลายประเทศ และรัฐบาลญี่ปุ่นใช้ทั้ง “ไม้แข็ง” และ “ไม้อ่อน” เพื่อให้ประเทศต่างๆ เปิดรับผลิตภัณฑ์จากพื้นประสบภัย

ข่าว “ญี่ปุ่นยินดีไทยเปิดรับอาหารทะเลจาก “ฟุกุชิมะ” เป็นชาติแรก” ถูกขยายความใหญ่โตจากสื่อสังคมออนไลน์ สำนักข่าวบางแห่งถึงขนาดตัดต่อภาพปลาแซลมอนรวมกับโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ โดยละเลยข้อเท็จจริงว่า ปลาที่ส่งออกมายังประเทศไทยนั้นมีน้ำหนักรวมเพียงกว่า 110 กก. และใช้ทำเป็นอาหารในภัตตาคารญี่ปุ่น 12 ร้านในกรุงเทพ

นักร้องเรียนบางคนยังฉวยโอกาสใช้ข่าวนี้สร้างกระแสเรียกความสนใจ โดยอ้างถึงความปลอดภัยด้านสุขอนามัย สร้างภาพให้น่ากลัว เช่น "คนญี่ปุ่นยังไม่กิน" "คนไทยเป็นหนูทดลอง" ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
ป้ายรณรงค์ให้สนับสนุนอาหารจากพื้นที่ประสบภัย
หลังเกิดเกิดเหตุรังสีรั่วไหลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ การทำประมงในพื้นที่ถูกระงับลงอย่างสิ้นเชิง อาหารทะเลจากพื้นที่ฟุกุชิมะถูกสั่งห้ามนำเข้าจากประเทศต่างๆ ชาวประมงในพื้นที่เพิ่งจะทดลองกลับมาทำการประมงในปี 2012 โดยมีระยะห่างจากพื้นที่ประสบภัยอย่างน้อย 20 กิโลเมตร และตั้งแต่ปี 2015 อาหารทะเลในพื้นที่ไม่ถูกตรวจพบว่ามีการปนเปื้อนของรังสีเกินมาตรฐาน

รัฐบาลญี่ปุ่นงัด “ไม้อ่อน” “ไม้แข็ง” กล่อมประเทศคู่ค้า

รัฐบาลและสหกรณ์การประมงญี่ปุ่นพยายามอย่างยิ่งที่จะสร้างความมั่นใจในสินค้าที่ผลิตจากพื้นที่ประสบภัย เพราะเป็นส่วนสำคัญยิ่งที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและชีวิตของประชาชนในพื้นที่ โดยใช้ทั้งผลการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์มายืนยัน และรณรงค์ให้ชาวญี่ปุ่นช่วยอุดหนุนสินค้าจากพื้นที่ประสบภัย

นายกฯ ชินโซ อะเบะ ใช้ตัวเองเป็นพรีเซนเตอร์ยืนยันความปลอดภัยของอาหารและผลไม้ ซุปเปอร์มาเก็ตต่างๆ ร่วมกันจัดกิจกรรมสนับสนุนสินค้าจากพื้นที่ประสบภัย บริษัทท่องเที่ยวร่วมจัดโปรแกรมไปยังภูมิภาคโทโฮคุ ทุกภาคส่วนของญี่ปุ่นร่วมมือกันเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย

ในด้านต่างประเทศ รัฐบาลญี่ปุ่นใช้มาตรการสารพัดเพื่อให้ประเทศคู่ค้ายกเลิกหรือผ่อนปรนคำสั่งห้ามนำเข้าสินค้าจากพื้นที่ประสบภัย โดยสหภาพยุโรป, สหรัฐ, สิงคโปร์, จีน ก็ผ่อนคลายคำสั่งห้ามนำเข้าบางส่วน

เกาหลีใต้-ไต้หวัน แรงต้านหนัก

กรณีพิพาทที่สุด คือ เกาหลีใต้ ที่สั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลทุกชนิดจากจังหวัดฟุกุชิมะ, มิยะงิ, อิวะเตะ, อะโอโมริ, อิยาระกิ, โทชิงิ, กุนมะ และชิบะ ทำให้ฝ่ายญี่ปุ่นได้ร้องเรียนต่อองค์กรการค้าโลก หรือ WTO ว่าเกาหลีใต้กีดกันการค้าอย่างไม่เป็นธรรม และ WTO ก็มีมติเห็นก้วยกับฝ่ายญี่ปุ่นว่าการสั่งห้ามแบบครอบจักรวาลเช่นนี้ไม่เป็นธรรม

ก่อนหน้าเหตุภัยพิบัติ เกาหลีใต้นำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นปีละกว่า 40,000 ตัน ในจำนวนนี้กว่า 5,000 ตันเป็นสินค้าจาก 8จังหวัดที่ถูกสั่งห้าม
นักการเมืองไต้หวันประท้วงการยกเลิกคำสั่งห้ามนำเข้าสินค้าจากพื้นที่ประสบภัยในญี่ปุ่น
ที่ไต้หวัน ญี่ปุ่นก็พบศึกหนักเช่นกัน รัฐบาลของประธานาธิบดีไช่อิงเหวินได้ผ่อนคลายคำสั่งห้ามนำเข้าสินค้าจากพื้นที่ประสบภัยของญี่ปุ่น โดยสั่งห้ามเพียงสินค้าจากจังหวัดฟุกุชิมะเท่านั้น ของพื้นที่อื่นๆ ให้นำเข้าได้แต่ต้องผ่านการตรวจสอบ

ในวันที่รัฐบาลไต้หวันจัดทำประชาพิจารณ์เรื่องนี้ นักการเมืองฝ่ายค้านและนักรณรงค์ได้บุกมายังสถานที่รับฟังความคิดเห็น และล้มโต๊ะประชุมลง

ถึงแม้รัฐบาลไต้หวันจะผ่อนคลายคำสั่งห้ามนำเข้า แต่สินค้าญี่ปุ่นกลับ “แพ้ภัยตัวเอง” เมื่อสินค้าอาหารหลายอย่างถูกพบว่าเปลี่ยนแปลงป้ายเพื่อปกปิดแหล่งผลิตที่แท้จริง และถูกนำเข้าไต้หวันอย่างผิดกฎหมายโดยสำแดงแหล่งผลิตเป็นเท็จ รัฐบาลไต้หวันจึงกลับลำ โดยสั่งให้อาหารจากญี่ปุ่นทุกชนิดต้องมีหนังสือรับรองแหล่งผลิต และอาหารทะเลจากญี่ปุ่นจะต้องถูกตรวจสอบปริมาณรังสี ถึงแม้ว่าจะแจ้งว่าไม่ได้ผลิตจากพื้นที่ประสบภัยก็ตาม
อาหารในญี่ปุ่นจะบอกแหล่งผลิตทุกชนิด
แจ้งแหล่งผลิต สิทธิผู้บริโภค

ความอลหม่านที่เกิดขึ้นเป็นเพราะ ผู้บริโภคชาวไทยไม่รู้ชัดเจนว่า รัฐบาลยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าสินค้าจากพื้นที่ประสบภัยของญี่ปุ่นทั้งหมด หรือว่าแค่ผ่อนปรนในนำเข้ามา 110 กก. ขายได้ใน 12 ร้านอาหารญี่ปุ่นเท่านั้น

ในญี่ปุ่น อาหาร ผัก ผลไม้ ทุกอย่างจะบอก "แหล่งผลิต" ชัดเจน ผู้บริโภคมีดุลพินิจเองว่าจะเลือกกินหรือไม่? หากกังวลก็หลีกเลี่ยง หากมั่นใจก็เลือกซื้อ

ผู้บริโภคชาวไทยไม่สามารถรู้เลยว่าปลา ผัก หรือ เนื้อสัตว์ ผลิตที่ไหน? มีฟอร์มาลีน สารเร่งเนื้อแดง หรือยาฆ่าแมลงไหม? ความไม่รู้นี่เองที่ “อันตราย” และ “น่ากลัว” ยิ่งกว่า.


กำลังโหลดความคิดเห็น